The Rolling Stones: เบื้องหลังโลโก้โด่งดังเหนือกาลเวลา คือปากและลิ้นของพระแม่กาลี

The Rolling Stones: เบื้องหลังโลโก้โด่งดังเหนือกาลเวลา คือปากและลิ้นของพระแม่กาลี
นับเป็นหนึ่งในโลโก้ที่โด่งดังที่สุด เป็นตำนานที่สุด และขณะเดียวกันก็ร่วมสมัยที่สุดเท่าที่วงร็อกวงใดเคยมีมา สำหรับสัญลักษณ์ปากสีแดงสดที่เผยออ้า เผยให้เห็นลิ้นสีแดงเฉดเดียวกันแลบออกมาอย่างซุกซนปนท้าทาย เครื่องหมาย ‘tongue and lips’ นั้นเป็นโลโก้ประจำวงดนตรีจากยุคคลาสสิกร็อก ‘The Rolling Stones’ ที่มีนักร้องนำปากกว้างคลับคล้ายโลโก้วงตัวเองโดยบังเอิญอย่าง ‘มิก แจ็กเกอร์’  โฉบเฉี่ยวด้วยสีแดงสดและรูปโฉมที่ให้ความรู้สึกหลากหลาย ริมฝีปากอวบอิ่มบรรจุความหมายเชิงเพศรส ส่วนลิ้นที่แลบออกมานั้นแสดงถึงความขบถ ผลงานออกแบบโลโก้ ‘hot lick’ แสนน่ารักชิ้นนี้จึงสื่อความถึงคณะหินกลิ้งได้เป็นอย่างดี และแม้จะผ่านมานานกว่า 50 ปี นับจากวันที่โลโก้นี้ปรากฏโฉมต่อโลก มันกลับไม่เคยหายไปไหน แต่ยังคงโลดแล่นอยู่คู่วงดนตรี และข้ามพรมแดนไปถึงแวดวงแฟชั่น มันประดับลวดลายบนกระดาษ บนเสื้อยืด บนหมวก และเนกไท และบางครั้ง สัญลักษณ์เล็ก ๆ นี้ก็ถูกขยายใหญ่จนเป็นส่วนหนึ่งของความอลังการบนเวที อะไรคือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังผลงานเหนือกาลเวลาชิ้นนี้? คำตอบคือเจ้าแม่กาลี และทักษะการพูดคุยจับใจความของ ‘จอห์น แพช’ (John Pasche) ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษผู้ออกแบบมันขึ้นมา ย้อนเวลากลับไปในปี 1970 หลังจากคณะหินกลิ้งก่อตั้งวงในปี 1962 และมีผลงานออกมาแล้วหลายอัลบั้มด้วยกัน ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมจนมีแฟนคลับทั่วสารทิศ ปีนั้นจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการทัวร์คอนเสิร์ตทั้งในและนอกประเทศ ในเมื่อจะมีทัวร์ทั้งที สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ‘โปสเตอร์’ สำหรับโปรโมตทัวร์ครั้งนั้น หลังจากเฟ้นหานักออกแบบฝีมือดี ด้วยการติดต่อไปที่ Royal College of Art มหาวิทยาลัยศิลปะในกรุงลอนดอน จนทางมหาวิทยาลัยได้แนะนำเหล่านักดนตรีให้รู้จักกับ ‘จอห์น แพช’ นักศึกษาวัย 24 ปี ผู้มีฝีมือไม่ใช่เล่น จอห์น แพชและมิก แจ็กเกอร์ก็เข้าประชุมกันหนึ่งหนเพื่อพูดถึงคอนเซ็ปต์คร่าว ๆ ที่พวกเขาอยากให้เป็น ก่อนที่นักออกแบบหนุ่มจะส่งชิ้นงานออกแบบโปสเตอร์ทัวร์ยุโรปของวงหินกลิ้งดราฟต์แรกกลับมาในหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง ทว่าผลงานชิ้นนั้นกลับไม่โดนใจนักร้องนำของวงสักเท่าไร จอห์น แพชจำได้ว่าแจ็กเกอร์บอกกับเขาว่า “ผมแน่ใจว่าคุณทำได้ดีกว่านี้ จอห์น” เขาจึงใช้เวลาพักใหญ่ออกแบบโปสเตอร์ดราฟต์สอง และเมื่อผลงานชิ้นนั้นส่งถึงมือ The Rolling Stones พวกเขาก็สรุปความเห็นว่า นี่คือโปสเตอร์ทัวร์ที่คณะหินกลิ้งตามหา เช่นเดียวกับจอห์น แพช - นี่คือนักออกแบบที่พวกเขาตามหา ดังนั้นหนุ่มนักศึกษาวัย 24 จึงได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นถัดไป และได้พบกับมิก แจ็กเกอร์อีกครั้ง ครั้งนี้หน้าที่ของจอห์น แพช คือการออกแบบโลโก้ประจำวง ‘เพื่อใช้บนกระดาษโน้ต บนหน้าปกโปรแกรม และบนปกข่าวแจก’ โดยในการพบปะกึ่งประชุม มิก แจ็กเกอร์พร่างพรายแนวคิดของเขาว่า เขาอยากได้โลโก้ที่เรียบง่าย ทว่าเต็มไปด้วยความหมายในตัวเอง ‘เหมือนกับโลโก้ปั๊มเชลล์อะ’ เขายกตัวอย่างโลโก้รูปเปลือกหอยของปั๊มน้ำมันชื่อดังขึ้นมา ในการพบหน้าครั้งเดียวกันนี้เอง นักร้องนำก็ได้เล่าว่าช่วงนี้เขากำลังสนใจความเป็นไปและปรัชญาในซีกโลกตะวันออกอย่างอินเดีย พร้อมกับโชว์ภาพพระแม่กาลี เทวีตามศาสนาฮินดู ให้นักออกแบบดูเผื่อว่าเขาจะได้แรงบันดาลใจ แม้จอห์น แพชจะไม่ได้สนใจอะไร ‘อินเดีย ๆ’ ที่กำลังมาแรงในอังกฤษเป็นอย่างมากเสียเท่าไรนัก ทว่าเมื่อมองภาพพระแม่กาลี มันสมองของเขาก็ทำงานอย่างรวดเร็วและส่งเสียง ปิ๊ง! ทันที ตามตำราแล้ว พระแม่กาลี คือร่างอวตารของพระแม่อุมาเทวี (พระนางปารวตี ก็เรียก) เพื่อปราบอสูรที่ฆ่าไม่ตาย ร่างที่แบ่งภาคมาอย่างพระแม่กาลี จึงเป็นหญิงดุร้ายผู้มีกายสีดำสนิท โดยปางที่ผู้คนคุ้นเคยคือภาพที่นางอ้าปากและแลบลิ้นสีแดงสดออกมา ลิ้นสีแดงสดของพระแม่ปางปราบอสูรนั่นเองที่กลายเป็นเมนไอเดียให้จอห์น แพชนำมาผนวกกับความต้องการของมิก แจ็กเกอร์ และสร้างโลโก้ชิ้นนี้ขึ้นมาเป็นรูปสเก็ตช์สีขาว-ดำ เขาทำงานเสร็จสิ้นราวปลายปี 1970 และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 50 ปอนด์ โดยหลังจากที่ผลงานการออกแบบของเขา ‘บูม’ ขึ้นมา ทั้งสร้างการจดจำและทำเงินให้วงหินกลิ้งและค่ายเพลงที่อยู่เบื้องหลังพวกเขาไปจำนวนมาก จอห์น แพชจึงได้รับโบนัสจำนวน 200 ปอนด์ในหลายปีให้หลัง และในที่สุดเขาก็ขายลิขสิทธิ์ (อย่างไม่ใคร่เต็มใจนัก) ให้แก่วงดนตรีด้วยสนนราคา 26,000 ปอนด์ ในปี 1982 และแม้ด้วยความคล้ายคลึงระหว่างรูปปากบนสัญลักษณ์ดังกล่าว กับรูปปากของนักร้องนำประจำวง จะทำให้แฟน ๆ บางคนสับสนและเข้าใจเอาว่าโลโก้วงนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากปากกว้าง ๆ ที่ส่งเสียงร้องเพลงได้ไพเราะของมิก แจ็กเกอร์ ทว่าความจริงแล้ว จอห์น แพชไม่ได้คิดถึงความคล้ายคลึงนี้แม้แต่น้อยในขณะที่ออกแบบชิ้นงาน ปีถัดมา โลโก้สีขาว-ดำรูปปากที่อ้าและมีลิ้นแลบออกมาก็ถูกวาดขึ้นใหม่ในรูปแบบภาพสี โดย ‘เครก บราน’ (Craig Braun) ที่ขยับปรับสัดส่วนจากภาพเดิมเล็กน้อย ภาพปากแลบลิ้นเวอร์ชันสีนี้กลายเป็นโลโก้ของวงอย่างเป็นทางการ จากการปรากฏตัวหลังปกอัลบั้ม Sticky Fingers เวอร์ชันวางขายในสหรัฐฯ เจ้า ‘tongue and lips’ ก็เริ่มทำหน้าที่ของมันในการเตะหูเตะตาผู้คนอย่างขยันขันแข็ง และกลายมาเป็นหนึ่งในโลโก้วงดนตรีที่ถูกจดจำมากที่สุด ทั้งในอดีตและปัจจุบัน   ที่มา: https://www.nytimes.com/2020/04/13/arts/design/rolling-stones-logo-anniversary.html https://timesofindia.indiatimes.com/Kali-and-her-tongue/articleshow/10816142.cms https://fabrikbrands.com/rolling-stones-logo-history-lips-and-tongue-logo/ https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/music/features/rolling-stones-tongue-lips-logo-created-history-a9476211.html https://extrachill.com/2020/12/rolling-stones-tongue-and-lips-logo-meaning.html https://www.creativereview.co.uk/rolling-stones-logo-john-pasche/ https://blog.logomyway.com/rolling-stones-logo/