พิมาน มูลประมุข : ศิลปินผู้ปั้นอนุสาวรีย์ตำรวจอุ้มคนเจ็บ สัญลักษณ์ ‘ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน’
‘ตำรวจ’ ในภาพจำของชาวไทยอาจแตกต่างหลากหลายกันไปตามการรับรู้และประสบการณ์ที่แต่ละคนเคยสัมผัส เชื่อว่า เสี้ยวหนึ่งของภาพจำเกี่ยวกับตำรวจของใครหลายคน อย่างน้อยน่าจะมีภาพรูปปั้น ‘ตำรวจอุ้มคนเจ็บ’ วางอยู่ในภาพความทรงจำอยู่บ้าง
รูปปั้น ‘ตำรวจอุ้มคนเจ็บ’ ตั้งอยู่บนฐานซึ่งประดับอักษรข้อความว่า ‘ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน’ ไม่เพียงเป็นชิ้นงานศิลปะเชิงสัญลักษณ์ในแง่มุมตัวตน(ตามเป้าหมาย)ของตำรวจไทย ในอีกแง่หนึ่ง เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับรูปปั้นตำรวจอุ้มคนเจ็บ ยังสะท้อนเส้นทางของอาชีพ ‘ตำรวจ’ ในไทยได้ไม่มากก็น้อย เมื่อ ‘ตำรวจ’ ที่อุ้มคนเจ็บ ยืนหยัดรับฟ้าฝนยังถูกย้าย(ที่ตั้ง)ไปหลายครั้ง
ความเป็นมาของอนุสาวรีย์
อนุสาวรีย์ตำรวจที่ชาวไทยคุ้นตากันเริ่มต้นในยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ข้อมูลจากเอกสาร ‘57 ปี ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน ประติมากรรมแห่งจิตวิญญาณตำรวจ’ ระบุว่า จัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2496 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มอบหมายให้ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล จัดทำแบบแปลน ขณะที่ประติมากรผู้ปั้นคือ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี และพิมาน มูลประมุข จุดมุ่งหมายเพื่อ “ให้เป็นที่ระลึกถึงคุณงามความดีของข้าราชการตำรวจผู้กล้าหาญและเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่”
ในยุคแรกอนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่หน้าอาคารกรมตำรวจ ซึ่งวันประกอบพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2496 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ กล่าวรายงานต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธานพิธีเปิดอาคาร ใจความตอนหนึ่งว่า ในโอกาสเดียวกันกับการก่อสร้างอาคารกรมตำรวจ กรมตำรวจจึงจัดสร้างอนุสาวรีย์ “ไว้สำหรับบรรจุอัฐิของข้าราชการตำรวจผู้สำรวมมั่นอยู่ในคุณสมบัติของกรมตำรวจ...”
ขณะที่เอกสารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 8 มกราคม 2553 ที่จัดทำเพื่อหารือกับอธิบดีกรมศิลปากร ว่าด้วยเรื่องขอหารือ(ย้าย - ผู้เขียน)รูปปั้นอนุสาวรีย์ตำรวจ ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2495 อธิบดีกรมตำรวจ (เผ่า ศรียานนท์) เห็นว่า กรมตำรวจยังไม่มีสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศูนย์รวมจิตใจ สัญลักษณ์แสดงความจงรักภักดี เพื่อระลึกถึงบุญคุณของตำรวจที่เสียชีวิตในหน้าที่ราชการ จึงได้มอบหมายให้หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล เป็นสถาปนิกออกแบบสร้างรูปหุ่นตำรวจยืนอุ้มคนเจ็บ มีญาติเป็นเด็กยืนเกาะขาซ้าย
ทั้งนี้ มีข้อมูลปรากฏว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อนุมัติเงินงบประมาณกรมตำรวจ 3 แสนบาทสำหรับจัดสร้างอนุสาวรีย์ตำรวจ เป็นเครื่อง ‘ระลึกถึงคุณงามความดีของตำรวจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่จนต้องเสียชีวิต’ (วารสาร คนเมือง สัปดาห์ที่ 42 วันที่ 15 กันยายน 2496, อ้างถึงใน 57 ปี ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน)
อนุสาวรีย์แห่งนี้จึงปรากฏเป็นรูปตำรวจขนาดเท่าบุคคลจริง ในลักษณะท่ายืนขณะอุ้มประชาชนที่บาดเจ็บ บริเวณขาด้านซ้าย มีเด็กยืนเกาะขาของตำรวจอยู่ด้วย โดยวัสดุที่หล่อเป็นทองเหลืองรมดำ
แท่นฐานของอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อน ด้านหน้ามีเครื่องหมายตราโล่และอักษรข้อความว่า ‘ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน’
องค์ประกอบรูปปั้นที่มีตำรวจ ประชาชนกำลังได้รับอันตราย และเด็ก มีความหมายตรงตามภาพที่ปรากฏ กล่าวคือ รูปปั้นตำรวจอุ้มคนเจ็บ หมายถึง ตำรวจให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือและพิทักษ์รับใช้ประชาชนที่กำลังได้รับอันตราย
ประชาชนที่กำลังได้รับอันตราย หมายถึง การได้รับบริการช่วยเหลือจากตำรวจเพื่อให้ได้รับความปลอดภัย และรูปปั้นเด็กยืนเกาะขา หมายถึง แสดงความรัก อาลัยอาวรณ์ขอความเมตตาให้ตำรวจช่วยเหลือญาติของตนให้พ้นทุกข์
หากอ้างอิงจากคำบอกเล่าของ พ.ญ.จินตนา แสงอุไร ธิดาของ อาจารย์พิมาน มูลประมุข ซึ่งเขียนเล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายพิมาน มูลประมุข จช. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร 27 มีนาคม พ.ศ. 2537 พ.ญ.จินตนา เล่าไว้ว่า
“ตี่ (น้องชาย และบุตรชายคนหนึ่งของ อ.พิมาน มูลประมุข - ผู้เขียน) น้องชายคนรองของดิฉันต้องยืนเกาะขานายแบบคนอื่นเพื่อให้พ่อปั้นรูปซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอนุสาวรีย์สัญลักษณ์ของกรมตำรวจไทย”
ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า เด็กที่ยืนเกาะขาด้านซ้ายของรูปปั้นตำรวจ มีแบบคือ ‘ตี่’ หรือ ศุภกิจ มูลประมุข บุตรชายของผู้ปั้นนั่นเอง
สำหรับต้นแบบปั้นในส่วนตำรวจที่อุ้มคนเจ็บนั้นยังไม่พบเอกสารอย่างเป็นทางการที่บ่งชี้ถึงบุคคลต้นแบบการปั้นอย่างแน่ชัด แม้มีบางแห่งอ้างอิงชื่อนายตำรวจที่เชื่อว่าเป็นต้นแบบไว้บ้าง แต่ยังไม่พบหลักฐานยืนยันข้อมูลนี้ได้อย่างชัดเจน
นายพิมาน มูลประมุข ซึ่งถูกระบุว่าเป็น(หนึ่งใน)ผู้ปั้นอนุสาวรีย์ได้รับการยกย่องจากแวดวงศิลปะอย่างมาก ภายหลังยังเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. 2531
พิมาน มูลประมุข ศิลปินผู้ปั้นอนุสาวรีย์
ภูมิหลังของนายพิมาน มีหลายแง่มุมน่าสนใจ ท่านถือกำเนิดจากตระกูลช่างปั้น ตาทวดคือหลวงวิจิตรนฤมล (ผึ้ง ปฏิมาประกร) เป็นเจ้ากรมช่างสิบหมู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 คุณตาคือพระเทพรจนา รับตำแหน่งเจ้ากรมสิบหมู่ช่างปั้นซ้ายสืบต่อมาหลังจากตาทวดของ อ.พิมานเสียชีวิต
พระเทพรจนา มีธิดาคนโตคือ นางสาวอ่อน ปฏิมาประกร ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดวิชาปั้นหล่อ แกะสลัก ทำให้นางสาวอ่อนมีฝีมือและความสามารถโดดเด่นในด้านการปั้นหล่อ แม้จะไม่เคยศึกษาในโรงเรียนศิลปะก็ตาม
นางสาวอ่อน สมรสกับ สิบตรี พูน มูลประมุข มีบุตรธิดารวมกัน 5 คน โดยนายพิมาน (ทองเย็น) มูลประมุข คือหนึ่งในบุตรชายของทั้งคู่นั่นเอง
เนื่องจากบิดา (สิบตรี พูน มูลประมุข) เสียชีวิตตั้งแต่ อ.พิมานยังเด็ก นางอ่อน ผู้เป็นมารดาของ อ.พิมาน จึงใช้ความรู้ที่ได้จากพระเทพรจนา (บิดาของนางอ่อน) ซึ่งประกอบอาชีพแกะสลัก ปั้นหล่อพระพุทธรูป และรูปเหมือนต่าง ๆ มาเลี้ยงดูบุตรธิดา ความรู้เหล่านี้ยังถ่ายทอดมาสู่ อ.พิมานด้วย ซึ่งถือได้ว่าในบรรดาบุตรธิดาของนางอ่อน พิมาน มูลประมุข คือบุตรผู้ได้รับถ่ายทอดวิชาและสายเลือดช่างปั้นโดยสมบูรณ์ที่สุด
พิมาน มูลประมุข ศึกษาวิชาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง หลังจากเรียนจบ ได้ประกอบอาชีพช่างหล่อ ช่วยมารดาหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว จนเมื่อโรงเรียนศิลปากร (โรงเรียนประณีตศิลปกรรม) ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2477 พิมาน มูลประมุข เข้าสมัครเรียนในแผนกวิจิตรศิลป์ สาขาประติมากรรม
โรงเรียนดังกล่าว มี ศ.ศิลป์ เป็นผู้อำนวยการ นักเรียนรุ่นแรกมี 7 คน 1 ใน 7 ก็คือ นายพิมาน มูลประมุข ซึ่งภายหลังเล่าเรียนแล้ว ศิษย์รุ่นแรกที่จบการศึกษาใน พ.ศ. 2480 หลายคนยังทำหน้าที่เป็นครูผู้ช่วยสอนนักเรียนรุ่นต่อมาด้วย
ก่อนหน้านักศึกษารุ่นแรกของโรงเรียนจะจบการศึกษา ไทยจ้างชาวต่างประเทศมาทำงานศิลปะ ผลงานประติมากรรมในบางครั้งต้องส่งไปหล่อโลหะที่ยุโรป เมื่อศิษย์ของ อ.ศิลป์ พีระศรี มีความรู้ความสามารถขั้นผลิตผลงานสำคัญขนาดใหญ่ได้ ศิษย์ของท่านมีผลงานขนาดใหญ่อย่างอนุสาวรีย์ตั้งในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย
สำหรับผลงานของพิมาน มูลประมุข ที่ปั้นร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่นโดยมี ศ.ศิลป์ พีระศรี คอยควบคุมคือ รูปตำรวจในอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ผลงานชิ้นหนึ่งที่ชาวไทยจดจำภาพกันได้อีกชิ้นคือ อนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ เล่าเกี่ยวกับกระบวนการปั้นผลงานชิ้นนี้ว่า อ.พิมานรับงานมาดำเนินการ ออกแบบ ปั้น และลงมือหล่อเองที่บ้านพักของอาจารย์ ตั้งอยู่ในตรอกวังหลัง ต.ศิริราช อ.บางกอกน้อย ซึ่งเป็นโรงหล่อด้วย
ดังที่กล่าวถึงคำบอกเล่าจากธิดาของ อ.พิมาน ในข้างต้นไว้ว่า แบบปั้นเด็กชายที่เกาะขาซ้ายของตำรวจในรูปปั้นคือ ‘ตี่’ หรือ ศุภกิจ มูลประมุข เว็บไซต์วิทยาลัยสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แสดงข้อมูลอาจารย์ประจำวิทยาลัยสถาปัตยกรรมศาสตร์ มี ดร.ศุภกิจ มูลประมุข เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยสถาปัตยกรรมศาสตร์
ในคำไว้อาลัยที่เขียนโดย ‘ตี่’ เล่าไว้สอดคล้องกับที่ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ เขียนไว้ว่า ที่บ้านวังหลังเป็นทั้งบ้านและที่ทำงาน สภาพของบ้านไม่ต่างจากโรงงานย่อย ๆ ทำงานกันถึงดึก เวลากลางวัน อ.พิมานไปทำงานที่กรมศิลปากร เมื่อกลับบ้านในช่วงเย็นแล้วจะกินข้าว อาบน้ำ และเริ่มงานปั้นส่งผู้ว่าจ้าง มีลูก ๆ เป็นผู้ช่วยงานเท่าที่ทำได้ บางครั้งที่งานเร่งก็ต้องอดหลับอดนอนทำงานกันถึงเช้า
บุตรชายอีกคนของ อ.พิมาน คือ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ซึ่งบอกเล่าเกี่ยวกับพ่อในแนวเดียวกันกับบุคคลใกล้ชิดท่านอื่นว่า อ.พิมานทำงานหามรุ่งหามค่ำ “ไม่เคยเห็นพ่อไปเที่ยวหรือไปพักผ่อนส่วนตัวเพื่อตัวพ่อเอาเลย ตลอดชีวิตพ่อมีแต่ทำงาน ทำงาน และทำงาน เพื่อลูก ๆ...”
ในอดีตเคยมีผู้ให้สัมภาษณ์รายการทีวีโดยอ้างว่าเป็นต้นแบบตำรวจในอนุสาวรีย์ตำรวจอุ้มคนเจ็บ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ เล่าว่า เป็น พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ที่ถึงกับโทรศัพท์ไปหาพิธีกรรายการและปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
ผลงานและชีวิตช่วงปลาย
อ.พิมาน มูลประมุข รับราชการตั้งแต่ พ.ศ. 2481 เริ่มจากราชการชั้นจัตวา ตำแหน่งช่างชั้น 2 แผนกเขียนแบบ กองสถาปัตยกรรม เมื่อถึงปี พ.ศ. 2504 ได้เป็นหัวหน้าแผนกช่างปั้น กองหัตถศิลป์จนถึง พ.ศ. 2514 กระทั่งช่วงกลางเดือนมกราคม 2514 ท่านลาออกจากราชการเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ
ช่วงปลาย พิมาน มูลประมุข ยังทำงานส่วนตัวเท่าที่สุขภาพเอื้ออำนวย มีโอกาสเดินทางไปสหรัฐอเมริกา 2 ครั้ง พักอาศัยอยู่กับบุตรและธิดา ใช้เวลาว่างวาดรูปเหมือนของบุตรและหลาน โดยตั้งใจจะวาดรูปเหมือนของบุตรธิดา บุตรเขย บุตรสะใภ้ และหลานทุกคน แต่ด้วยปัญหาสุขภาพด้านสายตาและโรคเบาหวานจึงวาดสำเร็จเพียงบางส่วน
ช่วงกลางเดือนปี พ.ศ. 2535 พิมาน มูลประมุข เจ็บป่วยด้วยโรคชรา ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่หลายเดือน มีช่วงที่อาการดีขึ้นสามารถกลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน แต่ช่วงปลายปีกลับมาเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งในช่วงปลายปีเดียวกัน นายพิมาน มูลประมุข เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2535 สิริอายุรวม 80 ปี
ผลงานของ อ.พิมาน มูลประมุข มีมากมายหลายด้าน เกี่ยวข้องกับทั้งด้านสถาบันกษัตริย์ ชาติ ตำรวจ โดยในช่วง 2 ปีสุดท้าย บุตรธิดาของ อ.พิมาน พาคุณพ่อเดินทางไปดูผลงานปั้นตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ด้วยผลงานที่มีจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้เวลาและโอกาสไม่เพียงพอ กระทั่งอาการป่วยของศิลปินแห่งชาติเริ่มทรุดลง จนต้องเข้ารับการรักษาดูแลในโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมาตามข้อมูลข้างต้น
ช่วงก่อนหน้านั้น อนุสาวรีย์ตำรวจ(อุ้มคนเจ็บ)ยังอยู่ที่หน้ากรมตำรวจปทุมวัน กระทั่งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 กรมตำรวจขอพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อัญเชิญมาประดิษฐานหน้าอาคาร 1 จึงย้ายอนุสาวรีย์ ‘ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน’ จากที่ตั้งเดิมไปประดิษฐานหน้าอาคารตำรวจสันติบาล ในกรมตำรวจ ห่างจากที่ตั้งเดิมประมาณ 150 เมตร
พ.ศ. 2540 อนุสาวรีย์ตำรวจเคลื่อนย้ายที่ตั้งอีกครั้ง ครั้งนี้ย้ายไปอยู่หน้าสโมสรตำรวจ บางเขน ซึ่งสร้างขึ้นใหม่
และใน พ.ศ. 2553 ย้ายจากหน้าสโมสรตำรวจ มาตั้งที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553
อ้างอิง :
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายพิมาน มูลประมุข จช. ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร 27 มีนาคม พ.ศ. 2537
เอก อังสนานนท์, พล.ต.อ. "4 อนุสาวรีย์ตำรวจ". ไทยโพสต์. เว็บไซต์. เผยแพร่เมื่อ 13 มกราคม 2565. เข้าถึงเมื่อ 25 เมษายน 2565. <https://www.thaipost.net/columnist-people/63250/>
.
57 ปี ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน ประติมากรรม แห่งจิตวิญญาณตำรวจ. ไม่ปรากฏปี.