หลวงรามฤทธิรงค์ จำเลยคดีขุนนางขืนใจหญิงถึงในบ้าน "ขอเดี๋ยวนี้ จะเอาเดี๋ยวนี้"
ในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้จะเป็นช่วงที่เกิดปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินขึ้น รวมศูนย์อำนาจสู่ศูนย์กลาง รัฐบาลกลางจะส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งขึ้นจากส่วนกลางไปปกครองดูแลพื้นที่ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นยังเกิดคดีฟ้องร้องกล่าวโทษข้าราชการหลายกรณี ส่วนหนึ่งคือมีคดีด้านกดขี่ทางเพศ
คดีหนึ่งที่ปรากฏในเอกสารทางราชการช่วง ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) มีชื่อจำเลยคือ 'หลวงรามฤทธิรงค์' ซึ่งต้องหาว่า "ข่มขืนกระทำชำเราอำแดงเจียม" (ในเอกสารสะกดชื่อมีทั้งเจี่ยม และเจียมบ้างในบ้างครั้ง ในที่นี้ใช้คำว่า เจี่ยม เป็นหลัก) โจทก์คือนายเกด บิดาของอำแดงเจี่ยม ซึ่งกล่าวอ้างว่า อำแดงเจี่ยม บุตรสาวถูกล่วงละเมิดกระทำชำเราโดย 'หลวงรามฤทธิรงค์' ตำแหน่งเป็นยกรบัตร์พนักงานอัยการ
เอกสารศาลเมืองตราด ลงวันที่ฟ้อง 18 มีนาคม ร.ศ. 121 ระบุคำฟ้องว่า โจทก์คือนายเกด บิดาของอำแดงเจี่ยม ฟ้องขอให้ศาลปรับไหมจำเลยตามยศศักดิ์เป็นเงิน 1,000 บาท และขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลักษณะข่มขืนล่วงประเวณี
ในที่นี้เลือกนำเสนอข้อมูลจากเอกสารทางคดีมีเจตนาเพื่อศึกษาบริบทในอดีตเป็นข้อมูลเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยเอกสารคดีที่พบระบุคำให้การไว้ว่า สังกัดนายเกดขึ้นกับกรมทหารเรือ บ้านเรือนอยู่ที่ "บ้านแหลมตะโคย" ยื่นฟ้องต่อผู้พิพากษาว่า วันที่ 9 มีนาคม ร.ศ. 121 เมื่อขึ้นมาที่บ้านหลังจากลงไปที่สวนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์มา ได้รับทราบจากอำแดงแดง ภรรยา และอำแดงเจี่ยม บุตรี ว่า หลวงรามฤทธิรงค์ "ยกรบัตรผู้ว่า" หน้าที่พนักงานรักษาพระอัยการ ไปที่บ้านของนายเกด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ร.ศ. 121 เวลา 5 โมงเศษ
จำเลย (หลวงรามฤทธิรงค์) ขึ้นไปนั่งที่เรือนแล้วพูดจาเลียบเคียงเกี้ยวพาราสีอำแดงเจี่ยม ผู้เป็นบุตรสาวด้วยคำเล้าโลมต่าง ๆ กระทำต่อหน้าอำแดงแดง ภรรยา จนถึงช่วงพลบค่ำ ภรรยาและบุตรสาวเห็นว่าหลวงรามฤทธิรงค์ ยังไม่ได้กลับไปบ้าน จึงหาอาหารให้รับประทาน จำเลยตามเข้าไปในครัว พูดจาเกี้ยวพาราสี จับไหล่ลูบหลังอำแดงเจี่ยม อำแดงแดงออกปากห้ามปราม จำเลยจึงได้ออกจากในครัวไป
เมื่ออำแดงเจี่ยม หาอาหารให้เสร็จแล้วก็ยกสำรับออกมาให้รับประทาน เวลานั้นมี 'ผู้ใหญ่ดี' ผ่านมาหน้าบ้าน หลวงรามฤทธิรงค์เรียกให้ขึ้นไปบนเรือน และใช้ให้ไปซื้อสุรามาดื่ม พอได้สุราก็มาดื่มร่วมกับรับประทานอาหาร เสพสุราจนเริ่มมึนเมา หลวงรามฤทธิรงค์รินสุรา "ข่มขืนกอดปร้ำกรอกใส่ปากอำแดงเจี่ยมบุตรสาวข้าพเจ้า (นายเกด - ผู้เขียน) รัปทานเพื่อปราถนาจะให้อำแดงเจี่ยมบุตรสาวข้าพเจ้าเสพสุราเมามัวเข้าไปแล้ว จำเลยจะได้กระทำข่มขืนกอดปร้ำทำธุราจานอำแดงเจี่ยมได้โดยสดวก" (สะกดคำตามเอกสารต้นฉบับ)
เอกสารศาลเมืองตราดระบุคำฟ้องที่เล่าเหตุการณ์ต่อมาว่า (จัดย่อหน้าใหม่ และคงตัวสะกดคำตามเอกสารเดิม)
"จำเลยเสพสุรามึนเมาเข้าไปแล้ว จำเลยจึงใช้ให้ผู้ใหญ่ดีกลับไปเสีย จำเลยก็พูดจาขออำแดงเจี่ยมบุตรสาวข้าพเจ้าต่ออำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าว่าให้ยกอำแดงเจี่ยมให้เปนภรรยาจำเลยอำแดงแดงจะยอมหรือไม่
อำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าก็พูดตอบจำเลยว่าจำเลยจะมาสู่ขออย่างนี้ไม่ถูกธรรมเนียมทั้งตัวบิดาของมันก็ยังไม่อยู่ ถ้าแม้นจำเลยจะเอาอำแดงเจี่ยมบุตรสาวข้าพเจ้าไปเปนภรรยาจำเลยให้ได้โดยแท้แล้ว จำเลยให้เท่าแก่หรือแต่งให้คนหนึ่งคนใดมาสู่ขอตามประเพณีบ้านเมืองแล้ว อำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าจะยอมยกให้จำเลย ๆ ก็หาฟังคำอำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าไม่
จำเลยกลับพูดจาขู่เข็นแลอวดอ้างว่าจำเลยไม่เคยให้เท่าแก่มาสู่ขอให่ได้ความลำบาก จำเลยเปนอิสรแก่ตัวจำเลยอยู่แล้ว จำเลยพูดขอเดียวนี้ จำเลยก็จะเอาเดียวนี้ เพราะไม่มีผู้ใดเปนโตกว่าจำเลยแล้ว ทั้งน่าที่ยกรบัตรหรือปลัดกับเปนผู้ว่าราชการแทนสำเร็จแก่ตัวจำเลยทั้งสิ้น แลจำเลยก็พูดจาขุดขู่อีก 2-3 คำว่าจำเลยจะนอนด้วยกับอำแดงเจี่ยมสักคืนหนึ่ง อำแดงแดงจะยอมหรือไม่
อำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าพูดตอบจำเลยว่าจำเลยพูดขู่เข็นแลจะกระทำด้วยอำนาจตนเองนั้น อำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าจะยอมอนุญาตให้จำเลยนอนด้วยไม่ได้ จำเลยก็ตรงเข้าจับมืออำแดงเจี่ยมบุตรสาวข้าพเจ้า ฉุดคร่าข่มขืนให้อำแดงเจี่ยมขึ้นนั่งบนตักจำเลย อำแดงเจี่ยมบุตรสาวข้าพเจ้าหายอมนั่งบนตักจำเลยไม่ จำเลยก็จับข้อมืออำแดงเจี่ยมลุนกันไปลุนกันมา จำเลยจึงได้ปล่อยอำแดงเจี่ยมบุตรสาวข้าพเจ้า แลจำเลยก็พูดจาขู่เข็นว่าจำเลยจะนอนด้วยอำแดงเจี่ยมให้ได้ในค่ำวันนี้"
อำแดงเจี่ยมที่ได้ยินคำขู่ขนาดนั้นย่อมกลัวอันตราย ลุกขึ้นเดินเข้าไปในครัว จำเลยติดตามเข้าไปจับมือถือแขน ข่มขืนกอดปล้ำ อำแดงเจี่ยมสะบัดหลุด วิ่งหนีไปที่ห้องเรียน แต่ก็ถูกหลวงรามฤทธิรงค์กระโดดไล่ติดตามเข้าไปอีก
"จำเลยก็ปิดประตูลั่นดานไว้ แล้วจำเลยก็กระทำข่มขืนกอดปร้ำกระทำชำเราอำแดงเจี่ยมบุตรสาวข้าพเจ้าในห้องเรียนบ้านข้าพเจ้าจนสำเร็จความประสงค์ของจำเลย เวลานั้นอำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้านั่งอยู่ข้างนอกพาไลไม่รู้ที่จะทำประการใดแก่จำเลยได้ อำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าก็ร้องห้ามปรามจำเลยว่าจำเลยไม่เกรงใจ(อีฉันบ้างเลย) ชั่งมาข่มเหงอีฉันเหลือเกินเช่นนี้อย่างนี้ (ดีฉันนั่งอยู่เปนทั้งคน) จำเลยก็หาได้ฟังอำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าไม่ แล้วอำแดงแดงภรรยาข้าพเจ้าก็ผลักประตูจะเข้าไปช่วยอำแดงเจี่ยมบุตรสาวข้าพเจ้า จำเลยก็ลั่นดานประตูจนแขงแรงดังนี้" (คงการสะกดคำตามเอกสารเดิม)
เอกสารระบุว่าเหตุที่อำแดงเจี่ยมไม่สามารถร้องขึ้นเพราะเกรงกลัวอำนาจจำเลย หลวงรามฤทธิรงค์มีบรรดาศักดิ์อีก
"แลเปนเวลากลางคืนเงียบสงัดดังนี้ ซึ่งจำเลยได้กระทำข่มขืนกอดปร้ำกระทำชำเราอำแดงเจี่ยมบุตรสาวของข้าพเจ้า (นายเกด) นั้น เพลากลางคืนดึกประมาณ 3 ยามเศส จำเลยสำเร็จความต้องการของจำเลยแล้ว จำเลยจึงได้กลับไปจากเรือนข้าพเจ้า (นายเกด)"
เหตุการณ์ต่อมาคือวันที่ 11 มีนาคม ร.ศ. 121 นายเกด เล่าว่า เวลากลางคืน ประมาณสองทุ่มเศษ หลวงรามฤทธิรงค์ ไปที่บ้านอีก โดยบอกว่ามาหาอำแดงเจี่ยม อำแดงแดง ภรรยาของนายเกดตอบว่า อำแดงเจี่ยมไม่อยู่ ไปช่วยงานที่บ้านผู้ใหญ่หุ่น จำเลยไม่เชื่อและเข้าไปผลักประตู จุดไฟสว่าง หาอำแดงเจี่ยม เมื่อไม่เจอก็สั่งให้อำแดงแดงไปตามอำแดงเจี่ยมมา แต่ด้วยบ้านที่ไปนั้นอยู่ไกล อำแดงแดงเดินไม่ไหว หลวงรามฤทธิรงค์จึงออกจากเรือนไป
ทั้งนี้ ระหว่างก่อเหตุ เอกสารศาลเมืองตราดระบุคำฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุ หลวงรามฤทธิรงค์ยังเป็นผู้ว่าราชการแทน 'พระยาพิพิธไสย' (สะกดตามเอกสารต้นทาง)
ด้วยเหตุทั้งมวลนี้จึงเห็นควรขอให้ศาลออกหมายเรียกตัวจำเลยมาพิจารณาพิพากษาตัดสินปรับไหมจำเลย 1,000 บาท ให้ศาลลงโทษจำเลยด้วย และขอให้ศาลบังคับจำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ฟ้องตามกฎหมาย
ต่อมากลางเดือนพฤษภาคม 122 มีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อนุญาตให้พิจารณาคดีเรื่องนี้ต่อไป
ทั้งนี้ หลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่พบจนถึงตอนนี้สิ้นสุดลงที่การอนุญาตให้พิจารณาคดี ยังไม่พบว่าคดีนี้ได้บทสรุปอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อสืบค้นเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับตัวหลวงรามฤทธิรงค์แล้ว จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถระบุตัวตนและเส้นทางชีวิตหลังจากผ่านกระบวนการยุติธรรมในอดีตได้อย่างชัดเจน จึงขอไม่ระบุข้อมูลที่อาจทำให้ผู้อื่นเสียหายได้
แต่จากเอกสารราชการที่ค้นพบในอดีตเกี่ยวกับคดีความเรื่องชู้สาวและการข่มขืนในอดีตโดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 5 ภาวิณี บุนนาค ผู้เขียนหนังสือ "รักนวลสงวนสิทธิ์" ตั้งข้อสังเกตว่า การฟ้องร้องข้าราชการในแง่พฤติกรรมกดขี่ทางเพศที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่หัวเมือง อาจสัมพันธ์กับการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยนั้นซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางไปปกครองพื้นที่ต่าง ๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีสัมพันธ์กับคนท้องถิ่นเป็นพื้นฐานมาก่อน อาจมีบางกรณีที่ข้าราชการใช้อำนาจกดขี่ราษฎรใต้การปกครอง นำมาสู่การฟ้องร้องตามที่ปรากฏเป็นหลักฐานในเอกสารทางราชการข้างต้น
อ้างอิง :
หจช. ร.5 ย.13.3/17 "คดีความในระหว่างหลวงรามฤทธิรณจำเลยต้องหาว่าข่มขืน" (18 มีนาคม 121-16 พฤษภาคม 122). อ้างถึงใน ภาวิณี บุนนาค. รักนวลสงวนสิทธิ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563.