ชีวิตของเศรษฐีที่หายตัวไปจากเรือยอชต์ ก่อนพบร่างในมหาสมุทร บ้างว่าลื่นขณะปัสสาวะ บ้างว่าถูกฆาตกรรม ย้อนเส้นทางเด็กที่หนีรอดนาซี รบในนอร์มังดี กลายเป็นเศรษฐี และวิกฤตการเงิน ก่อนอาณาจักรตกต่ำ
ในบรรดาผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ชาวยิวโดยทหารนาซี ชื่อของโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ (Robert Maxwell) น่าจะเป็นบุคคลอีกรายที่มีผู้คนรู้จักเป็นอันดับต้น ๆ จากบทบาทกับอาณาจักรธุรกิจสื่อในบริเทน (Britain) ไปจนถึงงานการเมืองซึ่งได้เป็นสมาชิกสภาช่วงกลางยุค 60s กระทั่งมาถึงปริศนาการเสียชีวิตภายหลังเขาหายตัวไปจากเรือยอชต์หรู ก่อนร่างของเขาจะถูกพบในมหาสมุทรแอตแลนติก
สาเหตุการเสียชีวิตของแม็กซ์เวลล์ ยังคงเป็นข้อสงสัยของผู้คนเสมอ เมื่อผลการชันสูตรไม่สามารถหาข้อสรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นไปคนละทิศทาง จนถึงวันนี้ สาเหตุการตายของแม็กซ์เวลล์ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
สมาชิกครอบครัวแม็กซ์เวลล์ ไม่เชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตายตามทิศทางที่เชื่อกัน(อย่างไม่เป็นทางการ) ขณะที่อดีตเพื่อนร่วมงานบางรายก็ไม่เชื่อว่าแม็กซ์เวลล์ จะถูกฆาตกรรมตามที่บางกลุ่มให้น้ำหนัก
ก่อนที่บทชีวิตของโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ จะปิดฉากลงด้วยภาพสุดท้ายบนเรือยอชต์สุดหรู โรเบิร์ต ผ่านเส้นทางชีวิตมาหลากหลาย
ภูมิหลังดั้งเดิม
เขาถือกำเนิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เชโกสโลวาเกียเมื่อ ค.ศ. 1923 ชื่อดั้งเดิมที่ใช้คือ ‘แยน ลุดวิก ฮอก’ (Jan Ludvik Hoch) โรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ อ้างว่า ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่มีแม้แต่รองเท้าสักคู่จนกระทั่งอายุเข้าวัย 7 ขวบ
ครอบครัวของเขามีเชื้อสายยิว นั่นทำให้เมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดครองดินแดนในแถบนั้น บิดา มารดา และพี่น้องของเขาจึงถูกทหารนาซีสังหาร แต่ตัวเขาเองรอดชีวิตมาได้เพราะเดินทางเข้าฝรั่งเศสก่อนหน้านั้นแล้ว
ภายหลังจากเดินทางเข้าฝรั่งเศสขณะที่อายุ 16 ปี เขาเข้าร่วมกองทัพเชโกสโลวาเกียที่พลัดถิ่น หลังจากนั้นมีอันต้องเคลื่อนย้ายไปที่บริเทนและทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในกองทัพบริติช (ข้อมูลบางแห่งบอกว่า โรเบิร์ต โกหกเรื่องอายุของตัวเอง) จากประวัติทางการพบว่าเขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนพลไปที่นอร์มังดี (Normandy) ด้วย ในเวลาไล่เลี่ยกันนี้เองที่เขาเปลี่ยนมาใช้ชื่อ เอียน โรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ (Ian Robert Maxwell)
ในห้วงบทบาททางการทหาร โรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ พบรักกับภรรยาซึ่งเป็นนักเรียนในซอร์บอนน์ (Sorbonne) หน้าที่ทางการทหารของโรเบิร์ต ค่อนข้างโดดเด่นพอสมควรหากพิจารณาจากรางวัลกลุ่มเหรียญกล้าหาญ (Military Cross) โดยโรเบิร์ต ได้รับประดับรางวัลจากนายพลมอนต์โกเมอรี (Field Marshal Montgomery) เนื่องด้วยวีรกรรม “บุกรังปืนกลของเยอรมัน”
จากมุมมองของนักเขียนบางรายเชื่อว่า ประสบการณ์ในอดีตโดยเฉพาะบทบาททหารที่ชีวิตพาดอยู่บนเส้นด้ายบาง ๆ ที่กั้นระหว่างความเป็นความตายมีส่วนหล่อหลอมตัวตนของแม็กซ์เวลล์ ให้ปราศจากความกลัว
สู่เส้นทางธุรกิจ
ช่วงสงครามปิดฉากลง เขาเป็นที่รู้จักในนามว่า เอียน โรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ และเข้าสู่แวดวงธุรกิจ เริ่มต้นจากดีลเล็ก ๆ เช่น ส่งออกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์จากบริเทนไปสหรัฐฯ จากนั้นก็เข้าสู่ธุรกิจการพิมพ์เนื้อหาเกี่ยวกับเชิงวิชาการและวิทยาศาสตร์ เมื่อกลับมาถึงบริเทนยังสามารถเข้าเป็นเจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยฟอร์บส (Forbes) ระบุว่า แม็กซ์เวลล์ จ่ายไป 13,000 ปอนด์ในเวลานั้นเพื่อซื้อบริษัทสิ่งพิมพ์ขนาดเล็กแห่งหนึ่งและตั้งชื่อว่า เพอร์กามอน เพรสส์ จำกัด (Pergamon Press Ltd.) ในปี 1951 เป็นธุรกิจที่เชี่ยวชาญการเผยแพร่วารสารเฉพาะทางเขียนโดยนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์
ในเวลานั้นมีคู่แข่งไม่มากนัก แม็กซ์เวลล์ เห็นว่าหากมีคนจะสร้างโรงงานเคมีแต่ไม่มีข้อมูลเรื่องพัฒนาการล่าสุดในเรื่องสายนี้ ถ้าทำพลาด ความผิดพลาดนั้นมีมูลค่าความเสียหายหลัก 10 ล้านปอนด์ ดังนั้น คนในสายงานเฉพาะทางยอมจ่ายค่าสมัครรับวารสารมูลค่า 1,000 ปอนด์ นั่นทำให้ธุรกิจนี้ทำกำไรงาม
ดูเหมือนว่าแม็กซ์เวลล์ พูดถูก ในยุค 60s บริษัทของแม็กซ์เวลล์ คือผู้พิมพ์วารสารด้านการค้า วิทยาศาสตร์ และหนังสือเฉพาะทางรายใหญ่ และเข้าสู่ตลาดหุ้นในปี 1964 แม็กซ์เวลล์ ที่อายุยังไม่ถึงวัย 40 กลับกลายมีสถานะเป็นมหาเศรษฐี ปีเดียวกันนั้น แม็กซ์เวลล์ ได้ที่นั่งในสภาในฐานะสมาชิกพรรคแรงงาน เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายการเมืองที่จะส่งอิทธิพลต่อการเมืองในภูมิภาค
หากพิจารณาจากเส้นทางแบบผิวเผิน หลายคนอาจมองว่าโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไม่น้อยเลย อย่างไรก็ตาม เส้นทางของเขาไม่ได้ราบรื่น ต้องรับมือกับปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากสไตล์การเจรจาและดำเนินธุรกิจที่ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อรายละเอียดในการดำเนินงาน รายงานจาก Independent อธิบายลักษณะการใช้เงินของโรเบิร์ต ว่าเขาเล่นกับเงินเหมือนกับเล่นบอร์ดเกมเศรษฐี Monopoly หยิบยืม ซื้อมา ขายไป รวมถึงพฤติกรรมที่จะถูกเปิดเผยในภายหลังอย่างการยักยอก
ตัวอย่างหนึ่งคือ ในการสอบสวนเมื่อปี 1971 โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมที่ต้องเข้ามาตรวจสอบการเทคโอเวอร์บริษัท ‘เพอร์กามอน เพรส’ ใจความตอนหนึ่งในเอกสารสรุปผลสอบสวนระบุว่า “เขา(แม็กซ์เวลล์)ไม่ใช่บุคคลประเภทที่สามารถเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าจะดำเนินการตามแนวทางอย่างถูกต้องกับบริษัทที่มีหุ้นในตลาดซื้อขายหุ้นสาธารณะ”
แม็กซ์เวลล์ เคยสูญเสียสถานะผู้ถือครองบริษัทของตัวเองแต่ก็กลับมาเป็นเจ้าของบริษัทเพอร์กามอน และต้องพลิกฟื้นบริษัทให้กลับมาดำเนินธุรกิจโดยราบรื่น ในปี 1981 โรเบิร์ต เข้าถือครองบริษัทบริติช พรินติ้ง (British Printing Corp.) เมื่อปรับปรุงธุรกิจกันไปสักระยะก็ขายต่อในปี 1987
ช่วงยุค 70-90s แม็กซ์เวลล์ โลดแล่นในธุรกิจสื่ออย่างผาดโผน ซื้อกลุ่มบริษัท มิร์เรอร์ กรุ๊ป นิวสเปเปอร์ส (Mirror Group Newspapers) ซึ่งเป็นกลุ่มสื่อที่ผลิตหนังสือพิมพ์ 6 หัว รวมถึงแท็บลอยด์ชื่อดังในบริเทน
ไม่ใช่แค่ในบริเทน ตลอดเส้นทางธุรกิจสื่อ โรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอล โดยเข้าไปลงทุนในอิสราเอลในสายธุรกิจสิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์ และเภสัชกรรม บทบาทนี้เองนำมาสู่ข้อกล่าวหาว่า เขาเป็นสายลับให้กับอิสราเอล
ทฤษฎีสมคบคิดและปมปริศนาสาเหตุเสียชีวิต
กอร์ดอน โธมัส (Gordon Thomas) และ มาร์ติน ดิลลอน (Martin Dillon) เขียนหนังสือโดยกล่าวอ้างถึงแหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลและบริติช มีทั้งที่ระบุนามและไม่เปิดเผยตัวตน ผู้เขียนหนังสือทั้งสองรายอ้างว่าแหล่งข่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ ว่า เขามีพฤติกรรมเสมือนจารชน ตัวอย่างหนึ่งคือไปฉกฉวยซอฟต์แวร์จากสหรัฐฯ แล้วนำไปขายทั่วโลก
แม้กระทั่งปริศนาการเสียชีวิตของแม็กซ์เวลล์ ยังถูกคนจินตนาการเชื่อมโยงไปตั้งคำถามว่า เกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรองอิสราเอลหรือไม่ ทฤษฎีนี้ยิ่งถูกพูดถึงกันยกใหญ่เมื่อพิธีศพของเขาจัดขึ้นอย่างดีที่อิสราเอล บุคคลสำคัญระดับนายกรัฐมนตรีมาร่วมพิธี ศพของแม็กซ์เวลล์ ยังถูกฝังในกรุงเยรูซาเล็มด้วย
ในมุมมองแบบทฤษฎีสมคบคิด กลุ่มคนสายนี้ยังไปถึงขั้นตั้งสมมติฐานว่า แม็กซ์เวลล์ เสียชีวิตจากการลอบสังหารของหน่วยมอสสาด (Mossad) หน่วยงานกลุ่มข่าวกรองของอิสราเอลที่ขึ้นชื่อเรื่องปฏิบัติการลับ โดยคนกลุ่มนี้เชื่อว่า แม็กซ์เวลล์ ขู่อิสราเอลว่าจะโต้ตอบกลับหากอิสราเอลไม่ปล่อยเงินกู้ให้
ข้อมูลส่วนหนึ่งจากการชันสูตรระบุเหตุการเสียชีวิตของเศรษฐีวัย 68 ปีไว้ว่ามาจาก ‘จมน้ำโดยอุบัติเหตุ’ และมีระบุเรื่อง ‘หัวใจล้มเหลว’ ด้วย แต่คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่านี่เป็นสาเหตุสำคัญ ยังมีคำถามที่ไม่อาจพิสูจน์ได้อีกหลายคำถาม เช่น แม็กซ์เวลล์ ลื่นหล่นจากเรือไปเอง หรือเขากระโดดลงไปด้วยตัวเอง หรือเพราะเขาถูกฆาตกรรม? ยิ่งเมื่อผู้เชี่ยวชาญ 3 รายเห็นไม่ตรงกันเรื่องสาเหตุการตายยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยหนาหูขึ้นไปอีก
ข้อมูลที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเขาคือ แม็กซ์เวลล์ ในเวลานั้นแบกหนี้สินจำนวนมากและไม่ได้เข้าพบเจ้าหนี้ที่ธนาคาร Bank of England ตามนัด ครั้งสุดท้ายที่มีคนพบเห็นนักธุรกิจสื่อชื่อดังรายนี้คือเขาขึ้นเรือยอชต์สุดหรูชื่อ ‘เลดี้ กิสเลน’ (Lady Ghislaine) แม็กซ์เวลล์ ซื้อเรือมาด้วยมูลค่าราว 15 ล้านปอนด์ เมื่อ ค.ศ. 1986 และตั้งชื่อเรือตามชื่อกิสเลน แม็กซ์เวลล์ (Ghislaine Maxwell) ลูกคนสุดท้องและเป็นลูกสาวที่เขาโปรดปรานที่สุดในบรรดาลูกทั้งหมด 9 คน
คำพูดสุดท้ายที่มีผู้ได้ยินจากปากโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ คือคำบ่นเรื่องอุณหภูมิในชั้นของเขาในช่วงเช้ามืดวันที่ 5 พฤศจิกายน 1991 หลังจากนั้นอีก 12 ชั่วโมง ลูกเรือในทีมค้นหาชาวสเปนพบร่างของเขาลอยบนผิวน้ำของมหาสมุทรในสภาพไม่สวมเสื้อผ้า
ข้อสันนิษฐานอย่างหนึ่งในบรรดาข้อสังเกตหลายประการคือ แม็กซ์เวลล์ อาจกำลังปัสสาวะลงในมหาสมุทรขณะที่อยู่ในสภาพเปลือยเปล่าตามกิจที่เขามักปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ และคาดว่าอาจพลัดตกจากเรือไป แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้อย่างชัดเจน
วิกฤตสั่นคลอนอาณาจักรหลังการเสียชีวิต
ข่าวการเสียชีวิตของโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ ทำให้คนช็อกกันไปทั่ว ความรู้สึกช็อกน่าจะแปรไปเป็นโกรธเคืองหลังจากข่าวเสียชีวิตผ่านไปในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เมื่อมีรายงานข่าวเผยว่า เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension Fund) ในเครือบริษัทของเขาหายไปมากกว่า 400 ล้านปอนด์
รายงานข่าวในเวลานั้นพาดหัวกันรุนแรงเมื่อพบว่า เขาดึงเงินกองทุนออกไปแบบผิดกฎหมายเพื่อนำไปยื้อชีวิตอาณาจักรของเขาที่กำลังมีปัญหาการเงินอย่างหนัก
ข่าวการเสียชีวิตของแม็กซ์เวลล์ ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของสมาชิกในครอบครัวที่เหลืออยู่ เอียน และเควิน ลูกชาย 2 รายของโรเบิร์ต ตกเป็นเป้าสายตาของสื่อและสาธารณะ ในช่วงปี 1992 เควิน กลายเป็นบุคคลที่ต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมากท่ามกลางคดีอื้อฉาวเรื่องเงินกองทุน
อย่างไรก็ตาม เควิน แม็กซ์เวลล์ พ้นจากภาวะล้มละลายในปี 1995 และในปีต่อมา เควิน ถึงจะพ้นข้อกล่าวหาเรื่องสมรู้ร่วมคิดกับบิดา ขโมยเงินกองทุนกว่า 120 ล้านปอนด์ไปจากบริษัทในเครือ
ไม่เพียงแค่ผลกระทบจากปัญหาทางการเงินที่ส่งผลมาจากบิดา เอียน และเควิน รวมไปถึงลูกคนอื่นของโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ ได้รับผลกระทบจากนิสัยของโรเบิร์ต ซึ่งชอบข่มเหงรังแก (บูลลี่ - bully) และมักสร้างความอับอายให้ลูก ๆ ต่อหน้าสาธารณะ มีเพียงกิสเลน แม็กซ์เวลล์ เท่านั้นที่ดูจะโดนน้อยกว่าพี่น้องคนอื่น นิสัยข่มเหงนี้ยังลามไปถึงภรรยาด้วย
แม้ว่าโรเบิร์ต จะแต่งงานและใช้ชีวิตคู่กับเบ็ตตี แม็กซ์เวลล์ (อลิซาเบ็ธ “เบ็ตตี” เมย์นาร์ด - Elisabeth "Betty" Meynard) มายาวนาน มีลูกด้วยกันรวมแล้ว 9 คน เบ็ตตี ก็ทุ่มเทให้กับโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ เต็มที่ แต่จากรายงานของ Independent ระบุว่า โรเบิร์ต มักไม่ค่อยไว้หน้าเธอต่อหน้าแขก เคยสั่งให้เธอ “หุบปาก” ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ หรือไล่เธอให้ไปให้พ้นหน้าเมื่อเขารู้สึกรำคาญ
คดีของกิสเลน
แม้โรเบิร์ต จะจากไปกว่า 20 ปีแล้ว ในช่วงปี 2021 ชื่อของโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ ถูกหยิบมาเอ่ยถึงควบคู่ไปกับคดีของกิสเลน แม็กซ์เวลล์ ลูกสาวของโรเบิร์ต ที่ในเวลานั้นอยู่ในวัย 60 ปีแล้ว (อายุขณะตกเป็นข่าวขึ้นศาลเมื่อปี 2021) เธอขึ้นให้การจากข้อกล่าวหาล่อลวงผู้เยาว์และค้าประเวณีเด็กอันเชื่อมโยงกับการจัดหาเด็กหญิงมาให้กับเจฟฟรีย์ เอปสตีน (Jeffrey Epstein) อดีตคนรักที่เคยคบหากันยาวนานหลายปี
กิสเลน ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในสหรัฐฯ และต้องถูกดำเนินคดีในนิวยอร์ก เธอถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินว่ามีความผิด 5 ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ขณะที่เจฟฟรีย์ ในวัย 66 ปีฆ่าตัวตายไปเมื่อปี 2019 ขณะรอการไต่สวนในข้อกล่าวหาว่าด้วยอาชญากรรมทางเพศ
คดีนี้เป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อมีชื่อเจ้าชายแอนดรูว์ ในราชวงศ์วินด์เซอร์แห่งสหราชอาณาจักรเข้ามาพัวพันด้วย โดยเจ้าชายแอนดรูว์ ถูกหญิงสาวชาวอเมริกันฟ้องว่า ขณะเธออายุ 17 ปี เธอถูกนายเจฟฟรีย์ บังคับให้มีเซ็กซ์ กับกลุ่มคนไฮโซ
กิสเลน ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจากที่ผู้ร่วมขบวนการค้าประเวณีเด็กรายหนึ่งยอมรับสารภาพ ประกอบกับหญิงสาวชาวอเมริกันที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าชายแอนดรูว์ ให้การว่ากิสเลน แม็กซ์เวลล์ มีส่วนล่อลวงเธอมาค้าประเวณีเช่นกัน
ปากคำของบุคคลที่รู้จักคุ้นเคยกับโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ ไปจนถึงบุคคลที่เคยทำงานกับแม็กซ์เวลล์ ส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับนิสัยของโรเบิร์ต เอาไว้คล้ายคลึงกันในแง่มุมเชิงลบ แต่มีบ้างที่แก้ต่างให้กับโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ เช่นปากคำของเบ็ตตี แม็กซ์เวลล์ (อลิซาเบ็ธ “เบ็ตตี” เมย์นาร์ด - Elisabeth "Betty" Meynard) ภรรยาของแม็กซ์เวลล์ ซึ่งนิยามโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอเองว่า แม้โรเบิร์ต จะมีนิสัยชอบบูลลี ไม่ซื่อตรง และหายหน้าหายตาไปเป็นระยะ แต่โรเบิร์ต “ไม่ใช่ถึงขั้นตัวประหลาดที่เสื่อมทราม” แบบที่หลายคนบอกเล่ากัน
จูเลีย แลงดอน (Julia Langdon) บรรณาธิการสายการเมืองที่ทำงานในมิร์เรอร์ (Mirror) ใต้ร่มเงาของโรเบิร์ต ยาวนาน 5 ปีอธิบายว่า อาจต้องมองโรเบิร์ต ในแง่คนที่มีลักษณะบุคลิกตัวตนหลากหลายแบบ เป็นคนดังของเมือง ชอบข่มเหง (บูลลี - bully) คนอื่น เป็นนักการเมืองใฝ่สูง และยังเป็นชาวยิวที่เป็นพ่อคนด้วย จากประสบการณ์ที่เธอเดินทางกับโรเบิร์ตไปทั่วโลก เธอคิดว่าด้วยลักษณะของเขาแล้ว ไม่น่าจะฆ่าตัวตาย สำหรับจูเลีย เธอคิดว่าโรเบิร์ต พลาดตกจากเรือ
ในแง่ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสาเหตุการตายของโรเบิร์ต จูเลีย มีมุมมองคล้ายกับรอย กรีนสเลด (Roy Greenslade) อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเครือบริษัทของโรเบิร์ต และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจของแม็กซ์เวลล์ ที่ปฏิเสธทฤษฎีฆาตกรรมเช่นกัน
รอย สัมภาษณ์กัปตันเรือและลูกเรือเลดี้ กิสเลน แบบเจาะลึกจนพอจะสรุปในมุมของเขาเองว่า ไม่มีใครสามารถขึ้นบนเรือในคืนเกิดเหตุได้
เรื่องราวเกี่ยวกับโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ พรั่งพรูจากปากคำของผู้คนหลากหลายวงการ จากบันทึกหลากหลายแหล่ง มีทั้งที่เป็นเรื่องจริง และคลาดเคลื่อน เส้นทางชีวิตของโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ เป็นไปอย่างโลดโผน เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจสื่อ ในสายงานการเมือง
วิกฤตการเงินและสิ่งที่รุ่นลูกเผชิญ
อีกด้านหนึ่ง เขาพบกับความล้มเหลวด้วยเช่นกัน แบกหนี้จำนวนมาก ต้องต่อสู้กับคู่แข่งนามว่ารูเพิร์ต เมอร์ด็อก (Rupert Murdoch) ในปลายยุค 60s ซึ่งปรากฏว่าโรเบิร์ต พลาดเข้าถือครองแท็บลอยด์ชื่อกระฉ่อนอย่าง News of the World ดีลนี้เองที่ทำให้เมอร์ด็อก โกยผลประโยชน์มหาศาลเข้ากระเป๋าและถือเป็นจุดเริ่มต้นอีกหนึ่งห้วงที่ลากมาสู่การแข่งขันในธุรกิจระหว่างโรเบิร์ต กับรูเพิร์ต ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี
สื่อบางแห่งวิเคราะห์ว่าโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ พยายามเร่งขยายอาณาจักรธุรกิจของตัวเองเพื่อให้มีศักยภาพแข่งขันกับฟากรูเพิร์ต เมอร์ด็อก ซึ่งถือครองนิวส์ คอร์เปอเรชั่น (News Corporation) แม็กซ์เวลล์ กู้ยืมเงินราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐมาเพื่อซื้อกลุ่มแม็กมิลลัน พับลิชชิง กรุ๊ป (Macmillan Publishing Group) ในสหรัฐฯ เมื่อปี 1988 และการพยายามเข้าไปถือครองธุรกิจมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายทางการเงินต่อแม็กซ์เวลล์ จนเขาต้องไปดึงเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญมาเพื่อหล่อเลี้ยงกลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งตัวเขาเองถือครอง
สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ การจากไปของโรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ ส่งผลกระทบต่อกิสเลน ลูกสาวคนโปรดของแม็กซ์เวลล์ อย่างมาก และการเสียชีวิตของเขาเกิดขึ้นในช่วงอาณาจักรธุรกิจกำลังส่อแววล่มสลาย การจากไปของโรเบิร์ต ยังไม่ใช่ฉากจบในเรื่องวุ่นของตระกูลแม็กซ์เวลล์ เรื่องราวเหล่านั้นยังคงสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงยุค 2021 ที่ลูกสาวคนโปรดของแม็กซ์เวลล์ ไปพัวพันในคดีร้ายแรง
ไม่นานหลังจากบิดาเสียชีวิตลง กิสเลน เดินทางออกจากสหราชอาณาจักไปพำนักในสหรัฐอเมริกา ทำงานในสายอสังหาริมทรัพย์ ก่อนจะพบกับเจฟฟรีย์ เอปสตีน แต่ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เธอพบเอปสตีนครั้งแรก มีบ่งบอกกันหลากหลาย ยังไม่สามารถยืนยันอย่างแน่ชัด
ในปี 2016 เธอขายทาวน์เฮาส์ (Townhouse) ในแมนฮัตตัน (Manhattan) ใช้ชีวิตแบบเก็บตัวเงียบ กระทั่งถูกควบคุมตัวในแมนชั่นส่วนตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 เธอถูกกักตัวไว้ตั้งแต่นั้นและถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนจนมีคำพิพากษาออกมาว่าเธอมีความผิด 5 ข้อหาเมื่อธันวาคม 2021
ต้นเดือนเมษายน 2022 ผู้พิพากษาในสหรัฐฯ เพิ่งปฏิเสธคำร้องขอการไต่สวนคดีใหม่ และยืนยันคำตัดสินเรื่องความผิดของกิสเลน
เส้นทางของโรเบิร์ต ทั้งหมดนี้อ่านแล้วอาจนึกถึงพล็อตหนังชีวิตเรื่องหนึ่งได้เลย จากรุ่นพ่อแม่มาจนถึงรุ่นลูกของเขาเอง ข้อมูลที่มีเกี่ยวกับครอบครัวแม็กซ์เวลล์ ประกอบขึ้นโดยมีหลากหลายรสชาติ ตราบจนกระทั่งเขาจากไปแล้ว สมาชิกในครอบครัวยังคงไม่พ้นจากเส้นทางอันน่าหดหู่
ลูกของโรเบิร์ต บางรายอย่างอิซาเบล (Isabel) เคยเป็นเศรษฐีจากงานด้านออนไลน์ก็เคยถูกประกาศสถานะล้มละลาย หรือกรณีฟิลิป (Philip) ที่เคยเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหลีกหนีจากความคาดหวังในครอบครัว
โรเบิร์ต ถูกฝังในสุสานที่เรียกว่า Mount of Olives ชาวยิวจำนวนมากล้วนต้องการให้ร่างของตัวเองมาฝังที่นี่ตามความเชื่อของชาวยิวว่า การคืนชีพของเหล่าคนตายเริ่มต้นขึ้นที่นี่ หากอ้างอิงตามความเชื่อนั้น ร่างของโรเบิร์ต น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ถูกฝังในสุสานแห่งนี้ที่ลุกขึ้นมาเมื่อปรากฏการณ์ตามความเชื่อเกิดขึ้น
อ้างอิง :
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-60962777
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-49318300
https://www.forbes.com/sites/noahkirsch/2020/02/28/long-before-ghislaine-maxwell-disappeared-came-her-mogul-fathers-mysterious-death/
https://www.theguardian.com/us-news/2019/aug/22/the-murky-life-and-death-of-robert-maxwell-and-how-it-shaped-his-daughter-ghislaine
https://www.theguardian.com/business/2018/sep/09/robert-maxwells-sons-say-tycoon-was-to-meet-boe-the-day-he-died
https://www.theguardian.com/business/2004/aug/26/money2
https://www.independent.co.uk/news/world/americas/robert-maxwell-ghislaine-dad-lady-b1980266.html
https://www.independent.ie/entertainment/robert-maxwell-legacy-of-the-bouncing-czech-35131452.html
https://prachatai.com/journal/2022/01/96718
https://www.publishersweekly.com/978-0-7867-1078-2
https://web.archive.org/web/20140827093109/http://australian-guardians.org/?page_id=808