CNN+ การสูญเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ของสื่อยักษ์ใหญ่ หลังกระโจนเข้าสู่บริการข่าวสตรีมมิ่งได้เพียงเดือนเดียว

CNN+ การสูญเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ของสื่อยักษ์ใหญ่ หลังกระโจนเข้าสู่บริการข่าวสตรีมมิ่งได้เพียงเดือนเดียว
การประกาศเปิดตัว CNN+ ที่ให้บริการข่าวสตรีมมิ่งระบบสมัครสมาชิกเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2022 ของสำนักข่าวดังระดับโลกอย่าง CNN ที่ตีแผ่ความจริงมาตั้งแต่ปี 1980 เพื่อก้าวสู่ยุคใหม่ของสำนัก CNN ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญและสร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการสื่อ  ขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างคำถามให้กับหลายคนว่า ‘ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ใครจะยอมเสียเงิน เพื่อมาดูข่าวแบบเรียลไทม์ ที่มีเนื้อหาหนัก ๆ ตลอดทั้งวันทั้งคืนกัน?’  และดูเหมือนว่านี่คงเป็นคำถามที่คนทั่วโลกมีคำตอบเห็นพ้องต้องกัน เพราะหลังจากเปิดให้บริการใน 2 สัปดาห์ จำนวนผู้มาใช้บริการกลับมีไม่ถึง 10,000 คนต่อวัน จน CNN ต้องประกาศปิดตัวบริการดังกล่าวในวันที่ 30 เมษายนนี้ หรือเปิดให้บริการเพียงเดือนเดียว สะท้อนให้เห็นว่า คนยังคงมองว่าการอ่านข่าว เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน และความบันเทิงในรูปแบบข่าว อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่คนเลือกดำดิ่งลงไปหาความบันเทิงใส่ตัว วิสัยทัศน์และความเป็นจริง การเปิดบริการ CNN+ นับเป็นปรากฎการณ์ที่น่าฮือฮาอยู่ไม่น้อยก็จริง แต่การนำเสนอรายการออริจินัล รายการถ่ายทอดสด รายการออน ดีมานด์ และอินเทอร์แอคทีฟ รวมถึงสารคดีเชิงลึกที่ได้รับรางวัลของ CNN และคอนเทนต์อื่น ๆ ที่รับรองได้ว่าเนื้อหา ‘ลึก’ จนทำให้อิ่มกับข้อมูลข่าวสารไปตลอดวันนั้น กลับกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากการจับตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) กำลังทำให้ CNN+ รับศึกหนัก “เราจะเป็นบริการข่าวสตรีมมิ่งรายแรกและรายเดียวของโลก ในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน” แอนดรูว์ มอร์ส (Andrew Morse) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายดิจิทัล (Chief Digital Officer) ของ CNN+ ผู้ผลักดันและริเริ่มแนวคิดการกระโจนเข้าสู่ตลาดสตรีมมิ่งกล่าว โดยเขาและทีมงานหลายร้อยชีวิตพยายามคิดค้นและสร้างเนื้อหาที่แตกต่างจากสตรีมมิ่งเจ้าอื่น ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเนื้อหาในสตรีมมิ่งจะแตกต่างจากรายการทีวีของช่อง CNN ปกติ โดยพยายามปรับให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค และเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมมากขึ้น ดีไซน์รูปแบบรายการให้เป็นการสตรีมสด 8-12 ชั่วโมงต่อวัน มีผู้สื่อข่าวมืออาชีพทำหน้าที่รายงานข่าว เหมือนมีเพื่อนคอยเล่าข่าวอยู่ข้าง ๆ เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้สื่อข่าวและผู้ชมให้ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวล คนจำนวนมากก็ยังไม่อินอยู่ดี เพราะยังมีความคิดที่ว่าข่าวสารควรเป็นเรื่องที่เราสามารถรับรู้ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน การที่ต้องสตรีมสดเป็นเวลานานถึง 8-12 ชั่วโมงต่อวัน เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินและคนจำนวนมหาศาล รายงานจาก The Guardian ระบุว่า CNN+ จ้างพนักงานมากถึง 500 คน และมีการลงทุนไปแล้วราว ๆ 100 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จะปรับแผนการลงทุนไปถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 4 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังคิดราคาค่าบริการสำหรับการสมัครสมาชิกบริการข่าวสตรีมมิ่ง CNN+ อยู่ที่เดือนละ 5.99 ดอลลาร์ (ประมาณ 200 บาท) แต่มีรายงานว่าผู้ที่สนใจสมัครสมาชิกอยู่ที่ 150,000 รายเท่านั้น ขณะที่มียอดคนดูเฉลี่ยต่อวัน ไม่ถึง 10,000 คน ดูเหมือนว่า การทุ่มทุนจำนวนมหาศาลไม่ช่วยให้โลกธุรกิจในความฝันของผู้บริหาร CNN+ ไปได้ไกลเท่าใจนึก แม้จะเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและน่าสนใจอยู่ไม่น้อยก็ตาม จนกระทั่งถึงวันที่บอร์ดบริหารต้องยอมรับความจริงและประกาศปิดตัวลงในวันที่ 30 เมษายน 2022 ความล้มเหลวของ CNN นอกจากความแตกต่างที่ CNN+ พยายามจูงใจผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มแล้ว The New York Times ยังรายงานว่ามีความขัดแย้งขึ้นภายในบอร์ดบริหาร หลังจากเพิ่งทำการควบรวมกิจการครั้งใหญ่กับบริษัทแม่อย่าง WarnerMedia กับ Discovery กลายเป็นบริษัทใหม่ชื่อ Warner Bros. Discovery หรือ WBD เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2022 หลังจากการควบรวมบริษัทเสร็จสิ้น เดวิด ซาสลาฟ (David Zaslav) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Warner Bros. Discovery ได้เข้ามาดูแลสถานการณ์ภายในบริษัท และให้ความสนใจกับ CNN+ เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นน้องใหม่ป้ายแดง เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน (แถมยังใช้เงินจำนวนมหาศาล) แต่เมื่อทราบสถานการณ์เชิงลึก เขาถึงกับต้องเรียกประชุมเป็นการด่วน เพราะหากช้าไปกว่านี้ CNN คงถึงคราวต้องล่มสลายของจริง... หลังจากระดมความคิดตลอดวัน เจ้าพ่อสื่อยักษ์ใหญ่ของโลก (เป็นรองแค่กลุ่ม Disney เพียงบริษัทเดียว) ก็ได้ข้อสรุปว่า CNN+ เป็นบริการที่ใช้ทรัพยากรมากเกินไป ขณะที่ศักยภาพของสตรีมมิ่งตัวนี้กลับสู้คู่แข่งในตลาดเจ้าอื่นไม่ได้ เพื่อไม่ให้เป็นการกระทบกระเทือนจิตใจพนักงานของ CNN+ และสมาชิกกว่าแสนรายมากไปกว่านี้ เริ่มแรก CNN+ จะทำการคืนเงินให้ลูกค้าโดยคิดจากระยะเวลาการใช้งานจริง ส่วนพนักงานอีกหลายร้อยชีวิตของทีม อาจกลายเป็นคนว่างงานโดยไม่ทันตั้งตัว แต่ในระหว่างนี้ทุกคนยังคงได้ค่าจ้างและเงินชดเชย 90 วัน เพื่อรอโอนย้ายไปร่วมทีมกับทีมอื่น ๆ เช่น CNN, CNN Digital และที่ทีมอื่น ๆ ใน Warner Bros. Discovery ส่วนผู้ที่ตัดสินใจไม่ไปต่อกับบริษัทจะได้รับเงินชดเชย 6 เดือน และหัวเรือใหญ่อย่าง แอนดรูว์ มอร์ส จะรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่ง “ตอนแรกพวกเราต่างแสดงความวิตกกังวลออกมา แต่หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ทุกอย่างมันก็กลายเป็นเพียงความเศร้าจาง ๆ ทุกทีมต่างเดินเบียดเสียดออกจากห้องประชุมเหมือนร่างไร้วิญญาณ” หนึ่งในพนักงาน CNN+ ให้สัมภาษณ์กับ CNN สุดท้ายแล้วในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด นอกจากชื่อเสียงกับคุณภาพ รวมถึงวิสัยทัศน์ที่พยายามปรับตัวเข้าหาผู้บริโภคของสำนักข่าวเก่าแก่ระดับโลกแล้ว ก็ไม่อาจต้านทานโลกเสรี ที่ผู้คนยังคงมียึดติดว่าการเสพข่าวสารควรเป็น ‘ของฟรี’ แม้ CNN+ จะได้รับชื่อว่าเป็นธุรกิจสตรีมมิ่งที่ปิดตัวเร็วที่สุดในทุกแพลตฟอร์ม แต่นี่ก็เป็นกรณีศึกษาชั้นดีที่ทำให้สื่ออีกหลายเจ้า เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้มากขึ้น ถึงการกระโจนเข้าสู่สนามแบบทุ่มสุดตัวของ CNN จะสร้างบาดแผลที่ไม่อาจลบเลือนจากหน้าประวัติศาสตร์ก็ตาม   ภาพ: CNN+   อ้างอิง: https://edition.cnn.com/2022/03/28/media/cnn-plus-streaming-service-launch/index.html https://edition.cnn.com/2022/04/21/media/cnn-shutting-down/index.html https://www.cnbc.com/2022/04/12/cnn-plus-low-viewership-numbers-warner-bros-discovery.html https://www.theguardian.com/media/2022/apr/21/cnn-plus-streaming-service-shuts-down https://www.nytimes.com/2022/04/24/business/media/cnn-plus-discovery-warner.html#commentsContainer https://www.theverge.com/2022/4/21/23035703/cnn-plus-shutting-down