อีลอน มัสก์: ‘มหาเศรษฐีผู้แหกทุกกฎ’ หนึ่งในบุคคลที่ทั่วโลกยอมรับว่า วิสัยทัศน์กว้างไกลที่สุด กับจุดกำเนิด SpaceX อารยธรรมท่องอวกาศ
“ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา และอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เป็นแบบนี้ตั้งแต่วันแรกที่ทำงานด้วย” เป็นประโยคที่ออกจากปากของ ฮานส์ โคนิกส์แมนน์ (Hans Koenigsmann) รองประธานฝ่ายสร้างความเชื่อมั่นฯ SpaceX ที่ใช้อธิบายตัวตนความเป็น ‘อีลอน มัสก์’ ได้ดีที่สุด
โดยประโยคดังกล่าวมาจากภาพยนตร์สารคดี Return To Space บันทึกความสำเร็จของมัสก์และทีม SpaceX บน Netflix จากฝีมือของผู้กำกับฝีมือดีเจ้าของรางวัลออสการ์ ไช วาซาร์เรลลิ (Chai Vasarhelyi) และ จิมมี ชิน (Jimmy Chin) ที่หยิบภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง SpaceX กับ NASA มาเล่าผ่านเลนส์
หลายต่อหลายครั้งที่เนื้อหาในภาพยนตร์สารคดีแสดงให้เห็นมุมความเพี้ยนของมัสก์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะที่ผ่านมาเขามักจะตกอยู่ในกระแสความเพี้ยน บ้าระห่ำมาตลอด ตั้งแต่ที่ประกาศจัดตั้ง SpaceX เพื่อสานฝันไปดาวอังคาร และความเป็นนักประดิษฐ์ที่ฝังอยู่ใน DNA ก็ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ที่เขาจะมีหุ่นยนต์ Iron Man ตั้งอยู่กลางโรงงาน หรือเปิดขาย ‘ปืนพ่นไฟ’ ในช่วงเบื่อ ๆ ของเขาจนตั้งชื่อบริษัทว่า Boring Company
นอกจากนี้ มัสก์ยังเป็นนักเต้นที่มีผู้คนเรียกร้องอยู่บ่อย ๆ หลังจากเขาเคยโชว์สเต็ปหลายครั้งเวลาที่เปิดตัวเกี่ยวกับรถยนต์ Tesla ทั้งยังเคยมีข่าวฉาวเมื่อครั้งที่เคยให้สัมภาษณ์สดกับ โจ โรแกน (Joe Rogan) พิธีกรชื่อดังด้วยการดูดกัญชาโชว์กลางรายการ
แต่มุมความเพี้ยนส่วนตัวทั้งหมดนี้ไม่เคยเป็นข้อกังขา หรือเป็นอุปสรรคในการเติบโตของ SpaceX เลยสักครั้ง
เบื้องหลังอารยธรรมท่องอวกาศที่มาของSpaceX
ย้อนไปจุดที่ภาพยนตร์สารคดีไม่ได้เอ่ยถึงคือช่วงปี 2002 ที่บริษัท SpaceX ก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ จากแนวคิดบ้าบิ่นของเศรษฐีชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ชื่อว่า อีลอน มัสก์ ไอเดียนี้ผุดขึ้นมาหลังจากที่เขาขายธุรกิจ PayPal (ซึ่งถูกซื้อไปโดย eBay) และนำเงินก้อนนั้นมาต่อยอดความฝันทุ่มให้กับ SpaceX ด้วยเงินมูลค่า 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
จุดเริ่มต้นของ SpaceX และอารยธรรมท่องอวกาศของมัสก์ เป็นเหมือนการเติมฟืนทีละนิดให้กับไฟแห่งความฝันที่ใหญ่เกินตัว ที่เขาพยายามผลักดันให้มนุษย์กลายเป็นสายพันธุ์ที่สามารถอาศัยอยู่ในหลายดวงดาว และเผยแพร่อารยธรรมให้ไกลเกินกว่าจะอยู่แค่ในโลกกลม ๆ ใบเดียว
ความผิดหวังซ้ำ ๆ จากความหวังจะเห็น NASA ส่งคนไปดาวอังคารได้จริง นับตั้งแต่จบภารกิจไปดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1972 เป็นเหมือนน้ำมันที่ช่วยให้ภารกิจของ SpaceX กลายเป็นจริง
เรามักจะได้ยินคำพูดจากมัสก์บ่อย ๆ ไม่ว่าจะในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ หรือบนเวที TED Talks แม้แต่ในบทสัมภาษณ์ของสื่อต่างประเทศ ตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ที่กำเนิด SpaceX ซึ่งเหตุผลหลักเพียงเรื่องเดียวที่ขับเคลื่อน SpaceX ก็คือ “การพัฒนาขั้นพื้นฐานที่ชัดเจนเพื่อให้มนุษย์เป็นสายพันธุ์สหดวงดาวได้ ดังนั้น ระบบจรวดที่สามารถใช้ซ้ำได้ แก้ปัญหาได้รวดเร็ว และเต็มกำลังคือสิ่งจำเป็น
“ที่ตัดสินใจตั้งบริษัทสำรวจอวกาศเพราะต้องการแก้ปัญหาให้กับมนุษย์ การใช้จรวดซ้ำจะช่วยลดงบประมาณที่ใช้กับการสำรวจอวกาศ” ประโยคเปิดใจครั้งแรก ๆ จากมัสก์ บนเวที TED Talks ในปี 2013
จากความเพี้ยนสู่ความร่วมมือกับNASA
ตลอดเส้นทางการทดลองจรวดเข้าสู่วงโคจรตั้งแต่ Falcon 1 ที่ออกแบบให้เป็นจรวดแบบ 2 ส่วน มัสก์มักจะพูดย้ำเสมอว่า สามารถทำในสิ่งที่ NASA ทำไม่ได้นั่นก็คือ การเริ่มต้นยุคอวกาศ ซึ่งมัสก์ได้ทุ่มเงินเพื่อการสำรวจอวกาศก้อนแรกมากถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ความพยายามในการปล่อยจรวด Falcon 1 ถึง 3 ครั้งติดกันในระยะเวลา 6 ปีกับผลลัพธ์ที่มีแต่ความล้มเหลว บวกกับสถานการณ์การเงินของบริษัทที่กำลังแย่ นี่ถือเป็นหายนะที่มัสก์ต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อหรือยุติการทดลอง ซึ่งสุดท้ายเขาก็เลือกทำตามความฝันด้วยเงินก้อนสุดท้ายที่เหลือเพื่อทุ่มเทไปกับการทดลองปล่อยจรวดครั้งที่ 4
“SpaceX ไม่กลัวการล้มเหลว เราแทบจะยินดีกับมัน” คำคำนี้จุดประกายให้กับทีม SpaceX มากกว่าที่คิด เพราะความล้มเหลวจากทุกครั้งที่ทดลองปล่อยจรวดมันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาจากบทเรียนที่ได้ จนกระทั่ง Falcon 1 กลายเป็นจรวดที่เอกชนพัฒนาลำแรกที่ไปยังวงโคจรได้สำเร็จ และมัสก์ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 4 ตำนานผู้ที่สามารถส่งจรวดไปยังวงโคจรและกลับมายังพื้นโลกได้สำเร็จ (นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, จีน)
ความสำเร็จครั้งนี้ของ SpaceX ส่งเสียงดังไปถึง NASA จนได้สัญญามูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง ‘จิม ไบรเดนสไตน์’ (Jim Bridenstine) ผู้บริหารของ NASA เชื่อมั่นว่า NASA กับ SpaceX จะช่วยกันแก้ปัญหาความล้าหลังของ NASA ได้
โดย SpaceX ยังคงพัฒนาและทดสอบจรวดอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่มาของ Falcon 9 ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2015 มัสก์มุ่งมั่นที่จะทดสอบการลงจอดของจรวดอย่างหนัก เพราะเชื่อว่าจรวดจะสามารถใช้ซ้ำได้ต่อเมื่อมีกลไกการลงจอดที่แม่นยำ ไม่ใช่การระเบิดทิ้งก่อนกลับสู่พื้นดิน และแล้ว 7 ปีแห่งความล้มเหลวก็ทำให้ทีมของ SpaceX ประสบความสำเร็จในการนำจรวดลงจอดพื้นดินได้อย่างปลอดภัย
ภารกิจกอบกู้ชื่อเสียงNASA
ด้วยความที่การทำงานระหว่างเอกชนกับระบบราชการต่างกันมาก NASA ใช้วิธีการแก้ปัญหาทุกอย่างจากกระดาษ ขณะที่ SpaceX แก้โจทย์จากจรวดที่สร้างขึ้นมาใหม่ และไล่ปัญหาไปตามจุดต่าง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้นภารกิจที่เรียกว่า Demo-2 คือการส่งนักบินอเมริกัน 2 คน บ๊อบ เบห์นเคน (Bob Behnken) และ ดั๊ก เฮอร์ลีย์ (Doug Hurley) ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติจากพื้นดินสหรัฐฯ เป็นเวลา 2 เดือน จะเรียกว่าเป็นภารกิจกอบกู้ชื่อเสียง NASA ก็ไม่ผิด
และแล้วโชคชะตาก็เข้าข้าง NASA อีกครั้ง หรือจะมองว่าเป็นความเก่งกาจของ SpaceX ก็ได้ เพราะเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2020 SpaceX และ NASA สามารถส่งนักบินอวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี โดยใช้ยานอวกาศ Crew Dragon ของ SpaceX ซึ่งสิ่งมหัศจรรย์ของงานวิศวกรรม SpaceX ทำให้ใช้เวลาเดินทางไปถึงวงโคจรเพียง 9 นาทีด้วยความไวเกินความเร็วของเสียงถึง 2.5 เท่า
สัญลักษณ์แห่งความหวังนี้กำลังบอกอะไร? มันไม่ใช่แค่ความสำเร็จของ SpaceX หรือ NASA แค่นั้น แต่ความสำเร็จที่รวมไปถึงกลไกการลงจอดจรวดได้อย่างปลอดภัย และสามารถใช้จรวดซ้ำได้ มัสก์ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของการใช้งบประมาณการสำรวจอวกาศของ NASA เหลือเพียง 1 ใน 10 จากที่เคยใช้
เคยมีการประเมินตัวเลขการใช้งบประมาณคร่าว ๆ ของ NASA ตั้งแต่โครงการอะพอลโล ที่ใช้งบประมาณไปทั้งหมดราว 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีนักบินอวกาศของอเมริกาทั้งหมด 350 คน หมายความว่า 53 ปีของอะพอลโล ใช้งบฯ หมดไปกับนักบินอวกาศต่อคนมากถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดูเป็นตัวเลขที่สูงและสิ้นเปลืองเกินไปในความคิดของมัสก์
ในเมื่อการท่องอวกาศครั้งนี้มันสำเร็จไปอีกก้าว ความฝันของมัสก์ที่อยากจะสร้างฐานในอวกาศ หรือจะเป็นการเหยียบดวงจันทร์/ดาวอังคาร แม้แต่การสร้างอาณานิคมให้มนุษย์สามารถย้ายไปอยู่ในแต่ละดาวได้ดูจะเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นมาอีก ซึ่งเวลานี้สิ่งที่ SpaceX และ NASA กำลังทุ่มเทพัฒนาก็คือ ยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ที่จะทำให้สามารถกลับจากห้วงอวกาศและลงสู่พื้นโลกได้ ที่สำคัญยานจะพร้อมใช้งานทันทีหลังเติมเชื้อเพลิงเหมือนกับเครื่องบินโดยสารทุกวันนี้
มาถึงจุดนี้เราไม่มีทางรู้เลยว่าอารยธรรมท่องอวกาศของมัสก์จะเดินทางไปถึงจุดไหน เพราะมันมีสิ่งที่เราไม่รู้อยู่เสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ มัสก์ถือเป็น masterpiece คนหนึ่งในวงการอวกาศ และมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนโลกของมวลมนุษย์ได้
หากความเพี้ยนนี้ของมัสก์สามารถพลิกโลกอวกาศได้ และความกล้าได้กล้าเสียนี้จะทำให้ความเชื่อเรื่องการท่องอวกาศยุคใหม่เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยความหลงใหลของคนคนหนึ่ง วันหนึ่งอาจมีพลังมากพอที่จะสร้างสิ่งที่เหลือเชื่อได้ เหมือนกับมัสก์ที่คลั่งไคล้ความเป็น Sci-Fi จนทำให้วันนี้เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกไปแล้ว
ภาพ: Netflix
อ้างอิง:
https://www.usatoday.com/story/news/nation/2020/05/26/spacex-how-elon-musk-took-idea-cusp-history/5257977002/
https://www.space.com/nasa-spacex-return-to-space-netflix
https://www.nasaspaceflight.com/2022/04/spacex-boosters-florida-factory/