ซิด ไมเออร์ ผู้ให้กำเนิด Civilization
Civilization หรือ "อารยธรรม" ในภาษาไทยราชบัณฑิตให้นิยามไว้หมายถึง "ความเจริญของสังคมในทุกด้านที่ได้สั่งสมมา ทั้งการเมืองการปกครอง กฎหมาย เศรษฐกิจ ศิลปะ วิทยาการ ศีลธรรม ความเชื่อทางศาสนาที่เป็นระบบ และวัฒนธรรม"
แต่สำหรับคนที่เป็นคอเกมวางแผน Civilization คือเกมวางแผนแบบผลัดกันเล่นยอดนิยม ที่ผู้เล่นจะเป็นผู้นำพาแต่ละอารยธรรมเดินไปข้างหน้า ซึ่งแต่ละหมากที่เดินไปอาจจะหมายถึง "ความเจริญ" หรือการได้เปรียบผู้เล่นอื่นก็ได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็อาจพาอารยธรรมนั้นไปสู่ "ความล้าหลัง" และล่มสลายได้เช่นกัน
เกมชุดนี้ออกภาคแรกมาตั้งแต่ปี 1991 สมัยที่ภาพยังเป็นพิกเซลแตก ๆ แบบสองมิติ มันกลายมาเป็นเกมดังขายดีในทันที และมีภาคต่อออกมาเรื่อย ๆ ถึงปัจจุบัน โดยมีภาคหลักทั้งหมด 6 ภาค และมีภาคเสริมที่ออกเมื่อวันวาเลนไทน์ ปี 2019
และชื่อเต็ม ๆ ของเกมชุดนี้ก็คือ Sid Meier's Civilization ตามชื่อของผู้พัฒนาเกมนี้ขึ้นมานั่นเอง
ซิด ไมเออร์ (Sid Meier) เกิดที่ออนตาริโอ ในแคนาดา ก่อนย้ายมาเรียนที่สหรัฐฯ จนจบวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เขาเป็นคนที่ชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ไม่ใช่วิดีโอเกม (เขาเกิดปี 1954) หากเป็นพวกตุ๊กตาทหารต่อสู้กันและพวกบอร์ดเกมต่าง ๆ พอเข้าเรียนเขาก็สนใจคอมพิวเตอร์และมาเรียนด้านนี้ ระหว่างเรียนก็เคยออกแบบเกมง่าย ๆ อย่าง OX (หรือ Tic-tac-toe)
จนกระทั่งมีการเปิดตัวเครื่องเล่นเกม "Atari" ทำให้เขาเห็นว่าเกมกับคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ไปกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตอนนั้นเขาเรียนจบแล้ว และได้มาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ให้บริษัท General Instrument Corporation เขาใช้เวลาว่างศึกษาวิธีการแฮกคอมพิวเตอร์ และได้ลองทำเกมเลียนแบบ Space Invader เกมยานยิงมนุษย์ต่างดาว ก่อนเอาไปปล่อยในเน็ตเวิร์กของที่ทำงาน ทำเอาเพื่อนร่วมงานติดงอมแงม จนเจ้านายต้องสั่งให้เขาเอามันออกจากระบบ
ที่นี่เขายังมีเพื่อนสนิทที่เล่นเกมแข่งกันประจำ วันหนึ่งพวกเขาเล่นเกม Red Baron เกมบังคับเครื่องบินบนเครื่อง Atari บิล สตีลีย์ (Bill Stealey) เพื่อนซี้อดีตทหารอากาศที่แพ้ไมเออร์มาทุกเกม เชื่อว่าถ้าเป็นเกมนี้เขาจะต้องชนะไมเออร์ได้แน่ ๆ แต่ก็ยังแพ้อีกตามฟอร์ม หลังชนะได้ไมเออร์ยังโม้อีกว่า เกมนี้ก็ดีอยู่นะ แต่เขาเชื่อว่าเขาจะสามารถทำเกมบังคับเครื่องบินเสมือนจริงที่ดีได้ยิ่งกว่านี้อีก
ฝ่ายสตีลีย์ก็เลยบอกว่า "ถ้านายทำได้ เราก็ขายได้" ไมเออร์ทำตามคำท้าออกแบบเกมบังคับเครื่องบินในชื่อ Hellcat Ace ออกมา ฝ่ายสตีลีย์ก็เอาไปขายได้เงินมาสองแสนดอลลาร์ ทั้งคู่เห็นทางที่จะก้าวหน้าในทางนี้ได้ จึงพากันลาออกจากงานมาร่วมกันพัฒนาเกมที่ MicroProse ที่ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Sid Meier's Civilization
นอกเหนือไปจากตัวเกมแล้ว สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกมของไมเออร์ก็คือ การตั้งชื่อ เราจะเห็นเกมหลายเกมที่เขาออกแบบจะต้องมีชื่อของเขานำหน้าเพื่อบอกความเป็นเจ้าของอยู่เสมอ ซึ่งน้อยเกมนักที่จะทำอะไรแบบนี้ บางคนเห็นแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าคนแบบนี้น่าจะเป็นพวกอีโก้สูงชอบเอาตัวเองเป็นที่ตั้งรึเปล่า?
แต่จากปากคำของคนใกล้ชิดยืนยันว่า ไมเออร์ไม่ใช่คนแบบนั้นเลย ไอเดียที่จะเอาชื่อเขามาประดับหน้าชื่อเกมก็ไม่ใช่ไอเดียของเขาเอง แต่เป็นสตีลีย์ ตอนนั้นเกมขายดีของพวกเขาคือเกมจำลองการบินเป็นหลัก แล้วจู่ ๆ ไมเออร์ก็ได้ไอเดียจะทำเกมเกี่ยวกับโจรสลัดออกมา ตอนแรกสตีลีย์ก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่บ้าบอมาก ก่อนคิดขึ้นได้ว่าถ้าแฟน ๆ ของไมเออร์ที่ตามเกมขับเครื่องบินของพวกเขามาตลอด รู้ว่าไมเออร์เป็นคนทำเกมโจรสลัดเกมนี้ แฟน ๆ อาจจะตามมาซื้อเกมแนวใหม่ของพวกเขาก็ได้ มันเลยเป็นที่มาของ Sid Meier's Pirates! เกมแรกที่มีชื่อของไมเออร์นำหน้า
หลังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามกับเกมโจรสลัด ที่ถือว่าเป็นการเปิดหน้าใหม่ของวงการเกมสมัยนั้น โปรเจกต์ต่อมาอย่าง Railroad Tycoon เกมวางแผนพัฒนาบริษัทเดินรถไฟ ก็ยิ่งทำให้ไมเออร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น และปีต่อมาไมเออร์ก็ได้ปล่อย Civilization เกมวางแผนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเกมหนึ่งในประวัติศาสตร์ และทำให้ ซิด ไมเออร์ กลายเป็นหนึ่งในตำนานของวงการเกม
จะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนเกมของแต่ละบริษัทสามารถออกกันได้แบบติด ๆ อย่างภาคแรกของ Civilization พวกเขาใช้ทีมในการผลิตเพียงไม่ถึงสิบคน ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปีก็เสร็จ ด้วยความที่ข้อจำกัดสำคัญคือหน่วยความจำทำให้พวกเขาใส่อะไรเข้าไปได้ไม่มาก ถึงอย่างนั้น Civilization ต้นฉบับซึ่งออกแบบมาเพื่อเล่นบนระบบ MS-DOS ก็ยังมีอารยธรรมให้เลือกมากถึง 15 อารยธรรม
ผู้เล่นจะสามารถเลือกเล่นเป็นผู้นำที่มีตัวตนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ (หรือจะเปลี่ยนชื่อก็ได้ตามสะดวก) ซึ่งแต่ละอารยธรรมก็จะมีบุคลิกที่ต่างกันไปและยังมีเทคโนโลยีเริ่มต้นที่ต่างกัน แม้จะเริ่มต้นที่ยุค 4,000 ปีก่อนคริสตกาลพร้อมกัน แต่แต่ละอารยธรรมก็จะมีความได้เปรียบเสียเปรียบที่ต่างกันไป ทำให้ผู้เล่นต้องวางแผนให้ดีว่าจะพาอารยธรรมของตนไปในทิศทางใด เพื่อปิดข้อด้อยและเสริมจุดแข็งให้กับตัวเอง
เกมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหลาย ๆ เกม เช่น Sim City เกมพัฒนาเมืองที่แสดงให้เห็นว่า คอมพิวเตอร์เกมไม่จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความรุนแรงไล่ฆ่ากัน รวมถึงบอร์ดเกมในชื่อเดียวกันว่า "Civilization" ออกแบบโดย ฟรานซิส เทรชแฮม (Francis Tresham) นักออกแบบเกมชาวอังกฤษ ซึ่ง Avalon Hill ได้สิทธิเป็นผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐฯ และ บรูซ เชลลี (Bruce Shelley) หนึ่งในทีมออกแบบบอร์ดเกมของ Avalon Hill ก็เป็นหนึ่งในทีมที่มาช่วยพัฒนาเกมร่วมกับไมเออร์
ปัจจุบันเกมได้ขยายรูปแบบการเล่นออกไปมาก มีระบบศาสนา ระบบการปกครอง การเลือกใช้นโยบายส่งเสริมกิจการต่าง ๆ และเพิ่มเรื่องของภัยธรรมชาติ อย่างเช่น พายุ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด หรือปัญหาโลกร้อน ให้ผู้เล่นต้องวางแผนรับมือ
เกมของเขาเกี่ยวพันกับเรื่องของประวัติศาสตร์ มีการใส่เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของแต่ละอารยธรรม รวมถึงสิ่งมหัศจรรย์ของโลกซึ่งผู้เล่นจะได้โบนัสจากการก่อสร้างเหล่านั้น ในทางหนึ่งก็มีส่วนช่วยให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ หรือจุดประกายให้คนเกิดความอยากรู้อยากศึกษาเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน เกมทำนองนี้ก็มักมีนักวิชาการท้วงติงถึงความถูกต้องของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ในเกม
เพื่อเลี่ยงปัญหาโดยใช่เหตุ ไมเออร์จึงเลือกที่จะไม่เอาผู้นำที่มีปัญหาภาพลักษณ์อย่าง “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” มาปรากฏอยู่ในเกมเลย (แต่ก็ยังมีคนอยากเป็นฮิตเลอร์ และสร้าง Mod หรือตัวเพิ่มเติมดัดแปลงเกมให้มีฮิตเลอร์เป็นตัวเลือกอยู่เรื่อย ๆ )
และครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ถึงจุดประสงค์ของการพัฒนาเกมชุดนี้ขึ้นมาว่า “เราไม่ได้พยายามจะผลิตซ้ำประวัติศาสตร์ เราแค่มอบเครื่องมือและองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ให้คุณลองดูว่า ถ้าคุณอยู่ในอำนาจแล้วผลมันจะเป็นยังไง”
ด้วยชื่อเสียงและความสำเร็จ ทำให้มีคนชอบถามไมเออร์ว่าถ้าอยากจะเป็นนักออกแบบเกม ต้องทำอย่างไร? ไมเออร์บอกว่ามันมีวิชาพื้นฐานทางเทคนิคที่มีประโยชน์อยู่หลายวิชาที่น่าเรียน แต่ที่สำคัญคือการมองหาความสนใจอื่น ๆ เพราะเกมมันเป็นเรื่องอะไรของอะไรบางอย่างที่นอกเหนือไปจากเรื่องของเทคนิค เขาจึงอยากให้คนที่สนใจจะเป็นนักออกแบบเกมต้องให้ความสนใจกับเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ตัวเกมเท่านั้น
"เกมจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะไรสักอย่าง ไม่ใช่แค่เกมที่ไปพ้องไปต้องกับเกมอื่น ผมจึงหวังว่าหลาย ๆ คนจะสนใจเรื่องของประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดนตรี หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วเอาเรื่องที่เขาสนใจมาปรับเป็นเกมได้ ซึ่งก็จะช่วยขยายขอบเขตจากสิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ใช่แค่สร้างเกมที่คล้ายกับเกมที่เคยทำกันมาก่อน" ไมเออร์กล่าว (Rev3Games)