06 พ.ค. 2565 | 17:30 น.
กรุงเทพฯ อาจจะเป็นเมืองที่ไม่ค่อยน่าอยู่นักสำหรับคนบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นผู้หญิงแม้จะกระจุกไปด้วยความเจริญที่มากมาย แม้จะประดับไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย แม้จะดูคล้ายว่าน่าอยู่และสุขสบาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองหลวงของประเทศไทยอย่าง ‘กรุงเทพมหานคร’ ยังคงมีปัญหาที่ตั้งเด่นอยู่แทบจะทุกมุมถนน ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมที่ปราศจากความสะดวกสบายและคุณภาพที่เหมาะสม ถนนหนทางที่ยังคงไม่สมบูรณ์และเปลี่ยวมืดปราศจากแสงสว่าง ความปลอดภัยพื้นฐานของชีวิตคนเมืองที่ยังคงไม่แน่ไม่นอน และคุณภาพชีวิตที่เพียงมองไปรอบตัวก็ได้แต่ถอนหายใจแล้วนึกกับตนเองว่า “นี่สินะคือกรุงเทพฯ ที่มาพร้อมกับชีวิตดี ๆ ที่แสนจะลงตัว…” ปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นได้กระทบการคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ มากมายหลายคนมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’ ที่ต้องแบกรับความไม่ปลอดภัยของกรุงเทพฯ ไว้บนบ่าในแทบจะทุก ๆ วันที่ต้องออกไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ก้าวเดินออกจากที่อยู่อาศัยที่บางทีก็ต้องเดินลัดเลาะในตรอกซอกซอยไปขึ้นรถสาธารณะที่ไม่ตรงเวลา แถมยังต้องไปใช้เวลาเพิ่มขึ้นในการต่อจากสายหนึ่งไปอีกสายหนึ่งซึ่งใช้ระยะเวลาและพลังมากพอสมควร แต่ทุกอย่างกลับยิ่งดูแย่ลงไปกว่าเดิมเมื่อตะวันตกดินและความมืดเข้าปกคลุมเส้นทางในการเดินทางเหล่านั้น กว่าจะก้าวขึ้นรถเมล์หรือเรือประจำทางเพื่อเดินทางกลับบ้านที่อาจกินระยะเวลาหลายชั่วโมง ผสานกับการที่ต้องเดินไปในตรอกซอกซอยที่มืดและคุกรุ่นไปด้วยภัยอันตรายที่ไม่อาจคาดเดาได้เลย การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ถือเป็นเรื่องยากและการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งก็ยิ่งยากมากขึ้นไปอีกเมื่อมีปัญหามากมายรอบตัวที่ต้องแบกไว้บนบ่าในทุก ๆ วัน “เราเป็นผู้หญิงเหมือนกัน กรุงเทพฯ น่าจะทำให้เรารู้สึกเหมือนกันได้” ‘เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์’ หรือ ดร. ยุ้ย หนึ่งในทีมของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของนโยบายที่จะปรับปรุงและพัฒนากรุงเทพให้ดีไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจจาก ดร. ยุ้ยคือความมุ่งหวังที่อยากจะเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่รองรับชีวิตที่ปลอดภัยและมีคุณค่าของผู้หญิงที่ต้องใช้ชีวิตและต้องเผชิญกับปัญหาที่ยังไม่ได้แก้อยู่อีกมากมาย โดยเธอเชื่อว่ากรุงเทพฯ สามารถปลอดภัยกว่านี้ได้ ไม่ว่าจะในแง่ของชีวิตประจำวันหรือสุขภาพร่างกาย และเธอก็มีปณิธานที่อยากจะเห็นกรุงเทพฯ ที่สามารถมอบความรู้สึก ความปลอดภัย และความเท่าเทียมให้ผู้หญิงกรุงเทพฯ ได้เหมือน ๆ กัน แต่หากเพียงกล่าวแสดงวิสัยทัศน์เปล่า ๆ โดยปราศจากแนวทางและขั้นบันไดสู่จุดมุ่งหมายในอนาคต ภาพกรุงเทพที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเพศไหน ๆ ก็คงเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่ดูจะเป็นการขายฝันมากกว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุนี้เอง ดร. ยุ้ย-เกษรา และทีมเพื่อนชัชชาติจึงคิดสรรนโยบายที่จะทำให้ความมุ่งหวังที่จะเห็นกรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับคนทุกคน ทาง(ที่)สว่าง นอกเสียจากจะต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับการทำงาน ผู้หญิงกรุงเทพฯ ก็ต้องทนทุกข์กับอุปสรรค์อันหลากหลายตลอดการเดินทาง ไม่ว่าจะรถติด รถเก่า รถสาย รถหมด รถเต็ม รถไปไม่ถึง จะหันไปโดยสารโดยเรือก็หนาแน่นไปด้วยผู้คนและลำบากในการโดยสาร จะเปลี่ยนเวลาให้เช้าขึ้นหรือดึกกว่าเดิมเพื่อการเดินทางที่สะดวกและคนน้อยก็ต้องเผชิญกับป้ายรถเมล์ที่มืด เส้นทางที่เปลี่ยว และดูไม่ค่อยปลอดภัย “เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องขึ้นรถสาธารณะ แล้วบางครั้งก็ต้องเดินต่อเข้าไปในซอย แล้วบ้างครั้งก็อาจจะต้องใช้วินมอเตอร์ไซค์ เราจะเห็นถึงความแตกต่าง และเห็นถึงสิ่งที่เราว่า ‘ความไม่ปลอดภัยของกรุงเทพฯ’” ด้วยเหตุทั้งปวงเหล่านี้จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกที่ ดร. ยุ้ย และทีมเพื่อนชัชชาติ จะให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวโยงกับการเดินทางเพราะมันเป็นการอำนวยความสะดวกและยกระดับความปลอดภัยของผู้หญิงกรุงเทพฯ ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยการแก้ปัญหาเหล่านี้ก็มีแนวทางหลายรูปแบบเพื่อแก้ไขจากหลายต้นเหตุ จำนวนสายของรถเมล์สายหลักและรองที่เพิ่มขึ้นดั่งเส้นเลือดฝอยที่สามารถรับ-ส่งผู้โดยสารได้ถึงพื้นที่ใกล้บ้านจะช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนการเดินทางของผู้หญิงกรุงเทพฯ ที่ต้องเดินลัดเลาะตรอกซอกซอยหรือริมคลองเพื่อเดินทางไปสู่สถานี ท่าเรือ หรือป้ายรถเมล์ แถมยังเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางต่อวันอย่างเห็นได้ชัด ผู้โดยสารบางท่านอาจไม่ต้องไปกระจุกกันที่เส้นเลือดใหญ่อย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อกระจายไปที่เส้นเลือดฝอยอีกต่อไป เพราะเราอาจจะสามารถนั่งรถเมล์สายใหม่เพื่อเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้ง่ายและสะดวกกว่าเดิม และถึงแม้ว่าต้องเลิกงานดึกหรือออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด การเดินทางลัดเลาะตรอกซอกซอยก็ไม่ใช่เรื่องที่เสี่ยงอันตรายอีกต่อไป เพราะนอกจากข้อมูลของสายรถเมล์แบบเรียลไทม์ที่จะทำให้ทุกคนสามารถดูตำแหน่งปัจจุบันของรถโดยสารสาธารณะและประเมิณว่า ควรออกจากบ้านกี่โมงโดยไม่ต้องไปนั่งแช่อยู่ที่ป้ายรถเมล์ด้วยความหวังและโชคว่า เมื่อใดรถสายที่ต้องการจะเดินทางมาถึง การเพิ่มแสงสว่างให้ป้ายรถเมล์และทางเดินในตรอกซอกซอยก็จะทำให้ผู้หญิงกรุงเทพฯ เดินทางได้อย่างสบายใจขึ้น โดยไม่ต้องไปเสียเวลาอ้อมทางที่ดูปลอดภัยกว่าหรือมุ่งหน้าลุ้นเสี่ยงในเส้นทางที่มืดเปลี่ยว แผนที่และจุดเสี่ยง “คำว่า ‘ความปลอดภัย’ มันไม่เคยหยุดนิ่ง ถนนเส้นหนึ่งที่เคยปลอดภัยแล้ว วันหนึ่งมันก็อาจจะไม่ปลอดภัย แต่ถนนเส้นหนึ่งที่ไม่ปลอดภัย วันหนึ่งอาจจะปลอดภัยก็ได้ ถ้าเราเข้าไปแก้ไขมันแล้ว” แม้จะลงมือแก้ไขเพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปลอดภัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่งหากความชะล่าใจเกิดขึ้น ที่หนึ่งแม้จะดูปลอดภัยแต่วันหนึ่งก็อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้น อีกที่หนึ่งที่ไม่ปลอดภัยก็ถึงเวลาที่จะต้องลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง แต่การจะป้องปรามอันตรายซ่อนเร้นเหล่านั้นได้ ผู้คนต้องรู้เท่าทันถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ ‘แผนที่จุดเสี่ยง’ หรือ BKK Risk Map หากจะต้องเดินทางไปที่ใดสักที่หนึ่ง ชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อาจจะต้องเดินทางคนเดียวสามารถมีตัวช่วยเพื่อพิจารณาเลือกเส้นทางที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่จากแผนที่จุดเสี่ยงที่จะเป็นการรวบรวมฐานข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถิติอาชญากรรม อุบัติเหตุ น้ำท่วม จุดมืด หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกับความปลอดภัย เพื่อที่ผู้โดยสารอาจพิจารณาเลือกใช้เส้นทางอื่นที่ปลอดภัยกว่าหรือหากต้องเดินทางไปในเส้นทางเหล่านั้นก็จะเพิ่มความตระหนักรู้ถึงสภาพพื้นที่เพื่อที่จะรู้เท่าทันสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น นับเป็นการแก้ปัญหาในมิติที่น่าสนใจ เพราะนอกจากที่จะมีนโยบายเดินหน้าแก้ไขความเสี่ยงแบบตรงไปตรงมาที่ต้นตอของปัญหาแล้ว ก็ยังมีนโยบายการป้องปรามปัญหาที่เปรียบเสมือนเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ชาวกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแผนที่จุดเสี่ยงนี้เป็นตัวช่วยเพื่อทำงานควบคู่กันเพื่อเพิ่มความปลอดภัยยิ่งขึ้นไปอีก สุขภาพที่ดีมีอยู่หน้าบ้าน ปัญหาส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม หากเราสามารถแก้ไขมันได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น หากเราสามารถแก้ไขมันได้ตั้งแต่ต้นตอ ปัญหาเหล่านั้นย่อมถูกแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพและง่ายกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกอย่างความเสี่ยงในชีวิตการเดินทางในกรุงเทพฯ หรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากภายในอย่างสุขภาพ โดนเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมที่เกิดในผู้หญิง มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมนับเป็นปัญหาสุขภาพที่นับเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของผู้หญิงแต่หากสามารถแก้ไขมันได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นหรือแม้กระทั่งป้องกันก่อนจะเกิดขึ้นได้ เรื่องใหญ่เหล่านี้ก็จะถูกแก้ไขไปได้ในจำนวนมากและวงกว้างกว่าเดิม แต่ก็มีหลากหลายอุปสรรคในกรุงเทพฯ ที่อาจเป็นตัวขวางกันไม่ให้หลาย ๆ คนได้เข้าถึงการตรวจและการรักษาเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ค่าเดินทาง หรือความแออัด ณ สถานพยาบาล ปัจจัยเหล่านี้ แม้ไม่ใช้ปัจจัยใหญ่ที่ปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงอย่างมิดชิด แต่เป็นปัจจัยที่ลดทอนแรงจูงใจให้ใครหลาย ๆ คนให้เดินทางไปตรวจ ดร. ยุ้ยและทีมเพื่อนชัชชาติได้นำเสนอการแก้ปัญหานี้ผ่านการอำนวยความสะดวกด้วย ‘รถสุขภาพเชิงรุก’ หรือ Mobile Medical Unit ที่จะเข้าไปให้บริการชาวกรุงเทพฯ ถึงเส้นเลือดฝอยโดยไม่ต้องลงทุนนั่งรถจากบ้านไปโรงพยาบาลเหมือนก่อน นับเป็นการอำนวยความสะดวกที่จะเพิ่มแรงจูงใจผู้คนในการเดินไปตรวจสุขภาพอย่างน่าสนใจมาก ๆ โดยรถสุขภาพเชิงรุกดังกล่าวจะสามารถทำหน้าที่การตรวจสุขภาพเบื้องต้นได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น การจ่ายยาขั้นพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งการตรวจหามะเร็งเต้านม เพราะตัวรถก็ติดตั้งไปด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลที่จะเชื่อมต่อระบบทางการแพทย์อย่าง Telemedicine เพื่อการเข้าถึงข้อมูลและการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงแม้รถจะจอดอยู่หน้าบ้านเราก็ตาม ไหน ๆ เราก็มีการทำงานจากที่บ้านหรือ Work From Home กันแล้ว ก็คงจะถึงเวลาที่เราจะใส่ใจสุขภาพแบบ Health From Home กันบ้าง และแม้จะดูเหมือนเป็นแค่การอำนวยความสะดวกสบายโดยการยกห้องตรวจจากโรงพยาบาลมาไว้หน้าบ้าน แต่มันก็เป็นการเพิ่มแรงจูงใจและลดอุปสรรคเพื่อเพิ่มจำนวนคนที่จะสามารถรู้เท่าทันและรักษาโรคมะเร็งและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว แก้ปัญหา ตั้งเป้าหมาย อย่างเข้าใจ หากจะฝากความหวังไว้กับใครสักคนในการจะแก้ปัญหาใดสักปัญหาหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ ความชำนาญสามารถเพียงอย่างเดียวก็คงเป็นสมการที่ไม่สมบูรณ์ เพราะเส้นทางของการจัดการกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพคงขาดตัวแปรสำคัญอย่าง ‘ความเข้าใจ’ ในปัญหาอย่างแท้จริงไปไม่ได้ แต่ใครก็สามารถบอกว่าตนเองนั้น ‘เข้าใจ’ ได้ แล้วใครกันล่ะที่เข้าใจปัญหาเหล่านั้นอย่างแท้จริง? “พี่เกิดที่เมืองนี้ ลูกพี่ก็เกิดที่เมืองนี้ หลานพี่ก็คงจะเกิดเมืองนี้ต่อ” นอกจากจะมีความสามารถและความชำนาญในวิธีการในการแก้ไขปัญหาผ่านเลนส์นักเศรษฐศาสตร์และนักอสังหาริมทรัพย์มากประสบการณ์ ดร. ยุ้ย ก็เห็นความสำคัญของแก้ไขปัญหาผ่านมุมมองของผู้ประสบปัญหาโดยตรงอย่างชาวกรุงเทพฯ เธอเชื่อว่าการจะแก้ปัญหาได้ถึงรากและมีประสิทธิภาพ การนั่งอยู่ในออฟฟิศแล้วนึกหาทางเป็นเรื่องที่ยากจะเป็นไปได้ แต่การเอาตัวเองไปเข้าไปอยู่กับปัญหาต่างหากคือหนทางสู่คำตอบที่นักแก้ปัญหาใฝ่หา เธอจึงมุ่งหน้าพูดคุยเพื่อเสาะหาปัญหาจากชุมชนทั่วกรุงเทพฯ เพื่อนำมาประกอบเป็นคำถามที่ ‘ถูกต้อง’ วิธีการที่ ‘ถูกทาง’ และคำตอบที่จะทำให้ปัญหาเหล่านั้น ‘ถูกแก้’ อย่างได้ผล ในฐานะผู้หญิงกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นแม่ ความเท่าเทียมกันของชีวิตในกรุงเทพฯ หรือเป้าหมายในการที่อยากจะเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนไม่ได้มาจากแนวคิดที่สวยหรู แต่มาจากปณิธานที่อยากจะเห็นภาพนั้นจริง ๆ อยากจะผลักดันคุณภาพของชีวิตสตรีในฐานะผู้หญิงกรุงเทพฯ คนหนึ่งจริง ๆ อยากจะสร้างลู่ทางที่ดีและมีคุณภาพในกรุงเทพฯ ในอนาคตเพื่อลูกหลานและชาวกรุงเทพฯ รุ่นถัดไปในฐานะแม่คนหนึ่งจริง ๆ วิสัยทัศน์ของ ดร. ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ในการที่อยากจะเห็นกรุงเทพมหานครที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเพศชายหรือหญิงนับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องใช้แรงและกำลังอย่างมากในการแก้ไขเพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเกิดขึ้นจริง แต่อย่างน้อยตอนนี้เธอและทีมชัชชาติก็มีแผนที่ในการจะเดินทางไปถึงจุดนั้นอยู่ในมือแล้ว อยู่ที่ว่าจะได้ใช้มันหรือไม่ ชาวกรุงเทพฯ เป็นผู้ตัดสิน แต่อย่างน้อยที่สุดมุมมองและแนวทางในการแก้ปัญหาของดร. ยุ้ยก็ทำให้เราเห็นกันว่า ตอนนี้ก็มีคนเห็นและเข้าใจปัญหาของผู้หญิงในกรุงเทพฯ อย่างจริงแท้และอยากจะยื่นมือเข้าไปช่วยอย่างแท้จริง