เทเรซา เกรย์: ผู้จัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อกอบกู้ชีวิตในสงครามรัสเซีย - ยูเครน

เทเรซา เกรย์: ผู้จัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อกอบกู้ชีวิตในสงครามรัสเซีย - ยูเครน
หัวข้อเรื่องสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงตามหน้าสื่อออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงของรัสเซียต่อยูเครน และฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการกระทำของประเทศหลังม่านเหล็กแห่งนี้ แต่ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนสงคราม สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนทั่วโลกคือ ความสูญเสียที่ไม่มีวันหวนกลับ และร่องรอยคราบน้ำตาที่ไม่ว่าจะเช็ดออกไปอีกกี่ครั้งก็ไม่มีวันจางหาย แม้สงครามและความสูญเสียจะเป็นสองสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ แต่เพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตให้ได้มากที่สุด ‘เทเรซา เกรย์’ (Teresa Gray) อดีตพยาบาลผู้ผันตัวมาเป็นแพทย์สนาม ผู้อยู่ในวงการแพทย์มานานกว่าสามสิบปี จึงตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมบรรเทาความช้ำใจของชาวยูเครน โดยมีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ‘Mobile Medics International’ ที่เธอก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว เป็นกำลังหลักในการช่วยกอบกู้ชีวิตผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้พลัดถิ่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees - UNHCR) ระบุว่า มากกว่า 1 ใน 4 ของชาวยูเครนถูกพรากชีวิตไปตั้งแต่วันแรกที่สงครามเปิดฉากในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และมากกว่า 4.6 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น พวกเขาต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อลี้ภัยไปต่างแดน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีผู้ลี้ภัยสูงสุดในประวัติศาสตร์โลกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 “ชาวยูเครนกำลังได้รับความทุกข์ทรมาน ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งบ้าน สมาชิกในครอบครัว และประเทศที่พวกเขารัก ฉันรู้ดีว่าพวกเขากำลังเผชิญกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัส เพราะหน่วยงานของเราเคยเผชิญกับเรื่องพวกนี้ในประเทศอื่นมาก่อน ฉันรู้ดีว่าเราสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้พวกเขาได้ และเราจะทำมันอย่างสุดความสามารถ” แรกเริ่มเดิมที องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เธอจัดตั้งขึ้นในปี 2015 มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาความสูญเสียในเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ และช่วยดูแลปัญหาผู้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก โดยเธอบอกว่าเหล่าอาสาสมัครที่เข้ามาทำงานอุทิศชีวิตเพื่อเพื่อนมนุษย์ ทุกคนล้วนได้รับการฝึกฝนจนมีความเชี่ยวชาญระดับสูง ทำให้มีคนได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจากองค์กรของเธอทั่วโลกมากถึง 30,000 คน และหากย้อนกลับไปไกลอีกหน่อย Mobile Medics International เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังจากเธอเกษียณอายุ เพราะเห็นว่าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล “สถานที่หลายแห่งสูญหายและถูกหลงลืม หลังจากเกิดภัยพิบัติ ทุกอย่างพังทลายจนไม่อาจก่อให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม และยิ่งในพื้นที่ห่างไกล สถานที่เหล่านี้ก็ยิ่งถูกลืมง่ายขึ้นไปอีก” เกรย์ยังมีความเชี่ยวชาญในการจัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ขนาดเล็ก ทีมละประมาณ 4 - 8 คน เพื่อลงประจำการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นความสามารถที่ทำให้ทีมของเธอช่วยชีวิตผู้คนได้อย่างทันท่วงที  “อาสาสมัครที่ทำงานร่วมกับเรา ทุกคนเป็นคนน่าทึ่งที่เข้ามาทำงานที่น่าทึ่งยิ่งกว่า ทุกคนทำงานอย่างมืออาชีพ จริงจัง และเป็นขั้นเป็นตอน ฉันสังเกตเห็นว่าทุกครั้งที่พวกเขาลงสนาม คนที่ได้รับบาดเจ็บก็จะทยอยเดินมา เหมือนพวกเขาเป็นรถพยาบาลเคลื่อนที่ ทั้ง ๆ ที่ในมือของทีมมีเพียงแค่กล่องพยาบาลใบจิ๋วเท่านั้น” โดยทั่วไปแล้วภารกิจของทีมแพทย์อาสาจะใช้เวลา 7 - 10 วัน แต่เหตุการณ์ในยูเครนทำให้เกรย์ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ทั้งหมด เพราะนี่คือสถานการณ์ไม่ปกติ เป็นสงครามที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ “นี่เป็นภารกิจที่อันตรายมากที่สุดเท่าที่เราเคยทำ” เธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ก่อนออกเดินทางจากสหรัฐฯ ไปยังพื้นที่สงคราม พร้อมกระเป๋าบรรจุตัวยาชนิดพิเศษ เผื่อเอาไว้ในกรณีที่รัสเซียเกิดเล่นงานยูเครนด้วยอาวุธเคมี ขึ้นชื่อว่าเป็นภารกิจเสี่ยงตาย คงมีน้อยคนนักที่จะตกปากรับคำ เพื่อเดินหน้าเข้าสู่พื้นที่งานอันเป็นเสมือนประตูแห่งความตาย แต่ไม่ใช่กับทีมแพทย์อาสาจาก Mobile Medics International เพราะอาสาสมัครทุกคนต่างขอร้องให้เกรย์ ยินยอมให้พวกเขากระโจนเข้าสู่สมรภูมิรบ ไม่มีใครหวั่นใจแม้แต่น้อยว่าภารกิจครั้งนี้ อาจเป็นตั๋วเดินทางเที่ยวเดียวที่ไม่มีวันกลับ แต่สำหรับเกรย์และทีมงาน การเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ไม่ได้เป็นภาระหนักหนาอะไร ในทางกลับกัน เธอยินดีด้วยซ้ำที่จะช่วยปลดเปลื้องความเจ็บปวดของพวกเขาให้หลุดพ้นออกจากความทุกข์ใจ นอกจากการบรรเทาความเจ็บปวดทางด้านร่างกายแล้ว เธอยังช่วยเยียวยาบาดแผลทางจิตใจอีกด้วย ครั้งหนึ่งมีคู่แม่-ลูก เดินมาขอร้องให้เธอพาไปดูชายแดนยูเครนก่อนไปได้ไหม เพราะนี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของพวกเขา เธอตอบรับคำขอของทั้งคู่อย่างไม่ลังเล แม้ภายในใจจะเจ็บปวดที่ต้องพาไปดูบ้านที่ตอนนี้ไม่เหลือเค้าโครงเดิมอีกต่อไป มีเพียงเศษซากปรักหักพังกองต่างหน้า “เธอขอความช่วยเหลือจากเรา เราทำได้เพียงตอบรับคำขอดังกล่าว และพาพวกเขาไปเจอกับความทรงจำสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้ลี้ภัย” แม้จะอยู่นอกเหนือภารกิจ นอกเหนือขอบเขตของความเป็นแพทย์ แต่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นับเป็นอีกหนึ่งอุดมการณ์ที่องค์กรของเธอยึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอด  “หน้าที่ของเราไม่ใช่แค่จ่ายยาหรือดามแขนดามขาที่แตกหัก แต่เราพยายามสร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะความทุกข์ของมนุษย์ไม่มีพรมแดน คนก็คือคน และความรักก็คือความรัก” สุดท้ายแล้ว คนที่เจ็บปวดที่สุดในสงครามก็คือประชาชนธรรมดา หาใช่คนที่ริเริ่มก่อสงครามแต่อย่างใด #StayWithUkraine   ภาพ: Mobile Medics International . อ้างอิง:  https://edition.cnn.com/2022/04/14/world/ukraine-refugee-emergency-medicine-responders-cnnheroes/index.html https://www.sullivan.senate.gov/newsroom/press-releases/sullivan-recognizes-teresa-gray-as-alaskan-of-the-week https://www.mobilemedicsinternational.org/