จีน เพลก์ : ผู้ทำให้เกิด ‘สไปเดอร์แมน’ ฉบับทีวีญี่ปุ่น มาร์เวล ไม่ให้ประเทศอื่นเห็นร่วม 30 ปี
ซูเปอร์ฮีโร่ ‘ไอ้แมงมุม’ (ประจำจักรวาลหลักในโลกของมาร์เวล) ในความทรงจำของคนแทบจะทั่วโลกจดจำกันว่าเขาคือ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ (Peter Parker) ซึ่งสูญเสียลุงเบ็น เมื่อถูกแมงมุมที่มีความพิเศษกัดจึงได้รับพลังอันยิ่งใหญ่(พร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง)
ขณะที่คนทั่วไปจำ ‘สไปเดอร์แมน’ ในจักรวาลหลักได้แม่นยำ ชาวญี่ปุ่นที่เติบโตขึ้นช่วงปลายยุค 70s น่าจะมีภาพจำอีกแบบราวกับเป็นอีกจักรวาลหนึ่งก็ว่าได้ เพราะในญี่ปุ่น มีรายการทีวีเรื่องสไปเดอร์แมนในจักรวาลของพวกเขาเอง ออกฉายระหว่างปี ค.ศ. 1978-1979
สไปเดอร์แมน จักวาลทีวีซีรีส์ของญี่ปุ่น ไม่ได้เดินทางโดยยิงใยแล้วห้อยโหนไปตามตึกอย่างเดียว ไอ้แมงมุมญี่ปุ่นมีพาหนะคู่ใจใช้ขับขี่เป็นรถยนต์(ที่บินได้) ตั้งชื่อว่า GP-7 แถมเรียกหุ่นยนต์ร่างยักษ์มาต่อกรกับภัยคุกคามโลกตามสไตล์รายการโชว์สำหรับเด็กในญี่ปุ่นได้อีกต่างหาก
มีอุปกรณ์อลังการไม่พอ สไปเดอร์แมนฉบับญี่ปุ่นมาพร้อมกับฉากบู๊แบบงบน้อยแต่ทำด้วยใจ ทุกอย่างที่เห็นในหน้าจอล้วนมาจากกระบวนการ ‘ทำมือ’ ใช้ CG น้อยมาก ยกเว้นแค่ฉากอย่างวายร้ายปล่อยลำแสงที่จำเป็นจริง ๆ
องค์ประกอบเหล่านี้คือแม่เหล็กดึงดูดผู้ชมเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มเด็กและแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือสูบเงินเหล่าผู้ปกครอง ต้องควักเงินซื้อของเล่นให้ลูกเด็กเล็กแดงซึ่งปลายทางเหล่านี้เป็นกลยุทธ์หลักของผู้สร้างอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งคือสร้างมาเพื่อหารายได้จากการขายของเล่น สปอนเซอร์ของโชว์เกินครึ่งเป็นบริษัทผลิตของเล่นนั่นเอง
สไปเดอร์แมนเวอร์ชั่นญี่ปุ่นชื่อว่าทาคูยะ ยามาชิโระ (Takuya Yamashiro) เป็นนักแข่งมอเตอร์ไซค์อาชีพ พ่อของเขาเป็นนักวิชาการที่โดนฝ่ายวายร้ายจับไปและภายหลังมีอันเป็นไปในภายหลัง ทาคูยะ ไม่ได้ถูกแมงมุมกัดแล้วมีพลังเหมือนปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ แต่เป็นเพราะขณะติดตามหาตัวพ่อและพบกลุ่มวายร้ายจนต้องหนีไปในป่า เขาพลัดตกลงไปในหลุมลึก
ทาคูยะ ไม่ได้เจอกับฝูงค้างคาวเหมือนกับฮีโร่บางราย สิ่งที่เขาพบคือกาเรีย (Garia) ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายจากดาวแมงมุม (Planet Spider) ดาวบ้านเกิดของกาเรียถูกทำลายโดยโปรเฟสเซอร์ มอนสเตอร์ (Professor Monster) และกองทัพกางเขนเหล็ก
กาเรีย เห็นว่าทาคูยะ บาดเจ็บหนักจึงฉีดเลือดของตัวเองให้ เลือดของคนจากดาวแมงมุมทำให้ทาคูยะ มีพลังแมงมุมขึ้นมา ประกอบกับกำไลที่กาเรีย มอบให้เพิ่มเติมทำให้ทาคูยะ สามารถเรียกชุดแมงมุม ใช้ยิงใยแมงมุม และเรียกพาหนะซึ่งสามารถแปลงเป็นหุ่นยนต์ที่เรียกว่า ลีโอพาร์ดอน (Leopardon) มาต่อกรกับวายร้ายตัวยักษ์
ไอ้แมงมุมฉบับญี่ปุ่นสร้างโดยบริษัทโทเอะ (Toei) เจ้าเดียวกับผู้สร้าง ‘ไอ้มดแดง’ (Kamen Rider) ที่โด่งดังต้นยุค 70s เด็กที่เติบโตในยุคนั้นล้วนรู้จักฮีโร่แปลงร่างรายนี้กันดี เช่นเดียวกับลูกของยูจีน โจเซฟ เพลก์ หรือเรียกกันว่า จีน เพลก์ (Gene Pelc)
จีน เพลก์ มีภรรยาเป็นชาวญี่ปุ่น และเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยในยุค 70s ด้วยความที่เป็นแฟนคอมิกมาก่อน จีน สังเกตว่าญี่ปุ่นมีหนังสือการ์ตูนที่เรียกกันว่ามังงะ (Manga) วางขายเต็มไปหมด แต่กลับไม่มีอเมริกันคอมิกเลย เขาจึงเล็งเห็นโอกาสและติดต่อไปที่มาร์เวล เสนอว่าคนที่ญี่ปุ่นน่าจะสนใจคอมิกถ้านำเสนอถูกวิธี เขาเสนอตัวไปหาตลาดที่นั่นและจะกลับมาพร้อมข้อเสนอ ซึ่งสแตน ลี (Stan Lee) เจ้าพ่อคอมิกเห็นชอบกับไอเดียนี้ จีน เพลก์ จึงเดินทางไปที่ญี่ปุ่นในฐานะผู้ถือสิทธิ์ (ผู้เผยแพร่) ของมาร์เวล ข่าวเริ่มแพร่สะพัดในวงการการ์ตูนว่ามีคนถือสิทธิ์ตัวละครของมาร์เวลแวะเวียนที่นั่นที่นี่ไปทั่ว
ขณะพำนักในญี่ปุ่น จีน นำลูกชายติดไปด้วย ลูกชายของเขาชื่นชอบโชว์ ‘ไอ้มดแดง’ ที่ฉายทางทีวีญี่ปุ่นแม้จะไม่เข้าใจภาษาแม้แต่คำเดียว สไตล์ของญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์แตกต่างจากคอมิกอเมริกัน มังงะญี่ปุ่นใส่ความเคลื่อนไหวไปในภาพด้วย แค่ดูก็ซึมซับฉากการต่อสู้ได้อย่างสนุกสนาน ขณะที่คอมิกแบบอเมริกันต้องอ่านไปตามช่อง ไอ้มดแดง ทางทีวีก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นักแสดงเคลื่อนไหวในฉากต่อสู้ ดูแล้วสนุกสนานโดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจภาษาหรือเรื่องราวมากนัก
จีน รู้มาว่าบริษัทที่ผลิต ‘ไอ้มดแดง’ คือโทเอะ เขาจึงติดต่อโทเอะ และโชคดีได้คุยกับโยชิโนริ วาตานาเบะ (Yoshinori Watanabe) ผู้อำนวยการของโทเอะ ไปดีลกันที่สถานบันเทิงในกินซา (Ginza) เจรจาสัญญากันว่า แต่ละฝั่งสามารถเลือกตัวละครของอีกฝ่ายมาใช้ได้ มาร์เวลเห็นชอบกับสัญญานี้ และไฟเขียวให้ดำเนินการในทางปฏิบัติได้
โทเอะ ผลิตรายการแรกโดยใช้ตัวละครสไปเดอร์แมน ฮีโร่ยอดฮิตของมาร์เวล จีน เพลก์ เล่าในสารคดี Marvel 616 ว่า มาร์เวล มองว่าโทเอะเป็นพื้นที่แยกเฉพาะทางจึงบอกว่าให้ทำไปตามที่เห็นควร แต่ให้มันอยู่แค่ในญี่ปุ่น อย่าให้หลุดรอดออกไปนอกญี่ปุ่น คนอเมริกันไม่น่าจะได้เห็นมัน และไม่น่าจะแคร์เท่าไหร่ ทำไปตามทางที่คิดว่าขายได้และทำเงิน
และที่สไปเดอร์แมนของญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์ก็เพราะเหตุผลด้านพาณิชย์ดังที่เล่าไว้ข้างต้น เมื่อโทเอะมาเปิดเนื้อเรื่องดูแล้วไม่เห็น ‘สิ่งของ’ ที่จะทำเป็นของเล่นได้ จีน เพลก์ จึงแนะนำว่าให้ใส่เพิ่มเข้าไป ใส่หุ่นยนต์เข้าไปเลย สไปเดอร์แมนจึงมีหุ่นยนต์หนึ่งชื่อ มาร์เวลเลอร์ (Marveller) มีบริษัทโปปี (Popy) บริษัทผลิตของเล่นเป็นผู้สนับสนุนรายการ
ส่วนตัวละครหลักอย่างสไปเดอร์แมน จีน เพลก์ ยืนยันว่าด้วยรายละเอียดด้านลิขสิทธิ์ สไปเดอร์แมนต้องมีชุดเหมือนต้นฉบับ ยิงใย ปีนป่ายไต่ตึกตามปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ และในโชว์ก็เป็นเช่นนั้นจริง รายละเอียดที่เหลือจะแตกต่างออกไป ภูมิหลังของตัวละครก็แตกต่างกัน ทาคูยะ ที่เป็นสไปเดอร์แมนมีพ่อเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่อยู่กับลุงเบ็นและป้าเมย์ ส่วนเรื่องนักแสดง เป็นโทเอะ ที่บอกว่าให้ไว้ใจเรา เรารู้ว่าใครเหมาะสม
ถึงจะบอกอย่างนั้น โทเอะ แคสต์นักแสดงชื่อชินจิ โทโด (Shinji Todo) ที่เข้าวงการและรับบทนักแสดงตัวประกอบมาได้ 3 ปี แม้แต่ตัวชินจิ ยังรู้สึกว่า “ผมเนี่ยนะ เป็นนักแสดงนำ” ชินจิ ไม่รู้จักสไปเดอร์แมนมาก่อนจนมาอ่านบท และต้องไปหาคอมิกมาอ่าน ดูหนังสไปเดอร์แมนฉบับปี 1977 (ซึ่งเป็นฉบับที่ได้เสียงวิจารณ์เชิงลบ)
กรณีตัวอย่างของหนังสไปเดอร์แมนฉบับปี 1977 ที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร จีน เพลก์ รู้สึกว่าเขาต้องทำงานนี้ให้ออกมาดี ไม่อย่างนั้นงาน และอนาคตของเขาน่าจะจบลง สิ่งที่เขาลงทุนทั้งเงินและเวลาเดินทางมาที่ญี่ปุ่นจะสูญเปล่า
ในแง่กระบวนการผลิตนำร่อง ทีมงานออกแบบวายร้ายแบบโปรเฟสเซอร์ มอนสเตอร์ ที่หากเป็นฉบับคอมิกอเมริกัน คนอ่านคงคิดว่าเป็นชื่อที่ไม่ค่อยน่าเกรงขาม สำหรับญี่ปุ่น ชื่อเรียกที่ฟังแล้วดูเท่สำคัญกว่าความหมาย วายร้ายที่โทเอะ เลือกก็พยายามดัดแปลงมาจากตำนานญี่ปุ่น แนวคล้ายกับที่มาร์เวลดัดแปลงตำนานเทพนอร์สมาใช้ จึงไม่มีวายร้ายคลาสสิกอย่างก็อบลิน มาอยู่ในเรื่องเลย
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่เห็นได้บ่อยในโชว์สำหรับเด็กในยุคนั้นคือก๊วนวายร้ายตัวลูกน้อง (ที่ออกมาให้ตัวเอกกระทืบเป็นส่วนใหญ่) ฉากที่เจ้าตัวพวกนี้ออกมาก็มักใส่เสียงร้อง “กี้ กี้” ประกอบไปด้วย ในเรื่องสไปเดอร์แมนมีเจ้าแก๊งลูกน้องนี้โผล่มาในรูปลักษณ์คล้ายอีกา เรียกว่า ‘นินเดอร์’ (Ninder) และเจ้านินเดอร์ก็ส่งเสียงร้องคล้ายกันด้วย
ด้วยความที่รายการเด็กในญี่ปุ่นมักมีต้นทุนไม่มากนัก บางซีน(เช่นฉากแปลงร่างและประกอบร่างหุ่นยนต์)ก็ต้องใช้ซ้ำในหลายตอนเพราะประหยัดงบ ฉากต่อสู้ออกมาแบบ ‘ทำมือ’ นักแสดงแทนที่ถ่ายทำฉากเปิดของโชว์แบบเล่นใหญ่เล่าไว้ว่า เขาขึ้นไปปีนโตเกียวทาวเวอร์ (Tokyo Tower) สูงประมาณ 30-40 เมตรโดยไม่ใช้เชือกนิรภัย ในวันนั้น จีน เพลก์ ที่ไปดูด้วย ภาวนาในใจว่า “อย่าตกลงมานะ อย่าตกลงมา”
แม้งบประมาณที่จำกัดจะเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่ทุกคนในทีมทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อมและเริ่มถ่ายทำตอนนำร่องไปเรียบร้อย ผู้บริหารจากมาร์เวล เดินทางมาที่ญี่ปุ่นเพื่อตรวจสอบงาน นี่คือช่วงเวลาสำคัญ ถ้าสิ่งที่เตรียมไว้ไม่ผ่าน เท่ากับว่า จีน เพลก์ เสียแรงเปล่า
ในการประชุมวันนั้น ผู้บริหารได้ชมตอนแรก จีน เพลก์ เล่าไว้ว่า เมื่อฉายจบ ห้องเงียบกริบ ไม่มีใครพูดอะไรออกมาแม้แต่คำเดียว กระทั่งมีคนจากบริษัทมาร์เวล ปิดฉากความเงียบด้วยคำถามว่า นี่มันอะไรกันนี่ ใครจะมาดูของอย่างนี้ นี่ไม่ใช่สไปเดอร์แมน
ผู้บริหารเริ่มโวยวาย ตั้งคำถามกับสิ่งที่จีน เพลก์ ทำในญี่ปุ่น แต่แล้วกลับมีเสียงปรบมือดังขึ้นในห้อง เป็นสแตน ลี ที่ลุกขึ้นปรบมือและร้องว่า “นี่มันดีมากเลย เป็นหนังสือการ์ตูนที่มีชีวิต เด็ก ๆ จะต้องชอบเพราะฉากต่อสู้มันมาก ผู้ใหญ่ก็ด้วย ถ้าผู้ชมต้องการแบบนี้ เราก็มอบให้พวกเขาสิ”
จีน เพลก์ เล่าไว้ว่า หลังจากนั้น ผู้บริหารหันกลับมามองที่จีน แล้วเอ่ยว่า “จีน มันเป็นไอเดียที่ดีมาก”
ช่วงเวลานี้เองทำให้จีน ซาบซึ้งใจ ไม่เพียงเพราะผลงานที่ลงมือลงแรงทำมีแววผ่าน ราชาแห่งคอมิกที่เขาชื่นชมยังรู้สึกชอบในสิ่งที่เขาทำกับตัวละครโปรดของเขาเองอีกต่างหาก
จีน เพลก์ เล่าว่า โชว์สไปเดอร์แมน ได้รับไฟเขียวจนฉายไปได้ 41 ตอน ระหว่างปี 1978-79 ของเล่นที่ผลิตก็ขายดีอย่างบ้าคลั่ง (จากปากคำของเพลก์) เรตติ้งก็ดี ตลาดชอบดีไซน์ของหุ่นมาร์เวลเลอร์ และลีโอพาร์ดอน ขณะที่มาร์เวล ยังไม่ได้นำสไปเดอร์แมน ฉบับญี่ปุ่นมาเผยแพร่นอกแดนซามูไรร่วม 30 ปี จนกระทั่งในปี 2009 ที่ปล่อย 41 ตอนในช่องทางออนไลน์ คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยคุ้นเคยกับไอ้แมงมุมฉบับนี้เท่าไหร่นักในช่วงแรก
ชินจิ โทโด นักแสดงที่รับบทสไปเดอร์แมน ฉบับทีวีญี่ปุ่นไม่เคยรู้ความคิดเห็นเกี่ยวกับบิดาของไอ้แมงมุมก่อน เพิ่งมารู้ว่าสแตน ลี ชื่นชอบไอ้แมงมุมฉบับของเขาระหว่างให้สัมภาษณ์กับสารคดี Marvel 616 ชินจิ ถึงกับออกอาการทำอะไรไม่ถูก และบอกได้แค่ว่า “ดีใจมากที่ได้ยินแบบนั้น ดีใจจริงๆ”
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับทีวีโชว์สำหรับเด็กในญี่ปุ่นคือ เนื้อหาที่ไม่ได้มีแค่ฉากต่อสู้ พิทักษ์โลก ผดุงคุณธรรม แต่ในเนื้อหายังมักแฝงแง่คิดเข้าไปด้วย โดยเฉพาะความสำคัญของเรื่องจิตใจของมนุษย์ สอนเกร็ดเรื่องความกล้าหาญ ความสามัคคี และประเด็นสำคัญคือ ไม่ว่าจะเผชิญอะไร อย่ายอมแพ้ เชื่อมั่นในตัวเอง และก้าวเดินต่อไป
ความสำเร็จของรายการทีวีสไปเดอร์แมนฉบับญี่ปุ่นถือเป็นการแจ้งเกิดของชินจิ โทโด ทำให้เขามีเส้นทางอาชีพต่อมา จนถึงกับบอกว่าถ้าไม่มีสไปเดอร์แมน ก็ไม่มีเขาในวันนี้
ฉากหนึ่งที่เขายังจำได้ดีและเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในชีวิตส่วนตัวคือฉากที่พ่อของทาคูยะ ตัวเอกในเรื่องเสียชีวิต ผู้กำกับไม่มีบทในซีนนี้และบอกให้เขาด้นสดได้เลย ชินจิ ท่องบทได้ราวกับว่าเพิ่งถ่ายทำไปเมื่อวานทั้งที่ซีรีส์นี้ออกฉายไปกว่า 30 ปีก่อน เนื่องจากว่าก่อนหน้าเขาได้บทสไปเดอร์แมน ชินจิ เพิ่งสูญเสียพ่อไป
“พ่อ อย่าเพิ่งทิ้งผมไป”
ชินจิ เล่าว่า เขาไม่ได้ท่องบทในฐานะทาคูยะ ในซีนนั้นเขาแทบเป็นตัวตนของชินจิ โทโด เขาร้องไห้ กอดร่างของนักแสดงที่รับบทเป็นพ่อของตัวเอกในเรื่อง และพรั่งพรูบทออกมาตามความรู้สึกส่วนตัว
ฉากจบของโชว์เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ชินจิ และผู้คนจดจำสูตรของรายการแบบญี่ปุ่นได้ ตัวเอกมายืนอยู่ริมหาดในยามเย็นขณะอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า ดวงอาทิตย์ทอแสงเป็นแสงสีส้ม ทาบกับพื้นผิวน้ำ สไปเดอร์แมน ค่อย ๆ ถอดหน้ากากออกแล้วกู่ร้องกับดวงอาทิตย์ที่ขอบฟ้า พร้อมอารมณ์ความรู้สึก(ของชินจิ โทโด)ที่อยากให้พ่อของเขาเองมาเห็นจุดที่เขามายืนอยู่ แล้วเอ่ยด้วยอารมณ์อันท่วมท้นว่า
“พ่อครับ (กาเรีย) ผมปราบกางเขนเหล็กได้แล้ว โปรเฟสเซอร์มอนสเตอร์ ตายแล้ว”
กล้องค่อย ๆ ซูมออก ข้อความบนหน้าจอค่อย ๆ แสดงขึ้นมาว่า จบบริบูรณ์
อ้างอิง :
สารคดี Marvel 616. Disney+. 2020
RHENN TAGUIAM. "Marvel: 10 Things You Didn't Know About The 1978 Japanese Spider-Man Series". Gamerant. Online. Published 26 JAN 2022. Access 29 APR 2022. <https://gamerant.com/marvel-japanese-spiderman-series.../>