Doctor Strange 2 เปิดโลกพหุจักรวาลใน MCU ยุ่งเหยิงแต่แฝงแง่มุมที่สวยงาม
Doctor Strange 2 : ผจญภัยกับสายเวทมนตร์และพหุจักรวาลในโลกภาพยนตร์มาร์เวล ลึกลับ อันตราย แต่แฝงแง่มุมที่สวยงามในความหลากหลายและยุ่งเหยิง
การกลับมาของตัวละคร ดร. สตีเฟน สเตรนจ์ (Doctor Stephen Strange) ซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายมาร์เวล (Marvel) เป็นอีกหนึ่งห้วงเวลาที่แฟนทั่วโลกรอคอย สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ล่าสุดของมาร์เวล คงไม่ได้มีแค่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับจอมเวทย์รายนี้ อีกหนึ่งแง่มุมที่น่าคิดคือพล็อตเรื่องเกี่ยวกับมัลติเวิร์ส (Multiverse) หรือที่ชาวไทยใช้คำเรียกว่า พหุภพ หรือพหุจักรวาล ในหมู่แฟนหนังที่ติดตามล้วนจับตากันว่าเรื่องราวในขั้นที่พูดถึงพหุจักรวาลจะนำพาโลกภาพยนตร์ของมาร์เวลไปในทิศทางไหน
ถึงเวลาของมัลติเวิร์ส
แนวคิดเรื่องพหุจักรวาล พหุภพ หรือจินตนาการแนวจักรวาลคู่ขนานถูกนำเสนอในพื้นที่ทางความคิดของคนกลุ่มต่าง ๆ มายาวนาน แม้แต่โลกวิชาการสายวิทยาศาสตร์ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับทฤษฎีแนวนี้เช่นเดียวกับในนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซีอีกมากมาย คอมิกแบบอเมริกันย่อมไม่พลาดหยิบยกแนวคิดนี้มาใช้และต่อเติมเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจตั้งแต่ยุคแรก ๆ พัฒนามาสู่ช่วงเวลาของภาพยนตร์ในโลกมาร์เวล (Marvel Cinematic Universe – MCU) ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงรุ่งเรืองของซูเปอร์ฮีโร่บนแผ่นฟิล์มก็ว่าได้
แต่กว่าที่ค่ายมาร์เวล (Marvel) จะปูทางมาสู่หัวข้อพหุจักรวาล (Multiverse) ในภาพยนตร์ Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022) แบบเต็มสูบ ค่ายดังนำทางผู้ชม(ภาพเคลื่อนไหว)ให้คุ้นเคยกับแนวคิดนี้มาสักระยะแล้ว ผลงานที่ประสบความสำเร็จบนหน้าจออย่างภาพยนตร์แอนิเมชัน Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) ซึ่งมี ‘สไปเดอร์แมน’ หลายคนจากจักรวาลต่าง ๆ มาปรากฏตัวค่อย ๆ นำมาสู่เนื้อเรื่องแนวมัลติเวิร์สที่เอ่ยเกี่ยวกับตัวละครอื่น ไล่เรียงมาจากซีรีส์ แอนิเมชันชุด และขึ้นบนจอใหญ่รูปแบบภาพยนตร์แบบเต็มตัว
น้ำหนักของเนื้อหาเกี่ยวกับมัลติเวิร์สของมาร์เวลในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว(นับในแง่ผลงานกระแสหลัก)ก่อนหน้าดร.สเตรนจ์ ภาคล่าสุด ส่วนใหญ่ปรากฏในซีรีส์ตั้งแต่เมื่อเอ่ยถึงใน WandaVision (2021) และ Loki (2021) ที่มีตัวละคร ‘โลกิ’ จากหลากหลายจักรวาลมาปรากฏตัว จนถึงแอนิเมชันชุด What If...? (2021) แต่ที่ดูเหมือนจะเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่คือภาพยนตร์ Spider-Man: No Way Home (2021) ซึ่งต้องยอมรับว่า มาร์เวล ‘กล้าหาญ’ และได้ใจกลับมาสมกับที่กล้าตัดสินใจเลือกเล่าเรื่องราวภายใต้แนวคิดแบบ ‘พหุจักรวาล’ บนหน้าจอภาพยนตร์ แถมเป็นการเล่าถึงตัวละครอันเป็นที่รักของคนทั่วโลกอย่างสไปเดอร์แมน
หลังจากผ่านการปรับเปลี่ยนตัวผู้กำกับและตารางฉายของหนังจอมเวทย์กันมาสักระยะ กลางปี 2022 ได้เวลาที่ดร. สเตรนจ์ ออกมาเฉิดฉายในภาพยนตร์เดี่ยวเรื่องที่ 2 ของตัวเอง ดังที่กล่าวแล้วว่า มาร์เวล ปูพื้นแนวคิดเรื่องมัลติเวิร์สมาสักระยะ โดยเฉพาะกับตัวละครใน MCU ผ่านซีรีส์ WandaVision (2021) และ Loki (2021) เมื่อมาถึงจุดที่เล่าเรื่องดร.สเตรนจ์ 2 ตัวหนังไม่ได้ปูพื้นหรืออธิบายภูมิหลังเกี่ยวกับตัวละครสำคัญอย่างวันดา แมกซิมอฟ (Wanda Maximoff) ที่ดำเนินเรื่องในซีรีส์ WandaVision (2021) มากนัก ไม่ได้อธิบายถึงแนวคิดมัลติเวิร์สมากนักเช่นกัน (มีอยู่บ้าง สำหรับคนทั่วไปก็พอจะสามารถเข้าใจแนวคิดเบื้องต้นได้ แต่ไม่ได้ถึงกับสาธยายหลักการละเอียดยิบ)
แน่นอนว่า ผู้ชมที่ทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องมัลติเวิร์สและรับรู้เรื่องราวของวันดา หรือตัวละครอื่น ๆ จากซีรีส์แยกตามรายชื่อที่เอ่ยถึงข้างต้นมาก่อนแล้วจะเข้าใจที่มาที่ไปและความเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวกับการกระทำของวันดา และการปรากฏตัวของตัวละครจำนวนหนึ่งในภาพยนตร์ดร.สเตรนจ์ 2 ได้ดีขึ้น สำหรับคนที่ไม่ได้ชมซีรีส์ WandaVision (2021) ยังสามารถดูดร.สเตรนจ์ รู้เรื่องได้ แต่อาจกล่าวว่า ถ้าดูซีรีส์มาก่อนจะช่วยให้เข้าใจ ‘ภูมิหลังและเหตุผล’ ได้มากกว่า
Doctor Strange 2
หากเทียบดร.สเตรนจ์ 2 เป็นอีเวนต์หนึ่งในรูปแบบของคอมิก คงต้องบอกว่าอีเวนต์นี้(ในรูปแบบหนัง)นำพาผู้ชมไป ‘สนุกสนาน’ กับการผจญภัยของตัวละครจอมเวทย์ท่ามกลางพหุจักรวาลของมาร์เวล โดยมีตัวละครใหม่ใน MCU อย่างอเมริกา ชาเวซ (America Chavez) เป็นตัวแปรสำคัญ เช่นเดียวกับตัวละครเก่าที่มีบทบาทมากอีกรายอย่างวันดา
เนื้อเรื่องและฉากต่อสู้อันตื่นตาตื่นใจตั้งแต่ต้นเรื่องพาผู้ชมไปกับเส้นทางการต่อสู้และปมในจิตใจของสายเวทมนตร์โดยตรงบนหน้าจอภาพยนตร์อย่างเต็มตัวอีกครั้งหลังผู้ชมห่างหายจากตัวละครสายนี้มาระยะหนึ่ง
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของดร.สเตรนจ์ ภาคนี้น่าจะเป็นงานภาพเมื่อนำพาผู้ชมไปท่องจักรวาลต่าง ๆ และฉากการต่อสู้ที่ทำออกมาได้สนุกสนาน ภาพสวยงาม ลื่นไหล ฉากต่อสู้บางซีนทำออกมาแปลกหูแปลกตา น่าสนใจไม่น้อยเลย
แน่นอนว่าเนื้อหาของดร.สเตรนจ์ ในบริบทมัลติเวิร์ส ผู้ชมจะได้เห็นดร.สเตรนจ์ จากหลากหลายจักรวาลมาอยู่ในเรื่องเดียวกัน ท่ามกลางความหลากหลายของภพต่าง ๆ ดร.สเตรนจ์ จากแต่ละจักรวาลมีภูมิหลัง นิสัยใจคอ และปมส่วนบุคคลแตกต่างกัน อีกด้านหนึ่ง มีบางแง่มุมของแต่ละคนที่ละม้ายคล้ายกัน นั่นคือความคำนึงถึง ‘ความรัก’
ในมุมมองของบางคน พลังและความยิ่งใหญ่ของแนวคิดเรื่องความรักเป็นสิ่งสากลที่ปรากฏอยู่ในทุกจักรวาล ‘ความรัก’ มีน้ำหนักสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตเสมอ ไม่ว่าจะมาจากภพใด อย่างไรก็ตาม ในความคล้ายคลึงที่ทุกคนมีร่วมกันกลับมีปัจจัยเล็ก ๆ ซึ่งสามารถทำให้ตัวตนอันหลากหลายของพวกเขาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และจะขยายความในเนื้อหาส่วนต่อไป
ภาพยนตร์ดร.สเตรนจ์ 2 ที่ผ่านผู้กำกับหลายคนและมาลงเอยที่แซม ไรมี (Sam Raimi) เจ้าของผลงานไตรภาคสไปเดอร์แมน (ฉบับโทบี แม็กไกวร์ เป็นปีเตอร์ ปาร์คเกอร์) และภาพยนตร์สยองขวัญที่สร้างชื่อลือลั่นอย่าง Evil Dead (1981) บรรยากาศของดร.สเตรนจ์ ภาคล่าสุดไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นำเสนอความหลากหลายในแง่ตัวละครและจักรวาลมากมายที่ดำเนินไปแตกต่างกัน ความหลากหลายที่น่าสนใจอีกประการคือบรรยากาศ
บางช่วงของหนังถ่ายทอดบรรยากาศ ‘ความน่ากลัว’ จากสภาพแวดล้อมของจักรวาลต่าง ๆ สถานที่บางแห่งในบางสถานการณ์มืดหม่น ลึกลับ องค์ประกอบของหนังมีบางจังหวะชวนระทึกแบบทะลุเพดาน ค่อนข้างแตกต่างจากหนังซูเปอร์ฮีโร่(โดยมาร์เวล)ที่ผ่านมา บางช่วงมีบรรยากาศสวยงามตระการตา
สำหรับแฟนหนังที่ติดตามความเคลื่อนไหวมาก่อนหน้านี้คงเคยเห็นข่าวว่า ภาพยนตร์ดร.สเตรนจ์ ภาคนี้จะผสมกลิ่นอาย ‘ความสยองขวัญ’ ไว้ด้วย และในเนื้อหาหนัง(บางส่วน)มีองค์ประกอบตามที่ประกาศไว้จริง แต่คงไม่ถึงกับเป็นหนังสยองขวัญเต็มตัว มีเพียงบางช่วงบางสถานการณ์เท่านั้นที่มีบรรยากาศลักษณะนี้ ตรงนี้คงต้องกล่าวว่าแล้วแต่รสนิยมของผู้ชมว่าจะมองเป็นข้อดีหรือข้อเสียของหนัง
แต่ข้อดีประการหนึ่งของการเล่าเรื่องพหุจักรวาลที่หลากหลายเข้าด้วยกันคือทำให้มีตัวเลือกมากมายสำหรับพาผู้ชมไปผจญภัยกับตัวละคร สถานที่ และสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เช่นเดียวกับทุกเรื่องราวในโลกความเป็นจริง บางจักรวาลสวยงาม บางแห่งกลับมืดหม่นและน่าหวาดกลัว เมื่อเกิดอีเวนต์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่อันหลากหลายเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันอันนำมาซึ่งความยุ่งเหยิงต่อมา
ในข้อดีนั้น ย่อมมีข้อเสียด้วยเช่นกัน สำหรับผู้ชมบางกลุ่มที่มองหาความสมจริงสมจัง ความสมเหตุสมผลจากพล็อตเรื่องแฟนตาซีสายซูเปอร์ฮีโร่แล้ว บางคนในกลุ่มนี้อาจผิดหวังไปบ้าง หลายคนน่าจะเห็นว่าถึงจะเป็นโลกแฟนตาซีก็เถอะ บางอย่างที่ควรจะมีคำอธิบายอย่างสมเหตุสมผล(อย่างน้อยก็สำหรับในมุมโลกแฟนตาซีเอง) หนังกลับไม่ได้ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับตัวละครบางตัว เหตุการณ์บางเหตุการณ์ให้ดูสมเหตุสมผลมากเท่าไหร่
ข้อด้อยนี้อาจทำให้บางคนหงุดหงิดและเกิดคำถามในใจบ้างว่า "เอาแบบนี้เลยหรือ?" แต่หากเข้าใจถึงธรรมชาติบางข้อเกี่ยวกับโลกแฟนตาซี หรือแม้แต่โลกความเป็นจริงก็ตามที หลายอย่างไม่ได้สมเหตุสมผลไปเสียทั้งหมด หากมองด้วยฐานคิดนี้ อาจช่วยให้คำถามที่ผุดขึ้นมาในใจลอยผ่านไปบ้างก็เป็นได้
ความรักในมัลติเวิร์ส
ความไม่สมเหตุสมผลนี้บางทีเกิดขึ้นกับ ‘ความรัก’ ได้เช่นเดียวกับบริบทอื่น เคยมีชายคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ความรักจะทำให้เราทำเรื่องบ้า ๆ ออกมาได้” (Love will make you do crazy things.)
ประโยคนี้ถูกกล่าวออกมาผ่านไมค์บนเวทีออสการ์ถ่ายทอดไปสู่ผู้ชมทั่วโลกภายหลังเจ้าของวาทะก่อเหตุช็อกคนแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก
มีผู้คนมากมายก่อเหตุต่าง ๆ มากมายอันสืบเนื่องมาจากต้นเหตุว่าด้วยความรัก บางครั้งผลลัพธ์ของการกระทำนำพารอยยิ้มมาสู่โลกใบนี้ บางครั้งผลของการกระทำที่แม้มาจากความรัก กลับนำพาซึ่งน้ำตาและความเศร้าโศกตามมา
เรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำของดร.สเตรนจ์ (และตัวละครอื่น)ในแต่ละจักรวาลของมาร์เวล แม้จะเป็นผู้ทรงพลังเทียมเทพก็หนีไม่พ้นปมส่วนบุคคลกับความซับซ้อนของความรัก อย่าว่าแต่ตัวตนที่หลากหลายของแต่ละคนในพหุจักรวาลเลย แม้แต่ความคิดของคนในจักรวาลเดียวกันที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ล้วนหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด
การก่อความรุนแรงเพื่อความรักเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่? คงเป็นคำถามที่ซับซ้อน มีปัจจัยมากมายเข้ามาพัวพันด้วย และยากจะหาคำตอบเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถนำมาใช้อธิบายทุกความน่าจะเป็นโดยสมบูรณ์
ความสวยงามและความน่ากลัวของมัลติเวิร์ส
ความสวยงามอย่างหนึ่งของความหลากหลาย (และเป็นความน่ากลัวไปด้วยในเวลาเดียวกัน) คือถ้าจังหวะการตัดสินใจบางอย่างเกิดขึ้นถูกที่ ถูกเวลา ด้วยสิ่งที่เหมาะสม ความรักดลบันดาลให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ได้เสมอ และมันย่อมได้ผลลัพธ์ออกมาสวยงาม
แต่หากส่วนผสมของมันบิดเบี้ยวไปเพียงเล็กน้อย การกระทำโดยยกเหตุผลเรื่อง 'ความรัก' เพียงผิวเผินย่อมมีแนวโน้มกลายเป็นโศกนาฏกรรมได้เช่นกัน ตัวแปรเล็กน้อยเพียงความรู้สึกชั่ววูบ การประเมินสถานการณ์ผิดพลาด หรือมาจากภูมิหลังประสบการณ์ที่มีบาดแผล จุดด่างพร้อยเพียงเล็กน้อยคือตัวชี้วัดที่สร้างความแตกต่างระหว่างจักรวาลต่าง ๆ ดังที่เกริ่นไว้เกี่ยวกับเรื่องความรักในข้างต้น
สำหรับดร.สเตรนจ์ แล้ว มาร์เวล ใช้ประโยชน์ความหลากหลายของจักรวาลมาช่วยอธิบายความเปราะบางและความซับซ้อนของตัวแปรต่าง ๆ เกี่ยวกับความรักผ่านตัวตนในแต่ละจักรวาลได้ตามสูตรเคมีของพล็อตเรื่องแนวนี้ ขณะเดียวกันก็คงต้องย้ำอีกครั้งว่า ในโลกแฟนตาซี บางพล็อตเรื่องคงไม่สามารถหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลสำหรับทุกเรื่อง บางอย่างที่ควรสมเหตุสมผลก็ไม่สมเหตุสมผล ยิ่งกับโลกของซูเปอร์ฮีโร่ ที่มักต้องแบ่งแยกระหว่าง ‘ฮีโร่’ และ ‘วายร้าย’ การแบ่งแยกโดยใช้อธิบายผ่านพฤติกรรมเพียงไม่กี่อย่างดูจะเป็นจุดด้อยอย่างหนึ่งของภาพยนตร์แนวนี้เสมอมา
กลับกัน ความเรียบง่ายของการนิยามแบบรวบรับมีส่วนทำให้มาร์เวล ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของแนวคิดมัลติเวิร์สในการผลิตความน่าจะเป็นจำนวนมหาศาลออกมา
ดร.สเตรนจ์ ภาคล่าสุดจัดเป็นเสมือนบทโหมโรงของมาร์เวล เมื่อเข้าสู่ยุคนำเสนอเนื้อเรื่องผ่านแนวคิดพหุจักรวาลในภาพยนตร์แบบเต็มกำลังยุคแรกก็ว่าได้ ภายใต้แนวคิดแบบมัลติเวิร์สนี้ หากมาร์เวลวางรากฐานสร้างความเข้าใจในกลุ่มแฟนวงกว้างได้เรียบร้อยแล้ว ความสวยงามของมันอีกอย่างหนึ่งคือ ค่ายมาร์เวลสามารถมีดร.สเตรนจ์ กี่คนก็ได้เท่าที่พวกเขาต้องการ ดร.สเตรนจ์ ในบางจักรวาลจะเป็นใคร(มารับบท)ก็ได้หากค่ายตัดสินใจให้เป็นแบบนั้น ดร.สเตรนจ์ ในจักรวาลต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็น ‘ฮีโร่’ เสมอไป ตัวละครหลักที่เคยเล่าว่าตายไปแล้ว ในจักรวาลอื่นอาจยังมีชีวิตอยู่ปกติสุข
ในทางธุรกิจแล้ว ความน่าจะเป็นอันหลากหลายของมัลติเวิร์สมีส่วนลบข้อจำกัดเรื่องสัญญาจ้าง เรตค่าจ้าง พล็อตเรื่องในโลกความเป็นจริง เมื่อเวลาผ่านไป นักแสดงที่รับบทเป็นตัวละครในความทรงจำของแฟน ๆ เริ่มหมดสัญญา สังขารร่วงโรย หรือความเป็นไปตามกาลเวลาหลายอย่างส่งผลต่อการผลิตเรื่องราวออกมา ‘มัลติเวิร์ส’ ซึ่งปักหมุดหมายในฉบับภาพยนตร์จากเรื่องดร.สเตรนจ์ ภาคล่าสุดนี้มีส่วนสำคัญต่อการเปิดประตูบานยักษ์ให้มาร์เวล ก้าวไปสู่เส้นทางที่ไม่เคยมีใครย่างเท้าไปถึงมาก่อน
ไม่ว่าแฟนจะมีความรู้สึกต่อผลงานภาพยนตร์เดี่ยวชิ้นที่ 2 ของตัวละครดร.สเตรนจ์ แบบไหนก็ตาม หากผู้ชมต้องการเชื่อมต่อไปสู่เส้นทางอีกสายของมาร์เวล ‘ดร.สเตรนจ์’ เป็นทางเลือกเดียวที่จะนำพาผู้ชมเชื่อมต่อไปสู่เส้นทางนั้นได้(โดยสมบูรณ์)
หากเข้าใจเรื่องความหลากหลาย และเข้าใจว่าทุกสรรพสิ่งไม่อาจสมบูรณ์พร้อมเสียทุกอย่าง ผู้ชมล้วนมีทางเลือกอื่นในการเชื่อมต่อไปสู่เส้นทางนั้นได้เช่นกัน(แต่ก็ต้องยอมรับว่าเชื่อมต่อโดยไม่สมบูรณ์) นี่คือความสวยงามอีกอย่างของความหลากหลาย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน