เอ้ สุชัชวีร์: ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการแก้ปัญหาซ้ำซากของกรุงเทพฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะมาถึงนี้กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้าย ผู้สมัครทุกคนต่างก็เร่งหาเสียง ร่วมดีเบท ลงพื้นที่ ประกาศนโยบายเพื่อโน้มน้าวใจให้ชาว กทม. ลงคะแนนให้ในวันเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ เมื่อนำนโยบายต่าง ๆ ที่ผู้สมัครแต่ละท่านนำมาชูธงสร้าง กทม. ยุคใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเป็นหัวข้อหนึ่งที่ผู้สมัครทุกคนกล่าวถึง
แต่มีผู้สมัครท่านหนึ่งที่สามารถอธิบายวิธีการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการแก้ปัญหาซ้ำซากของกรุงเทพฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ฟังแล้วเข้าใจและดูจะ “เป็นไปได้” กว่าผู้สมัครท่านอื่น ๆ ด้วยพื้นฐานความรู้ด้านวิศวกรรม และการเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าเก่งเรื่องเทคโนโลยีที่สุดมหาลัยหนึ่งของประเทศ นโยบายด้านเทคโนโลยีของ “เอ้ สุชัชวีร์” จึงน่าคิดตามอย่างยิ่ง
“เอ้ สุชัชวีร์” เสนอว่า การแก้ปัญหาการจราจรของกรุงเทพเกินปัญญาที่มนุษย์ไม่กี่คนจะรวมหัวกันคิดได้ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วยกันคิดพร้อม ๆ กันเป็นร้อยตัวที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยออกแบบการจราจร ด้วยชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่เก็บมาจากกล้องจราจรและเซ็นเซอร์ที่จะติดตามสี่แยกทำให้ AI มีข้อมูลมาช่วยตัดสินใจเป็นจำนวนมาก พูดง่าย ๆ ก็คือ แค่การตัดสินใจว่าจะปล่อยไฟเขียวให้รถวิ่งในแยกใด เป็นระยะเวลานานเท่าใด คอมพิวเตอร์จะต้องประมวลผลการจราจรในแยกถัด ๆ ไปและคำนวณความเป็นไปได้ที่จะทำให้สามารถระบายรถได้อย่างคล่องตัวที่สุด หากสามารถนำ AI มาใช้แก้ปัญหาได้จริง ๆ ก็น่าจะเป็นคำตอบสำหรับปัญหาการจราจรกรุงเทพได้ไม่ยาก
ในด้านน้ำท่วม จากที่ “เอ้ สุชัชวีร์” นำเสนอผ่านการสื่อสารช่องทางต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันปั๊มน้ำของ กทม. เป็นปั๊มน้ำเครื่องยนต์ดีเซล ใช้กุญแจเปิดปิด ประตูระบายน้ำก็เป็นประตูหมุนด้วยมือ หลายแห่งเปิดไม่ได้ หรือถ้าเปิดออกแล้วก็จะปิดไม่ได้อีกเลย “เอ้ สุชัชวีร์” จึงเสนอว่า ควรเปลี่ยนใช้ปั๊มน้ำและประตูระบายน้ำระบบไฟฟ้า และควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ จะสามารถลดปัญหาความล่าช้าของคนที่ควบคุมปั๊มและประตูระบายน้ำ และสามารถสั่งการระบายน้ำต่อเนื่องกันอย่างเป็นระบบได้ ทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในการนำเสนอนโยบายด้านเทคโนโลยีของ “เอ้ สุชัชวีร์” คือการประกาศให้อินเทอร์เน็ตฟรีเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของคน กทม. ซึ่งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจของกรุงเทพให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และยกระดับการให้บริการของกรุงเทพมหานครมากกว่า 40 บริการให้สามารถให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง แทนที่คนจะต้องไปสำนักงานเขตและรอครึ่งค่อนวันเพื่อรับบริการ คน กทม. จะสามารถหยิบมือถือมากดขอรับบริการจาก กทม. ได้ทุกที่ ทุกเวลาโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานเขต
เป็นที่น่าสนใจว่าเทคโนโลยีที่ “เอ้ สุชัชวีร์” นำเสนอนี้ เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมานานในต่างประเทศ แต่ก็ใหม่สำหรับบ้านเมืองเรา การบริหารจัดการเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจปัญหาและเข้าใจเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง อันเป็นประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาจากการเป็นอธิการบดีมหาลัยเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ
ได้แต่หวังใจว่า เมื่อสิ้นสุดวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ถ้าเราได้ “ผู้ว่าเทคโนโลยี” กับเขาสักทีก็ดีเหมือนกัน