จากเด็กที่เติบโตในพื้นที่อำเภอชายแดนทางตะวันออกของประเทศ ขัดสนเงินทอง สิ่งของอำนวยความสะดวกประดามี แต่ กรุณา บัวคำศรี ไม่เคยขาดแคลนความฝันที่จะออกผจญภัยในโลกกว้าง โดยมีวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง บ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจชั้นยอด
ทุกวันนี้ กรุณาเดินทางท่องไปแทบจะทั่วโลก นำเสนอประเด็นน่าสนใจต่าง ๆ นานา ทั้ง ความเท่าเทียมทางเพศ, เด็ก, สงครามและความขัดแย้ง ฯลฯ ผ่านรายการ รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี ภายใต้ บริษัท อัลคา ลิงค์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของเธอเอง ออกอากาศทางช่องพีพีทีวี
“สิ่งที่เราพยายามทำคือความเป็น original ความดั้งเดิมของเรื่องและของข้อมูล บอกเล่าผ่านสายตาของเรา อาจจะผิด อาจจะถูก แต่นี่คือมุมมองของเรา และใส่ข้อมูล ใส่ fact ใส่ประวัติศาสตร์ลงไป”
หลังกลับจากถ่ายทำรายการที่ต่างประเทศ กรุณาให้เวลากับ The People อย่างเต็มอิ่ม ถ่ายทอดประสบการณ์ในแวดวงสื่อสารมวลชน แง่คิดที่ได้ กระทั่งตกผลึกมาเป็นรายการที่เธอรักมากที่สุดในทุกวันนี้
[caption id="attachment_4482" align="aligncenter" width="960"]
กรุณาและครอบครัว (ภาพจาก Facebook: Karuna Buakamsri)[/caption]
The People: ชีวิตวัยเด็กที่อรัญประเทศหล่อหลอมคุณอย่างไร
กรุณา: อรัญประเทศตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปราจีนบุรี เป็นอำเภอเล็ก ๆ สุดเขตประเทศไทยด้านตะวันออก เราเกิดและโตในช่วงที่ฝั่งกัมพูชายังมีความขัดแย้งทางการเมือง ภาพที่เห็นตอนเด็ก ๆ เป็นภาพผู้ลี้ภัย คนข้ามมา การสู้รบ การยิงกัน อีกอย่างครอบครัวเราฐานะไม่ดี เพราะฉะนั้นเราเกิดมาท่ามกลางความไม่แน่นอนในชีวิต ทั้งเรื่องความปลอดภัยและเรื่องอนาคตว่าเราจะมีอนาคตอย่างไร
โชคดีที่ตอนนั้นคุณพ่อซึ่งเป็นครูพยายามให้เราอ่านหนังสือ อาจเพราะส่วนหนึ่งเราไม่มีอะไร ไม่มีโทรทัศน์ที่บ้าน จำได้ว่า แถว ๆ หมู่ที่อยู่จะมีโทรทัศน์เครื่องเดียวเป็นขาวดำ เขาเป็นคนมีฐานะหน่อย เราก็จะแอบไปดูบันไดบ้านเขาเวลาเขาเปิดโทรทัศน์ ตอนนั้นมีโดราเอมอน เพราะฉะนั้นสิ่งบันเทิงในชีวิตไม่ค่อยมี โรงหนังก็มีอยู่โรงเดียว แต่เราก็ไม่มีสตางค์พอที่จะไป ฉะนั้นความบันเทิงอันเดียวที่มีคืออ่านหนังสือ และอีกอย่างคือไปวิ่งเล่นตามทุ่งนา
The People: หนังสือเล่มที่ชอบ ณ ตอนนั้น?
กรุณา: หนังสือช่วยเปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น ตอนนั้นหนังสือที่ชอบคือหนังสือชุด บ้านเล็กในป่าใหญ่ และวรรณกรรมเด็กอย่าง ไฮดี้, โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ซึ่งหนังสือที่มีอิทธิพลกับครอบครัวเรามากที่สุดคือ บ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็นเรื่องชีวิตของครอบครัวอเมริกันในยุคการบุกเบิกตอนที่ชาวอเมริกันสร้างประเทศ ก็จะเห็นการผจญภัย ความทุกข์ความยากลำบากของคนที่ไปก่อตั้งประเทศ เห็นถึงชีวิตวัฒนธรรม ทำให้รู้สึกว่าโลกมันกว้างกว่าอรัญประเทศ ตรงนั้นเป็นจุดที่ทำให้เราคิดว่าสักวันหนึ่งอยากจะไปเห็นในสิ่งที่อ่านบ้าง
[caption id="attachment_4495" align="aligncenter" width="960"]
กรุณาและคุณพ่อ (ภาพจาก Facebook: Karuna Buakamsri)[/caption]
The People: เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตอนไหน
กรุณา: ชีวิตตอนเด็ก ๆ ไม่ได้วางแผนมาก ถ้าเรียกก็คือ go with the flow คือไปตามกระแส ตอนนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะอยากเรียนพยาบาลมาก ไม่น่าเชื่อใช่ไหม (หัวเราะ)
เรามาจากครอบครัวที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นก็จะนึกถึงวิชาชีพเป็นหลักอย่าง ครู หมอ พยาบาล แต่หัวเราก็ไม่ดีถึงขนาดจะเป็นหมอ เราก็บอกเป็นพยาบาลดีกว่า ตอนจบ ม.6 ก็ไปสอบพยาบาล แต่สอบที่ไหนก็ไม่ติด ตอนนี้รู้สึกโชคดีที่สอบไม่ติดเพราะสงสารคนไข้ (หัวเราะ) พอสอบไม่ติด ท้ายสุดก็ไปเรียนรามคำแหง เรียนไปสักพัก พี่ชายคนโตสอบเอ็นทรานซ์ติดพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ช่วงเรียนเขาก็ไปทำกิจกรรม เวลาเราแวะไปหาก็จะเห็นเขามีเพื่อนออกไปทำกิจกรรม ไปเข้าค่าย สร้างโรงเรียน รณรงค์ต่อต้านค้านเขื่อน
เราเลยรู้สึกว่าถ้าเป็นมหาวิทยาลัยปิดในช่วงนั้นน่าจะมีโอกาสที่เราจะหาประสบการณ์ได้เยอะ ก็เลยกลับมาอ่านหนังสือใหม่ แล้วก็สอบติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เลือกเรียนวิชาเอกเป็นภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ส่วนวิชาโทเป็นภาษาอังกฤษ
The People: คุณเป็นเด็กกิจกรรมด้วยไหม
กรุณา: เรียกอย่างนั้นก็ได้ เพราะความสนใจของเราไม่ได้อยู่ในห้องเรียนอย่างเดียว แต่อยู่นอกห้องเรียนเยอะมาก แล้วเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญ ๆ เกิดขึ้น คือ รัฐประหารนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงนั้นเราเริ่มทำกิจกรรมแล้ว เพราะว่าพอเห็นพี่ชายทำ ก็มีอิทธิพลกับแนวทางของเราในมหาวิทยาลัย แล้วก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในมหาวิทยาลัย คือ อบจ. (องค์การบริหารสโมรนิสิตจุฬาฯ) ช่วงรัฐประหารโดย รสช. เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เพราะฉะนั้นชีวิตมหาวิทยาลัยมี 2 ภาค คือ ภาคที่อยู่ข้างนอก และภาคที่อยู่ข้างใน ข้างในอาจจะจำอะไรไม่ค่อยได้มาก จริง ๆ เราไม่อยากเรียน แต่ด้วยวัฒนธรรม ขนบอะไรต่าง ๆ มันบอกเราว่าถ้าไม่จบมหาวิทยาลัย เราจะเป็นคนที่ล้มเหลวในชีวิต เพราะฉะนั้นเราก็ไม่อยากล้มเหลว ไม่อยากให้คนรอบข้างเสียใจ ไหน ๆ สอบติดแล้วก็เรียนไป แต่ต้องบอกว่าตัวเองไม่ได้สนใจเรื่องวิชาการสักเท่าไหร่ เพราะมีชีวิตและชอบใช้ชีวิตอยู่นอกมหาวิทยาลัยมากกว่า
The People: แต่ก็ได้ทุนไปเรียนปริญญาโทที่ University of Sussex ประเทศอังกฤษ?
กรุณา: ใช่ค่ะ คือวันเวลาที่เราใช้นอกห้องเรียนช่วงมหาวิทยาลัย แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้ได้รู้จักนักกิจกรรม นักการเมือง เอ็นจีโอ นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ทุกคนมีชีวิตที่หลากหลายและน่าสนใจ ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราจะหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้ เป็นแรงผลักว่าเราไปต่อมากกว่านี้ได้ แต่ก่อนจะได้ทุน เรารู้ตัวเองตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่าอยากเป็นนักข่าว คือเป็นคนไม่ชอบอะไรที่อยู่ประจำ ทำงานกับที่ แล้วถ้าจะมีชีวิตที่อยู่ข้างนอกได้ด้วย หาเงินได้ด้วย ก็คืออาชีพสื่อมวลชน ดังนั้นพอจบอักษรฯ ก็ไปทำงานนักข่าวที่บางกอกโพสต์ สาเหตุเพราะเราอ่อนภาษาอังกฤษตั้งแต่สมัยเรียน แล้วเป็นปมด้อยมาก
The People: เป็นคนชอบท้าทายข้อจำกัดของตัวเองอย่างนั้นหรือเปล่า
กรุณา: เราบอกตัวเองว่าอยาก overcome หรือเอาชนะอุปสรรคในช่วง 4 ปีที่อักษรฯ เราต้องทำให้ได้ เลยไปสมัครบางกอกโพสต์ จำได้ว่า บ.ก. ถามว่าเกรดไม่ดีเลย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ จะทำไหวเหรอ เราบอกว่าถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็ยอมรับว่าทักษะอ่อนจริง ๆ แต่ขอโอกาส เพราะคิดว่าประสบการณ์รวมถึงเครือข่ายที่เรารู้จักช่วงทำกิจกรรมจะกลบเกลื่อนข้อด้อยตรงนี้ได้ และสัญญาว่าจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เพราะความประสงค์คืออยากทำตรงนี้ให้แข็งแรงขึ้น เขาก็เลยรับทำงาน ก็อยู่ที่นั่น 2 ปี เป็น 2 ปีที่พยายามทำงานเพื่อให้จุดอ่อนด้านภาษาหายไป
เราทำงานหนักกว่าคนอื่น หนักกว่าไม่ได้แปลว่ามีงานออกมามากกว่าหรือดีกว่าคนอื่น แต่เพราะภาษาอ่อนกว่าคนอื่น ดังนั้นจะใช้เวลาเขียนงานเยอะกว่าคนอื่น แต่ก็คุ้ม เพราะ 2 ปีที่บางกอกโพสต์ทำให้มั่นใจขึ้นว่าเราอยู่ในระดับที่เอาไปต่อยอดได้ และอยากเห็นโลกที่มันอยู่นอกประเทศ อยากเห็นสิ่งที่เราเคยอ่านจากบ้านเล็กในป่าใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าบ้านเราหรือพ่อเราไม่มีเงินส่ง ทางเดียวคือขอทุน
ตอนนั้นจังหวะชีวิตเริ่มมีการวางแผนแล้ว ไม่เหมือนตอนเด็ก ๆ ที่อะไรเกิดขึ้นก็ go with the flow เรารู้ว่าอยากเห็นตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น
The People: ทำไมเลือกเรียนด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม แทนที่จะเรียนด้านสื่อสารมวลชน
กรุณา: สนใจสิ่งแวดล้อม เพราะพี่ชาย (ธารา บัวคำศรี) สนใจ เราก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดเยอะมาก และตอนนั้นกระแสสิ่งแวดล้อมก็ดังมาก มีเรื่องพี่สืบ นาคะเสถียร เรารู้จักพี่สืบเป็นการส่วนตัว แต่ไม่ได้สนิท ตอนพี่สืบเสียชีวิต เราน่าจะอยู่ปี 2 เรื่องนี้ส่งผลสะเทือนถึงการตัดสินใจและการใช้ชีวิตของเราช่วงนั้น อีกอย่างตอนทำบางกอกโพสต์ เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เคยไปเรียนบอกว่า ถ้าอยากเป็นนักข่าว ยูไม่จำเป็นต้องเรียนสื่อสารมวลชนหรอก เพราะทักษะหรือเรื่องแบบนี้ฝึกฝนจากการทำงานได้ สู้ไปหาความรู้หรือวิชาที่จะมาเกื้อหนุน หาวิธีคิด กรอบคิด เพื่อให้มีประโยชน์กับการทำงานข่าวจะดีกว่า เลยไปเรียนหลักสูตรนโยบายสิ่งแวดล้อม (Environmental Policy)
The People: เหมือนคุณหลอมรวมความเป็นนักกิจกรรมเข้ากับความเป็นนักสื่อสารมวลชน สะท้อนจากการเข้าทำงานที่ไอทีวีหลังกลับจากอังกฤษ?
กรุณา: ไม่เคยเปลี่ยนความคิดอยากทำอย่างอื่นเลย อยากเป็นนักข่าวมาตลอด แต่เริ่มอยากทำทีวีเพราะชอบความเป็นภาพ ความเคลื่อนไหวของมัน
ตอนนั้นไอทีวีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แล้วเราเป็นผลพวงหนึ่งจากเหตุการณ์นั้น ไอทีวีตั้งขึ้นบนความเชื่อที่ว่า ถ้าเกิดยูไม่มีสื่อเสรี ความขัดแย้งหรือความเข้าใจผิดในสังคมก็จะเกิดขึ้นเพราะมันถูกปั่นจากข่าวลือข่าวลวง เรามีความฝันตลอดว่าอยากจะทำ เพราะเราเชื่อในอุดมการณ์ เชื่อในเรื่องของเหตุผลที่เกิดขึ้นมา แต่ช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจพอดี เขาก็เลยไม่ได้รับคน เผอิญช่วงนั้นเรามีเพื่อนซึ่งรู้จักตั้งแต่สมัยทำกิจกรรม เขาบอกว่ามีสถานีโทรทัศน์ของออสเตรเลียเปิดรับอยู่ เราก็ไปสมัครและได้ทำที่สถานีโทรทัศน์ ABC อยู่ 1 ปี
อยู่มาวันหนึ่ง คุณกิตติ (กิตติ สิงหาปัด) โทรมาบอกว่ามีคนจะออก มาสมัครสิ เป็นผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจต่างประเทศ ก็ไปสมัครแล้วก็ได้งาน จริง ๆ เป็นตำแหน่งคุณณัฏฐา โกมลวาทิน (หัวเราะ) เพราะคุณณัฏฐาได้ทุนไปเรียน ก็เริ่มทำไอทีวีตั้งแต่ตอนนั้น
The People: ถึงจุดหนึ่งไอทีวีก็ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ในช่วงที่คุณทักษิณจะเข้ามาซื้อหุ้น?
กรุณา: ตอนนั้นในทางธุรกิจ ไอทีวีอยู่ไม่ได้เพราะต้องจ่ายค่าสัมปทานเยอะมาก เลยเปิดทางให้คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตอนนั้นเป็นมหาเศรษฐีของประเทศซื้อหุ้น แต่ unfortunately ที่การซื้อหุ้นเกิดขึ้นในช่วงคุณทักษิณกำลังลงเล่นการเมือง
เรากับคุณทักษิณไม่มีอะไร รู้จักกันในฐานะนี่คือคุณทักษิณ เขาก็รู้จักเราในฐานะนักข่าว ก็อาจมีความ (นิ่งคิด) รู้จักกันในระดับที่ค่อนข้างดีตอนนั้น เพราะเราเคยตามไปทำข่าว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของ...คือเรามีความรู้สึกค่อนข้างจะลึกซึ้งมากกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพราะเราอยู่ที่นั่น โดนทหารไล่ยิง ต้องหนี ต้องเห็นคนตายต่อหน้าต่อตา สิ่งนี้มันติดอยู่กับเรา สลัดไม่ออก เพราะฉะนั้นอะไรที่เราทำก็จะมีความรู้สึกตรงนั้นมาเกี่ยวข้องเสมอ
ตอนคุณทักษิณตัดสินใจซื้อไอทีวี เรารู้สึกว่าไม่ได้ ไม่ถูก ถ้ายูเป็นนักธุรกิจก็โอเค แต่ถ้าเป็นนักการเมืองล่ะ สถานีโทรทัศน์มันถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นกระบอกเสียงของความเป็นอิสระ ของความเสรี เพราะฉะนั้นมันไปด้วยกันไม่ได้ เราก็ลุกขึ้นพูด แล้วก็บอกคนในรัฐบาลที่รู้จักเราว่าเราพูดด้วยหลักการ ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวกับใคร ๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้รัก ไม่ได้เกลียด ไม่ได้ชอบใครเป็นการส่วนตัว แต่ผลที่เกิดขึ้นคือเราถูกให้ออกจากงาน ซึ่งเราก็ยอมรับ เราบอกว่าสู้กันแฟร์ ๆ ตามกฎ ตามกติกา เราไปฟ้องศาล ชนะคดี ก็จบกันไปไม่มีอะไร
The People: ชีวิตการทำงานหลังจากนั้นถือว่าพลิกผันไปพอสมควรเลยไหม
กรุณา: ต้องบอกว่าช่วงนั้นไม่มีใครกล้าจ้างเราทำงาน เขาอาจกังวล เพราะเป็นคดีที่คนรู้จักพอสมควรในวงการ แล้วคงไม่มีใครกล้าเสี่ยง โดยเฉพาะช่วงที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ แต่เราก็บอกว่า โอเค ถ้าทำงานอย่างที่อยากจะทำไม่ได้ เราก็กลับมาทำงานกับพวกฝรั่ง ตอนนั้นเป็น freelance กับ ABC, Al Jazeera ใครจ้างอะไรก็ทำ รับจ้างรายวันไป แต่ทำกับสำนักข่าวต่างประเทศเป็นหลัก
จริง ๆ แล้วเราคิดว่าทุกอย่างเกิดขึ้นมีเหตุมีผล เพราะสิ่งที่สะสมประสบการณ์ 3-4 ปีกับสำนักข่าวต่างประเทศช่วงที่ไม่มีใครกล้าจ้าง ทำให้เราสามารถทำงานนี้ได้ในวันนี้ เพราะจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่มีเพื่อน ไม่มีประสบการณ์
The People: รายการที่คุณกลับมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้งคือ “ตอบโจทย์” ทางไทยพีบีเอส?
กรุณา: ช่วงที่กระแสเริ่มสลาย พี่ ๆ ที่ช่อง 11 ชวนไปทำผู้ประกาศข่าวต่างประเทศ เราก็ไป จนในที่สุดมาอ่านข่าวเช้ากับคุณอดิศักดิ์ ศรีสม ต่อมาพอเกิดไทยพีบีเอส คุณเทพชัย หย่อง ก็ดึงกลับมา
ตอนทำตอบโจทย์คือประเด็นการเมืองเป็นหลัก เป็นช่วงจุดเริ่มต้นของเหลืองและแดง จริง ๆ แล้วเรามีเพื่อน มีพี่ ที่อยู่ทั้งเหลืองและแดงเยอะมาก อย่างฝั่งแดง พี่ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ ก็อยู่ด้วยกันตอนที่ทหารยิงช่วงพฤษภา’35 ยืนอยู่บนรถปราศรัยด้วยกันแล้วพี่ตู่เป็นคนผลักให้เราล้ม ไม่อย่างนั้นกระสุนโดนหัวไปแล้ว ฝั่งเหลือง สุริยะใส กตะศิลา, พี่เปี๊ยก-พิภพ ธงไชย พวกนี้ก็อยู่กับเราตลอด
เพราะฉะนั้นตอนนั้นเรารู้สึก (นิ่งคิด) เศร้าน่ะ การต่อสู้ทางการเมืองจริง ๆ มันต่อสู้กันได้ แต่เรารู้สึกว่ามันไปไกล แล้วก็ ugly เกินกว่าที่คิดไว้เยอะมาก ก็ทำรายการตอบโจทย์ด้วยความพยายามจะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายรู้สึกว่าเราแฟร์ แต่ในภาวะที่คนไม่อยากฟังความเห็นต่าง มันลำบากมาก วันที่สัมภาษณ์เหลืองก็จะโดนแดงด่า วันที่สัมภาษณ์แดงก็จะโดนเหลืองด่า วันไหนสัมภาษณ์ทั้งแดงทั้งเหลืองก็จะโดนทั้งแดงทั้งเหลืองด่า เพราะเขาจะนับเวลาว่าเราให้เวลาไม่เท่ากัน
จริง ๆ ช่วงที่ทำตอบโจทย์เป็นช่วงเวลาที่สนุกนะ เพราะเราอยู่กับการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วเราชอบตั้งคำถาม ชอบท้าทายคนที่เราคุยด้วย แต่มันถึงจุดที่เราไม่สนุกอีกต่อไป เพราะการ debate หรือการถกเถียงมันไม่ healthy มันเต็มไปด้วยอคติ เต็มไปด้วย bias ความเกลียดชัง เรารู้สึกว่าไม่อยากทำแล้ว ค่อนข้างหมดหวังกับการเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาจเป็นความรู้สึกส่วนตัวด้วยที่เห็นพี่ เห็นเพื่อน เห็นน้อง แบบ...คุยกันไม่ได้
The People: จัดการความรู้สึกตัวเองอย่างไร เพราะด้วยความที่การเมืองมันแรงมาก แล้วเราต้องทำหน้าที่สื่อที่ต้องคุยกับทุกฝั่ง
กรุณา: จัดการไม่ได้ เพราะทำงานเยอะมาก ตอนนั้นเป็นตัวหลักของสถานี นอกจากรายการตอบโจทย์ก็มี breaking news ทั้งวัน คือไม่มีเวลาเยียวยาตัวเองเลย อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจค่อนข้างเร็วในการถอยออกมา ตอนนั้นไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ ที่เราบอกว่าไม่อยากยุ่งกับการเมืองอีกต่อไปในแง่ที่ต้องทำงานในฐานะสื่อมวลชน เพราะรู้สึกว่าทำยากมาก เราไม่แข็งแรงพอที่จะทนกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งหลายครั้งมันไม่แฟร์ แม้กระทั่งใส่สีเสื้อ โดยที่ไม่ตั้งใจก็เป็นประเด็น แล้วเรารู้สึกว่า...You know what? Get over it. (หัวเราะขื่น ๆ) แต่เราบอกในใจว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว
เคยมีคนถามว่าเราเป็นเหลืองหรือแดง เราบอกว่าไม่มีสี คบได้ทุกคน ไม่ใช่งูหลายหัว แต่เรื่องความเป็นเพื่อน เป็นพี่ มันไม่ควรถูกปิดกั้นด้วยความคิดทางการเมือง ตั้งแต่ทำรายการตอบโจทย์ เราไม่เคยไปกินข้าวกับพี่น้องหรือเพื่อนที่เป็นนักการเมือง โทรศัพท์หายังไม่เคย ขออะไรให้ช่วยก็ไม่เคย เพราะเราอยากรักษาความสัมพันธ์ เวลาถามในรายการจะได้ไม่อิหลักอิเหลื่อ แต่ตอนนั้นสิ่งที่เจอมันอาจเยอะเกินไป เลยรู้สึกว่าอยากถอยออกมา
การเมืองไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง สังคมจะเดินไปได้ไม่ใช่ว่าคนจะมีความรู้และเท่าทันการเมืองอย่างเดียว แต่มีเรื่องอื่นที่คนต้องรู้และเท่าทัน เลยคิดว่าเราไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่ยังติดตามการเมืองในฐานะที่เป็นคนไทย เป็นพลเมือง แต่ในฐานะสื่อมวลชนเรารู้สึกว่าไม่สามารถรับได้กับความ...(นึกคำ) ความลำเอียง หรือความไม่ใจกว้าง
The People: คงเป็นช่วงที่ยากลำบากพอสมควร?
กรุณา: เราโดนทุกทางเลย เป็นอีเมล เป็น hate speech ด้วย เขียนแบบเสีย ๆ หาย ๆ เราจะไม่ชอบวิธีการใช้คำหยาบแล้วไม่มีเหตุผล มันบั่นทอนคนทำงาน ซึ่งเขาอาจชนะก็ได้ที่กันเราออกมาได้ แต่ You know? มันก็มีเรื่องอื่นที่สำคัญกับชีวิตอีกเยอะ
ช่วงนั้นอยากเลิกเป็นสื่อมวลชนเลย เพราะท้อและล้า เราพักประมาณ 3 เดือน แล้วไปอยู่กับเพื่อนที่ญี่ปุ่นเดือนหนึ่ง อยากไปไหนก็ไป สะพายเป้ไป ค่ำไหนนอนนั่น พอดีช่อง 3 ติดต่อมา เขาบอกว่าอยากทำอะไรให้บอก พอเรากลับมาก็บอกช่องว่าอยากทำงาน เรายังต้องหาเลี้ยงตัวเอง ยังเกษียณไม่ได้ ยังต้องเก็บเงิน (หัวเราะ) ก็ไปอ่านข่าวเที่ยงวัน ไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องนอนดึก
The People: จากรายการตอบโจทย์ที่หวือหวา เจอพิษ จนมาถึงการเป็นผู้ประกาศข่าวช่องใหญ่ ตอนนั้นคือชีวิตที่ “ใช่” แล้วหรือยัง
กรุณา: โอเคนะ เพราะเป็นช่วงที่เลือกและอยากเป็นแบบนั้น อยากอยู่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ แต่ถ้าอยากออกไปทำข่าวข้างนอกก็ได้ไป เวลามีอะไร คุณสรยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) คุณกิตติ ก็จะให้ไป อย่างมีแผ่นดินไหวที่เฮติ ช่อง 3 ระดมเงินได้มากมาย เราก็เดินทางไปทำข่าวที่นั่น ถือเป็นช่วงที่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ
แต่วันหนึ่งมาถึงจุดที่รู้สึกอิ่มตัว ไม่ใช่ว่างานไม่ดี เพียงแต่ตัวเราไม่เหมือนเดิม คือช่วงชีวิตมนุษย์จะมีการเปลี่ยนอยู่ตลอด อายุ 30 จะทำอย่างนี้ อายุ 40 จะทำอย่างนี้ ตอนแรกวางแผนจะอยู่ช่อง 3 ประมาณ 2 ปี เลยเซ็นสัญญาไว้ที่ 2 ปี จากนั้นต่อสัญญามาเรื่อย ๆ จนอยู่มา 6 ปี ก็ถึงจุดที่ชีวิตต้องเปลี่ยนอีกครั้ง
The People: เหมือนความฝันของคุณคือการได้ลงพื้นที่เป็นหลักมากกว่า ทีนี้การย้ายมาพีพีทีวีเติมเต็มความฝันของคุณมากน้อยแค่ไหน
กรุณา: เราเป็นคนอยู่นิ่ง ๆ นาน ๆ ไม่ได้ คืออยู่ได้แหละ แต่จะอยู่แบบ...(นิ่งคิด) ไม่มีชีวิตชีวาสักเท่าไหร่ ซึ่งไม่แฟร์กับคนที่จ้างและไม่แฟร์กับตัวเองด้วย แล้วช่วงที่เคยทำงานกับ Al Jazeera เคยทำ 101 East เป็นสารคดี 30 นาที เราเลยรู้สึกว่าฝันมันจาง ๆ มาก ที่จะทำแบบนั้นอีก เพราะรู้ว่าต้องใช้พลังงานและใช้ทรัพยากรเยอะมาก เพราะฉะนั้นฝันจาง ๆ ของเราก็ยังจาง ๆ อยู่เรื่อย ๆ ได้ปลดปล่อยบ้างก็ตอนเขาส่งไปทำนู่นทำนี่
แต่ในที่สุด การออกไปทำข่าวใหญ่ ๆ ของโลก อย่างแผ่นดินไหวเนปาล หรือฟุกูชิมะที่ญี่ปุ่น ก็กลายเป็น routine อย่างแผ่นดินไหวเรารู้เลยว่าวันแรก วันที่สอง วันที่สาม จะรายงานอะไร พอวันที่เจ็ดก็เก็บของกลับ แล้วก็จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เรามีโอกาสน้อยมากที่จะไปคลุกคลี ไปดูชีวิตคน เพราะต้องส่งข่าวทุกเบรก ไม่มีเวลาได้ทำอะไรเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นชิ้นเป็นอัน
พอทำอย่างนั้นบ่อย ๆ ความฝันจาง ๆ ที่มีตลอดสิบปีที่มันซ่อนอยู่ตรงนั้นตรงนี้ก็เริ่มประกอบร่าง เลยเริ่มคุยกับช่อง 3 ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร แต่มีแนวคร่าว ๆ อยู่ ผู้ใหญ่ก็บอกว่าเข้าใจ แต่อาจยังไม่ได้ในขณะนี้ เพราะช่องอยู่ในช่วงจัดระเบียบองค์กร ขณะนั้นมีช่องอื่นติดต่อให้เข้าไปคุยด้วย เราเลยไปเรียนผู้ใหญ่ว่ามีช่องอื่นติดต่อมา จึงมาขออนุญาต ผู้ใหญ่ก็บอกว่าไปเลย คือเขารู้ว่าถ้ายังไม่สามารถให้ได้อย่างที่เราอยากได้ก็จะไม่ปิดโอกาส
เรามาลงเอยที่พีพีทีวี คุยแค่ 5 นาทีเท่านั้น พีพีทีวีถามว่าอยากทำอะไร ก็บอกว่าอยากทำรายการครึ่งชั่วโมง ของบประมาณเท่านี้ แล้วพีพีทีวีก็บอกว่า โอเค ทำอย่างที่อยากทำเลย เอาเงินไป เราก็บอก โอเค ถ้างั้นก็ทำ (หัวเราะ)
The People: รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี เลยกลายเป็นรายการที่หลอมทุกอย่างในชีวิตของคุณเข้ามาไว้ด้วยกัน?
กรุณา: ใช่ค่ะ ตอนนั้นมีทีมงานคือเรา ช่างภาพ และตัดต่ออีกคน บางทีอยู่ออฟฟิศถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง เพราะต้องตั้งไข่ใหม่ คืออาจมีคนทำแบบนี้ในต่างประเทศ แต่เราพูดถึงการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง อย่าง 101 East มีทีมงาน 8 ทีม ทีมที่เราทำด้วยมีเวลาทำงาน 3-4 เดือน แต่ที่นี่เราทำ 1 เดือน 4 เรื่อง แต่เราอยากทำให้ได้คุณภาพระดับนั้น
เราเชื่อว่าทุกอย่างเกิดขึ้นมีเหตุผลหมด ตอนนี้ยังคิดเลยว่าถ้าไม่มีโอกาสตอนนั้นที่ไม่มีที่ไหนกล้ารับเราเข้าทำงาน เราจะมีประสบการณ์ มีความรู้พอที่จะรู้ว่ารายการแบบนี้ต้องทำยังไงบ้าง เราว่าไม่มี แล้วเราอาจลองผิดลองถูกเยอะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้ในทุกช่วงชีวิตการทำงานมารวมตรงนี้หมดทุกทักษะ ไม่ว่าจะทักษะการดูประเด็น ทักษะการคิดสัมภาษณ์ที่ได้จากตอบโจทย์ ทักษะการ debate ทักษะการเจรจากับคน คือทุกอย่างอยู่ในการทำงาน ณ วันนี้หมดเลย
The People: วิธีสร้างความแตกต่างหรือการสร้างลายเซ็นของรายการ ท่ามกลางการไหลบ่าของข้อมูลในยุคนี้?
กรุณา: สองสิ่งที่ยึดไว้คือ เป็นตัวของตัวเอง และหาข้อมูลปฐมภูมิคือไปเห็นเอง ตอนเป็นผู้ประกาศข่าว เราใช้ความรู้สึกของตัวเองในการพูด การอธิบาย แต่เมื่อเป็นนักข่าวลงพื้นที่ เราใช้ความรู้สึกของคนที่นั่นมาถ่ายทอด เพราะฉะนั้นไม่เหมือนกัน พอข้อมูลมาอยู่หน้าผู้ประกาศ fact มันถูกถอดออกไปหลายอันมาก
สิ่งที่เราพยายามทำคือความเป็น original ความดั้งเดิมของเรื่องและของข้อมูล บอกเล่าผ่านสายตาของเรา อาจจะผิด อาจจะถูก แต่นี่คือมุมมองของเรา และใส่ข้อมูล ใส่ fact ใส่ประวัติศาสตร์ลงไป เราเชื่อว่าท่ามกลางสื่อที่มีเยอะแยะมากมายหลากหลาย สิ่งที่คนจะโหยหามากที่สุดคือเรื่องและข้อมูลที่เป็นการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และเราก็รู้สึกว่าทำงานมาถึงระดับที่มี personality เป็นของตัวเอง ก็จะผสมกันเข้าไปแล้วให้คนดูได้ดู
The People: คัดเลือกช่างภาพอย่างไร เพราะต้องเดินทางด้วยกันเกือบจะทั่วโลก
กรุณา: ช่างภาพเป็นฝรั่ง เหตุผลเพราะเราเดินทางเยอะ บางทีไปบางประเทศเขาก็ไม่ต้องใช้วีซ่า เขาเคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์ของเยอรมนี เป็นเพื่อน ๆ เรานี่ล่ะ ดังนั้นก็จะได้ในแง่ความคล่องตัว และเวลาไปในสถานที่ที่อันตรายมาก ๆ เราต้องไปกับคนที่มองหน้ากันแล้วถ้าจะร้องไห้ก็ร้องไห้บนไหล่กันได้เลย
เคยเจอเหตุการณ์น้ำท่วมถนนหนักมาก ฟ้าแลบตลอด รถจะปลิวลงข้างทาง น้ำมันก็หมด ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ช่างภาพก็บอกว่าห้ามออกจากรถเด็ดขาด เราก็นั่งในรถดีกว่า คือไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่านะ (หัวเราะ) หรือตอนเข้าไปในอิรัก เขาก็จะระแวดระวัง เนื่องจากมีประสบการณ์อยู่ในพื้นที่แบบนี้ก็จะรู้ว่า เฮ้ย อันนี้ไม่น่าไว้ใจ เราเคยไปถ่ายขบวนการค้ามนุษย์ที่ตุรกี ที่เอาผู้ลี้ภัยข้ามไปยุโรป แล้วมีคนหนึ่งมองเราตลอดเวลา แต่เราไม่ทันสังเกต ช่างภาพก็มองและบอกเราว่า Stay away from this guy. เราก็โอเค เพราะฉะนั้นเวลาลงพื้นที่เราไปกันแค่นี้ เลยต้องเป็น 2 คนที่ต้องเชื่อกันและกัน ดูแลกันได้
[caption id="attachment_4487" align="aligncenter" width="960"]
ระหว่างเดินทางถ่ายทำรายการรอบโลก by กรุณา บัวคำศรี (ภาพจาก Facebook: Karuna Buakamsri)[/caption]
The People: เลือกประเด็นนำเสนออย่างไร
กรุณา: ถ้า grouping ออกมาจะมี 6-7 เรื่อง อย่าง ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งหลายครั้งมาในรูปแบบโสเภณี แต่ในเรื่องจะนำเสนอความเท่าเทียมทางเพศ, ความมั่นคงทางอาหาร อย่างเรื่องปั๊กปั๊ก (PagPag) อาหารที่ปรุงจากขยะในฟิลิปปินส์, สงครามและความขัดแย้ง อย่างซีเรีย อิรัก, มีเรื่องเด็ก, มีเรื่อง...โอย ทำจนจำไม่ได้ ซึ่งประเด็นที่ทำจะเป็นสากล คือเป็นปัญหาของมนุษยชาติ อาจเกิดกับเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง หรืออาจไม่เกิดก็ได้ มันจะมีเรื่องที่เราจะรู้สึกได้ เป็นเรื่องที่มนุษย์ทั่วไปเขาเจอกัน รวมถึงเราด้วย
เมื่อเน้นประเด็นเป็นหลัก เลยไม่ได้ดูที่ประเทศว่าต้องไปประเทศนี้ ๆ แต่แถวนี้ก็ไปมาเกือบหมดแล้ว ยุโรปก็ด้วย ที่ยังไม่ได้ไปคือลาตินอเมริกา พอคิดไปคิดมา เรื่องที่คนสนใจอยู่แถวเอเชียหมดเลย บางเรื่องที่เราคิดว่าไปไกล อย่างยูเครนที่ไปยาก แต่คนไม่ค่อยสนใจ เพราะบางเรื่องมันไกลเกิน คือก็มีคนบางกลุ่มที่สนใจ แต่มันไม่เกี่ยวพันกับชีวิตของคนเท่าไหร่ เทียบกับไปใกล้บ้านอย่างฟิลิปปินส์ หรือไปทำเรื่องโสเภณีที่สิงคโปร์แล้วคนแบบ เอ๊ะ มีอย่างงี้ด้วยเหรอ
The People: ประเด็นที่คนไม่ค่อยสนใจ มียอดวิวน้อย ส่งผลต่อเราไหม
กรุณา: ตั้งแต่วันแรกที่คุยกับผู้ใหญ่ของพีพีทีวี เขาบอกว่าทำอย่างที่ตัวเองอยากทำ แล้วเรื่องเรตติ้ง แน่นอนคนก็จะคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ แต่อย่าไปจิตตกกับเรื่องพวกนี้
ความเป็นจริงคือเราไม่สามารถทำเรื่องให้คนสนใจได้ทุกเรื่อง มันอาจมีกลุ่มของคนดูอยู่อย่างยูเครน (ประเด็นการเมืองยูเครน) แต่มันไม่แมส ถามว่าควรทำไหม ก็น่าทำ เพราะเราไม่ควรปิดกั้นความรู้ของคนกลุ่มหนึ่งที่แม้เป็นกลุ่มเล็กแต่เขาก็อยากดู จะมาอยู่แถว ๆ นี้อย่างเดียวไม่ได้ แล้วอย่างที่บอกว่าดูที่ประเด็น เพราะสัก 1-2 เดือนต้องมีประเด็นที่จับใจหรือกระแทกใจคนออกมาบ้าง แต่แน่นอน ทรัพยากรเท่านี้ คนเท่านี้ เราไม่สามารถทำให้ทุกเทปไปกระแทกใจคนได้หมด ต้องคละเคล้าปะปนกันไป
The People: เรื่องที่จะไม่แตะเลย?
กรุณา: ยังนึกไม่ออก ตอนนี้อยากทำอะไรก็ทำ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรานำเสนออย่างไร เพราะในการนำเสนอต้องหาตัวละครหรือไม่ก็สถานที่ เพราะพอเป็นเชิงแบบนี้เราต้องหาตัวละครให้ได้ ตัวละครต้องน่าสนใจ
ทุกทริปที่ไปต้องนัดหมายล่วงหน้า อย่างไปทำเรื่องสงครามยาเสพติด ต้องติดต่อตำรวจ ทหาร หน่วยราชการว่าฉันขอตามไปได้ไหม บางประเทศต้องวางแผนครึ่งปี เพราะฉะนั้นสังเกตว่าในรายการเราจะไปเจอคนที่ต้องใช้เวลาติดต่อ ไม่ใช่เจอคนที่เดินไปเดินมา และทุกครั้งเราจะมีแผนสำรองเตรียมไว้ ถ้าไม่ได้ประเด็นนี้ จะใส่ประเด็นไหนเข้าไปแทน
The People: เรื่องที่ทำแล้วหดหู่สุดคือเรื่องอะไร
กรุณา: เรื่องโรฮิงญา หรือเรื่องฆ่าเด็ก ข่มขืนผู้หญิง ยังไงยูก็ justify มันไม่ได้ You don’t even have to debate. ไม่ต้องถกเถียงเลยว่าคุณฆ่าเด็กได้หรือไม่ได้ คือมันไม่ได้ (เน้นเสียง) ยูข่มขืนผู้หญิงไม่ได้ แต่ยูก็ทำมัน
เนื่องจากเจอคนเยอะมาก แล้วเรื่องส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องหดหู่ เราจะมีอาการ Post-traumatic stress disorder (PTSD) แต่เป็นแบบอ่อน ๆ อ่อนมาก เคยเป็นตอนกลับจากกูตูปาลอง บังคลาเทศ หรือกลับจากอิรักรอบสองก็เป็น แต่ไม่หาหมอ เพราะอยากเก็บตรงนี้ไว้ให้รู้สึกเจ็บปวดบ้าง ถ้าด้านชาเกินไปเราทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เก็บมันไว้นิด ๆ ให้มี bitter มีอะไรอยู่บ้าง ก็จะเยียวยาตัวเองด้วยการทำกับข้าว ปลูกต้นไม้ เล่นกับหมา
[caption id="attachment_4488" align="aligncenter" width="539"]
กรุณาระหว่างเข้าไปถ่ายทำรายการที่อิรัก (ภาพจาก Facebook: Karuna Buakamsri)[/caption]
The People: โมเมนต์เฉียดตาย?
เฉียดตายเหรอ (นิ่งคิด) ตอนนั้นไปอิรัก เข้าไปโมซูล ออกมาได้วันสองวันก็มีนักข่าวโดนระเบิด ไม่รู้ว่าตัวเองเฉียดตายหรือเปล่า แต่รู้ว่าเข้าไปในที่ที่อาจเกิดอะไรได้ตลอดเวลา และเกิดขึ้นกับคนที่โชคไม่ดีกว่าเรา
ช่วงนั้นเข้าไปกับทหารอิรักช่วงที่กำลังจะตีแตกเลย ขับรถไปควันเต็มไปหมด เราก็เหมือนตัวเบา ๆ เท้าไม่ติดพื้น พอลงเดินก็เจอคนร้องไห้วิ่งมาบอก โอ๊ย ตรงนั้นเพิ่งมีระเบิด เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นรีบสัมภาษณ์แล้วรีบกลับ แต่ก็ต้องใช้เวลา เรารู้สึก insecure ตลอดเวลา คือไม่สามารถทำอะไรได้เลยในสถานการณ์แบบนั้น แต่ก็อยู่จนงานเสร็จแล้วออกมา
The People: เสี่ยงขนาดนี้เคยกลัวตายไหม
กรุณา: เคย (หัวเราะเสียงดัง) ไม่กลัวได้ไง ตอนเข้าไปโมซูลน่ะกลัวตายมาก คือสามีเคยทำงานเป็นทหารสังกัดกองทัพเยอรมัน อยู่นาโต เขาประจำที่อันตรายเยอะ พอรู้ว่าเราเข้าไปโมซูล เขาบอกเขาโมโหมาก (หัวเราะ)
คนที่เราทำงานด้วยนอกจากช่างภาพ ก็จะมี local fixer คือคนช่วยประสานงานในพื้นที่ เพราะฉะนั้นในพื้นที่แบบนี้เราจะทำงานเฉพาะกับคนที่ไว้ใจ อย่างเพื่อนของเพื่อน เพราะเคยมีกรณี fixer หักหลังจนนักข่าวเสียชีวิต
เราต้องเช็ค เพราะในที่สุดไม่มีเรื่องไหนที่คุ้มกับชีวิต เราไม่ใช่นักข่าวที่บ้าระห่ำ เราแค่อยากเข้าไปดู แต่เราต้องรับผิดชอบชีวิตของเรา รับผิดชอบชีวิตทีมงานของเรา เราบอกน้อง ๆ ว่า do your best แต่ถ้าต้องเสี่ยงอันตรายจนถึงพิการ เสียชีวิต อย่าทำ เพราะไม่มีอะไรคุ้มเลย
The People: มีประเด็นไหนที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำบ้าง
กรุณา: ตอนนี้อินกับเรื่อง climate change สภาวะโลกร้อน อยากทำเป็นซีรีส์ คือบางเรื่องต้องใช้เวลา บางทีเป็นเดือนกว่าจะไปเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่ได้มีเวลามากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นก็อยากมีเวลาในการทำมากขึ้น เคยคุยกับช่างภาพว่าฉันอยากมีเวลาสัก 1 ปี ในการทำสัก 2 เรื่อง เราจะได้ละเอียดมากขึ้น เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง สมมติไปตามคนก็อยู่กับเขาสัก 1-2 เดือน ส่วนตอนนี้คือความจริง 1 เดือน 4 เรื่อง แล้วไปต่างประเทศด้วยนะ (หัวเราะ)
[caption id="attachment_4489" align="aligncenter" width="960"]
การถ่ายทำรายการจำเป็นต้องมีการประสานงานล่วงหน้า (ภาพจาก Facebook: Karuna Buakamsri)[/caption]
The People: ทุกวันนี้เติมเต็มตัวเองแล้วหรือยัง
กรุณา: ถ้าตอบแบบใช้มาตรวัดที่ความสุขและความสนุกก็ต้องบอกว่าสำเร็จ มีความสุขกับงานที่ออกมา มีความสุขที่เห็นทีมงานสนุกกับการทำงาน ส่งเด็ก ๆ ลงพื้นที่แล้วเขาเขียนมาบอกว่าไม่เคยรู้มาก่อน มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก นี่คือความสุขของเรา เป็นความสำเร็จนอกเหนือจากให้คนที่ดูรายการได้อะไรแล้ว คนที่ทำงานเขาก็อิน ได้ประโยชน์ และสนุกกับมันด้วย
เราไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นเจ้าของทีมเล็ก ๆ เพราะเป็นคนไม่ชอบมีภาระ ไม่อยากรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น แต่มาวันหนึ่งเมื่อเราต้องทำ ก็เออ เราทำได้ และทำให้คนที่ทำงานด้วยมีความสุขได้ ก็เป็นความสุขของเรา
The People: Work-life balance ทุกวันนี้เป็นอย่างไร
กรุณา: ไม่ดีเท่าไหร่ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้กำลังจัดระเบียบ คือเริ่มส่งน้อง ๆ ออกไป จากเดิมที่เดือนหนึ่งเราอยู่บ้าน 5-6 วัน ตอนนี้ก็อาจได้อยู่ 10 วัน พอน้อง ๆ เริ่มแข็งแกร่งขึ้น ก็ให้โอกาสเขาออกไปเห็นโลก เห็นการทำงานมากขึ้น
ต้องบอกว่า 2 ปีแรกไม่มีเลย เพราะเดินทางตลอด อยู่บ้านน้อยมาก โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจและเชื่อว่าเราเอาตัวรอดและดูแลตัวเองได้ ถามว่า balance มั้ย ไม่ balance แต่ไม่มีปัญหา (หัวเราะ)
The People: อยากกลับมาทำข่าวการเมืองอีกหรือเปล่า
กรุณา: ไม่ค่ะ (หัวเราะ) ไม่อยากทำ ส่วนหนึ่งเพราะตอนนี้คนที่อยากทำอะไร ทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมือง ต้องอิน ต้องอยากทำ แต่ตอนนี้เราไม่ได้อยากทำ แล้วเรารู้สึกว่าที่ทำอยู่ตรงนี้มันไม่มีคนทำ ถามว่าสนใจมั้ย สนใจ แต่ไม่อยากทำ
ถ้าย้อนไปที่คุยตอนแรก มันอาจสนุกที่ได้ติดตาม แต่เราในแง่ของประชาชนคนหนึ่งหรือเป็นสื่อมวลชน แล้วต้องมาเป็นทุกข์กับอารมณ์และความแตกแยกทางความคิด มันไม่สนุกเท่าไหร่ คือไม่ได้คิดว่าความแตกแยกหรือความแตกต่างทางความคิดไม่ควรจะเกิดขึ้นนะ เพียงแต่มันไม่ constructive มันไม่ค่อยสร้างสรรค์เท่าไหร่ บางทีเป็นการทำลายกันมากกว่า เราเอาเป็นเอาตาย เอามัน กับการทำลายกันและกันเกินไป
อย่างน้อยตอนนี้เราก็ได้ทำเรื่องที่เป็นความรู้ที่คิดว่าจำเป็นและสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเมือง เพราะการมีความรู้ในเรื่องโลก เรื่องสังคมอื่น เรื่องประวัติศาสตร์ จริง ๆ ก็คือหนทางไปสู่การที่ทำให้เราได้สร้างโอกาสให้ตัวเองในเรื่องอื่น ๆ
The People: ก้าวต่อไปของกรุณา บัวคำศรี?
กรุณา: เราอยากเห็นคนทำงานที่เป็นงาน original และเป็นงานที่มีประโยชน์กับคน จะเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ก็ตาม อยากเห็นคนทำงานแบบนี้มากขึ้น ถ้าเอาเฉพาะทีมเรา next step คือการเห็นทีมงานโตไปแล้วทำอะไรอย่างที่คิดว่าอยากจะทำแนว ๆ นี้
สำหรับตัวเองก็ไม่มีอะไรที่ต้องขอแล้วในชีวิต จริง ๆ ตอนนี้เงินเดือนเท่าไหร่ยังไม่รู้เลย เราเป็นคนไม่ค่อยใช้อะไรอยู่แล้ว ไม่ช้อปปิ้ง กางเกงก็ซื้อมาอย่างงี้ 10 ตัว รองเท้าก็ 5 คู่ สลับกันไป ส่วนมากเงินจะหมดไปกับการกิน ชอบไปซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้อกลับบ้านเยอะมาก ที่เหลือก็ขอให้สุขภาพดี จ่ายเงินค่าประกันสุขภาพ
เราเป็นคนเชื่อในการไม่เป็นภาระของคนอื่น ถามว่าเห็นเงินสำคัญมั้ย แน่นอนมันสำคัญในแง่ที่ทำให้เราอยากทำอะไรก็ได้ ทำให้เราไม่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลว่าต้องพึ่งพาใครในอนาคต ดังนั้นช่วงที่ทำงานตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ก็พยายามสะสมเงินทุนก้อนหนึ่ง ซื้ออะพาร์ตเมนต์ไว้ ซื้อกองทุนไว้ ซื้อประกันดี ๆ ไว้ มีอะไรเรารับผิดชอบตัวเองได้
วันนี้ได้ทำงานที่ตัวเองชอบ ถามว่าวันนี้ต้องการอะไรอีกมั้ยในชีวิต ก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไรแล้ว