เทียบหมัดต่อหมัดนโยบาย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ใครเชื่อมต่อทุกเส้นทางและเชื่อมโยงทุกคนได้มากกว่ากัน

เทียบหมัดต่อหมัดนโยบาย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ใครเชื่อมต่อทุกเส้นทางและเชื่อมโยงทุกคนได้มากกว่ากัน
โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งแล้วในสัปดาห์ของการเปิดเทอมออนไซต์ที่ห่างหายไปนานกว่า 2 ปี กับปัญหาเดิม ๆ ที่ตามกลับมาก็คือ “รถติด” ที่สาเหตุหลัก ๆ นั้นมีทั้งการไม่เชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชน หรือมีแต่ไม่ได้ครอบคลุมกับคนทุกกลุ่ม ช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยผลสำรวจว่าคนกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตอยู่บนถนนกันเฉลี่ยคนละ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถือว่าเป็นเวลาที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าและส่งผลต่อสุขภาพและจิตใจเป็นอย่างมาก
เราเลยอยากชวนถอดนโยบายของแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ที่น่าสนใจ เทียบกันหมัดต่อหมัดกันว่า แต่ละคนนั้นมีนโยบายเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งอย่างไรบ้าง โดยจะเริ่มจากการมองว่ามีนโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องใด และส่งผลเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนได้อย่างไร ซึ่งจะขอเรียงตามหมายเลขผู้สมัครเพื่อสามารถลำดับให้เห็นภาพโดยง่าย
เบอร์ 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล
  • การยกระดับคุณภาพรถเมล์เพื่อดึงดูดคนทุกกลุ่ม
  • ตั๋วคนเมือง นโยบายอุดหนุนตั๋วค่าโดยสาร ประชาชนซื้อในราคา 70 บาท แต่ใช้ได้ 100 บาท
เบอร์ 3 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ
  • Free feeder เชื่อมล้อ ราง เรือ ทั่วเมือง
  • รถไฟฟ้าสายสีเทา สายบางนา-สุวรรณภูมิ
  • ระบบตั๋วเชื่อมที่ใช้ได้ทุกเส้นทาง
เบอร์ 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ
  • โอนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับไปดูแลบริหารจัดการ โดยมีเงื่อนไข ต้องทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่ำกว่า 30 บาท
  • ทำระบบ feeder หรือระบบการเดินทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้า ทั้งรถเมล์-วินมอเตอร์ไซค์-เรือโดยสาร
เบอร์ 11 น.ต. ศิธา ทิวารี จากไทยสร้างไทย
  • สร้างการจราจรที่ไหลลื่น ลด ปริมาณรถในแต่ละวัน ด้วยการสลับเวลาทํางาน ลดเวลาเรียน หรือการสลับวันเรียน
  • ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางให้คนกรุงเทพ โดยค่าใช้จ่ายจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือน เพื่อจูงใจใช้ขนส่งสาธารณะ
  • โครงการ articulated bus ที่เป็นรถ EV หรือรถเมล์ไฟฟ้าใต้ทางด่วนรามอินทรา-เอกมัย จากสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม ไปถึงเอกมัย ซึ่งจะสิ้นสุดตรงสวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์ เที่ยวละ10 บาท
จากนโยบายที่นำเสนอของแต่ละแคนดิเดตเป็นความมุ่งหมายที่ดีที่จะทำให้ชีวิตการเดินทางของคนกรุงเทพฯดีขึ้น โดยผู้สมัครบางคนก็ได้มีประสบบการณ์บริหารงานระบบคมนาคมมาก่อนย่อมทำให้เห็นภาพชัดเจนไม่ว่าจะเป็นชัชชาติ รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ น.ต. ศิธา อดีตนักบิน F-16 ที่เป็นประธานกรรมการบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มาก่อน โดยสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงว่านโยบายแต่ละข้อนั้นเข้าถึงคนทั้ง 4 กลุ่ม ทั้งกลุ่มคน กทม. ทั่วไป, กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล, กลุ่มผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และกลุ่มรถขนส่งสินค้า มากน้อยแค่ไหน
อีกสองมิติที่อยากจะหยิบยกมาคุยก็คือ ราคา และคุณภาพของระบบขนส่งที่ชูขึ้นมานั้น ในมิติด้านราคาทุกคนพูดตรงกันว่าจำเป็นต้องลดราคาค่าขนส่งในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตั๋วร่วมของวิโรจน์ หรือมาตรการการคุมราคาผ่านกระทรวงคมนาคมของชัชชาติ แต่ของ น.ต. ศิธา มีลักษณะเด่นเป็นการเพิ่มตัวเลือกเพิ่มเติมคือ รถเมล์ไฟฟ้าบริเวณเลียบทางด่วนซึ่งถ้าหากทำได้จริงก็จะเป็นเหมือนเส้นผ่ากลางเมืองในราคาถูกมากเพื่อเชื่อมต่อกับระบบรางไม่ว่าจะเป็น MRT และ BTS ส่วนของสกลธีจะไปเน้นที่พื้นที่รอบนอกด้วยรถไฟฟ้าสายสีเทาเพื่อไปเชื่อมต่อกับสนามบินสุวรรณภูมิแทน
ในมิติด้านคุณภาพนั้น เราอาจมองไปถึงเรื่องของสภาพการดำเนินการและความไปเป็นได้ของระบบขนส่งที่เอื้อประโยชน์กับคนกรุงเทพฯ เพราะถึงแม้หากสร้างการความเชื่อมต่อได้ แต่ระบบไม่พร้อมใช้งานก็ไร้ความหมาย โดยวิโรจน์ ได้เน้นไปที่การยกระดับคุณภาพรถเมล์เพื่อดึงดูดให้คนขึ้นรถขนส่งสาธารณะ ส่วนสกลธีวางแผนรถไฟฟ้าสายใหม่ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาก่อสร้างอีกสักระยะ ในขณะที่ อดีตนักบิน F-16 มีการดึงเทคโนโลยีอนาคตอย่างรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้เพื่อลดมลภาวะ และใช้เวลาวางระบบก่อสร้างสั้นกว่าระบบราง ด้านของชัชชาติมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมต่อระบบที่มีอยู่เข้าด้วยกัน แต่ไม่ได้มีรายละเอียดในด้านการปรับปรุงคุณภาพของการบริการแต่อย่างใด
เทียบหมัดต่อหมัดนโยบาย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ใครเชื่อมต่อทุกเส้นทางและเชื่อมโยงทุกคนได้มากกว่ากัน
หากเวลาผ่านไป 30 ปี ที่ชาวต่างชาติจะคิดถึงสิ่งแรกเกี่ยวกับคนกรุงเทพฯ ว่ารถติด และรถเมล์ที่เป็นระบบขนส่งมวลชนหลักของไทยก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม และนำมาซึ่งปัญหาของมลภาวะและฝุ่น PM2.5 อีกทั้งระบบรถไฟฟ้านั้นก็มีราคาแพงเกินไปสำหรับคนกรุงเทพฯ แล้ว โอกาสลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่สุด ที่คนกรุงเทพฯ จะร่วมกำหนดอนาคตการสัญจรในกรุงเทพฯ ด้วยตัวเอง หลังจากที่มีคนกำหนดชะตาคนกรุงเทพฯ โดยไม่ได้เลือกมานานกว่า 9 ปีแล้ว
ที่มา: