Auntie Anne’s ขนมที่ทำให้ ‘แอน เอฟ. ไบเลอร์’ ต่อสู้กับวิกฤตชีวิต

Auntie Anne’s ขนมที่ทำให้ ‘แอน เอฟ. ไบเลอร์’ ต่อสู้กับวิกฤตชีวิต
จากแม่บ้านที่มีความรู้แค่เกรด 8 แถมเจอมรสุมชีวิตมากมายจนเป็นโรคซึมเศร้า และไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน แต่ ‘แอน เอฟ. ไบเลอร์’ (Anne F. Beiler) สามารถสร้าง Auntie Anne’s ให้เป็นร้านเพรตเซล (Pretzel) ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก และหลายคนอาจไม่รู้ว่า จุดเริ่มต้นของขนมดังแบรนด์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่เธอต้องต่อสู้กับวิกฤตชีวิต ความจริงเพรตเซลมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอิตาลี โดยบาทหลวงทำขึ้นเพื่อเป็นรางวัลสำหรับเด็ก ๆ ที่มาศึกษาเรื่องทางศาสนาเเละสวดมนต์ ซึ่งรูปร่างของเพรตเซลก็มาจากลักษณะของการทำท่าสวดมนต์ของคนในโบสถ์ (กำมือไขว้กัน) นั่นเอง ส่วนแอน เอฟ. ไบเลอร์ หรือป้าแอน เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 1949 (ปัจจุบันอายุ 73 ปี) เธอเกิดและเติบโตในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และด้วยพื้นฐานของครอบครัวมีความเชื่อว่า หน้าที่ของผู้หญิงคือการดูแลเรื่องภายในบ้านเท่านั้น แอนจึงจบการศึกษาแค่เกรด 8 หรือระดับมัธยมต้น และเมื่ออายุ 19 ปี ก็ได้แต่งงานกับ ‘โจนาส ซี. ไบเลอร์’ (Jonas Z. Beiler) ช่างซ่อมเครื่องยนต์ การใช้ชีวิตคู่ของทั้งสองเป็นไปอย่างราบรื่น และตอนนั้นแอนเพียงต้องการเป็นคุณแม่ที่ดี ซึ่งเธอก็สมใจ เพราะได้เป็นคุณแม่ของลูกสาว 2 คน ทว่าได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อหนึ่งในลูกสาวของเธอประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต จุดเริ่มต้นของวิกฤตในชีวิตของเธอก็ได้เกิดขึ้น เพราะจากการเสียชีวิตของลูกสาว ทำให้แอนมีปัญหากับสามีและเป็นโรคซึมเศร้า จนต้องไปเข้ารับการรักษากับบาทหลวงที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา และถูกล่วงละเมิดทางเพศจากบาทหลวงนานถึง 6 ปี แต่สุดท้ายเรื่องของบาทหลวงคนนี้ได้ถูกเปิดโปง และถูกยึดใบอนุญาตการให้คำปรึกษา แอนจึงกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่กับโจนาสอีกครั้ง จุดเริ่มต้นจากแผงลอยเล็กๆ หลังจากวิกฤตภายในครอบครัว สามีของแอนได้ไปศึกษาในการเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านชีวิตแต่งงานและครอบครัว จนได้ใบอนุญาตมา ซึ่งเขาตั้งใจจะให้คำปรึกษากับคนในชุมชนแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้สามีทำในสิ่งที่ต้องการ รวมถึงขอบคุณที่อยู่เคียงข้างกันมาตลอด แอนจึงพยายามหารายได้ในการหาเลี้ยงครอบครัวด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อได้ข่าวว่ามีร้านเพรตเซลใน Farmers’ Market เมืองดาวนิงทาวน์ รัฐเพนซิลเวเนีย ที่ทางโจนาสไปเปิดบูทให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัวและชีวิตคู่กำลังประกาศขาย เธอจึงตัดสินใจจะซื้อร้านนั้นต่อ แม้จะมีเงินทุนไม่เพียงพอ แต่สุดท้ายแอนพยายามดิ้นรนจนสามารถเปิดแผงขายอาหารว่างในตลาดดังกล่าว และมีเพรตเซลเนื้อนุ่มหอมกรุ่นที่เธออบเองกับมือวางขายอยู่ด้วย โดยใช้ชื่อร้านว่า Auntie Anne’s (ชื่อนี้มาจากสรรพนามที่คนรอบ ๆ ตัวใช้เรียกเธอ) เปิดครั้งแรกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1988 ซึ่งสูตรเพรตเซลที่ขาย แอนได้นำสูตรของเจ้าของร้านคนเดิมมาปรับปรุงให้ถูกปากเธอมากขึ้น และทำการตลาด ด้วยการให้ลูกค้าทดลองชิมฟรี ทำให้ลูกค้าบอกต่อปากต่อปาก และเพรตเซลของ Auntie Anne’s ได้กลายเป็นสินค้ายอดนิยม จากสัปดาห์แรกที่เปิดร้านมียอดขาย 875 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นอีกไม่กี่เดือนเธอก็เปิดร้านสาขา 2 และขยายได้ 8 สาขาภายในปีเดียว ทำให้ Auntie Anne’s เป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีคนเข้ามาขอเพื่อนำร้านไปเปิดที่อื่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์ Auntie Anne’s และการตั้งบริษัททำธุรกิจอย่างจริงจัง กระนั้นเพราะไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ช่วงแรกของการทำแฟรนไชส์จึงประสบปัญหา เช่น ทำสัญญาหละหลวม คนซื้อแฟรนไชส์ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ฯลฯ ทำให้แอนต้องจ้างทนายมาดูแลในเรื่องนี้ จนธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 1995 ที่ Auntie Anne’s มียอดขายเกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนร้านทั้งหมด 344 สาขา และเปิดสาขาในต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย 3Pสร้างความสำเร็จ ความสำเร็จตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ของ Auntie Anne’s ป้าแอนเชื่อว่ามาจาก 3 P ได้แก่ ‘Purpose’ - การมีเป้าหมายที่ชัดเจน, ‘Product’ - สินค้าต้องดี และ ‘People’ - บุคลากรหรือทีมงานสำคัญ เมื่อทั้ง 3 ปัจจัยมารวมกัน ผลกำไรจะตามมา บวกกับความเชื่อที่ว่า ‘การให้’ และ ‘บริการ’ คือสิ่งสำคัญ จึงเป็นที่มาของปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ นั่นคือ ‘ประทีปอันส่องสว่าง’ (Shining L.I.G.H.T.) โดย L.I.G.H.T ประกอบด้วย - Lead by Example เป็นแบบอย่างที่ดี -Invest in Employees ให้ความสำคัญต่อบุคลากร -Give Freely การคืนกำไรให้สังคม -Honor God สรรเสริญพระเจ้า -Treat all Business Contacts with Integrity ปฏิบัติต่อผู้ร่วมทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ปัจจุบันแอนได้วางมือจากธุรกิจแล้วไปช่วยงานสามีอย่างเต็มตัว และได้ขาย Auntie Anne’s ให้กับ Focus Brands บริษัทสัญชาติอเมริกันเจ้าของแบรนด์ Schlotzsky’s, Carvel, Cinnabon, Moe's Southwest Grill, McAlister’s Deli, Auntie Anne's และ Jamba รวมแล้วมีสาขามากกว่า 5,000 แห่ง ขณะที่ตอนนี้ Auntie Anne’s มีสาขามากกว่า 1,700 แห่งใน 25 ประเทศทั่วโลก กระจายอยู่ทั่วโลกทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริกา รวมถึงประเทศไทย  สำหรับประเทศไทยนั้น บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เป็นผู้ได้นำสิทธิ์ในการบริหาร เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ในเดือนเมษายน ปี 2541 ซึ่งตอนนี้มีสาขามากกว่า 199 สาขาทั่วประเทศ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์หรือโมเดลร้านใหม่ ๆ  นี่เป็นเรื่องราวของ แอน เอฟ. ไบเลอร์ ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ Auntie Anne’s ซึ่งต่อสู้ชีวิตและเปลี่ยนตัวเองจากแม่บ้านธรรมดาที่มีความรู้แค่เกรด 8 และเจอมรสุมชีวิตจนเป็นโรคซึมเศร้า มาเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน   ภาพ: Getty Image, hopeforwomen อ้างอิง:   -https://auntieannesfranchising.com/brand-vision/ -http://auntieannes.co.th/ -http://fortune.com/2013/07/08/auntie-annes-soft-pretzels-out-of-hard-times/ -https://en.wikipedia.org/wiki/Auntie_Anne%27s -http://time.com/3111038/auntie-annes-pretzels/  -https://www.referenceforbusiness.com/history2/92/Auntie-Anne-s-Inc.html -https://www.focusbrands.com