อัลเฟรด เดรย์ฟัส เหยื่ออธรรมของศาลทหาร ที่สร้างความแตกแยกในฝรั่งเศส
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ความพยายามของปรัสเซียราชอาณาจักรเยอรมันที่มุ่งหมายรวบรวมอาณาจักรของชาวเยอรมันเข้าด้วยกัน ทำให้ฝรั่งเศสหวั่นเกรงที่จะเสียดุลอำนาจ นำไปสู่การทำสงครามของทั้งสองประเทศระหว่างปี 1870 ถึง 1871 เมื่อฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ปรัสเซียห้ามสนับสนุน "เจ้า" เชื้อสายเยอรมันให้ขึ้นเป็นกษัตริย์สเปน แต่ทางปรัสเซียปฏิเสธ ฝรั่งเศสที่เชื่อว่าตนเหนือกว่าจึงประกาศสงคราม
แต่สุดท้ายกลายเป็นปรัสเซียที่ชนะสงครามหนนั้นไปอย่างรวดเร็ว และเหนือความคาดหมาย นำไปสู่การก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมัน ส่วนฝรั่งเศสที่มั่นใจจนเกินเหตุต้องบอบช้ำจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นอันมาก ทำให้จักรวรรดิที่ 2 ถึงคราวล่มสลาย นำไปสู่การกำเนิดสาธารณรัฐที่ 3
สองทศวรรษต่อมา ความอาฆาตต่อเยอรมนียังไม่ทันเลือนหาย ชาวฝรั่งเศสก็ได้รับข่าวว่า มีทหารในกองทัพทำตัวเป็นไส้ศึกเยอรมันขายความลับให้กับศัตรู สร้างความโกรธแค้นให้กับสังคมเป็นอย่างมาก ทำให้กองทัพฝรั่งเศสเร่งหาตัวคนร้าย ก่อนประกาศชื่อของ "ร้อยเอกอัลเฟรด เดรย์ฟัส" (Alfred Dreyfus) กล่าวหาว่านายทหารเชื้อสายยิวรายนี้คือหนอนบ่อนไส้
เดรย์ฟัสเกิดเมื่อ 9 ตุลาคม 1859 ที่มูว์ลูซ (Mulhouse) ภูมิภาคอาลซัส (Alsace) ในครอบครัวพ่อค้าสิ่งทอชาวยิวที่มั่งคั่ง เมื่อเกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสและปรัสเซียในปี 1870 อาลซัสบ้านเกิดของเขาถูกกองทัพเยอรมันบุกเข้ารุกรานและยึดครอง ทำให้เขาและครอบครัวต้องหนีภัยสงครามไปตั้งหลักที่คาร์ปองทาส์ (Carpentras) ประสบการณ์ในครั้งนั้นแม้ว่าเขาจะอายุได้ไม่ถึง 12 ปี แต่ก็ทำให้เขาอยากเป็นทหารรับใช้ชาติต่อต้านศัตรู
เมื่อได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางของทหาร เดรย์ฟัสก็สามารถทำผลงานได้ดี ผู้บังคับบัญชา และครูฝึกต่างชื่นชมและเชื่อว่าเขาน่าจะมีอนาคตไกลในฝ่ายเสนาธิการ อย่างไรก็ดี เดรย์ฟัสมีภาพที่แตกต่างกว่าเพื่อนทหารรายอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งเป็นชาวอัลเซเชียนที่พูดภาษาเยอรมันได้ดี มีฐานะที่ดีกว่า และยังเป็นชาวยิว ไม่ยากที่จะทำให้เขาถูกมองว่าเป็นคนนอก
นับแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1890s ได้เกิดกระแสต่อต้านชาวยิวมากขึ้นในฝรั่งเศส มีการรณรงค์ต่อต้านการให้ชาวยิวรับใช้ชาติในกองทัพนำไปสู่การปะทะและท้าดวลจนทำให้นายทหารชาวยิวเสียชีวิต เดรย์ฟัสเองก็ตกเป็นเป้าของความเกลียดชัง ในการสอบของวิทยาลัยสงครามเมื่อปี 1892 ใคร ๆ ก็เชื่อว่าเขาน่าจะทำได้ดี แต่ผลกลับตรงกันข้าม เมื่อนายพลรายหนึ่งที่เกลียดยิวเป็นพิเศษซึ่งอยู่ในคณะกรรมการตัดสินกดคะแนนเขาต่ำมากเช่นเดียวกับนายทหารยิวรายอื่น ๆ
และจากเหตุการณ์นั้นสองปี หน่วยข่าวกรองฝรั่งเศสก็ได้สืบทราบว่า มีไส้ศึกส่งข้อมูลเกี่ยวกับปืนใหญ่รุ่นใหม่ของฝรั่งเศสไปให้กับฝ่ายเยอรมัน และในการสอบสวนตีกรอบได้ว่าผู้ต้องสงสัยน่าจะต้องเป็นทหารที่ได้รับตำแหน่งสูงในกองเสนาธิการ ซึ่งหวยก็ไปตกกับนายทหารชาวยิวอย่างเดรย์ฟัส
เดรย์ฟัสถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏในวันที่ 15 ตุลาคม 1894 มีหลักฐานสำคัญเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ทางฝรั่งเศสลอบชิงมาได้จากสถานทูตเยอรมนี โดยเอกสารดังกล่าวเขียนด้วยลายมือเผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับปืนใหญ่รุ่นใหม่ของฝรั่งเศส ซึ่งกองทัพได้อ้าง "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่มิได้มีความเชี่ยวชาญจริงขึ้นเบิกความเพื่อยืนยันว่า เอกสารชิ้นนี้เขียนโดยเดรย์ฟัส
หลังพิจารณาคดีลับ (อ้างความมั่นคง) ได้ราวสองเดือน ศาลทหารก็มีคำพิพากษาให้เดรย์ฟัสมีความผิดตามฟ้อง เขาถูกปลดจากตำแหน่งและประจานต่อสาธารณะด้วยการหักกระบี่ปลดเครื่องประดับยศและกระดุมเครื่องแบบ พร้อมลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ก่อนถูกส่งตัวไปรับโทษยัง "เกาะปีศาจ" (Devils Island) นอกชายฝั่งของเฟรนช์เกียนา ในวันที่ 13 เมษายน 1895
แม้หลักฐานจะอ่อน และเดรย์ฟัสจะยืนยันในความบริสุทธิ์เพียงใด แต่คำพิพากษาที่ออกมาทำให้สังคมที่กำลังแค้นเคืองทั้งเยอรมันและยิวพึงพอใจ สื่อบางเจ้ายังหยิบเอาเดรย์ฟัสไปใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อให้เห็นถึงความไม่ภักดีต่อชาติของชาวยิว ตอกย้ำวาทกรรมที่กำลังแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น
แต่กรุงปารีสยังไม่สิ้นคนดี พันโทจอร์จ ปิคารต์ (Georges Picquart) พบว่าคดีนี้มีพิรุธน่าสงสัยจึงสืบต่อจนพบหลักฐานว่า พันตรีเฟอร์ดินองด์ วัลซอง-เอสเตฮาซี (Walsin-Esterhazy) คือสายลับเยอรมันตัวจริง และลายมือของพันตรีรายนี้ก็ตรงกับหลักฐานเอกสารที่ลอบยึดมาได้จากสถานทูตเยอรมนี
อย่างไรก็ดี นายทหารระดับสูงไม่เห็นชอบกับการกระทำของปิคารต์จึงบอกให้เขายุติการสืบสาวราวเรื่องและปกปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับเพื่อรักษา "ความศักดิ์สิทธิ์" ในคำพิพากษาที่ผิดเพี้ยน แต่ปิคารต์หาได้ฟังไม่ยังคงเดินหน้าเปิดโปงความจริงต่อไปแม้จะถูกขัดแข้งขัดขาตลอดเวลา
ถึงเวลานี้ฝ่ายที่เชื่อในความบริสุทธิ์ของเดรย์ฟัสเริ่มก่อตัวขึ้น เอสเตฮาซีจึงร่วมมือกับพันตรีอูเบอร์ อองรี (Hubert Henry) ผู้ค้นพบเอกสารต้นเรื่อง ร่วมกันสร้างหลักฐานเท็จและปกปิดหลักฐานจริง เมื่อถึงคราวที่เอสเตฮาซีขึ้นศาลทหารเพื่อพิสูจน์ความจริง ศาลจึงสั่งยกฟ้อง ส่วนปิคารต์นายทหารที่พยายามต่อสู้เพื่อความจริงเป็นฝ่ายที่ถูกจับกุม
เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้สถานการณ์สุกงอม กลุ่มที่ไม่เชื่อมั่นในการพิจารณาคดีของศาลทหารได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการรื้อคดีของเดรย์ฟัสขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เอมิล โซลา (Émile Zola) นักเขียนดังใช้พื้นที่สื่อโจมตีกองทัพว่าพยายามหมกเม็ดความผิดพลาดในการตัดสินโทษเดรย์ฟัสและการยกฟ้องเอสเตฮาซีซึ่งมาจากคำสั่งของกระทรวงสงคราม ทำให้เขาต้องข้อหาหมิ่นกองทัพถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี (แต่เขาหนีไปลี้ภัยที่อังกฤษเสียก่อน)
เมื่อทนกระแสสังคมต่อไปไม่ไหว เดรย์ฟัสจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับฝรั่งเศสเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาในปี 1899 ขอให้ศาลทหารพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง ซึ่งศาลฎีกาก็สั่งให้ตามคำร้อง แต่ในการพิจารณาใหม่ของศาลทหารเดรย์ฟัสก็ยังถูกพิจารณาว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาอยู่เช่นเดิม ประธานาธิบดีเอมิล ลูแบต์ (Émile Loubet) จึงตัดสินใจให้อภัยโทษเพื่อลดกระแสสังคม
การให้อภัยโทษนั้นโดยหลักการก็เท่ากับบุคคลนั้น "มีความผิด" แต่ได้รับการอภัย ซึ่งเดรย์ฟัสที่ได้รับการคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมจำต้องยอมรับไว้ก่อน แต่ขอสงวนสิทธิ์ที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนต่อไปในภายหน้า
กว่าที่เดรย์ฟัสได้รับความยุติธรรมจริง ๆ ต้องรอจนปี 1904 เมื่อเขาได้รับโอกาสให้พิสูจน์ความจริงอีกครั้งในศาลพลเรือน และในปี 1906 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งกลับคำพากษาทั้งหมดที่ผ่านมา ทำให้เดรย์ฟัสพ้นจากความผิดทั้งปวง รัฐสภายังออกกฎหมายมีผลให้เดรย์ฟัสได้กลับมารับตำแหน่งในกองทัพอีกครั้งพร้อมกับรับเหรียญเกียรติคุณ ซึ่งเขาอยู่ในหน้าที่ต่ออีกไม่นานก็ขอออกจากการปฏิบัติภารกิจไปเป็นกองหนุน และได้กลับเข้ากองทัพอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
คดีของเดรย์ฟัสทำให้สังคมฝรั่งเศสแตกเป็นสองขั้วเมื่อกองทัพและฝ่ายนิยมทหารเห็นว่า ผู้สนับสนุนเดรย์ฟัสถูกไส้ศึกปั่นหัวเพื่อบ่อนทำลายกองทัพ และทำให้ประเทศชาติอ่อนแอ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่ากองทัพกำลังละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยจับความมั่นคงของชาติเป็นตัวประกัน และพยายามเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอยู่ภายใต้การควบคุมของภาคประชาชน
ส่วนเดรย์ฟัสแม้จะเป็นตกเป็นผู้ถูกกระทำโดยตรงเขาก็ยังเชื่อมั่นในระบอบสาธารณรัฐเสมอ เขาเฝ้ารออย่างอดทนว่าระบอบที่เขาศรัทธาจะนำความยุติธรรมมาให้กับเขา นับว่าโชคดีที่เขายังมีชีวิตอยู่จนได้เห็นวันนั้น เสียแต่ว่าตลอดเวลาที่เขามีชีวิตอยู่กองทัพไม่เคยประกาศยอมรับความบริสุทธิ์ของเขาเลยจนกระทั่งปี 1995 หรือร้อยปีนับแต่วันที่เขาถูกจำคุก (ซึ่งเขาได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 1935)
ที่มา:
https://www.britannica.com/event/Dreyfus-affair
https://www.britannica.com/biography/Alfred-Dreyfus
https://www.nytimes.com/2006/07/07/world/europe/07dreyfus.html
https://www.nytimes.com/2007/10/17/arts/design/17drey.html