บางกอกแลนด์ เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม อิมแพ็ค ฟาร์ม ส่งตรงผัก ผลไม้ออแกนิกถึงบ้าน ร่วมส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี
บมจ.บางกอกแลนด์ เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม “อิมแพ็ค ฟาร์ม” ส่งตรงผัก ผลไม้ออแกนิกจากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ถึงบ้าน เพื่อร่วมส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีด้วยวิธีที่ง่ายดายเพียงสั่งล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ https://impactyummy.foodie-delivery.com/#/home หรือทาง LINE: @impactmuangthong นอกจากนี้ ยังได้นำผลผลิตมาต่อยอดในการมอบสุขภาพที่ดีสำหรับลูกค้าร้านอาหารในเครืออิมแพ็ค และอิมแพ็ค แคเทอริ่ง ด้วยการนำวัตถุดิบจากฟาร์มมารังสรรค์เมนูผักและผลไม้เพิ่มความอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น
พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ Bland ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี กล่าวว่า จุดเริ่มต้น อิมแพ็ค ฟาร์ม เกิดจากความต้องการส่วนตัวที่อยากให้ครอบครัวได้รับประทานผลผลิตที่สะอาดและปลอดภัย หลังจากนั้นได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโรงแรม ซึ่งได้สะท้อนถึงปัญหาสารเคมีที่ตกค้างในผัก ผลไม้จากการใช้สารเคมีทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว จึงได้เริ่มศึกษา หาความรู้ เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (Organic) จนได้พบกับ คุณครูประทุม สุริยา เกษตรกรผู้มุ่งมั่นทำเกษตรอินทรีย์ แห่งศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฏีใหม่สวนครูประทุม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้เล่าถึงแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่ใช้สารเคมี ทำให้ผลผลิตที่ได้จึงปลอดสารพิษ แต่แนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ อาจจะไม่ได้ผลผลิตเต็มที่ เหมือนกับการทำเกษตรทั่วไปที่ใช้สารเคมี
จากนั้นจึงมีแนวคิดการทำงาน เพื่อช่วยสนับสนุนและสร้างรายได้ให้เกษตรกร พร้อมกับการส่งมอบอาหารสะอาดและปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค จึงเกิดเป็นโครงการเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ “อิมแพ็ค ฟาร์ม” โดยบริษัทจะทำหน้าที่เข้ารับซื้อผลผลิต ผัก ผลไม้จากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯนี้กว่า 69 ราย เพื่อนำมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ https://impactyummy.foodie-delivery.com/#/home , LINE: @impactmuangthong หรือ โทร 065-496-6949 สั่งจองล่วงหน้าได้แล้ว
สำหรับผลผลิตที่นำมาจำหน่ายภายใต้โครงการ อิมแพ็ค ฟาร์ม มีหลากหลาย เช่น ผักสลัด บ็อกฉ่อย จิงจูฉ่าย คะน้าใบหยิกสีม่วง มะเขือม่วงจาน ไข่ผำ อะโวคาโด ฝรั่ง ส้มโอ เป็นต้น ซึ่งผัก ผลไม้ที่นำมาจำหน่ายนี้จะผลัดเปลี่ยนไปกันตามฤดูกาล
ขณะเดียวกันบริษัทยังได้นำผลผลิต ผัก ผลไม้ที่ได้จากการรับซื้อจากเกษตรกร เข้าไปใช้เป็นวัตถุดิบในรังสรรค์เมนูต่างๆในร้านอาหารและเคเทอริ่งเครืออิมแพ็ค อาทิ ร้านอาหารจีนสไตล์ฮ่องกงที่ “ฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน” และฮ่องกงสุกี้ ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่น “สึโบฮาจิ” และ“อุวะจิมะ” ร้านอาหารสไตล์ฟิวชั่นที่ “บรีซ คาเฟ่ แอนด์ บาร์” หรือจะเป็นร้านอาหารไทยพื้นบ้านที่ “ทองหล่อ” เป็นต้น
พอลล์ ย้ำว่า ในฐานะผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานีที่ต้องต้อนรับแขกปีละกว่า 10 ล้านคน ทั้งผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมงาน จึงทำให้อิมแพ็ค มีบทบาทในการให้บริการด้านอาหารแก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเรามีความตั้งใจจะให้แขกที่เปรียบเสมือนเพื่อนของเรา ได้รับประทานอาหารที่ดีจากบ้านของเรา ด้วยเมนูอาหารที่อร่อยและปลอดภัยจากผลผลิตอินทรีย์ที่เราได้คัดสรรมาเป็นอย่างดี“แม้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่พื้นฐานของทุกคนชีวิต คือ อาหาร ประกอบกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลับมาคิดว่า เรื่องอาหารการกิน ยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้น หากมีอาหารที่ดี แม้อนาคตอาจจะต้องเผชิญกับสงครามโลก หรือ วิกฤตต่างๆ เราก็จะอยู่รอดได้ ดังนั้นบริษัทจึงหันมาให้ความสำคัญ และใส่ใจเรื่องของอาหารมากขึ้น และแม้ บริษัทจะไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการผลิตพืชผักออแกนิก แต่เราตั้งใจเฟ้นหาแหล่งวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคได้อิ่มท้อง ปลอดภัย และสุขใจ กับ อิมแพ็ค ฟาร์ม”
คุณครูประทุม สุริยา เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2552 แห่งศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฏีใหม่ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การร่วมมือ บางกอกแลนด์แลนด์ ครั้งนี้ เพราะต้องการหาคนมาสานต่อความตั้งใจในการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งต่ออาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการส่งผลผลิตที่เพาะปลูกในพื้นที่ ทั้งลำไย กล้วย ฝรั่ง มะนาว ฟักข้าว ผักสลัดต่างๆ เข้าไปขายทั้งช่องทางออนไลน์ เมนูอาหารของร้านอาหารเครือข่ายอิมแพ็ค ส่วนเกษตรกรก็จะมีรายได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ คุณครูประทุม ยังเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำอาชีพเกษตรกรว่า เกิดขึ้นเมื่อปี2538 ในช่วงเรียนปริญญาโทและได้ทำวิจัยเรื่อง ถั่วเน่าหมัก ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการกลับมาคิดทบทวนเกี่ยวกับอนาคตของเกษตรกรไทย พร้อมๆกับการตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศที่เจริญแล้ว จึงมองว่า เกษตรกร คือ ผู้เสียสละเป็นผู้สร้างอาหารที่สำคัญให้แก่ประชากรทั้งโลก ส่วนอาชีพเกษตรกรในประเทศไทยกลับมองว่า เป็นอาชีพที่ยากจน
“หลังจากนั้นปี2539 ซึ่งได้เริ่มรับราชการครู ก็เริ่มคิดทำอาชีพเกษตรกร จึงได้กู้เงินก้อนแรก 2 แสนบาทจากธนาคารเพื่อการเกษตร(ธกส.) มาพัฒนาที่ดิน 9 ไร่ 1 งาน สิ่งแรกที่ทำตอนนั้น คือ สร้างแหล่งน้ำ และเหลือพื้นที่เพาะปลูก 7 ไร่ แต่ช่วงแรกก็ยังไม่ตัดสินใจทำเกษตรอินทรีย์ทันที จึงทดลองทำเกษตรเคมีก่อน ผลที่ได้ คือ ขาดทุน แต่เกษตรกรไม่เคยรู้ เพราะไม่เคยทำบัญชี หลังจากนั้นจึงเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมปรับรูปแบบการผลิตใหม่ ทั้งวิเคราะห์ ปรับสภาพดิน โดยใช้เวลาอยู่ 2 ปี ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงตัดสินใจลาออกจากราชการมาทำเกษตรอินทรีย์เต็มตัว พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่”