read
thought
22 พ.ค. 2565 | 09:00 น.
FireHeart (2022): โลกที่ถูกฉีกทึ้งของเด็กสาวผู้ฝันอยากเดินตามรอยเท้าพ่อ ในวันที่ ‘ความเป็นชาย’ กำหนดทุกอย่าง
Play
Loading...
“ป่านนี้ลูกคงได้ทำตามความฝันแล้วถ้าลูกเป็นผู้ชาย”
ประโยคสั้น ๆ ที่ ‘ชอว์น โนแลน’ ผู้เป็นพ่อเอ่ยกับ ‘จอร์เจีย โนแลน’ ลูกสาวเพียงคนเดียวของเขา ถึงกับต้องก้มหน้าซ่อนความผิดหวังเอาไว้ เพราะในความเป็นจริงทั้งชีวิตและอาชีพที่เธอใฝ่ฝัน ไม่อาจเป็นจริงได้เลย เพราะเธอดันเกิดมาเป็นผู้หญิงในโลกที่ความเป็นชายคือทุกอย่าง
/***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง FireHeart (2022)***/
ภาพยนตร์แอนิเมชันล่าสุดของค่าย 'ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล' เปิดตัวอย่างสดใส ฉายภาพย่านบรุกลิน, นิวยอร์ก ในปี 1920 โดยมี ‘จอร์เจีย โนแลน’ วัย 6 ขวบ กับ ‘เอ็มเบอร์ โนแลน’ สุนัขคู่ใจ กำลังเล่นสวมบทบาทสมมติเป็นนักดับเพลิงจิ๋ว ทำหน้าที่พิทักษ์ประชาชนในเมืองอย่างขยันขันแข็ง
เธอเล่นอย่างเอาจริงเอาจัง จริงจังชนิดที่ว่า หากพ่อ-แม่หรือผู้ปกครองในยุคนี้ผ่านมาเห็นคงต้องดีใจน้ำตาไหล เพราะลูกสาวของพวกเขามีความฝันอันแน่วแน่ว่าโตขึ้นเธอต้องเป็นนักดับเพลิงเท่านั้น! แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นยุคที่ความเท่าเทียมทางเพศถูกเพิกเฉย ไม่มีคำว่า ‘เท่าเทียม’ มีแต่ความเป็นชายที่อยู่เหนือทุกเพศสภาพ
ก่อนที่ความฝันของลูกสาวตัวน้อยจะไปไกลจนกู่ไม่กลับ ชอว์นจึงต้องกลั้นใจบอกความจริงกับลูกสาวไปว่า เธอไม่มีทางเป็นนักดับเพลิงเหมือนเขาในอดีตได้ แต่เธอสามารถเป็นช่างตัดเสื้อประจำร้านของครอบครัวได้อยู่เสมอ
“จอร์เจีย รู้ไหมในภาษาอังกฤษทำไมนักดับเพลิงถึงใช้คำว่า ‘แมน’ แทน ‘วูแมน’
“เพื่อประหยัดเวลาเหรอคะ?
“ไม่ใช่จ้ะลูกรัก เพราะผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นนักดับเพลิงไงล่ะ”
หลังสิ้นบทสนทนาชวน
หด
หู่ใจ เธอนิ่งเงียบไปชั่วขณะ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมการเกิดเป็นผู้หญิง จึงไม่สามารถทำตามความฝันได้ มีเพียงหยาดน้ำตาที่พรั่งพรูออกมาอาบเต็มหน้าแก้ม ทำหน้าที่ระบายความคับแค้นใจ แม้จะเสียใจเพียงใด แต่เธอและเอ็มเบอร์ยังคงฝึกฝนร่างกายอยู่ทุกค่ำคืน เพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง สมกับความเป็นชายที่พ่อบอกว่ากฎที่ถูกกำหนดขึ้นมานั้นมีไว้เพื่อปกป้องผู้หญิง เพศที่มีร่างกายอ่อนแอกว่าไม่ให้ต้องทำงานหนักเกินกว่าร่างกายของพวกเธอจะรับไหว
จากเด็กน้อยจอร์เจียที่ชอบสวมชุดเอี๊ยมสีเหลือง-แดงในวันนั้น สู่วัยรุ่นสาววัย 16 ปี ผู้ก้มหน้าก้มตาเย็บผ้าอย่างขะมักเขม้นอยู่ในร้านตัดเสื้อของครอบครัว เธอสวมชุดกระโปรงตามขนบที่ผู้หญิงควรจะเป็น แต่ก็ยังไม่ทิ้งลวดลายความแก่นซ่าในวัยเด็กด้วยทรงผมซอยสั้น
ดูเหมือนว่าเธอจะทำตามคำแนะนำของพ่อเป็นอย่างดี จอร์เจียเลิกพร่ำเพ้อถึงความฝันในการเป็นนักดับเพลิง และหันมาเอาดีด้านการเย็บเสื้อผ้าตามที่ผู้เป็นพ่อบอก แน่นอนว่าชอว์นโล่งใจไม่น้อยที่ลูกสาวเลิกทำตามความฝันในวัยเด็ก แต่นี่เป็นเพียงมุมมองของเขาเพียงคนเดียว เพราะลูกสาวหัวรั้นยังคงมีไฟลุกโชนอยู่ในหัวใจ
ประกายไฟในจิตวิญญาณของเธอไม่เคยมอดดับ เธอยังคงมีหวัง หวังที่จะเป็นนักดับเพลิงเหมือนอย่างผู้เป็นพ่อ และแล้วความฝันของเธอก็เข้าใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อ ‘จิมมี่ เมอร์เรย์’ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก เดินทางมาหาชอว์นเพื่อขอความช่วยเหลือจากเขาโดยเฉพาะ หลังเกิดเหตุ ‘เปลวไฟสีม่วง-แดง’ ลุกไหม้โรงละครบรอดเวย์กว่า 40 แห่งทั่วเมืองนิวยอร์ก และนักผจญเพลิงอีกหลายร้อยหลายพันนายก็หายตัวไปอย่างลึกลับ พร้อมกับมือวางเพลิงที่สาบสูญ
ชอว์นยอมจำนนอย่างไม่เต็มใจนัก เพราะหากไม่สามารถจับคนลอบวางเพลิงได้ อนาคตของจอร์เจีย ลูกสาวคนเดียวของเขาคงไม่ปลอดภัย และเนื่องจากนักดับเพลิงทั้งเมืองหายตัวไป ชอว์นจึงต้องจัดทีมนักผจญเพลิงทีมใหม่ขึ้นมา โดยมีสมาชิกร่วมทีมเพิ่มเข้ามา 3 คน คือ ‘ริคาร์โด’ นักเคมีผู้ไม่มีความมั่นใจ แต่สามารถคำนวณทุกความเป็นไปได้ได้อย่างแม่นยำ ‘จิน’ คนขับแท็กซี่เท้าไฟ ผู้มักวูบหลับหลังพวงมาลัยอยู่เสมอ และ ‘โจ’ (จอร์เจีย) ชายหนุ่มผู้อ้างว่ามีประสบการณ์การดับเพลิงมาอย่างโชกโชน
แม้การปลอมตัวเป็นชายดูเหมือนเป็นพล็อตที่ซ้ำซาก แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับทำให้เราเห็นการยกระดับการปลอมตัวขึ้นอีกขั้น เพราะเธอเล่นเปลี่ยนสรีระร่างกายจากวัยรุ่นสาวรูปร่างเพรียวบาง เป็นชายหนุ่มรูปร่างบึกบึน เรียกได้ว่าเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกจนไม่เหลือเค้าเดิม โดยเริ่มจากการติดหนวดสีดำเงาวับ ที่ทำมาจาก ‘ขนก้น’ ของเอ็มเบอร์ เสริมไหล่และอกด้วยมะม่วงหลายสิบลูก พร้อมปาดเจลจัดแต่งทรงผมให้หล่อเนี้ยบ เพียงเท่านี้ชอว์นก็ไม่เอะใจว่า ‘โจ’ คือลูกสาวของเขา
“ผมแข็งแรง ผมเป็นผู้ชาย” คือถ้อยคำที่โจแนะนำตัวกับกัปตันชอว์น โนแลน จนทำให้เขาใจอ่อน และยอมให้จอร์เจียในร่างเด็กหนุ่มเข้าร่วมทีม ความวายป่วงของทีมดับเพลิงมือสมัครเล่น ทำเอาเมืองนิวยอร์กจากวุ่นวายอยู่แล้ว วุ่นวายเข้าไปอีก แต่ก็ทำให้เราเห็นคำว่าทีมเวิร์ก ที่ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ไหน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือหัวใจสำคัญในการประสบความสำเร็จ
ภาพยนตร์แอนิเมชันดำเนินเรื่องไป 1 ชั่วโมง ขณะที่อีก 32 นาทีเรื่องราวทั้งหมดจะจบลง แต่เรายังไม่ได้รับการเฉลยว่า ‘มือวางเพลิง’ คือใครกันแน่ มีเพียงเบาะแสเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หนังบอกใบ้ให้เราออกมาเป็นระยะ โดยมีตัวละครที่น่าสงสัยคือ ‘ลอร่า ดีไวน์’ ดาวที่ส่องสว่างที่สุดในบรอดเวย์ และ ‘พอลลีน’ ผู้ช่วยส่วนตัวของเธอ ที่ทำงานอยู่ในโรงละครบรอดเวย์มา 20 ปี แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะก้าวหน้าในอาชีพ เธอมาในลุคที่เหนียมอาย ผมสั้น-หน้าม้าเต่อ แต่งตัวเรียบ ๆ ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่าเธอคือคนร้ายแน่ ๆ
หากจะบอกว่าซูเปอร์สตาร์สาวคือคนร้าย คงเป็นเรื่องแปลกพิลึก เพราะเธอจะไปมีเหตุจูงใจอะไรที่ต้องเผาโรงละคร ในเมื่อโรงละครคือสถานที่ทำมาหากิน และหากจะบอกว่าพอลลีนคือคนร้ายเบอร์หนึ่งในใจ ก็คงจะเป็นไปได้ยากอีก เพราะระหว่างที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงละคร พอลลีนเกิดพลัดตกลงไปในหลุมลึกที่เกิดจากพื้นอาคารถล่ม ขณะที่จอร์เจียพยายามช่วยชีวิตเธออย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่อาจช่วยเธอไว้ได้ทัน ซึ่งหนังได้เฉลยภายหลังว่าทั้งหมดคือการแสดง พอลลีนยังมีชีวิตอยู่ และที่ทำลงไปเพียงเพราะต้องการเรียกร้องให้ทุกคนเห็นความสำคัญของผู้หญิงที่ถูกกรอบของเพศสภาพกดทับไว้ ไม่ให้เธอก้าวหน้าในอาชีพมากไปกว่านี้
เมื่อพอลลีนจากไป (แบบปลอม ๆ) ความเศร้าก็เกาะกุมจิตใจจอร์เจีย เรื่องราวที่เธอเจอเหมือนถูกฉายซ้ำ เพราะชอว์นเองก็เคยพลาด ไม่สามารถช่วยชีวิตครอบครัวหนึ่งไว้ได้ ซึ่งหนังได้เฉลยภายหลังว่าครอบครัวนั้นคือพ่อและแม่แท้ ๆ ของจอร์เจีย จนทำให้เขาตัดสินใจลาออก และผันตัวมาเป็นช่างตัดเสื้อในที่สุด
นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาไม่อยากให้จอร์เจียออกไปผจญเพลิง เพราะไม่อยากให้เธอได้รับอันตราย หรือต้องเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจเหมือนอย่างที่เขาเคยเจอ
สำหรับผู้เขียน ภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘สาวน้อยผจญไฟ หัวใจไม่หยุดฝัน’ เรื่องนี้มีจุดน่าประทับใจอยู่หลายแห่ง อย่างแรก มีการชูประเด็นความเท่าเทียมทางเพศออกมาอย่างโจ่งแจ้ง เพราะเพียงแค่ 10 นาทีแรกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉากขึ้นมา ก็มีการพูดถึงความเป็นชายและความเป็นหญิงอย่างชัดเจน
ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็พยายามอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจว่าช่วงเวลาดังกล่าว ‘กฎ’ ต้องเป็นกฎ และเพศหญิงก็ไม่สามารถแหกกฎที่ถูกกำหนดขึ้นด้วยเพศชายได้ แม้ว่าหัวใจของเธอปรารถนาจะทำในสิ่งที่เพศชายทำมากเพียงใดก็ตาม
จุดต่อมาที่ผู้เขียนชอบคือ มิตรภาพระหว่างเอ็มเบอร์และจอร์เจีย เพราะไม่ว่าเจ้านายของเธอ (เอ็มเบอร์เป็นผู้หญิง) ก็พร้อมจะสนับสนุนทุกความต้องการของนายน้อยอยู่เสมอ ต่างจากผู้เป็นพ่อที่ดับไฟในใจเธอตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งผู้เขียนก็เข้าใจได้ว่าพ่อไม่อยากให้ลูกสาวมีความหวัง เพราะยิ่งปล่อยไว้นานวันเข้า ก็จะยิ่งเจ็บปวด
เอ็มเบอร์ช่วยจอร์เจียทุกอย่างตั้งแต่เธอยังเด็ก คอยอยู่เคียงข้างทุกช่วงจังหวะของชีวิต ไม่ว่าเธอจะสุข เศร้า หรือไปทำภารกิจเสี่ยงตาย เอ็มเบอร์ก็คอยให้กำลังใจ และเล่นหน้าเล่นตาอยู่ข้าง ๆ เป็นน้องหมาที่มีสีหน้าหลากหลายมาก จนแทบจะไม่ใช่หมาแล้ว
หากสงสัยว่านักดับเพลิงหญิงคนแรกเกิดขึ้นในปีไหน ในช่วงท้ายของหนังได้มีการบอกเอาไว้เช่นกัน ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้เราประทับใจ แม้จะใช้เวลานานถึง 5 ทศวรรษ กว่านักดับเพลิงหญิงคนแรกของมหานครนิวยอร์กจะเกิดขึ้นก็ตาม
หากไฟในใจของใครกำลังจะมอดดับ เราเชื่อว่า ‘FireHeart’ คงช่วยจุดประกายไฟในใจให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมในสังคมได้ไม่มากก็น้อย เพราะไม่ว่าจะเกิดเป็นหญิง ชาย หรือ LGBTQ+ มนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิ ‘เลือก’ ที่จะใช้ชีวิตตามแบบที่ตัวเองต้องการ ไม่ควรมีกรอบเรื่องเพศมาคอยกำหนดความเป็นมนุษย์
ภาพ: IMDB
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FIREHEART
สาวน้อยผจญไฟ หัวใจไม่หยุดฝัน
ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล