แอนโธนี อัลบานีส: จากลูกกำพร้าต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐ สู่นายกฯ คนที่ 31 ของออสเตรเลีย

แอนโธนี อัลบานีส: จากลูกกำพร้าต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐ สู่นายกฯ คนที่ 31 ของออสเตรเลีย
เมืองหรือสังคมที่ดี นอกจากจะต้องมีความมั่นคงปลอดภัย ยังต้องทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับโอกาสที่เท่าเทียม ไม่ว่าผู้นั้นจะมีพื้นฐานครอบครัว หรือมาจากภูมิหลังแตกต่างกันอย่างไร เหมือนในออสเตรเลีย ซึ่งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ วัย 59 ปี ที่มาจากเด็กกำพร้าฐานะยากจน “มันบอกอะไรมากมายเกี่ยวกับประเทศอันยิ่งใหญ่ของเราเมื่อลูกชายของแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งซึ่งมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินสวัสดิการคนพิการ และโตมาในบ้านเคหะชุมชน... สามารถมายืนอยู่ตรงหน้าพวกคุณคืนนี้ได้ในฐานะนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย” ชายผิวขาวสวมแว่นตากรอบสีดำโทนเดียวกับชุดสูทที่สวมทับเสื้อเชิ้ตสีขาว ผูกเนคไทสีเทา ดูภูมิฐานแต่เรียบง่าย ขึ้นโพเดียมกล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งใหญ่ของออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและท่าทางผ่อนคลาย เขาผู้นี้คือหัวหน้าพรรคเลเบอร์ และนายกฯ ออสเตรเลียคนที่ 31 มีชื่อว่า แอนโธนี อัลบานีส (Anthony Albanese) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘อัลโบ’ (Albo) อัลโบ นอกจากจะมีภูมิหลังมาจากชนชั้นรากหญ้า เขายังมักบอกกับใครต่อใครว่าตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองออสเตรเลียอันยาวนาน 121 ปี ที่ไม่ใช่คนนามสกุลแบบชาวแองโกล - เซลติก ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองจากดินแดนอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างสหราชอาณาจักร (อังกฤษ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และเวลส์) นอกจากนี้ อัลโบยังเป็นนักการเมืองที่ใช้เวลาไต่เต้าจากวันแรกที่ชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในสภาจนมาเป็นนายกรัฐมนตรี ยาวนานมากที่สุดคนหนึ่ง ใช้เวลาทั้งหมด 25 ปี และนี่คือเรื่องราวความเป็นมาของผู้นำออสเตรเลียที่ได้ชื่อว่า ชีวิตดราม่าไม่แพ้หนังหรือละคร

ถูกแม่หลอกว่าพ่อตายเพราะไม่อยากให้มีปม

แอนโธนี อัลบานีส เป็นลูกชายคนเดียวของ แมรีแอนน์ เอลเลอรี (Maryanne Ellery) หญิงชาวออสเตรเลียเชื้อสายไอริช เขาเกิดวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1963 ในย่านแคมเปอร์ดาวน์ (Camperdown) ซึ่งเป็นชุมชนผู้ใช้แรงงานในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แม่ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเขามาเพียงลำพังเล่าให้ฟังว่า พ่อของเขาเสียชีวิตไปแล้วหลังจากแต่งงานกันไม่นาน เพราะประสบอุบัติเหตุทางถนน ทำให้หนูน้อยอัลโบเข้าใจว่าตนเองเป็นลูกกำพร้าพ่อมาตั้งแต่เริ่มจำความได้ อย่างไรก็ตาม พอเติบโตถึงวัย 14 ปี แม่ของเขาเปิดเผยความจริงให้ทราบว่า ความจริงแล้วพ่อของเขายังมีชีวิตอยู่ ชื่อว่า คาร์โล อัลบานีส (Carlo Albanese) เป็นชาวอิตาลี ทั้งคู่พบรักกันตอนแมรีแอนน์เดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรป สาเหตุที่เธอปิดบังความจริงเพราะไม่อยากให้ลูกชายกลายเป็นเด็กมีปมด้อย เนื่องจากเป็นลูกนอกสมรส ทั้งคู่ไม่ได้แต่งงานกัน และบิดาก็มีครอบครัวแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นตราบาปในครอบครัวชนชั้นแรงงานที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในสังคมอนุรักษนิยมของออสเตรเลียยุคทศวรรษ 1960s หลังทราบความจริง อัลโบไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองมารดาและไม่ได้ตามหาพ่อทันที เพราะเกรงว่าจะเป็นการทำร้ายจิตใจแม่ เขารอจนกระทั่งแม่เสียชีวิตในปี 2002 จึงเริ่มตามหาพ่อ และได้พบหน้ากันครั้งแรกในปี 2009 ตอนอัลโบอายุปาเข้าไป 46 ปี หลังจากได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน และต้องเดินทางไปประชุมงานที่ยุโรป พ่อลูกจึงมีโอกาสพบกันครั้งแรกที่เมืองบาร์เลตตา บ้านเกิดของบิดาทางภาคใต้ของอิตาลี

ชีวิตปากกัดตีนถีบอยู่ได้ด้วยรัฐสวัสดิการ

อัลโบในวัยเด็กมีชีวิตที่ค่อนข้างกระเสือกกระสน เขาและมารดาอาศัยอยู่ในบ้านของการเคหะชุมชน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยจากสวัสดิการของรัฐบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อย แม่ของเขาป่วยด้วยโรคข้ออักเสบรุนแรง (severe arthritis) ทำให้มือทั้งสองข้างใช้การไม่ได้มาตั้งแต่วัย 30 ต้น ๆ และต้องพึ่งเบี้ยคนพิการเพื่อใช้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ปัญหาสุขภาพของมารดา ทำให้อัลโบในช่วงวัยรุ่นต้องช่วยเหลือทั้งงานบ้านและต้องออกไปหารายได้มาจุนเจือครอบครัว สิ่งนี้ทำให้เขากลายเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบและภาระหน้าที่เกินวัย นอกจากนี้ยังทำให้รับรู้ถึงความสำคัญของรัฐสวัสดิการ และชีวิตอันยากลำบากของชนชั้นแรงงาน ผู้คนที่รู้จักอัลโบ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มุมมองความคิดของนายกฯ ออสเตรเลียผู้นี้ เป็นการผสมผสานกันของแนวคิดปฏิบัตินิยม (pragmatism) กับความกังวลเกี่ยวกับความยุติธรรมในสังคม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เขาได้รับมาในวัยเด็ก “ในช่วงที่เติบโตมา ผมเข้าใจดีว่ารัฐบาลมี และสามารถมีผลกระทบสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตคนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการให้โอกาส” สมัยเป็นนักเรียนอายุเพียง 12 ปี เขาเคยร่วมเป็นแกนนำประท้วงต่อต้านแผนของรัฐบาลที่ต้องการรื้อถอนหมู่บ้านเคหะชุมชนที่มารดาพักอาศัยเพื่อนำไปขายให้กับนักลงทุนเอกชน และพอเข้ามหาวิทยาลัยก็ร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบัน รวมถึงสมัครเป็นสมาชิกพรรคเลเบอร์ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา อัลโบจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขาเป็นทายาทคนแรกของตระกูลที่ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

เส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอันแสนยาวนาน

อัลโบได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ‘ยัง เลเบอร์’ (Young Labor) ซึ่งเป็นปีกยุวชนของพรรคเลเบอร์ ตั้งแต่อายุ 22 ปี เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยให้กับรัฐบาลของนายกฯ บ็อบ ฮอว์ค (Bob Hawke) ซึ่งมีนโยบายเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ และเป็นนายกฯ ที่มาจากพรรคเลเบอร์ ซึ่งครองอำนาจยาวนานที่สุด หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งในการเมืองระดับมลรัฐและรัฐบาลกลางอยู่นานหลายปี อัลโบตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. โซนพื้นที่ชั้นในของนครซิดนีย์ และชนะการเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาครั้งแรกในปี 1996 ซึ่งตรงกับวันเกิดอายุครบ 33 ปีของเขาพอดี เขามีชื่อเสียงในฐานะตัวแทนของนักการเมืองฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าภายในพรรค มีจุดยืนชัดเจนเรื่องการปกป้องระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และสิทธิในการเลือกมีชีวิตอยู่หรือตายด้วยการทำการุณยฆาต อัลโบค่อย ๆ ไต่เต้าสู่ตำแหน่งแกนนำพรรค เริ่มจากการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานในรัฐบาลนายกฯ เควิน รัดด์ (Kevin Rudd) มื่อปี 2007 ก่อนขยับขึ้นสู่ตำแหน่งรองนายกฯ ภายใต้ผู้นำคนเดียวกันในปี 2013 แต่ก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 2 เดือน พรรคเลเบอร์แพ้การเลือกตั้ง ทำให้ต้องก้าวลงจากอำนาจ ปี 2019 อัลโบก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเลเบอร์ ซึ่งมีแนวคิดกลาง - ซ้ายเอียงฝ่ายสังคมนิยม หลังจาก บิลล์ ชอร์เทน (Bill Shorten) หัวหน้าพรรคคนก่อนหน้าพาพรรคเลเบอร์แพ้การเลือกตั้ง 2 สมัยติดต่อกัน จากนั้น 3 ปีต่อมา (2022) อัลโบสามารถพาพรรคเลเบอร์ผงาด ชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคลิเบอรัล ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลหัวอนุรักษนิยมได้เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี เขาได้ขึ้นเป็นนายกฯ ออสเตรเลียคนที่ 31 ต่อจากสกอตต์ มอร์ริสัน (Scott Morrison)  ของพรรคลิเบอรัล และเป็นนักการเมืองที่ใช้เวลาไต่เต้าจากการได้รับเลือกเข้ารัฐสภาครั้งแรกสู่ตำแหน่งนายกฯ ยาวนานที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยใช้เวลา 25 ปี นานกว่านายกฯ คนอื่นทั้งเควิน รัดด์, จูเลีย กิลลาร์ด, มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ และมอร์ริสัน ซึ่งใช้เวลากันเฉลี่ยแค่ประมาณ 10 ปี  สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งมาจากการวางเป้าหมายในชีวิต นักการเมืองส่วนใหญ่ล้วนตั้งเป้าจะไปให้ถึงเก้าอี้นายกฯ ตั้งแต่ก่อนลงสนาม หรือเริ่มลงเล่นการเมืองใหม่ ๆ แต่อัลโบบอกว่า เขาเพิ่งมาเปลี่ยนความคิดอยากเป็นผู้นำในปี 2013 หลังเควิน รัดด์ แพ้การเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านั้น เขาอยากมีบทบาทเป็นแค่ที่ปรึกษา หรือ ‘ป๋าดัน’ (kingmaker) ผู้ช่วยให้นักการเมืองคนอื่นขึ้นเป็นนายกฯ เท่านั้น

เดินสายกลางสร้างความสามัคคี

อัลโบมีจุดเด่นเรื่องความสามารถในการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เขาพยายามผ่อนคลายจุดยืนจากที่เคยเอียงซ้ายหันมาชูนโยบายสายกลางมากขึ้นเมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำพรรค พร้อมกับวาทะเด็ดในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ประกาศว่า ‘I am not woke’ (ผมไม่ใช่พวกตาสว่าง) คำว่า ‘woke’ หรือ ‘ตาสว่าง’ ในที่นี่หมายถึงการเป็นคนหัวก้าวหน้า สังเกตได้จากท่าทีของเขาซึ่งเคยสนับสนุนการเปิดประเทศรับผู้อพยพทางเรือให้ได้สถานะผู้ลี้ภัย ก่อนหันมาคัดค้านการรับผู้ลี้ภัยในรูปแบบดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับจุดยืนของสมาชิกสายกลางภายในพรรค และลดความร้อนแรงด้านนโยบายต่อสู้โลกร้อน ซึ่งเคยทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความเป็นไปได้ และทำให้พ่ายศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2019 “ผมต้องการสร้างประเทศที่มีความสามัคคี ผมคิดว่าผู้คนมีความแตกแยกกันพอแล้ว “ผมต้องการมองหาเป้าหมายร่วมกัน ส่งเสริมความสามัคคีและการมองโลกในแง่ดี ไม่ใช่ความหวาดกลัว และความแตกแยก” นายกฯ คนใหม่กล่าวในสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะพร้อมย้ำว่า เขาจะดำเนินนโยบายที่ ‘เน้นการฟื้นฟู ไม่ใช่การปฏิวัติ’ (renewal, not revolution) อย่างไรก็ตาม นโยบายของอัลโบ จะยังคงยึดอยู่บนรากความเชื่อของพรรคเลเบอร์ ซึ่งเน้นทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ให้สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองได้มีปากมีเสียงมากขึ้น ช่วยลดปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงจากวิกฤตโควิด - 19 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน และเป็นหนึ่งในประเด็นที่ชาวออสเตรเลียให้ความสำคัญมากที่สุด ส่วนนโยบายต่างประเทศ เขายังคงให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร โดยเฉพาะการเข้าร่วมสนธิสัญญาความมั่นคงฉบับใหม่กับสหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ (AUKUS) ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียได้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของตนเอง เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากจีน ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าจะพยายามลดความตึงเครียดกับจีน ซึ่งเป็นชาติคู่ค้าอันดับหนึ่งด้วยการรับปากว่า ความสัมพันธ์ออสเตรเลีย - จีน จะเป็นแบบ ‘แข่งขันแต่ไม่ก่อหายนะ’ (competition without catastrophe) “ผมอยากให้ออสเตรเลียยังคงเป็นประเทศที่ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ที่ไหน เคารพบูชาหรือรักใคร่ใคร ไม่ว่าคุณจะนามสกุลอะไร สถานที่แห่งนี้จะไม่มีข้อจำกัดใด ๆ บนเส้นทางชีวิตของคุณ” ‘อัลโบ’ แอนโธนี อัลบานีส นายกฯ คนใหม่ของออสเตรเลีย กล่าวย้ำถึงความฝันที่เขาอยากเห็นในฐานะตัวแทนคนรากหญ้าสู้ชีวิต ผู้สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำของประเทศในดินแดนที่เปิดโอกาสให้กับทุกคน “พ่อแม่ทุกคนอยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้รับสิ่งที่ดีกว่าคนรุ่นเก่า แม่ฝันอยากให้ผมมีชีวิตที่ดีกว่าเธอ และผมก็หวังว่า เส้นทางชีวิตของผมจะเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวออสเตรเลียไปให้ถึงสิ่งที่ทุกคนมุ่งหวัง”   ภาพ: Brook Mitchell / Stringer   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nytimes.com/2022/05/20/world/australia/anthony-albanese-australia-election.html?searchResultPosition=1 https://www.smh.com.au/national/to-understand-anthony-albanese-you-need-to-know-about-his-mother-maryanne-20220517-p5am75.html https://www.aljazeera.com/news/2022/5/21/anthony-albanese-who-is-australias-prime-minister-elect https://www.bbc.com/news/world-australia-61267489 https://theconversation.com/hes-australias-31st-prime-minister-so-who-is-anthony-albanese-177617