บงบง มาร์กอส: ลูกชายของ ‘ทรราช’ ที่ผงาดขึ้นเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กับความพยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้ชาติและครอบครัว

บงบง มาร์กอส: ลูกชายของ ‘ทรราช’ ที่ผงาดขึ้นเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กับความพยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้ชาติและครอบครัว
“ผู้ชนะคือคนเขียนประวัติศาสตร์" คำนี้น่าจะใช้ได้ดีกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์รอบล่าสุดเมื่อ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ บงบง มาร์กอส (Bongbong Marcos) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของจอมเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสผู้ล่วงลับ ได้รับชัยชนะแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (landslide) เตรียมเก็บกระเป๋าเข้าทำเนียบ ‘มาลากันยัง’ อีกครั้ง หลังครอบครัวเคยถูกประชาชนขับไล่ออกจากที่นั่นในปรากฏการณ์ ‘ปฏิวัติประชาชน’ เมื่อ 36 ปีก่อน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชื่อเสียงของตระกูลมาร์กอสต้องป่นปี้ เพราะประวัติศาสตร์จารึกให้เป็น ‘ทรราช’ ผู้ปกครองชาติด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ใช้กำลังกวาดล้างผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม และใช้ชีวิตอย่างหรูหราด้วยภาษีประชาชน ทั้งที่ประเทศยากจนและผู้คนอดอยาก อิเมลดา มาร์กอส สตรีหมายเลขหนึ่งยุคนั้น แต่งตัวเฉิดฉายด้วยเสื้อผ้าแบรนด์เนมออกงานเลี้ยงไม่เว้นวัน ห้องแต่งตัวเต็มไปด้วยรองเท้ายี่ห้อแพงตั้งเรียงรายเป็นชั้น ๆ นับรวมกัน 3,000 กว่าคู่ นั่นคือภาพจำที่ทำให้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับพระนางมารีอองตัวเนต ราชินีองค์สุดท้ายของฝรั่งเศส ซึ่งถูกประชาชนลุกฮือขับไล่ไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของตระกูลมาร์กอส ยังโชคดีไม่ถูกประชาทัณฑ์ แถมมีโอกาสหอบทรัพย์สินเงินทองลี้ภัยไปต่างแดน ก่อนจะกลับมาผงาดในบ้านเกิดอีกครั้งและชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.2022 ด้วยความพยายามกอบกู้ชื่อเสียงของครอบครัวและเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ของทายาทสายตรงที่ชื่อ บงบง มาร์กอส ชีวิตในทำเนียบผู้นำกับความฝันนักบินอวกาศ บงบง มาร์กอส หรือชื่อจริง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) เกิดวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1957 เป็นลูกชายคนเดียวของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และอิเมลดา มาร์กอส ชีวิตตั้งแต่วัยเด็กเติบโตมาในทำเนียบประธานาธิบดี ‘มาลากันยัง’ ในกรุงมะนิลา เนื่องจากบิดาชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำสมัยแรกตั้งแต่เขามีอายุเพียง 7 ขวบ “ทำเนียบแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่พักและส่วนออฟฟิศ เมื่ออยู่ในทำเนียบประธานาธิบดี คุณต้องพยายามเก็บตัวให้มากที่สุด เพราะนาทีแรกที่ก้าวออกจากห้อง คุณไม่รู้หรอกว่ามีใครอยู่แถวนั้นบ้าง “แต่อยู่ไปสักพักก็ชิน ผมรู้ว่าพื้นที่จริง ๆ ของเราคือห้องส่วนตัว ส่วนที่เหลือเป็นออฟฟิศ... คุณค่อนข้างถูกตามใจ (สปอยล์) เมื่ออยู่ในทำเนียบ ยิ่งเป็นเด็กด้วยแล้วยิ่งถูกดูแลเป็นอย่างดี” บงบงเล่าชีวิตในวัยเด็กกับซีเอ็นเอ็น แม้เขาจะโตมาในบ้านพักผู้นำประเทศซึ่งห้อมล้อมไปด้วยนักการเมือง แต่อาชีพในฝันตอนนั้น คือ นักบินอวกาศ เพราะได้เรียนเน้นด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แถมยังเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังเตรียมส่งมนุษย์คนแรกขึ้นไปบนดวงจันทร์ “ตอนพ่อผมไปเยือนสหรัฐฯ ในปี 1968 วุฒิสมาชิก (แดเนียล) อิโนอุเอะ จากฮาวาย ซึ่งเป็นเพื่อนรักกับพ่อถามผมว่า ‘หนูอยากทำอะไรตอนไปถึงอเมริกา’ คำตอบแรกที่ออกจากปากผมทันทีคือ ผมอยากไปนาซ่า” บงบงยอมรับว่า นักบินอวกาศไม่ใช่ความฝันเดียว เพราะพอขึ้นมัธยมฯ ปลาย เขาได้เรียนดนตรี และอิเมลดา แม่ของเขาก็ชอบร้องเพลง ทำให้ตัวเองอยากเป็น ‘ร็อกสตาร์’ อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงความฝัน เพราะชีวิตจริง บงบงถูกวางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองของตระกูลมาตลอด เส้นทางการเมืองที่มาพร้อมคำว่าทรราช บงบงเริ่มเส้นทางการเมืองในปี 1980 ตอนอายุ 23 ปี ด้วยการเป็นรองผู้ว่าฯ จังหวัดอิลาคอส นอร์เต (Ilacos Norte) ดินแดนฐานเสียงสำคัญของครอบครัวทางภาคเหนือของฟิลิปปินส์ ส่วนพ่อของเขายังเป็นประธานาธิบดีอยู่ที่กรุงมะนิลา แม้ บงบง จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับคำว่า ‘ทรราช’ แต่พ่อของเขาปกครองฟิลิปปินส์มายาวนาน 21 ปี (1965 - 1986) ด้วยการใช้อำนาจกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยม และประกาศกฎอัยการศึกเพื่อต่ออายุอำนาจตัวเองอยู่นาน 9 ปี (1972 - 1981) โดยระหว่างนั้นมีผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกตำรวจและทหารจับซ้อมทรมาน และสังหารเสียชีวิตรวมกันหลายหมื่นคน ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็น ‘ยุคมืด’ ของฟิลิปปินส์ เพราะนอกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย ประเทศยังเผชิญปัญหาคอร์รัปชั่นที่กระจายไปทั่ว ความเป็นอยู่ของประชาชนยากจนสุดขีด และหนี้สินของชาติก็พอกพูนจนเศรษฐกิจใกล้ล่มสลาย ชนวนสำคัญที่ทำให้ระบอบเผด็จการมาร์กอสถึงตอนอวสาน คือ เหตุการณ์ลอบสังหาร เบนิกโน อากีโน ผู้นำฝ่ายค้านที่เดินทางกลับจากลี้ภัยในสหรัฐฯ เพื่อมาเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1983 การตายของอากีโน ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ที่โกรธแค้นเริ่มลงถนนจนกลายเป็นคลื่นมหาชนนับล้าน ๆ ออกมาขับไล่เผด็จการ และสามารถยึดทำเนียบมาลากันยังคืนจากตระกูลมาร์กอสได้สำเร็จในปี 1986 ปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกขนานนามว่า ‘การปฏิวัติประชาชน’ (People Power Revolution) ที่เริ่มต้นในฟิลิปปินส์ และค่อย ๆ ลุกลามไปทั่วโลก ฮาวายจุดหมายผู้ลี้ภัยและโอกาสแก้ตัวใหม่ในบ้านเกิด การปฏิวัติประชาชนในฟิลิปปินส์ทำให้ครอบครัวมาร์กอส รวมถึงบงบง ในวัย 28 ปี ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าฯ อิลาคอส นอร์เต ต้องลี้ภัยไปมลรัฐฮาวาย ของสหรัฐฯ ข้อมูลของศุลกากรอเมริการะบุว่า ระหว่างลี้ภัยไปฮาวาย อิเมลดา มาร์กอส ขนกระเป๋าเดินทางติดตัวไปด้วยหลายสิบใบ ภายในนั้นนอกจากจะเต็มไปด้วยเสื้อผ้าราคาแพง ยังมีเพชรนิลจินดา และเงินสดจำนวนหลายล้านเหรียญสหรัฐ มีการประเมินว่า ทรัพย์สินที่ตระกูลมาร์กอส ได้ไปจากการคอร์รัปชั่นมีมูลค่ารวมกันประมาณ 5,000 - 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในจำนวนนี้สามารถยึดคืนมาได้ประมาณ 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนอีก 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังเป็นคดีความฟ้องร้องไม่สิ้นสุด หลังลี้ภัยในฮาวาย 3 ปี มาร์กอสผู้พ่อเสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลว จากนั้นในปี 1991 อิเมลดา มาร์กอส และลูก ๆ ก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับมาสู้คดีความในฟิลิปปินส์ ตระกูลมาร์กอสใช้โอกาสนี้พร้อมทรัพย์สมบัติที่ยังเหลืออีกจำนวนมาก กลับไปตั้งหลักสร้างฐานเสียงและอำนาจทางการเมืองขึ้นใหม่ในบ้านเกิดที่จังหวัดอิโลคอส นอร์เต ทั้งอิเมลดา ไอมี (Imee) ลูกสาวคนโต และบงบง ลงเล่นการเมืองท้องถิ่นที่นั่น และพยายามช่วยกันกอบกู้ชื่อเสียงของตระกูลกลับคืนมา ผงาดยึดทำเนียบอีกครั้ง บงบงและกลุ่มผู้สนับสนุนพยายามช่วยกันกระจายข่าวตอบโต้ข้อกล่าวหา ‘ทรราช’ ด้วยการอ้างว่า ยุคพ่อของเขาไม่ใช่ ‘ยุคมืด’ แต่เป็น ‘ยุคทอง’ ของฟิลิปปินส์ เพราะบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยจากการบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาด และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของชาติก็ได้รับการพัฒนา ทั้งโรงพยาบาลและถนนหนทางมากมาย บงบงได้รับเลือกเป็น ส.ส. และผู้ว่าฯ ที่บ้านเกิดอีกครั้งหลังกลับจากลี้ภัย จนกระทั่งปี 2010 เขาชนะการเลือกตั้ง ส.ว. และได้เข้าเวทีการเมืองระดับชาติครั้งแรก จากนั้น 6 ปีถัดมา บงบง ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับเลนี โรเบรโด ซึ่งเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งปี 2022 ทั้งคู่ลงแข่งขันกันอีกครั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี และคราวนี้เป็นบงบง ที่ได้รับชัยชนะ เหตุผลที่ทำให้ทายาทตระกูลมาร์กอสได้ผงาดกลับมาปกครองประเทศอีกครั้งมาจากหลายปัจจัย ทั้งการจับคู่เป็นพันธมิตรกับซาร่า ดูแตร์เต ผู้สมัครรองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นลูกสาวของโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีที่กำลังก้าวลงจากอำนาจ ทำให้มีฐานเสียงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บงบงยังได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นฐานเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ พวกเขาไม่เคยสัมผัสประสบการณ์เลวร้ายในยุคมาร์กอสผู้พ่อ และมองว่า บงบงเป็น ‘แฟมิลี่แมน’ ที่ดี เขาไม่เคยมีคดีเกี่ยวข้องกับความผิดของพ่อแม่ จึงไม่ควรถูกปิดกั้นโอกาสในการเข้ามาบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์วิตกว่า การกลับมามีอำนาจอีกครั้งของตระกูลมาร์กอส จะทำให้ประวัติศาสตร์ของชาติถูกแก้ไขบิดเบือน และระบอบเผด็จการจะได้รับการฟอกขาวให้กลายเป็นเรื่องชอบธรรม เพราะนอกจาก บงบง ไม่เคยขอโทษหรือแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่พ่อแม่ของเขาเคยทำ เขายังพยายามเชิดชู ‘วีรกรรม’ ของบิดา โดยไม่สนว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบันทึกไว้อย่างไร กองทัพไซเบอร์ฟอกขาวกับการบันทึกประวัติศาสตร์ใหม่ บงบงถูกกล่าวหาว่าใช้กองทัพ ‘ไอโอ’ ทำสงครามบิดเบือนข้อมูลข่าวสารบนโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะบน Facebook ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนฟิลิปปินส์ จนเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นใหม่ได้สำเร็จ กลุ่มผู้สนับสนุนเขาพยายามฟอกขาวให้ตระกูลมาร์กอส ด้วยการยกเหตุผลต่าง ๆ นานามาตอบโต้เสียงวิจารณ์ แม้จะเป็นข้ออ้างข้าง ๆ คู ๆ อย่างการบอกว่าทรัพย์สินเงินทองของครอบครัวมาร์กอสที่ซุกซ่อนในต่างประเทศ ความจริงแล้วเป็นการเก็บรักษาไว้เพื่อรอนำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนอีกครั้งหลังกลับบ้านเกิดก็ตาม มาเรีย เรสซ่า (Maria Ressa) ผู้บริหารสำนักข่าวท้องถิ่น Rappler และเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2021 บอกว่า ชัยชนะของบงบง สะท้อนให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่า “ผลกระทบของข่าวปลอมที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย” หน้าตาเป็นยังไง “เขาจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศนี้และอดีตที่ผ่านมาในเวลาเดียวกัน” นั่นคือความวิตกที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดขึ้นตลอด 6 ปีข้างหน้าตามวาระในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ เพราะนอกจากตระกูลมาร์กอส ยังมีคดีความตกค้างอยู่ในศาลอีกมากมาย รวมถึงคดีคอร์รัปชั่นของอิเมลดา มาร์กอส ซึ่งรอคำตัดสินของศาลฎีกาแล้ว ชัยชนะครั้งนี้ของ บงบง มาร์กอส ยังเปิดโอกาสให้เขาสามารถใช้อำนาจทางการเมืองเปลี่ยนแปลงภาพจำในประวัติศาสตร์ และฟอกขาวให้กับตระกูลของตนเอง ดังประโยคที่ว่า “ผู้ชนะคือคนเขียนประวัติศาสตร์" เหมือนที่เขาพยายามทำมาตลอด นับตั้งแต่วันที่เดินออกจากทำเนียบมาลากันยังอย่างผู้แพ้ และต้องอยู่กับคำครหาว่าตระกูล ‘ทรราช’ มาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ภาพ: บงบง มาร์กอส กล่าวในการปราศรัยเมื่อ 19 ก.พ. 2022 ภาพจาก Getty Images ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nytimes.com/.../05/09/world/philippines-election https://edition.cnn.com/.../philippines.../index.html https://edition.cnn.com/.../marcos-philippines.../index.html https://www.theguardian.com/.../philippines-election-qa... https://www.bbc.com/news/world-asia-61379915 www.youtube.com/watch?v=dyqqx67rwAk www.youtube.com/watch?v=qmGVHgc4Syc