ยุน ซอก-ยอล : จากเด็กที่ฝันเป็นบาทหลวง สอบตกกฎหมาย 8 ครั้ง สู่ประธานาธิบดีคนที่ 20 ของเกาหลีใต้
ประเทศเจ้าพ่อ soft power อย่างเกาหลีใต้ ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างเต็มตัว หลังชายรูปร่างสูงใหญ่นามว่า ยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 20 อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2022
ยุนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้ ท่ามกลางปัญหารุมเร้าทั้งพิษเศรษฐกิจจากโควิด - 19 ราคาบ้านพุ่งสูง การจ้างงานตกต่ำ และความตึงเครียดกับเพื่อนบ้านที่มีระเบิดนิวเคลียร์และทดลองอาวุธไม่เว้นแต่ละวัน ขณะเดียวกันยังเป็นยุคที่สังคมมีความแตกแยกแบ่งขั้วทางความคิดกันมากที่สุด
อดีตนักกฎหมาย วัย 61 ปี ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาอย่างเฉียดฉิวเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ด้วยคะแนนเฉือนคู่แข่งอันดับสองห่างไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่เกาหลีใต้เคยจัดการเลือกตั้งผู้นำอย่างเสรีในปี 1987 เป็นต้นมา
กว่าจะมาถึงจุดนี้ ยุนต้องผ่านทั้งความเปลี่ยนแปลง ความผิดหวัง การรอคอย และการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ นี่คือเรื่องราวชีวิตของผู้นำคนที่ 20 ของเกาหลีใต้ที่ชื่อ ยุน ซอก-ยอล
อิทธิพลทางศาสนาต่อแนวทางชีวิต
ยุน ซอก-ยอล เกิดในกรุงโซล ของเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1960 พ่อแม่ของเขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยเจ้าตัวเคยเล่าแบบเปิดใจว่า สมัยวัยรุ่นเคยใฝ่ฝันอยากเป็นบาทหลวง เพราะตอนเรียนชั้นประถมฯ เคยอยู่โรงเรียนคริสเตียน และได้ซึมซับคำสอนทางศาสนามาจากที่นั่น
อดีตเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งเล่าถึงมุมมองความคิดและการดำเนินชีวิตของยุนว่าได้รับอิทธิพลอย่างชัดเจนมาจากความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะการพยายามต่อสู้เพื่อปกป้องผู้ที่ด้อยกว่า และต้องการเอาชนะสิ่งที่เขามองว่าเป็นเรื่องชั่วร้ายด้วยพลังแห่งความดี
อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิตของยุนมาหักเห ไม่ได้เป็นบาทหลวงตามที่ฝัน เนื่องจากบิดาแนะนำให้เรียนต่อด้านกฎหมาย หลังเรียนจบมัธยมฯ ปลาย ยุนจึงตัดสินใจเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล (Seoul National University)
เขาเรียนจบทั้งปริญญาตรีและโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศแห่งนี้ แต่ทันทีที่จบออกมา เขายังต้องรอคอยอีกนานหลายปี กว่าจะได้ทำหน้าที่นักกฎหมายต่อสู้เพื่อความถูกต้องตามที่ตั้งใจ เพราะสอบเนติบัณฑิตเท่าไรก็ไม่ผ่านสักที
สอบนักกฎหมาย 9 ครั้งกว่าจะผ่าน
ยุนใช้ความพยายามเดินเข้า - ออกสนามสอบเนติบัณฑิตถึง 9 ครั้งกว่าจะทำสำเร็จ และสุดท้ายได้ใบรับรองประกอบวิชาชีพนักกฎหมายมาครองในปี 1991 ขณะอายุเข้าสู่วัย 30 ปีพอดี
ประวัติเคยสอบตกซ้ำซากมักถูกฝ่ายตรงข้ามหยิบยกมาโจมตีระหว่างการหาเสียง โดยถูกนำไปเปรียบเทียบกับ อี แช-มยอง คู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์ (Democratic Party) ซึ่งอยู่ฝ่ายรัฐบาล ที่ใช้ความพยายามเพียง 2 ครั้ง ก็สามารถสอบผ่านเนติบัณฑิตได้
ยุนตอบโต้ผู้ที่มาแซะเขาเรื่องนี้ว่า การสอบเนติบัณฑิตไม่ผ่าน 8 ครั้งไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย เพราะอย่างน้อยมันก็สอนให้เขาได้เรียนรู้ถึงความอดทน ไม่ล้มเลิกความพยายามง่าย ๆ และไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต
หลังเรียนจบและสอบผ่านนักกฎหมาย ยุนเริ่มงานแรกในปี 1994 ด้วยการเป็นอัยการเมืองแทกู เมืองใหญ่อันดับ 4 ของเกาหลีใต้ และค่อย ๆ ไต่เต้าในหน้าที่การงาน แม้ปี 2002 เขาเคยลาออกจากอัยการไปลองทำงานเป็นทนายความ แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะหลังจากพบว่าตัวเองไม่เหมาะกับอาชีพนั้น ยุนก็ตัดสินใจกลับมาเป็นอัยการตามเดิมทันที
ยุนในบทบาทอัยการรับงานดูแลคดีคอร์รัปชั่น เขาค่อย ๆ สร้างชื่อจากการทำคดีตรวจสอบนักการเมืองและนักธุรกิจผู้มีอิทธิพล แต่ด้วยบุคลิกตรงไปตรงมา กล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็นและกล้าชนไม่เลือกหน้า ทำให้บางครั้งเกิดความขัดแย้งกับหัวหน้า เคยโดนลงโทษลดขั้นและย้ายไปประจำในพื้นที่ห่างไกลมาแล้ว
โด่งดังจากคดีซัมซุง ถอดถอนประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตาม ด้วยความอดทนและเชื่อว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เขายังคงทำงานในสไตล์ของตนเองต่อไป จนกระทั่งปี 2016 ยุนได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนเอาผิดทายาทบริษัทซัมซุง และประธานาธิบดีปัก กึน-ฮเย (Park Geun-hye) ในคดีรับสินบนเพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ
คดีดังกล่าวจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของผู้นำหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ และทำให้ปัก กึน-ฮเย ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา ขณะที่ ยุน ซอก-ยอล ได้รับคำชื่นชมยกย่องและชื่อเสียงดังกระฉ่อนไปทั่วประเทศ เขาได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วในยุคประธานาธิบดีคนต่อมาที่ชื่อว่า มุน แช-อิน (Moon Jae-in)
ยุนถูกดันให้ขึ้นเป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการกรุงโซลในรัฐบาลมุน แช-อิน ก่อนที่ปี 2019 เขาได้เลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งอัยการสูงสุดของประเทศ และได้รับมอบหมายให้สืบสวนเอาผิดอดีตประธานาธิบดีคนอื่น ๆ ที่เคยทุจริตระหว่างอยู่ในอำนาจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีมุน กับยุน ซอก-ยอล ดูเหมือนจะราบรื่นดีจนกระทั่งรัฐบาลพยายามเข้ามาปฏิรูปหน่วยงานที่เขาดูแล โดยตั้งเป้าลดบทบาทอัยการในการตรวจสอบคดีความทางการเมือง และเสนอให้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้แทน โดยให้เหตุผลว่าคดีการเมืองเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน
อย่างไรก็ตาม ยุนคัดค้านแผนดังกล่าวและเริ่มขัดแย้งกับรัฐบาล จนนำมาสู่การขุดคุ้ยดำเนินคดีคนใกล้ชิดของประธานาธิบดีมุน ทำให้ โช กุก รัฐมนตรียุติธรรมซึ่งเป็นคนสนิทของมุน แช-อิน ต้องลาออกจากตำแหน่ง
ความตึงเครียดระหว่างมุน แช-อิน กับยุน ซอก-ยอล ดำเนินมาจนถึงเดือนมีนาคม 2021 ยุนตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุด และประกาศลงเล่นการเมือง โดยมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หัวเสรีนิยมของมุน แช-อิน ก่อนที่พรรคพลังประชาชน (People Power Party) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านหัวอนุรักษนิยมจะทาบทามให้มาเป็นตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2022
เพื่อประชาธิปไตยและตลาดเสรี
อดีตอัยการสูงสุด วัย 61 ปี ก้าวลงสู่สนามเลือกตั้งด้วยการวางตัวเองเป็น ‘คนนอก’ ที่เข้ามาปฏิรูปการเมือง โดยประกาศจะลดอำนาจประธานาธิบดีที่มีมากเกินไปเพื่อหยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นในอนาคต
นอกจากนี้ เขายังยืนยันจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มุน แช-อิน ทิ้งไว้ ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ราคาบ้านที่พุ่งสูงสวนทางกับการจ้างงานที่ลดลง โดยใช้วิธีลดภาษี และระบบตลาดเสรีเป็นตัวนำ
“รัฐบาลยุน ซอก-ยอล จะฟื้นฟูค่านิยมประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเพื่อเอาชนะความท้าทายและเปิดศักราชใหม่ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความเจริญรุ่งเรือง
“ผมจะถอยห่างจากอำนาจ หรืออุดมการณ์ใด ๆ ที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตยเสรีนิยม และจะบริหารบ้านเมืองโดยใช้สามัญสำนึกเป็นหลัก”
ยุนกล่าวในสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะเมื่อเดือนมีนาคม 2022 หลังเคยยอมรับว่า ทฤษฎีของมิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่เขียนไว้ใน ‘Free to Choose’ หนังสือที่พ่อของเขาเคยให้อ่านสมัยเรียนมหา’ลัย เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเขามากที่สุด
ส่วนนโยบายต่างประเทศที่ทั่วโลกจับตา ยุนประกาศว่าเกาหลีใต้จะกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะลดการพึ่งพาจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง และใช้มาตรการตอบโต้เกาหลีเหนือให้แข็งกร้าวมากขึ้น หากกรุงเปียงยางยังคงมีท่าทียั่วยุและไม่เป็นมิตร
สนับสนุนความเท่าเทียมแต่ต่อต้านเฟมินิสต์
หนึ่งในนโยบายของยุนที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุด คือ การประกาศต่อต้านลัทธิเฟมินิสต์ ด้วยการยืนยันจะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว ซึ่งเป็นเหมือนกระบอกเสียงของผู้เรียกร้องสิทธิสตรี
ยุนให้เหตุผลว่า ปัจจุบันผู้หญิงเกาหลีใต้มีความเท่าเทียมกับผู้ชายแล้ว ดังนั้นกระทรวงนี้จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป นอกจากนี้เขายังบอกด้วยว่า เฟมินิสต์ คือ ต้นเหตุที่ทำให้อัตราเด็กเกิดใหม่ในเกาหลีใต้ลดลงจนใกล้เคียงกับวิกฤตประชากรที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
นโยบายต่อต้านเฟมินิสต์ของยุนแม้จะทำให้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากฝั่งเสรีนิยม แต่ก็ช่วยให้ได้คะแนนเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากวัยรุ่นชายเกาหลี ซึ่งกำลังประสบปัญหาการจ้างงาน และพวกเขามองว่าผู้หญิงได้รับสิทธิพิเศษในที่ทำงานมากเกินไป
แม้ยุนจะมีภาพลักษณ์ที่แข็งกร้าว และพยายามแสดงออกถึงความเป็นชายชาตรี เขามักขึ้นเวทีหาเสียงด้วยท่าปล่อยหมัดอัปเปอร์คัตแบบนักมวยจนกลายเป็นท่าประจำตัว แต่ชีวิตส่วนตัวยังมีมุมที่อ่อนโยนซ่อนเอาไว้ด้วยเช่นกัน
รักสัตว์ ชอบทำอาหาร
ยุน ซอก-ยอล แต่งงานแล้วกับภรรยาชื่อ คิม กอน-ฮี เธอเป็นผู้บริหารบริษัทรับจัดนิทรรศการศิลปะ ทั้งคู่เข้าพิธีวิวาห์ตั้งแต่ปี 2012 แต่ไม่มีลูก พวกเขาชอบเลี้ยงสัตว์ มีสุนัข 4 ตัว และแมวอีก 3 ตัวเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน นอกจากนี้ฝ่ายชายยังชอบทำอาหารและรับหน้าที่พ่อครัว เขามักชวนเพื่อนร่วมงานมาสังสรรค์ที่บ้านเพื่อชิมอาหารฝีมือตัวเอง โดยเมนูโปรด คือ อาหารเกาหลีพื้นบ้านอย่างซุปเต้าเจี้ยวหม้อไฟ และซุปกิมจิ
ในช่วงวัยรุ่น ยุนได้รับการยกเว้นไม่ต้องเป็นทหารเนื่องจากมีปัญหาสายตาสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน ปัญหาสุขภาพนี้ยังทำให้เขาไม่สามารถทำใบขับขี่ได้
แม้จะไม่มีประสบการณ์ทหารเหมือนชายเกาหลีส่วนใหญ่ ยุนรับปากจะอนุมัติเงินชดเชยพิเศษให้ชาวเกาหลีใต้ทุกคนที่สละเวลามาฝึกทหารจนครบเกณฑ์ แต่ยังไม่รับปากว่าจะแก้กฎหมายให้นักร้องเค-ป๊อป ซึ่งเป็น soft power ชั้นดีของชาติ ได้รับการยกเว้นเกณฑ์ทหารตามที่แฟนคลับเรียกร้องหรือไม่
เกาหลีใต้โดยนิตินัยยังอยู่ในภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือ และมีกฎหมายบังคับให้ชายทุกคนที่อายุระหว่าง 18 - 28 ปีที่มีร่างกายสมบูรณ์ ต้องเข้ารับการฝึกทหารอย่างน้อย 18 เดือน ยกเว้นให้เฉพาะนักดนตรีคลาสสิกและนักกีฬาโอลิมปิกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวเริ่มมีการผ่อนผันในรัฐบาลมุน แช-อิน โดยซน เฮือง-มิน นักฟุตบอลชื่อดังที่ไปค้าแข้งในอังกฤษ หลังพาทีมชาติคว้าแชมป์เอเชียนเกมส์ปี 2018 ก็ได้ลดเวลาเข้าค่ายเหลือเพียง 3 สัปดาห์ ขณะที่บรรดาแฟนคลับเค-ป๊อปวงบอยแบนด์อย่าง BTS เรียกร้องให้ไอดอลของพวกเขาควรได้รับการยกเว้นบ้างในฐานะผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเหมือนกัน
soft power เพื่อความสมานฉันท์
“ตอนนี้การแข่งขันจบลงแล้ว เราต้องมาร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อรับใช้ประเทศชาติและประชาชน”
ยุนตระหนักถึงความแตกแยกที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาสามัคคีกันในสุนทรพจน์ครั้งแรกหลังทราบผลการเลือกตั้ง
“สาธารณชนเรียกผมมาทำให้ประเทศชาติเปี่ยมความหวัง ผมจะไม่มีวันลืมความต้องการนั้นของประชาชน”
เขาตอกย้ำความตั้งใจที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แม้รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้กำหนดให้ประธานาธิบดีมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และอยู่ในอำนาจได้เพียงหนเดียว ไม่สามารถเป็นซ้ำได้
การขึ้นมามีอำนาจของยุน ซอก-ยอล แม้หลายคนจะนำไปเปรียบเทียบกับโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจอมสร้างศัตรูของสหรัฐฯ แต่ฟังจากโทนเสียงของยุนในสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะ ดูเหมือนเขาจะได้เรียนรู้บทเรียนความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอเมริกายุคทรัมป์ และพยายามโน้มน้าวทุกฝ่ายด้วยท่าทีประนีประนอมมากขึ้น
นั่นเป็นเพราะเขาคงทราบว่า ความตั้งใจเปลี่ยนแปลงเกาหลีใต้เข้าสู่ศักราชใหม่ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ หากใช้แค่ความกล้าหาญ อดทนอย่างไม่ลดละเพียงอย่างเดียว
การปกครองประเทศให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มใจจากทุกฝ่าย และการใช้ soft power แบบที่ชาวเกาหลีใต้ถนัดอย่างศิลปะการพูดโน้มน้าวเป็นแรงจูงใจ น่าจะช่วยปลุกเร้าให้เกิดความสามัคคีตามวิถีประชาธิปไตยได้ดีที่สุด
ภาพ : ยุน ซอก-ยอล เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดี วันที่ 10 พฤษภาคม 2022 ภาพจาก Getty Images
ข้อมูลอ้างอิง :
https://asia.nikkei.com/.../Yoon-Suk-yeol-Self-styled...
https://english.hani.co.kr/.../e_national/1018432.html
https://www.nytimes.com/.../yoon-suk-yeol-south-korea.html
https://www.wsj.com/.../from-prosecutor-to-president-yoon...
https://www.france24.com/.../20220309-anti-feminist...
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20220228000935
www.youtube.com/watch?v=9fiH540RdRA