พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์: นายตำรวจตงฉินที่อยู่บนแผ่นดินบ้านเกิดไม่ได้
จู่ ๆ ชะตากรรมของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ถูกจุดประกายความสนใจจากสังคมอีกครั้ง ผ่านการอภิปรายของ ‘รังสิมันต์ โรม’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่พยายามแก้ปัญหาซ้ำยังปกป้องขบวนการเหล่านั้น โดยยกกรณี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค8 อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ที่ทำคดีและเปิดเผยข้อมูล จนต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย พร้อมเปิดเผยเอกสารคำให้การของ พล.ต.ต.ปวีณ ที่ขอลี้ภัยต่อรัฐบาลออสเตรเลียต่อที่ประชุมสภา ทำให้ทุกเรื่องราวในปากคำนั้นแม้จะผ่านมานานเกือบ 7 ปี ก็ถูกสังคมย้อนกลับไปตั้งคำถามกับรัฐบาลปัจจุบันที่สืบทอดอำนาจมาจากยุค คสช.อีกครั้ง
ถึงตอนนี้สังคมได้รู้จักกับ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 35 เจ้าของรางวัล พนักงานสอบสวนดีเด่น ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายสมัย รางวัลโรงพักอันดับ 1 ของประเทศ เป็น ข้าราชการดีเด่นที่ได้ “ครุฑทองคำ” จากนายกรัฐมนตรี เป็นที่ยอมรับจากผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาและชาวบ้านในทุกพื้นที่ที่นายตำรวจท่านนี้เคยไปประจำการ
หากจะคลี่ผลงานของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ที่เติบโตมาในเส้นทางสายนักสืบจนกลายเป็นนายตำรวจมือสืบสวนชั้นนำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็คงไม่อาจพรรณาได้หมด เคยคลี่คลายคดีสำคัญที่โด่งดังระดับชาติมากมาย เช่น คดีสังหารยกครัว 5 ศพครอบครัว "บุญทวี" ขณะยังดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิงหนครขณะนั้น จนลากคอ "ศักดิ์ ปากรอ" อาชญากรรมคนดังได้ในที่สุด ในชีวิตราชการที่วนเวียนอยู่ในพื้นที่ภูธรภาค 8-9 ในแผ่นดินภาคใต้ตั้งแต่ตอนบนจรดตอนล่าง ทั้งมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล และอาชญากรร้ายนับไม่ถ้วนถูกนายตำรวจนักสืบท่านนี้ใช้กฏหมายลากคอเข้าคุก
แต่ไม่น่าเชื่อว่า ชีวิตราชการของนายตำรวจมือดีต้องมาถึงจุดสิ้นสุดก่อนเกษียณอายุราชการอย่างสง่างาม เมื่อต้องชนกับตอใหญ่ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา
คดีค้ามนุษย์โรฮิงญาที่เคยเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อกลางปี 2558 แต่ต้องเว้นในฐานที่เข้าใจก่อนว่า ก่อนการสางคดีนี้ภายใต้นโยบายเร่งด่วนลำดับต้น ๆ ของรัฐบาลขณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ หรือบังเกิดศีลธรรมอันใดเป็นพิเศษขึ้นมา เพราะช่วงหลังคณะ คสช. กระทำรัฐประหารยึดอำนาจได้เพียง 1 เดือน ราว ๆ กลางปี 2557 รัฐบาลสหรัฐฯ เผยแพร่รายงาน TIP report ลดระดับไทยจากที่อยู่กลุ่ม Tier2 watch list ไปอยู่กลุ่ม Teir3 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการค้ามนุษย์เลวร้ายที่สุด และจะถูกคว่ำบาตรสินค้าประมง นั่นหมายถึงว่า จะกระทบกับการส่งออกสินค้าประมงสู่ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กว่าล้านตันต่อปี กว่า 1.5 แสนล้านบาท แต่นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะนั้นไม่ได้คว่ำบาตรลงทันทีแต่ยังผ่อนผันให้ไทยเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
ทำให้ช่วงปลายปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา 5 ชุด เร่งไล่แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งในอุตสาหกรรมประมง และอีกปัญหาที่กำลังเข้ามาทำให้สถานการณ์ค้ามนุษย์ทวีความรุนแรง คือการอพยพของชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ของเมียนมาที่เข้ามาพัวพันให้ปัญหาซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจึงได้เห็น "แผนพิทักษ์อันดามัน 1" ของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายสนธิกำลังช่วยกันผลักดันแรงงานชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศ แม้ขณะลอยเรืออยู่กลางทะเล
การผลักดันเรือมนุษย์ที่อดอยากตรากตรำในทะเลให้กลับต้นทางคือแผ่นดินเมียนมาที่สงครามความขัดแย้งกำลังลุกเป็นไฟหรือไม่ก็ลอยลำอย่างไม่รู้จุดหมายในน่านน้ำสากล ถูกนานาชาติและนักสิทธิมนุษยชนในประเทศออกมาประณามรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ทว่าฝ่ายขวาจัดคลั่งชาติซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลรัฐประหารออกมาโจมตีตอบโต้ทั้งนักมนุษยชนและชาวโรฮิงญาในโลกออนไลน์อย่างรุนแรงเช่นกัน กระแส Racism หรือการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและความเชื่อเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงไม่น่าเชื่อ สื่อมวลชนที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ ที่ลงเรือเร็วไปสำรวจชะตากรรมชาวโรฮิงญาบนเรือมนุษย์แล้วบังเกิดความโศกสลดจนร้องไห้ออกมาและเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลผู้อพยพเหล่านี้อย่างเหมาะสมก็ถูกสาบส่งจากฝ่ายขวาจัดเหล่านั้น
กระแสความเกลียดชังชาวโรฮิงญาและนักสิทธิมนุษยชนดำเนินไปอย่างเข้มข้น แต่แล้วต้นเดือนพฤษภาคม 2558 หญิงสาวชาวโรฮิงญารายหนึ่งนำลูกของเธอหนีเอาชีวิตรอดลงมาจากแคมป์แห่งหนึ่งบนเทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เดินเท้าข้ามคืนจนพบกับเจ้าหน้าที่ทหารพรานขณะกำลังลาดตระเวน โดยแจ้งว่าเธอถูกขบวนการค้ามนุษย์ล่อลวงมาและลงมือทำร้าย และเมื่อเข้าไปตรวจสอบตามที่แจ้งก็พบหลุมฝังศพใหม่หมาด 35 หลุม แต่ไม่พบชาวโรฮิงญา จนเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก็พบว่า หลุมศพเหล่านั้นคือศพของชาวโรฮิงญาที่ถูกทรมานจนตาย และขบวนการค้ามนุษย์ได้นำเหยื่อที่เหลือย้ายจากจุดเดิมที่มีผู้เสียชีวิตและฝังศพไว้ไปพักที่จุดใหม่ และเมื่อมีสายแจ้งว่ามีตำรวจและทหารเข้าไปตรวจสอบ ขบวนการค้ามนุษย์ก็เร่งรีบเคลื่อนย้ายแรงงานเหล่านั้นหนีเข้าไปในป่าเทือกเขาแก้ว เจ้าหน้าที่ไล่ติดตามจนพบกับแคมป์ที่น่าจะเรียกว่าเป็นที่คุมขังมากกว่าด้วยสภาพความเป็นอยู่อันน่าอเนจอนาถหัวใจ
ชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตเปิดเผยว่าโดนเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากเรือที่กำลังลอยลำสู่เป้าหมายที่ประเทศมาเลเซีย นำมาคุมขังไว้ แล้วเรียกค่าไถ่ซ้ำ ถ้าใครไม่มีญาติที่คอยจ่ายเงินให้ก็จะโดนทรมาน ถ้าเป็นผู้หญิงบางคนก็จะโดนข่มขืน ถูกใช้แรงงานหนัก หากไม่ขาดใจตายเสียก่อนก็จะโดนซ้อมจนตายก่อนโดนนำไปฝังดิน
แถมในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน เจอหลุมฝังศพโรฮิงญาบนเกาะโต๊ะกระ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นับ 10 หลุม มีโครงกระดูกผู้หญิงและเด็กถูกฝังไว้ 2 หลุม พื้นที่เกิดเหตุทั้งสองแห่งเชื่อมโยงให้เห็นว่าเป็นเส้นทางของกลุ่มค้ามนุษย์ขบวนการเดียวกันที่ใช้เป็นแหล่งพักคอย ก่อนหาทางเคลื่อนย้ายต่อไป
หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ปะติดปะต่อพยานหลักฐานเรื่องขบวนการและรายงานไปเบื้องบน พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ มือสืบสวนระดับรางวัลครุฑทองคำ ในฐานะผู้ช่วยผู้บัญชาการภาค 8 ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันถูกมอบหมายให้ช่วยคลี่คลายคดีนี้ โดยพล.ต.ต.ปวีณเล่าว่า หลังจากไปตรวจที่เกิดเหตุนับเป็นภาพที่โหดร้ายเกินจินตนาการที่มนุษย์จะกระทำต่อกัน
"ที่ผมไปเจอมาเขาขังคนยิ่งกว่าสัตว์อีก วิธีการทำ ขนคนลงมาในเรือ 400-500 คน ให้กินข้าวแค่คนละ 2 กำมือ พริกคนละ 2 เม็ด น้ำนิดเดียว ใครขอถูกทุบตี ใครตายก็จับโยนลงทะเลไป นี่คือความอำมหิต ของขบวนการเหล่านี้"
ในห้วงที่ดำเนินการสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน เป็นช่วงเวลาที่ พล.ต.ต.ปวีณต้องเจอการข่มขู่จากคนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์จำนวนมาก และแทบไม่ได้รับความร่วมมือในการขอเข้าถึงพยานหลักฐานใด ๆ ยิ่งตำรวจและทหารที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหลายรายได้กล่าวอ้างความเกี่ยวข้องกับนายทหารผู้ใหญ่ในรัฐบาลด้วยซ้ำ
ท้ายที่สุดเขาลงมือสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานด้วยตัวเอง พบว่าหัวขบวนการหลักเป็น "นายทหารชั้นผู้ใหญ่" คนหนึ่งที่มีอำนาจอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ชุมพร และระนอง และเริ่มแกะที่ละเปลาะจนพบความเชื่อมโยงบุคคลในระบบข้าราชการ ทั้ง ตำรวจ ทหาร นักการเมืองท้องถิ่น พลเรือน นายหน้าจากเมียนมา
พล.ต.ต.ปวีณรวมรวมพยานหลักฐานทั้งหมดที่เป็นเอกสารสำนวนส่งอัยการ 699 แฟ้ม มีกระดาษ 271,300 แผ่น ออกหมายจับได้ 153 คนและจับได้จริง 103 คน (เสียชีวิตไปแล้ว 2) โดยมีชื่อของ พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบกรวมอยู่ในขบวนการ ซึ่งถูกตรวจสอบเส้นทางการเงิน จนพบหลักฐานมีเงินโอนเข้าบัญชี กว่า 65 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2555 จำนวน 61 ครั้ง เป็นเงิน 13 ล้านบาทเศษ และในช่วงเดือน ส.ค. 2556 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเงิน 1 ล้านบาทเศษ สอดคล้องกับประวัติการรับราชการในระหว่างปี 2553-2557 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร และ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 จ.สงขลา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ผลักดันแรงงานชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศตามแผน “พิทักษ์อันดามัน1”
จำเลยทั้งหมด ถูกฟ้องในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 และประมวลกฎหมายอาญาและมีผู้ถูกฟ้องเพิ่มเติมในข้อหาสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐาน ฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 จำนวน 54 คน มียอดเงินหมุนเวียน รวม 443,389,468 บาท โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อ “พล.ท.มนัส” จึงเป็นที่มาของคำพิพากษาจำคุก พล.ท.มนัส 82 ปี โดยให้ได้รับโทษจริง 50 ปี และเมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานร่วมกันฟอกเงินอีก 20 ปี รวม 70 ปี
นอกจากคดีดังกล่าว จะมีชื่อคนในกองทัพแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกระทำผิดและถูกจำคุก ทั้ง ร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์ อดีตรอง สว.ป.กก.สส.ภ.จว.ระนอง, พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง สว.ธร.สภ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ อดีตนายก อบจ.สตูล นายบรรณจง ปองผล อดีตนายกเทศมนตรีปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ตัวละครเกินหลักร้อยที่ถูกสั่งฟ้อง ช่วยให้ไทยเข้าสู่การคลี่คลายสถานการณ์ค้ามนุษย์ที่นำไปสู่การยกระดับในรายงานของ TIP report ซึ่งส่งผลต่ออนาคตธุรกิจประมงไทย ทั้งหมดนั้นน่าจะทำให้ พล.ต.ต.ปวีณได้รับผลงานและความชอบจากรัฐบาล ทว่าการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ทั้งเรื่องสายสัมพันธ์ของคนในขบวนการค้ามนุษย์คนหนึ่งกับผู้ใหญ่ระดับอดีต ผบ.ตร.ที่อยู่ในรัฐบาล และการจับนายทหารระดับ พล.ท. ทำให้ความตึงเครียดเข้าปกคลุมในรั้ว สตช. และรัฐบาลที่นำโดยทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพบก นำไปสู่การเปิดเผยเบื้องหลังในเอกสารขอลี้ภัยต่อมาว่า นายตำรวจคนสนิทของ พล.อ.ป... อ้างว่าให้ปล่อย พล.ท.มนัส หลังจากนายทหารคนดังของกองทัพภาคที่ 4 มอบตัวกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ซึ่งเรียนเตรียมทหารห่างกัน 1 รุ่น แต่พอผลสรุปไม่ได้ประกันก็โมโหมาก เพราะ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ขณะนั้นคัดค้านการประกันตัว ซึ่งทำให้มีคำสั่งโอนย้าย พล.ต.อ.เอกจากข้าราชการตำรวจข้ามห้วยเป็นข้าราชการพลเรือนดำรงตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา
หลังเข้าไปทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาได้ 6 เดือน แรงกดดันกลับถาโถมขึ้นทุกวัน จู่ ๆ ก็เหมือนสายฟ้าฟาดใส่อีกระลอก เมื่อที่ประชุม ก.ตร.ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธาน ออกคำสั่งโยกย้ายพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ “รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ (ศตช.)” ที่ จ.ยะลา นายตำรวจประสบการณ์สูงอย่าง พล.ต.ต.ปวีณรู้ดีว่านี่ไม่ใช่การโยกย้ายธรรมดา เขาจึงเริ่มหาทางออกให้ตัวเองด้วยการขอความเป็นธรรมกับผู้ใหญ่ใน สตช. แต่ได้รับการเพิกเฉย ทำให้วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 เขาตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากราชการ โดยพล.ต.ต.ปวีณกล่าวกับสื่อมวลชนว่า เกรงกลัวว่าจะได้รับอันตรายเพราะไม่มีความชำนาญพื้นที่ อีกทั้งระหว่างทำคดีเขายังถูกข่มขู่จากขบวนการค้ามนุษย์ไว้ไม่น้อย
เหตุผลที่ พล.ต.ต.ปวีณ กลัวไม่ปลอดภัยหากถูกโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ เนื่องจากกลุ่มผู้ต้องหาที่จับกุมได้ล้วนมีอิทธิพลในพื้นที่ภาคใต้หลากหลายวงการและสัมพันธ์กับเครือข่ายนอกกฏหมายมากมาย และนายตำรวจผู้นี้ยังรู้ดีว่า พล.ท.มนัส คงแป้น กว้างขวางแค่ไหนในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะนายทหารผู้นี้จบเตรียมทหารรุ่น 16 (ตท.16) รุ่นเดียวกับผู้ใหญ่ในกองทัพ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 เคยเป็นหัวหน้าชุดที่ได้รับมอบหมายให้เข้าปิดล้อมมัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ใน “เหตุการณ์กรือเซะ” ช่วงปี 2548-2549 เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 25 กรมทหารราบที่ 25 ในปี 2550 ลงไปทำงานที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งเพื่อปราบปรามขบวนการยาเสพติด จนเกิดเหตุการณ์ลือลั่น "จับกุมเงินเป็นร้อยล้านบาทในท่อพีวีซี" ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ก่อนที่ช่วงปี 2557 เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 จ.สงขลา และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร (ผบ.จทบ.ชุมพร) เดือนเมษายน 2558 หลังยุทธการพิทักษ์อันดามัน 1 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และได้เลื่อนยศจาก "พลตรี" เป็น "พลโท" ถือเป็นนายทหารคนดังของกองทัพภาคที่ 4 มีอิทธิพลบารมีแผ่กว้างไปหลายวงการ โดยเฉพาะกลุ่มนักเลงไก่ชน
หลังจดหมายลาออกจากสื่อมวลชน พล.ต.ต.ปวีณได้รับสายโทรศัพท์จากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ว่าเบื้องบนทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่สบายใจหากเขาลาออก และพยายามทาบทามไปทำงานด้วย โดยนายทหารในแวดวงชั้นสูงอีกรายช่วยยืนยันว่าการย้ายเขาลงไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่ชายแดนใต้เท่ากับส่งไปตาย
แต่ท่าทีของผู้บังคับบัญชา ทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีกลับเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับความคาดหวังของ พล.ต.ต.ปวีณ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยื่นลาออกของพล.ต.ต.ปวีณว่า "การปรับย้ายเป็นเหตุผลของตำรวจ ซึ่งมีเหตุผลของเขา จะเหมาะสมไม่เหมาะสม แต่อย่าไปคิดว่าทำเรื่องนี้เรื่องเดียวแล้วจะเก่งที่สุดในโลก เป็นซูเปอร์แมน การจะไปจับทหารหรือใครผมไม่สนใจ จับใครก็จับไป จับ พล.ท.กี่คนก็จับไป ผมไม่ได้เดือดร้อน มีการบอกว่าถูกเขียนขู่ฆ่า ทำความดีแล้วจะไปกลัวอะไร ถ้าคิดว่าไม่เป็นธรรมก็ร้องเรียนมา"
ส่วนพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ในขณะนั้นบอกว่า การโยกย้ายดังกล่าวไม่ได้กลั่นแกล้ง หรือมีใบสั่งจากฝ่ายการเมือง รวมถึงเชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับการจับกุม พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงวุฒิกองทัพบก 1 ในผู้ต้องหา มีนัยอื่นแอบแฝงหรือไม่ แต่การเป็นตำรวจที่ดี ต้องมีวินัยรักษาภาพลักษณ์ ขณะเดียวกัน ยังไม่มีรายงานว่ามีตำรวจนายอื่นที่ทำคดีนี้ ถูกข่มขู่แต่อย่างใด
ก่อนที่วันต่อมา พล.ต.อ.จักรทิพย์จะกล่าวกับสื่อมวลชนว่า “ผมก็ยังไม่เข้าใจจุดประสงค์ในการลาออกของ พล.ต.ต.ปวีณ แต่ในใบลาออก พล.ต.ต.ปวีณ ได้ระบุเอาไว้ว่า เพื่อไปดูแลบิดา มารดา แต่จะมีการยับยั้งหรือทบทวนเรื่องการลาออกหรือไม่นั้น เป็นไปได้ทั้งนั้น" ผบ.ตร. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้สอบถามถึงประเด็นการลาออกของ พล.ต.ต.ปวีณ สำหรับเรื่องการยับยั้งการลาออก เป็นอำนาจในการตัดสินใจของตนที่สามารถยับยั้งการลาออกภายใน 30 วัน ส่วนความคิดเห็นของตนที่ว่าควรให้มีการยับยั้งการลาออกของ พล.ต.ต.ปวีณ หรือไม่นั้น ยอมรับว่าตนก็รู้สึกเสียดาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปมปัญหาการจับนายทหารจนนำไปสู่การยื่นลาออกของพล.ต.ต.ปวีณเมื่อสื่อซักถามอีกครั้งว่า "สื่อก็คอยแต่จะตีว่าผู้กระทำความผิดเป็นทหาร อย่าลืมว่าทหารทั้งประเทศมีถึง 4-5 แสนคน ไอ้มนัสเป็นเพียงคนเดียว มันจะทำให้เจ๊งทั้งหมด กองทัพเจ๊งทั้งระบบหรืออย่างไร” หลังจบประเด็นดังกล่าว นายกรัฐมนตรีก็ทำท่าฉุนเฉียวแล้วรีบเดินออกจากตรงนั้นทันที
ในขณะที่อีกด้าน ก็มีความพยายามที่จะให้เขาโยกย้ายไปสู่หน่วยงานใหม่ที่สัมพันธ์กับเบื้องบน ในเอกสารขอลี้ภัยของ พล.ต.ต.ปวีณระบุว่า มีการพยายามส่งใบสมัครมาให้จากนายทหารในแวดวงชั้นสูง หัวกระดาษคือ "สนง.นปร.904" พล.ต.ต.ปวีณกรอกเอกสารแล้ว แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาเปลี่ยนใจไม่ส่งจดหมายฉบับนั้น
ต้องย้อนบริบทขณะนั้นเพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของ พล.ต.ต.ปวีณว่า สังคมไทยเวลานั้นกำลังตื่นตะลึงกับกรณีการดำเนินคดีกับนายตำรวจหลายนายที่ถูกตั้งข้อหาแอบอ้างเบื้องสูง จนนำไปสู่การเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่ถูกแถลงว่าพยายามผูกคอตนเองในห้องขังและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อ 28 ตุลาคม 2558 จนถึงกรณี “หมอหยอง” หมอดูชื่อดังที่เข้าไปใกล้ชิดแวดวงชนชั้นสูงเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาด้วยโรค “ระบบหายใจล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสเลือด” ขณะถูกควบคุมตัวได้ 18 วันฐานแอบอ้างเบื้องสูง
นายทหารผู้นั้นก็ให้ พล.ต.ต.ปวีณเลือกว่าจะทำงานกับเขาหรือจะทำคดีค้ามนุษย์ต่อในสังกัด "กองบัญชาการสอบสวนกลาง" เท่ากับว่าวินาทีนั้นเขามีทางเลือกเด่นชัดอยู่ 2 ทาง คือจะได้ทำหน้าที่สางคดีค้ามนุษย์ต่อแต่อยู่ภายใต้หน่วยงานใหม่คือกองบัญชาการสอบสวนกลาง หรือจะหยิบใบสมัครที่ทิ้งไว้ยื่นขอย้ายไปอยู่สังกัดใหม่ภายใต้การดูแลของนายทหารผู้นั้น แต่แล้วก็มีทางเลือกที่ 3 แทรกเข้ามาจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกรายที่ไปทำงานอยู่ในแวดวงชั้นสูงว่า "ให้ลาออกแล้วอยู่เงียบ ๆ"
ช่วงเวลานั้น นายตำรวจหนุ่มใหญ่ที่ยังเหลืออายุราชการอีกเพียง 3 ปีคิดว่าตนเองมีทางเลือก เพราะผู้ใหญ่เห็นคุณค่าการทำงานของเขา เขาจึงแจ้งนายทหารผู้ใหญ่ที่ส่งใบสมัครหน่วยงานอื่นให้เขาว่าจะขอทำงานต่อ หลังจากนั้นจึงแจ้งถอนใบลาออกจาก ผบ.ตร. ทว่าวันรุ่งขึ้นเขาถูกเรียกพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร.ที่สั่งให้เขาต้องลาออกแล้วอยู่เงียบ ๆ และได้ถูกย้ำจากนายตำรวจผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดแวดวงชั้นสูงบอกว่าต้องลาออกแล้วอยู่เงียบ ๆ
ทั้งหมดทั้งมวลทำให้นายตำรวจมือสืบสวนชื่อดังรับรู้ว่า แท้จริงแล้วตนเองไม่มีทางเลือกแต่แรก โดยเฉพาะหลังการปฏิเสธใบสมัครใบนั้น จึงเป็นที่มาที่ทำให้ พล.ต.ต.ปวีณรีบหารือกับเพื่อนสนิทที่แนะนำให้เขาลี้ภัย เขารีบเดินทางไปจังหวัดภูเก็ต และเดินทางออกนอกประเทศสู่ออสเตรเลีย และทำเรื่องขอลี้ภัยในเวลาต่อมา โดยวันที่ 10 ธันวาคม 2558 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน ของอังกฤษรายงานข่าว พล.ต.ต.ปวีณยื่นเรื่องขอลี้ภัยในออสเตรเลีย โดยระบุว่า "พล.ต.ต.ปวีณเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดที่ทำคดีค้ามนุษย์ระบุว่าชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตราย เพราะผู้มีอำนาจในรัฐบาล บุคคลในกองทัพบางคนและตำรวจมีส่วนพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์และต้องการสังหารตน"
การรายงานข่าวของเดอะการ์เดี้ยน ทำให้คนในรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติขณะนั้นเกิดอาการไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด โดยพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกมาตอบโต้ว่า “ท่านไปอ้างว่าท่านทำงานเยอะ คดีเยอะ ศัตรูเยอะ แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับโจรมาตลอดชีวิต ผมเองก็จับโจรมาเยอะก็ยังเดินลอยหน้าลอยตาได้ ไม่เห็นมีใครมายิงผมเลย … ผมรับราชการมาทั้งชีวิต เพิ่งเคยเห็นตำรวจลี้ภัย เคยเห็นแต่นักการเมืองลี้ภัย เพิ่งเคยเจอครั้งนี้ที่ขอลี้ภัย ตกใจเหมือนกัน”
อีกครั้งหนึ่งก็ให้สัมภาษณ์ว่า การออกมาเคลื่อนไหวของพลตำรวจตรีปวีณ จะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือไม่ หรือเป็นการจงใจทำลายประเทศ "การทำแบบนี้ไม่รู้ว่าเป็นการทำลายประเทศหรือเปล่า ที่ออกมาให้ข่าวกับสื่อต่างประเทศลักษณะนี้ว่ามีทหารเลว ตำรวจเลว"
ด้านอดีตผู้บังคับบัญชาอย่าง พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ขณะนั้น กล่าวว่าการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ปวีณสร้างความเสื่อมเสียต่อตำรวจและประเทศไทยอย่างมาก ในฐานะผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมองว่า พล.ต.ต.ปวีณ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่มีวินัยในการทำงานและไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงได้ปฏิเสธที่จะตอบรับให้เป็นรอง ผบช.ภ.๘ เนื่องจากมีปัญหาด้านการปกครอง
ส่วน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกขณะนั้นออกมาโต้ว่าการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ปวีณ ว่าเป็นข้อมูลที่ใช้ความรู้สึกตัดสิน ไม่มีข้อเท็จจริงที่จับต้องหรือพิสูจน์ได้ ซึ่งการให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจตรีปวีณ อาจเกิดจากความไม่พอใจส่วนตัวแล้วอาศัยประเด็นดังกล่าวตีรวนหรือไม่
นายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกในเวลาต่อมาว่า ขอให้ พล.ต.ต.ปวีณ กลับมา แล้วบอกว่าใครเป็นผู้ข่มขู่ ตนจะจับมาดำเนินคดี ไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหนก็จะถูกลงโทษให้หมด ใครผิดหรือถูก ตนไม่รู้ ต้องมาตรวจสอบกันก่อน แล้วยังมีความรักชาติหรือไม่ เกิดมาในแผ่นดินนี้ ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็บอกกับสื่อคล้ายกับพล.อ.ประยุทธ์ว่า ถ้า พล.ต.ต.ปวีณคิดว่าตนเองบริสุทธิ์ ก็ขอให้กลับมาสู้คดี
ชีวิตดังต้นหญ้าในทุ่งกว้างที่ต้องลมพายุใหญ่ แต่ไม่มีใครสามารถช่วยเขาได้ ทำให้ พล.ต.ต.ปวีณเก็บกลืนความเจ็บปวด ใช้ชีวิตในสถานะผู้ลี้ภัยอยู่เงียบ ๆ ที่ออสเตรเลียซึ่งเขาเล่าว่า “ผมต้องใช้ชีวิตเหมือนผู้ลี้ภัย ต้องมาเรียนภาษา เหมือนคนซีเรีย เลบานอน หรือเหมือนคนพม่า ต้องเรียน หางานทำเลี้ยงชีพ ผมไม่รู้ตัวมาก่อน ภาษาก็ไม่ได้ ทรัพย์สินก็ไม่มี”
วันเวลาที่ผันเปลี่ยนทำให้อดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดแวดวงชั้นสูงและบอกให้เขาลาออกและหนีไปอยู่เงียบ ๆ เมื่อเกือบ7 ปีที่แล้วจะประสบวิบากกรรมในกาลต่อมาด้วยการถูกลงโทษกล้อนผมและคุมขังในสถานที่บางแห่งจนข่าวคราวหายเข้ากลีบเมฆจนถึงทุกวันนี้ ส่วน พล.ท.มนัส คงแป้น ก็เสียชีวิตในเรือนจำกลางปี 2564 ด้วยสาเหตุที่กรมราชทัณฑ์แจ้งว่าหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งเรื่องนี้ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักสื่อสารมวลชนที่เคยถูกคุมขังด้วยกฏหมายอาญามาตรา 112 และพบกับ พล.ท.มนัสในช่วงหนึ่งเล่าว่า ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่ห้องหมายเลข 11 แดน 1 เรือนจำพิเศษกรุงเทพพล.ท.มนัส คงแป้น เป็นนักโทษรายสำคัญ มีสุขภาพแข็งแรงมาก กินอาหารสุขภาพจำพวกปลา ผัก ผลไม้ อารมณ์ดี และออกกำลังกายด้วยการวิ่งสม่ำเสมอ ไม่มีวี่แววจะเจ็บป่วย จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ขณะอายุ 65 ปี
“ครั้งหนึ่งขณะที่นั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน แกเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่ พล.ต.ต.ปวีณ กำลังรวบรวมพยานหลักฐานสาวไปถึงคนสำคัญระดับสูงที่เกี่ยวข้องค้ามนุษย์โรฮิงยา แกได้รับคำสั่งให้นำกำลังทหารจำนวนหนึ่ง เพื่อจะไปอุ้ม พล.ต.ต.ปวีณ ทีมอุ้มไปถึงหน้าบ้านแล้วแต่ปวีณหลบหนีได้ทัน เรื่องนี้ จริงเท็จประการใด ขอให้ ส.ส.โรม สอบถามเรื่องนี้เพิ่มเติมจากปวีณแล้วสาวลึกต่อไปอีกว่า ใครสั่งการ มนัส คงแป้น ส่งกำลังทหารที่เป็นทีมไปอุ้มปวีณ”
การถูก ส.ส.รังสิมันต์ โรม นำเรื่องราวมาอภิปรายต่อสภาจนทำให้สังคมหันกลับมาใส่ใจ รับรู้ถึงความอยุติธรรมที่ได้รับ ทำให้ พล.ต.ต.ปวีณบอกว่าเหมือนตนเองได้รับความยุติธรรมกลับมาครึ่งหนึ่งแล้ว
“ถึงเวลานี้ผมรู้สึกได้รับความเป็นธรรมกลับมาครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งหนึ่งขาดหายไป เสียดาย หากวันนั้นประเทศไทยมีประชาธิปไตยแท้จริง มีนายกฯ และผู้บริหารทุกระดับที่อยากให้ประเทศใสสะอาด มีความซื่อสัตย์ กล้าหาญ ให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างเที่ยงตรงเหมือนนานาอารยประเทศ ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปอย่างสุดทาง ชีวิตราชการของผม ความสามารถของผม ประสบการณ์ของผม มั่นใจว่าจะสาวไปถึงปลาตัวใหญ่อีกหลายตัวแน่นอน”
น่าเสียดาย ที่ไม้ซีกอย่างเขาไม่อาจยืนหยัดต่อสู้เพื่อจับปลาใหญ่ดั่งที่กล่าวไว้ได้ ปมปัญหาอีกอย่างอยู่ในถ้อยแถลงที่เขาพูดกับพี่น้องร่วมเลือดสีกากีหลายคราวว่า
“วัฒนธรรมบ้า ๆ ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไม่เคยสอน ไม่เคยบรรจุไว้ให้ตามประจบสอพลอผู้มีอำนาจ เพราะเมื่อใดการแต่งตั้งตำรวจยังเต็มไปด้วยความอยุติธรรม เมื่อนั้นประชาชนและสังคมจะหาความสงบสุขไม่ได้”
“ผมเป็นตำรวจมา 30 กว่าปีผ่านอะไรมามาก ถามว่า กลัวโจรไหม ตำรวจต้องไม่กลัวโจร และผมไม่เคยคบโจร โจรต้องเป็นศัตรูกับตำรวจ แต่การสู้กับคนไม่มีคุณธรรม มีสมัครพรรคพวกที่เห็นตัวและไม่เห็นตัวเป็นร้อย ผมว่าเกินกำลังของผม ยิ่งสถานการณ์แบบนี้”
สิ่งที่ระบายไว้ครั้งนั้น เขามองว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติล้มเหลว เพราะเหตุนี้ด้วยคนวิ่งเต้น คนมีพวกไม่มีความสามารถ ไม่ทำงานกลับได้ดี ส่วนคนทำงานทุ่มเท มีความสามารถกลับมีภัย
“มันเป็นแบบนี้ ตำรวจดี ๆ จึงท้อแท้ ผมว่ ถ้าจะปฏิรูปตำรวจให้ปฏิรูปหัวใจกันก่อน อย่าเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่พวกกู กูจับ ถ้าเป็นพวกกูไม่จับแบบนี้คนรับกรรม คือ ประชาชนครับ เมื่อได้ตำรวจไม่ดีลงพื้นที่ประชาชนก็แย่เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย คนพวกนี้ปล้นตำแหน่งเขามาทั้งนั้น ทั้งไม่ควรมีสิทธิ์ เติบโตมาอย่างไม่มีความสามารถเพราะระบบแบบนี้ไง ขอให้มีช่อง มีพรรคพวก คนไม่มีพวกแม้จะดีแสนดีก็ไปไม่รอดตายอย่างเดียว”
การปฏิรูปองค์กรตำรวจให้คนที่มีความสามารถได้เติบโตมีที่ยืน สิ่งนั้นจะคืนเกียรติและศักดิ์ศรีให้นายตำรวจผู้กล้ายอมหักไม่ยอมงออย่างเขา คือส่วนหนึ่งของความยุติธรรมส่วนที่เหลือที่ พล.ต.ต.ปวีณต้องการเช่นกัน ส่วนการได้กลับบ้านเพื่อคืนสู่อ้อมอกคนที่รัก ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ เพราะกำแพงที่กั้นไว้คืออำนาจรัฐที่ยังเป็นคนกลุ่มเดิมที่เขาต้องหลบลี้หนีภัยมา ลำพังเพียงแค่อดีตนายตำรวจวัยเกษียณคนเดียวอาจสู้ไม่ไหว เขาจึงเรียกร้องให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันเป็นไผ่กอใหญ่แทนที่จะเป็นต้นไม้ในทุ่งหญ้าแบบที่เขาเคยเผชิญ สะท้อนผ่านคำพูดที่เขาทิ้งท้ายไว้
"การทำหน้าที่แต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือสื่อมวลชน สิ่งที่ต้องมีก็คือจริยธรรม ผมมองว่า สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถขัดขวางได้คือความกล้าหาญ ถ้าเรากลัว มันก็ทำหน้าที่ไม่ได้ ถ้าพี่น้องสื่อมวลชนตำรวจ ประชาชน กล้าหาญ ยึดถือในความถูกต้อง ทำหน้าที่อย่างพร้อมเพรียง การสู้กับผู้มีอำนาจก็เป็นไปได้”
เรื่อง: กัณฐ์ นครสุขาลัย
ภาพ: NationPhoto
อ้างอิง:
ถ้าจะปฏิรูปตำรวจให้ปฏิรูปหัวใจกันก่อน โดย เขม่าปืน -16 เมษายน 2561 https://www.cops-magazine.com/topic/11463/
เจออีก70หลุมศพ ฝังโรฮิงญา นสพ.ไทยรัฐ 6 พ.ค. 2558 0 https://www.thairath.co.th/news/local/497090
ข่าวดังข้ามเวลา วันจันทร์ที่ 28 ก.ย. 2558 ตอน “เงื่อนสังหาร” https://youtu.be/ASo7n41tO-Q
'จักรทิพย์'ไม่แคร์'ปวีณ'ลาออก ย้ำไม่ใช่สาเหตุจับทหารยศใหญ่เอี่ยวค้าโรฮีนจา ไทยรัฐออนไลน์ 9 พ.ย. 2558 https://www.thairath.co.th/news/local/538182
ผบ.ตร.เสียดาย “ปวีณ” ลาออก ไม่มีปัญหาพร้อมคุย 24 ชม. 10 พ.ย. 2558 https://mgronline.com/crime/detail/9580000125166
ผบ.ทบ.ไม่สนิท 'พล.ท.มนัส' เพื่อนตท.รุ่น16 20 ก.ค. 2560 https://www.bangkokbiznews.com/politics/765404
เปิดเอกสารลี้ภัยไปออสเตรเลียของ พล.ต.ต.ปวีณ https://www.moveforwardparty.org/.../paween_pongsirin...
Live เปิดเบื้องหลัง #ตั๋วช้าง #ค้ามนุษย์ https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/videos/2017820785051856
'ปวีณ'ปัดตอบ'จักรทิพย์'ทบทวนใบลาออก ยืนยันทำคดี'โรฮีนจา'จนเสร็จสิ้น ไทยรัฐออนไลน์ 11 พ.ย. 2558 https://www.thairath.co.th/content/538686
ย้อนคดี 'พล.ท.มนัส คงแป้น' ปัญหา 'ค้ามนุษย์-แรงงานเถื่อน' แค่ ลูบหน้าปะจมูก 27 ธ.ค. 2563 https://www.bangkokbiznews.com/politics/914328
ปม (ลึก) 4 ปี "พล.ต.ต.ปวีณ" ลี้ภัยหนีจากไทย เจอตอใหญ่ "ใคร" ค้ามนุษย์ ไทยรัฐออนไลน์ 18 เม.ย. 2562 https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1547058
"โรม" เปิดคำให้การ "พล.ต.ต.ปวีณ" ขอลี้ภัย โยง "ประวิตร" ไม่ปกป้อง "ขรก.น้ำดี" 18 ก.พ. 2565 https://www.bangkokbiznews.com/politics/989168
พล.ต.ต.ปวีณขอลี้ภัยไปออสซี่-โดนตามฆ่า พิษสอบคดีค้าโรฮิงญา นสพ.มติชน ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ หน้า ๑
"ติง พล.ต.ต.ปวีณ 'บิ๊กตู่' ชี้อย่าคิดเป็นซุปเปอร์แมน" ข่าวสด. ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘. หน้า ๑
"ผบ.ตร.โต้ 'ปวีณ'ขอลี้ภัยออสซี่ ผบช.ภ.๘จวกหัวดื้อ-ไม่มีวินัย" มติชน.๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ หน้า ๑๒