The Scala : บทบันทึกโมงยามแห่งการเปลี่ยนแปลงของสกาลา ก่อนวันจากลา

The Scala : บทบันทึกโมงยามแห่งการเปลี่ยนแปลงของสกาลา ก่อนวันจากลา
สยาม ลิโด สกาลา ช่วงปลายทศวรรษ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 ที่มีการพัฒนาที่ดินย่าน ‘สยามสแควร์’ ให้เป็นแหล่งการค้าแนวราบของกรุงเทพฯ โรงภาพยนตร์โรงเดี่ยว (standalone) ระดับ ‘เรือธง’ ของบริษัท เอเพ็กซ์ จำนวน 3 โรงได้ถือกำเนิดขึ้นในย่านนี้ โดยมีพี่ใหญ่สุดคือโรงภาพยนตร์สยาม น้องรองคือโรงภาพยนตร์ลิโด และน้องสุดท้องคือโรงภาพยนตร์สกาลา (Jablon, 2019, pp. 93-107) โรงภาพยนตร์สยามเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2509 ตั้งอยู่บริเวณริมถนนพระราม 1 เดิมจะใช้ชื่อว่าโรงภาพยนตร์จุฬา ตามชื่อของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเจ้าของที่ดิน แต่ได้รับการแนะนำจากหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ใช้ชื่อ ‘สยาม’ แทน ซึ่งต่อมาชื่อนี้ก็กลายเป็นชื่อย่าน ‘สยามสแควร์’ ไปในที่สุด โรงภาพยนตร์แห่งนี้บุกเบิกการฉายภาพยนตร์ด้วยระบบซีเนรามา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการฉายภาพยนตร์แบบจอกว้าง (widescreen) ที่ทันสมัยในช่วงเวลานั้น รวมถึงเป็นโรงแรก ๆ ที่ติดตั้งบันไดเลื่อนเพื่อพาผู้ชมเข้าสู่โรงภาพยนตร์ที่ชั้นสองของอาคาร สองปีต่อมา ในวันที่ 27 มิถุนายน 2511 เอเพ็กซ์เปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ลิโดเป็นโรงที่สองของย่าน ห่างจากโรงภาพยนตร์สยามประมาณ 100 เมตร สร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกัน การมาของลิโดช่วยเร่งให้ย่านสยามเจริญเติบโต กลายเป็นแหล่งช็อปปิงและศูนย์รวมความบันเทิงแห่งยุคสมัย ส่วนสกาลา ผู้ได้ชื่อว่าน้องเล็กสุด แต่โอ่อ่าอลังการและเป็นที่จดจำในเชิงสถาปัตยกรรมที่สุด ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ตั้งอยู่บริเวณต้นซอยสยามสแควร์ 1 ถูกสร้างในรูปแบบวังภาพยนตร์ (movie palace) มีผังของโรงที่ต่างจากสยามและลิโดอย่างเห็นได้ชัด ตัวอาคารออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโคผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ยุค 1960 ประดับประดาด้วยเครื่องตกแต่งที่เป็นสัญลักษณ์ของโรง ทั้งเสาคอนกรีตโค้ง ดาวสีทองขนาดใหญ่ที่ออกแบบจากกงล้อฟิล์มบนเพดานห้องโถง โคมระย้ายักษ์ที่คอยต้อนรับผู้มาเยือนบริเวณชั้นลอยของบันไดทางขึ้น และประติมากรรมนูนต่ำ ‘เอเชียฮอลิเดย์’ อันเลื่องชื่อที่ติดตั้งเหนือประตูทางเข้าโรง ขณะที่ระบบฉายภาพยนตร์ของสกาลาสามารถรองรับการฉายภาพยนตร์ขนาด 70 มิลลิเมตร ที่ทำให้ได้ภาพขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของภาพยนตร์ขนาดมาตรฐาน 35 มิลลิเมตร ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น ประกอบกับการออกแบบความลาดเอียงของที่นั่งที่ทำได้อย่างลงตัว ปราศจากมุมรบกวนสายตาขณะชมภาพยนตร์ ทำให้สกาลากลายเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีคุณภาพและอยู่ในระดับนำของประเทศ เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยดึงดูดผู้คนเข้าสู่ย่านสยามแสควร์ ทั้งสามโรงดำเนินกิจการผ่านวันเวลาและความเปลี่ยนแปลงมาหลายทศวรรษ อุปสรรคสำคัญที่สยาม-ลิโด-สกาลาต้องเผชิญเช่นเดียวกันกับโรงภาพยนตร์โรงเดี่ยวแห่งอื่นในประเทศ คือพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตั้งแต่การขยายตัวของโทรทัศน์และสื่อภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมสามารถชมภาพยนตร์จากที่บ้านได้ ทั้งวิดีโอเทป วีซีดี ดีวีดี บลูเรย์ รวมถึงระบบสตรีมมิง เรื่อยไปถึงการเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ที่กระจายตัวตามห้างสรรพสินค้า ทำให้ผู้ชมเข้าถึงได้ง่ายและมีตัวเลือกในการรับชมภาพยนตร์ในช่วงเวลาหนึ่งเมื่อเทียบกับโรงภาพยนตร์โรงเดี่ยว อุปสรรคดังกล่าวทำให้เอเพ็กซ์พยายามปรับตัวให้สยาม-ลิโด-สกาลาอยู่รอด งานของ Philip Jablon บันทึกไว้ว่า ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เอเพ็กซ์เริ่มนำภาพยนตร์อิสระจากหลากหลายประเทศมาฉายในโรงภาพยนตร์สยามด้วยภาษาต้นฉบับเพื่อดึงดูดใจคนรักภาพยนตร์เชิงลึก โรงภาพยนตร์ลิโดที่หลังจากถูกเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2535 ก็ได้รับการรีโนเวตให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ 3 โรงทำให้มีจำนวนภาพยนตร์และรอบฉายเพิ่มขึ้น ส่วนสกาลาก็มีการขยายเวทีบริเวณหน้าจอและเปิดให้บุคคลภายนอกเช่าจัดอีเวนต์ต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปเพื่อความอยู่รอดของโรงและต่อสู้กับบรรดาโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ดังกล่าวจบลงที่ความพ่ายแพ้ของเอเพ็กซ์ สยาม-ลิโด-สกาลาในปัจจุบันปิดกิจการไปเป็นที่เรียบร้อย สยามถูกแทนที่ด้วยห้างสรรพสินค้าสยามสแควร์วันหลังถูกเพลิงไหม้ช่วงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี พ.ศ. 2553 ลิโดปิดกิจการในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ก่อนเปลี่ยนผู้เช่าพัฒนาที่ดินและรีโนเวตเป็นลิโต้คอนเน็ค ส่วนสกาลาปิดกิจการเมื่อปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากเอเพ็กซ์ไม่สามารถรับมือกับภาวะขาดทุนที่ถูกเร่งปฏิกิริยาโดยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ โดยปัจจุบันตัวอาคารที่มีคุณทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมได้ถูกรื้อถอนจนหมดสิ้น เพื่อเตรียมสร้างอาคารอเนกประสงค์ความสูง 20 ชั้นตามความประสงค์ของผู้เช่าที่ดินรายใหม่ การยุติบทบาทของ สยาม-ลิโด-สกาลา ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดแห่งยุคสมัยของโรงภาพยนตร์โรงเดี่ยวในประเทศไทยที่เฟื่องฟูมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 โดยสมบูรณ์ การย้อนเวลากลับไปหาโรงภาพยนตร์ทั้งสามอีกครั้งทำได้เพียงการมอง ฟัง หรืออ่านมันผ่านสื่อต่าง ๆ สำหรับสื่อภาพยนตร์เอง ก็มีอยู่หลายเรื่องเช่นกันที่บันทึกภาพของสยาม-ลิโด-สกาลาไว้ในฐานะพื้นหลังของเรื่อง แต่ก็มีอย่างน้อย 1 เรื่องที่กล่าวถึงโรงทั้งสามในฐานะตัวละครหลัก นั่นคือ The Scala ที่ปัจจุบันกำลังเผยแพร่ทาง Netflix เดอะสกาลา The Scala เป็นภาพยนตร์สารคดีไทย พ.ศ. 2558 ความยาว 52 นาที กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ อำนวยการสร้างโดยสถานีโทรทัศน์เคบีเอสและเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ในโครงการ “Power of Asian Cinema” ที่มีจุดประสงค์เพื่อฉลองประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เอเชีย และฉลองครบรอบ 20 ปีของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน The Scala เล่าเรื่องของโรงภาพยนตร์ลิโดและสกาลา ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2550 ที่ชะตากรรมของทั้งสองโรงกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย เนื่องจากมีกระแสในขณะนั้นว่าเอเพ็กซ์จะไม่ต่อสัญญาเช่าที่ดินกับทางจุฬาฯ เนื่องจากปัญหาการขาดทุนและไม่สามารถรับภาระค่าเช่าที่ดิน และจะนำไปสู่การยุติกิจการในที่สุด (ส่วนโรงภาพยนตร์สยามในขณะนั้นถูกแปรรูปเป็นสยามสแควร์วันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว) ภาพยนตร์เล่าเรื่องผ่านบทสัมภาษณ์ ภาพบันทึกการทำงาน และกิจวัตรประจำวันของบุคลากรเก่าแก่ของลิโดและสกาลาจำนวน 4 คน โดยแทนแต่ละคนด้วยตำแหน่งสั้น ๆ ได้แก่ คุณประชุม วิเศษชูชาติ (The Caretaker) ชายจากต่างจังหวัดที่เข้าเมืองกรุงมาทำงานในสกาลาตั้งแต่ยุครุ่งเรือง ผู้ดูแลงานตั้งแต่สรุปบัญชีรายรับรายจ่าย ต้อนรับผู้ชม ไปจนถึงเก็บขยะในโรงภาพยนตร์ คุณพวงทอง ศิริวรรณ (The Manager) ผู้จัดการโรงภาพยนตร์หญิงผู้ใช้ชีวิตกับการบริหารสยาม-ลิโด-สกาลาและเป็นสักขีพยานแห่งการเปลี่ยนแปลงของโรงมากว่า 40 ปี คุณสมาน วัชรษิริโรจน์ (The Technician) ช่างเทคนิคผู้ดูแลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโรงและใช้ชีวิตอยู่บ้านน้อยกว่าโรงภาพยนตร์ และคุณสมปอง คงคาชาติ (The Projectionist) ช่างฉายภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคฟิล์มจนถึงยุคดิจิทัล ผู้รักการปั่นจักรยานเป็นชีวิตจิตใจ อย่างที่กล่าวไปแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอสกาลาและลิโดในช่วงบั้นปลาย ภาพที่เห็นและเรื่องที่ผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคนบอกเล่า จึงไม่ใช่การสรรเสริญความยิ่งใหญ่ในอดีต แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นความร่วงโรยของโรงทั้งสอง ขั้นบันไดขนาดใหญ่ที่ดูแข็งแกร่งแต่บิ่นแตกแล้วยังหาวัสดุอื่นมาเปลี่ยนไม่ได้ ผ้าม่านผืนใหญ่ที่ติดตั้งรอบผนังห้องชมภาพยนตร์อย่างสวยงามแต่ผู้ตัดเย็บคนสุดท้ายเสียชีวิตไปแล้ว หรือโคมระย้ารูปหยดน้ำยักษ์ที่คุณพวงทองเน้นย้ำกับพนักงานทุกคนในโรงว่าห้ามทำแตกระหว่างการทำความสะอาดประจำปีเด็ดขาด เพราะไม่สามารถหาอะไหล่มาแทนได้อีกแล้ว มุมหนึ่งได้ขับเน้นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสกาลาที่หาอะไรมาเทียบไม่ได้ แต่อีกมุมก็เปรียบเหมือนคนชราที่ต้องคอยประคับประคองด้วยความระมัดระวัง เพราะหากเสียหายจะหาสิ่งใดมาซ่อมสร้างทดแทนไม่ได้อีก นอกจากนั้น The Scala ยังแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางด้านงบประมาณและช่วงวัยของบุคลากรของทั้งสองโรงผ่านงานประจำอย่างการทำความสะอาดผ้าคลุมเก้าอี้จำนวนเกือบพันตัวด้วยการซักมือ ที่คุณประชุมกล่าวว่าจำเป็นต้องทำเองเพราะบริษัทไม่มีเงินพอจ้างคนมาซักให้ และการฉายภาพยนตร์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้คุณสมปอง นักฉายภาพยนตร์เก่าแก่ที่ยอมรับว่าตนสนุกกับการฉายระบบด้วยฟิล์มมากกว่า และไม่ชำนาญการฉายแบบดิจิทัลเท่าคนรุ่นหลัง ต้องวิ่งวุ่นไปมาเพราะเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค อย่างไรก็ตาม The Scala ยังนำเสนอภาพแห่งความหวังของโรงภาพยนตร์ทั้งสอง ผ่านโครงการการจัดทำกรอบไฟวิ่งล้อมป้ายโรงภาพยนตร์ลิโดของคุณสมาน ที่หวังว่าจะช่วยดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้คนกลับมายังโรงภาพยนตร์อายุเกือบ 50 ปี (ในขณะนั้น) มากขึ้น รวมถึงฉากเล็ก ๆ ที่ทรงพลังอย่าง ‘พิธีกรรม’ การถอดล้างโคมระย้าสกาลาประจำปี และภาพแสงไฟจากโคมระย้าหลังทำความสะอาดเสร็จสิ้น ก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึกถึงความพยายมของโรงในการบำรุงรักษาจิตวิญญาณบางอย่างเอาไว้ เพื่อให้ทุกอย่างดำรงอยู่ต่อไปไม่ว่าสถานการณ์ของโรงจะเป็นอย่างไรก็ตาม ลา สกาลา The Scala ปิดท้ายเรื่องด้วยคำพูดของคุณพวงทองที่ยอมรับว่า ไม่ช้าก็เร็วกิจการที่เธอดูแลมากว่า 40 ปีก็จะมาถึงจุดสิ้นสุด เพราะการเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์และพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เธอให้สัมภาษณ์ว่า เธอได้รับสัญญาณเตือนตั้งแต่การกำเนิดของวิดีโอเทปที่ทำให้ผู้ชมสามารถชมภาพยนตร์ในจอโทรทัศน์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมาพึ่งพาจอขนาดใหญ่ที่โรงภาพยนตร์อีก สัญญาณนี้ถูกเร่งให้ชัดเจนขึ้นไปอีกเมื่อระบบสตรีมมิงเข้ามาพิสูจน์ว่า คนเราสามารถชมภาพยนตร์จากสิ่งเล็กกว่าโทรทัศน์ได้ และจะชมเมื่อไรที่ไหนก็ได้ นั่นคือโทรศัพท์มือถือ เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่โรงภาพยนตร์โรงเดี่ยวที่เธอดูแลก็จะค่อย ๆ สูญสลายไปตามกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลง หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี การคาดการณ์ดังกล่าวก็เป็นจริง ลิโดประกาศปิดกิจการในปี พ.ศ. 2561 และตามมาด้วยสกาลาในปี พ.ศ. 2563 ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ในวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2563 โรงภาพยนตร์สกาลา ร่วมกับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดฉายภาพยนตร์โปรแกรมพิเศษเป็นการส่งท้ายภายใต้ชื่อ “La Scala” โดยมี The Scala เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ถูกคัดเลือกให้มาฉาย ร่วมกับ Blowup (Michelangelo Antonioni, 1966) นิรันดร์ราตรี (วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย, 2560) และ Cinema Paradiso (Giuseppe Tornatore, 1988) สกาลาเปล่งแสงไฟสว่างไสวในโรงเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2563 เพื่อให้ผู้คนเข้าไปเก็บภาพบรรยากาศ ชมสถาปัตยกรรมที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 50 ปี และใช้เวลาในการร่ำลา ก่อนไฟทุกดวงจะดับลงเวลาประมาณ 21.30 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม เพื่อจากลากันตลอดกาล การจากไปของสกาลา ทั้งในฐานะของโรงภาพยนตร์และอาคารที่มีคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรม ได้กระตุ้นให้สังคมบางส่วนออกมาเคลื่อนไหวและตั้งคำถามเกี่ยวกับทิศทางการจัดการอาคารเก่า รวมถึงการจัดการพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางวัฒนธรรมของสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน รวมถึงกรุงเทพมหานครว่าควรจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะชนอย่างแท้จริง ทั้งในด้านการศึกษาและการใช้สอย แทนการแปรรูปเพื่อมุ่งแสวงหากำไรเท่านั้นหรือไม่ ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันที่สกาลาไม่เหลือโครงสร้างเดิมให้เห็นอีกแล้ว แม้ว่าผู้เช่ารายใหม่อย่างบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จะกล่าวว่าตนอาจสร้างสกาลากลับขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิมก็ตาม ประเด็นนี้ยังคงต้องผ่านการถกเถียงและต่อสู้กันต่ออีกยาวนาน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าว The Scala ในวันนี้ได้ทำหน้าที่เป็นวัตถุพยานชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่บันทึกเรื่องราวของโรงภาพยนตร์สกาลาและลิโดเอาไว้ขณะที่มันยังมี ‘ชีวิต’ อยู่ ให้ผู้ชมที่สนใจได้ศึกษาสิ่งที่เรียกว่าโรงภาพยนตร์โรงเดี่ยวที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวละครสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทย ชีวิตของผู้คนที่ขับเคลื่อนโรงภาพยนตร์เหล่านั้น และความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ไม่อาจเลี่ยง เรื่อง : พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล ภาพ : สกาลาระหว่างช่วง 3-5 กรกฎาคม 2563 ก่อนปิดตัว ถ่ายโดย The People อ้างอิง : Jablon, P. (2019). Thailand's Movie Theatres: Relics, Ruins and the Romance of Escape. River Books. มติชนออนไลน์. (1 พฤศจิกายน 2564). 'เซ็นทรัล' เปลี่ยนใจทุบทิ้ง 'โรงหนังสกาลา' ผุดโรงแรม-ห้าง-ออฟฟิศ 5 พันล้าน. https://www.matichon.co.th/economy/news_3020760 มติชนออนไลน์. (2 พฤศจิกายน 2564). เซ็นทรัล จ่อโคลนนิ่ง 'สกาลา' ยันสร้างใหม่เหมือนเดิมเป๊ะ ลุยทุบตึกแถวอีก 79 คูหา ก.พ. ปีหน้า. https://www.matichon.co.th/economy/news_3022943 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). (4 กรกฎาคม 2563). THE SCALA. https://fapot.or.th/main/cinema/view/538 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). LA SCALA ลาสกาลา. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2565, จาก https://www.fapot.or.th/main/cinema/program/25 อาทิตย์ อัสสรัตน์ (ผู้กำกับ). (2558). The Scala [ภาพยนตร์]. Pop Pictures.