ประวัติศาสตร์ด้านมืดของ ‘กล้วย’ ที่เปลี่ยนชะตากรรมโลก
สำหรับหลายคน ‘กล้วย’ ก็คือกล้วย ผลไม้สีเหลืองทองรสชาติหวานอร่อย แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่ากล้วยมีประวัติศาสตร์ด้านมืดที่เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบขององค์กรขนาดใหญ่ การใช้แรงงานที่ไม่ถูกกฎหมาย และเทคนิคต่างๆ เพื่อเพิ่มความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งนำไปสู่การควบคุมอำนาจและมีอิทธิพลเหนือรัฐบาล จนสร้างความเสียหายและเปลี่ยนชะตากรรมของหลาย ๆ ประเทศในโลกนี้ไปตลอดกาล
จุดเริ่มต้นความนิยม
กล้วยเป็นผลไม้ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลไม้ที่ปลูกกันทั่วไปตามบ้านเรือน เพื่อนำมาทำอาหารและขนมกันมานานแล้ว จนเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนที่กลุ่มประเทศทางยุโรปกำลังไล่ล่าอาณานิคม นักเดินเรือชาวโปรตุเกสได้นำกล้วยเข้ามาสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก แต่ตอนนั้นยังไม่ได้แพร่หลายในวงกว้างนัก
กระทั่งในปี 1870 นักเดินเรือชาวอเมริกัน ‘โลเรนโซ โดว์ เบเคอร์’ (Lorenzo Dow Baker) ได้เดินทางกลับมาจากประเทศจาเมกาพร้อมกับกล้วย ซึ่งชาวอเมริกันตกหลุมรักผลไม้ชนิดนี้มาก ทำให้ธุรกิจการนำเข้ากล้วยมาอเมริกาเริ่มขึ้นแบบเงียบ ๆ
จนงานเวิลด์แฟร์ที่จัดขึ้นเมื่อปี 1876 ในฟิลาเดลเฟียที่คนจากทุกหนแห่งมารวมตัวกันเพื่อโชว์เทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้โลกได้เห็น ปีนั้นผู้ร่วมงานอย่าง ‘อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์’ (Alexander Graham Bell) ที่ได้ประดิษฐ์นวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่างโทรศัพท์ก็ได้แสดงในงานด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่คนให้ความสนใจไม่น้อยไปกว่าโทรศัพท์ของเบลล์ก็คือกล้วย (ใช่ครับ!) ผลไม้นำเข้าที่รสชาติแปลกใหม่ กลายเป็นสินค้าที่ถูกอกถูกใจใครหลายต่อหลายคน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมนำเข้ากล้วยมายังอเมริกาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนท่าเรือของเมือง New York City ช่วงนั้นถูกเรียกว่า ‘Banana Docks’ เพราะมีการนำเข้ากล้วยจำนวนมหาศาลเพื่อตอบรับความต้องการของตลาด
ความนิยมของกล้วยที่เกิดขึ้น ได้สร้างปัญหาตามมาไม่น้อยในสังคม เพราะเมื่อคนสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของและหยิบมากินได้กับทุกอย่างและทุกที่ ทำให้คนกินแล้วทิ้งเปลือกเกลื่อนพื้นเป็นอันตรายต่อคนที่เดินไปมา (นี่เป็นต้นกำเนิดของมุกตลกในการ์ตูนที่เหยียบเปลือกกล้วยแล้วลื่นเช่นกัน) ซึ่งสถานการณ์แย่มากถึงขนาดที่ว่า ต้องออกกฎหมายปรับคนที่ทิ้งเปลือกกล้วยลงพื้นอย่างจริงจัง
El Pulpo (Banana Octopus)
ในมุมของธุรกิจ กล้วยกลายเป็นสินค้านำเข้าที่ธุรกิจได้รับความสนใจมากขึ้น ของมีไม่พอขาย จนคนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจว่า มันถึงเวลาแล้วที่จะหาผลประโยชน์จากความต้องการในตลาดตรงนี้ให้เยอะที่สุด และด้วยกล้วยเป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย ฉะนั้นการขนส่งจากประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรมาถึงนิวยอร์กโดยไม่เกิดความเสียหายจึงเป็นเรื่องที่ลำบากและใช้เงินไม่น้อย ดังนั้นวิธีที่จะสร้างผลกำไรได้มากคือ ต้องผลิตกล้วยออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในปี 1899 จึงมีการรวมตัวกันของบริษัทนำเข้าผลไม้ (โดยเฉพาะกล้วย) และกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ชื่อว่า United Fruit Company
แผนการของ United Fruit Company คือการควบคุมการผลิตกล้วยตั้งแต่แหล่งผลิต ควบคุมทุกอย่างตั้งแต่ค่าแรงที่จ่ายให้กับคนสวน บ้านพักที่อยู่อาศัย วันหยุดพัก สิ่งของที่พวกเขาใช้ ไปจนถึงการขนส่งด้วยการสร้างทางรถไฟเพื่อขนส่งกล้วยให้ไปยังท่าเรือให้เร็วที่สุด แถมยังมีเรือขนส่งเป็นของตัวเอง โดยต้องการเข้าไปควบคุมในพื้นที่แถบอเมริกากลาง ทางใต้ของอ่าวเม็กซิโกไปถึงพรมแดนระหว่างปานามากับโคลอมเบีย เพราะกล้วยสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ประเทศเหล่านี้ แถมตอนนั้นยังมีโปรเจกต์สร้าง ‘Panama Canal’ คลองปานามาที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกเข้าด้วยกัน (ที่จริงแล้วโปรเจกต์นี้เริ่มโดยฝรั่งเศสแต่ทำไม่สำเร็จ และอเมริการับช่วงต่อในปี 1904)
องค์กรนี้เริ่มต้นเทเงินจำนวนมหาศาลสำหรับลงทุนทุกอย่างในประเทศกัวเตมาลา ไม่นานก็เป็นบริษัทใหญ่ที่สุดของประเทศ สามารถถือครองพื้นที่เพาะปลูกในประเทศได้กว่า 1/5 หรือ 20% รวมถึงเป็นเจ้าของเส้นทางเดินรถไฟและสถานีวิทยุทั้งหมดของประเทศด้วย ถึงขั้นว่าในปี 1901 รัฐบาลกัวเตมาลาได้ว่าจ้างให้ United Fruit Company มาบริหารบริการไปรษณีย์ของประเทศด้วย แสดงให้เห็นว่าบริษัทนี้เริ่มมีอำนาจไม่ต่างจากรัฐบาลหนึ่งเลย
ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้พวกเขาขยายการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในอเมริกากลางอย่างโคลอมเบีย คอสตาริกา นิการากัว ฮอนดูรัส และปานามาในลักษณะเดียวกัน ทั้งซื้อที่ดิน สร้างรางรถไฟ และควบคุมทุกอย่าง รวมไปถึงค่าแรงที่คนสวนแทบจะไม่ได้อะไรเลย เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้จ่ายค่าแรงเป็นเงิน แต่พวกเขาให้ชาวสวนกล้วยทำงานแลกกับคูปองให้นำไปแลกเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่ร้านค้าที่ทางบริษัทตั้งขึ้นมา ไม่พอยังมีธุรกิจเดินเรือของตัวเองชื่อว่า The Great White Fleet เรือสีขาวขนาดใหญ่กว่า 93 ลำ เพื่อขนส่งกล้วยระหว่างประเทศในอเมริกากลางไปยังนิวยอร์ก แถมเปิดให้คนทั่วไปซื้อตั๋วสำหรับเดินทางระหว่างประเทศเหล่านี้ด้วย
อิทธิพลของ United Fruit Company แพร่กระจายสู่แทบทุกประเทศในอเมริกากลาง ถึงขั้นได้ฉายาอันเหมาะสมว่า El Pulpo คำศัพท์ภาษาสเปนที่แปลว่า ‘ปลาหมึกยักษ์’ เพราะตอนนี้อำนาจในมือกระจายไปทั่วทุกทิศทาง ทั้งที่ดิน ผลผลิต สินค้า ผู้คน ระบบขนส่ง รวมไปถึงหน่วยงานรัฐบาล จนประเทศเหล่านี้ถูกควบคุมอย่างเด็ดขาดโดยบริษัทขนส่งกล้วยจากประเทศสหรัฐอเมริกา จนได้ฉายาว่าเป็นรัฐกล้วยหรือ ‘Banana Republic’ ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกกล้วยเพื่อให้อยู่รอดนั่นเอง (ไม่แน่ใจว่าแบรนด์เสื้อผ้าทำไมถึงตัดสินใจใช้ชื่อนี้)
Bloody Bananas ประวัติศาสตร์มืด
ในปี 1911 ชาวสวนกล้วยในประเทศฮอนดูรัสรู้สึกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้นไม่ค่อยแฟร์สักเท่าไร จึงเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม ทาง United Fruit Company จึงใช้อำนาจในมือที่มีโค่นล้มรัฐบาลของ ‘มิเกล อาร์. เดวิลา’ (Miguel R. Davila) และผลักดัน ‘มานูเอล โบนียา’ (Manuel Bonilla) เข้ารับตำแหน่งแทน ซึ่งมานูเอลอนุญาตให้บริษัทฯ ทำธุรกิจต่อไปและได้รับการยกเว้นภาษีด้วย
ถึงตอนนี้รัฐบาลอเมริกาก็ทำตัวเป็นพี่ใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่บริษัทถูกขัดขวางการทำงาน หรือประเทศไหนในแถบนี้ดูแข็งข้อขึ้น รัฐบาลก็พร้อมจะเข้ามาแทรกแซงทันที (อย่างฮอนดูรัสมีการแทรกแซงทางทหารจากรัฐบาลอเมริกากว่า 7 ครั้งในช่วงปี 1903 - 1925 เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจ) แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเสียหายเท่านั้น
วันที่ 12 พฤศจิกายน 1928 ที่ประเทศโคลอมเบีย ชาวสวนกล้วยของบริษัท United Food Company รวมตัวกันหยุดงานเพราะอยากได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่เพียงพอ ไม่ทำงานหามรุ่งหามค่ำทุกวันตลอดทั้งปี และขอเป็นเงินจริง ๆ ไม่ใช่ทำงานแลกคูปองเหมือนที่ผ่านมา แน่นอนว่าบริษัทฯ ไม่พอใจและไม่ต่อรองกับแรงงานชาวสวนของพวกเขาด้วย แต่หันไปหารัฐบาลของอเมริกาให้จัดการเรื่องนี้
รัฐบาลอเมริกาได้ไปกดดันรัฐบาลของโคลอมเบียให้จัดการ ไม่งั้นจะส่งกองทัพทหารอเมริกาเข้าไปควบคุมสถานการณ์ ซึ่งรัฐบาลของโคลอมเบียตัดสินใจดูแลเรื่องนี้เอง แต่ชาวสวนกล้วยไม่พอใจเพราะเชื่อว่ารัฐบาลของพวกเขาจะเห็นด้วยกับ United Food Company และประท้วงต่ออย่างหนัก จนสถานการณ์ตึงเครียดถึงจุดแตกหักในเช้าวันที่ 6 ธันวาคม มีชาวสวนกว่า 1,500 คนมารวมตัวกันในจัตุรัสใจกลางเมือง กองทัพทหารโคลอมเบียสั่งให้ทุกคนกลับบ้าน แต่ไม่มีใครยอมกลับ สุดท้ายมีคำสั่งให้ยิง กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก และผู้หญิง (ตามหลักฐานไม่ได้ระบุว่าเท่าไร แต่อาจจะถึงหลักพันคน) เพียงเพราะบริษัทกล้วยแห่งหนึ่งไม่อยากเสียผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น
เรื่องราวอันโหดร้ายของอุตสาหกรรมกล้วยยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่าย ๆ ในปี 1950 ที่ประเทศกัวเตมาลา ตอนนี้ United Food Company สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำและเป็นเจ้าของที่ดินปลูกพืชในประเทศกว่า 50% โดยไม่เสียภาษีเลยด้วย ประธานาธิบดี ‘จาโคโบ อาร์เบนซ์’ (Jacobo Arbenz) ที่ได้รับการเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย อยากนำที่ดินบางส่วนที่บริษัทแห่งนี้เป็นเจ้าของแต่ไม่ได้ใช้เพื่อนำไปให้กับชาวบ้านที่ยากจนสำหรับดำรงชีพ เพาะปลูกและสร้างรายได้
แน่นอน United Food Company ไม่พอใจ แต่แทนที่จะตกลงกับรัฐบาลของกัวเตมาลาโดยตรง พวกเขาเลือกที่จะทำแบบเดิมคือไปหารัฐบาลของอเมริกามาจัดการเรื่องนี้ โดยว่าจ้างสื่อเพื่อสร้างข่าวปลอมเกี่ยวกับประธานาธิบดีอาร์เบนซ์ว่ามีความเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ และให้เผยแพร่ข่าวนี้ผ่านสถานีวิทยุของกัวเตมาลา ทำให้คนในประเทศแตกออกเป็นสองฝั่ง เกิดการปะทะกันเองของประชาชนชาวกัวเตมาลา แผนการอันชั่วร้ายมาถึงจุดเดือดเมื่ออเมริกาส่งทหารเข้ามาเพื่อจัดการกับสถานการณ์ ควบคุมน่านน้ำและทิ้งระเบิดในเมืองต่าง ๆ ร่วมมือกับกลุ่มประชาชนที่ถูกฝึกโดย CIA และในที่สุดก็เข้ายึดอำนาจของรัฐบาลกัวเตมาลาได้สำเร็จ
การตลาดแบบกล้วยๆ
ธุรกิจของ United Food Company ยังคงเติบโตและดำเนินต่อไปโดยที่ชาวอเมริกันไม่รู้เลยว่ากล้วยที่กำลังกินอยู่อย่างเอร็ดอร่อยนั้นต้องแลกมากับอะไรบ้าง แต่ไม่ว่าจะอร่อยแค่ไหน เมื่อกินทุกวันก็มีเบื่อ ทาง United Food Company เลยหาทางขายกล้วยด้วยวิธีอื่น ผ่านตัวการ์ตูนชื่อ Miss Chiquita เป็นกล้วยที่ขีดอายไลเนอร์และแต่งตัวด้วยชุดเดรสราตรี ร้องเพลงเชิญชวนให้คนมากินกล้วยในโฆษณาทีวี ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดี
การไปร่วมมือกับบริษัท Kellogg’s สำหรับโปรโมตการกินซีเรียลกับกล้วยเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร เป็นอีกแคมเปญที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก (เชื่อว่ายังมีคนกินแบบนั้นอยู่ในตอนนี้) แถมยังว่าจ้างให้สื่อโหมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของการกินกล้วยเป็นประจำ เป้าหมายคือกลุ่มแม่ ๆ ที่มีลูกเล็กนั่นเอง นอกจากนั้นยังมีออกหนังสือรวมสูตรอาหารที่ใช้กล้วยเป็นส่วนประกอบ และหนังสือตกแต่งบ้านที่บอกวิธีการจัดวางกล้วยในบ้านให้เป็นของประดับสวยงามด้วย
โรคปานามาจุดเปลี่ยนธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม กล้วยที่เรากินอยู่ทุกวันนี้เป็นคนละสายพันธุ์กับกล้วยที่ทำให้ United Food Company กลายเป็นมหาอำนาจในยุค 1900s พวกเขาใช้หลักการควบคุมผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นเหมือนกันทั้งหมด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Monoculture - การปลูกพืชเชิงเดี่ยว) ข้อได้เปรียบคือสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพ กล้วยพันธ์ุเดียวปลูกเหมือนกัน รดน้ำให้ปุ๋ยเท่ากัน ลูกขนาดเท่ากัน ลงกล่องเหมือนกัน ทุกอย่างถูกเตรียมไว้หมดตั้งแต่ต้นจนจบ ปัญหาใหญ่คือว่าเมื่อมันติดโรคต้นหนึ่ง...มันก็ติดเหมือนกันทุกต้นเช่นเดียวกัน
ในช่วงปี 1960s โรคตายพราย หรือ โรคปานามา (Panama Disease) ได้แพร่กระจายไปสู่สวนกล้วยตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ไม่สามารถปลูกกล้วยได้อีกในพื้นที่พบการระบาดของโรค ต้องเผาสวนทิ้งเท่านั้น กล้วยที่ได้รับความนิยมช่วงต้นของศตวรรษมีชื่อสายพันธุ์ว่า Gros Michel (บ้านเราเรียกว่า กล้วยหอมทอง) เป็นสายพันธุ์ที่ United Food Company ปลูกและนำเข้ามาขายในอเมริกาในตอนแรก เมื่อโรคปานามาระบาดอย่างหนัก พวกเขาประสบปัญหาครั้งใหญ่เพราะไม่สามารถผลิตกล้วยส่งไปอเมริกาได้อีกต่อไป กล้วยเริ่มขาดตลาด และ United Food Company ต้องพยายามหาสายพันธ์ุอื่นมาทดแทนก่อนที่จะสายเกินไป
สำหรับคนไทยที่คุ้นเคยกับกล้วยมาตั้งแต่เกิด ทราบดีว่ากล้วยมีหลากหลายสายพันธ์ุ แต่กล้วยที่เราเห็นตามซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นจะมีรูปร่างหน้าตาที่เป็นมาตรฐาน สีเหลืองทอง ทรงสวย เป็นกล้วยสแตนดาร์ดที่เรามักนึกถึงเมื่อพูดถึงกล้วย เพราะฉะนั้น United Food Company ก็ต้องหาอะไรที่มันไม่ต่างไปจากเดิมมาก เพื่อไม่ให้กระทบกับยอดขายและหวังว่าผู้บริโภคจะไม่เห็นความแตกต่างสักเท่าไร
ในที่สุดพวกเขาไปเจอสายพันธ์ุ Cavendish (กล้วยหอมคาเวนดิช) ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย ‘วิลเลี่ยม คาเวนดิช’ (William Cavendish) ในประเทศอังกฤษ รูปร่างสวยงาม เปลือกหนา ขนส่งง่าย แถมยังต้านทานกับโรคปานามาด้วย
United Food Company เริ่มหันมาผลิตและส่งออกกล้วยหอมคาเวนดิช แม้รสชาติของมันไม่ได้ดีเท่ากับกล้วยหอมทอง แต่เพียงพอให้ลูกค้ายังเต็มใจซื้อต่อไป ซึ่งเราก็ยังซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตกินกันอยู่ในทุกวันนี้
เรื่องราวของกล้วยมีรายละเอียดอีกเยอะมาก (สำหรับคนที่สนใจลองไปตามอ่านหนังสือ ‘Banana: The Fate of the Fruit That Changed the World’) มันเป็นผลไม้ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงอำนาจทางรัฐบาล ช่องโหว่ทางกฎหมาย เป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดอีกนับไม่ถ้วน ตอนนี้ United Fruit Company ได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Chiquita และก็ยังมีข่าวสีเทาออกมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ
อุตสาหกรรมส่งออกกล้วยยังเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ในปี 2019 - 2020 มีการซื้อขายกันเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านเหรียญฯ และยังเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งปัญหาที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้คือ โรคปานามาที่กำลังกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง
แต่ที่น่ากลัวคือครั้งนี้สายพันธุ์คาเวนดิชก็ไม่รอดเช่นกัน และตอนนี้มันก็เป็นสายพันธุ์กล้วยที่ปลูกกันมากที่สุด โดยโรคปานามาได้แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศส่งออกกล้วยอันดับ 2 ของโลกก็กระทบหนัก ในปี 2019 พบที่โคลอมเบีย และปี 2021 พบในเปรู และกระจายไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
สำหรับคนที่อ่านถึงตรงนี้เชื่อว่าคุณจะมองกล้วยที่ซื้อมากินที่บ้านในมุมมองที่ต่างออกไป กล้วยจะไม่ใช่แค่กล้วยอีกต่อไป เพราะมีเรื่องราวมากมายกว่าจะมาอยู่ในมือคุณตอนนี้ ที่สำคัญ ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกรอบ ในอนาคตมันอาจจะไม่ใช่สายพันธ์ุคาเวนดิชอีกต่อไปแล้วก็ได้
.
อ้างอิง:
https://ngthai.com/cultures/8423/history-of-bananas/
http://www.scielo.org.co/pdf/memor/n18/n18a03.pdf
https://www.youtube.com/watch?v=WWBCl8huNMA
https://www.history.com/topics/landmarks/panama-canal
https://archive.org/details/bananawars00lest/page/3/mode/2up
http://www.yachana.org/teaching//resources/interventions.html
https://oec.world/en/profile/hs/bananas
https://scienceagri.com/william-cavendish-inventor-of-the-cavendish-banana/