01 มิ.ย. 2565 | 12:56 น.
“ยุคนั้นมีคนทำธุรกิจนี้ไม่มาก และเป็นช่วงที่คนตะวันตกเข้ามาในไทย และนักเรียนไทยที่มีโอกาสไปศึกษายังต่างประเทศได้นำวัฒนธรรมการกินของตะวันตกเข้ามา เราจึงมองเป็นโอกาส และเราต้องการเริ่มต้นในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าต้องไปได้ ”จากผู้นำเข้าสู่เจ้าของแบรนด์ หลังจากดำเนินธุรกิจนำเข้าไปได้ระยะหนึ่ง ทั้งตงและพี่ชายเห็นว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในบทบาท ‘ผู้ผลิต’ ดังนั้นปี 2515 จึงได้ตั้งโรงงานแห่งแรกขึ้นในซอยอุดมสุข ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟู้ดส์ จำกัด’ ผลิตเนย ‘อลาวรี่’ จากประเทศออสเตรเลีย ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารนม คุกกี้ แยมผลไม้ และเยลลี่สำเร็จรูป ฯลฯ ต่อมาปี 2528 ได้ตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ขนาด 42 ไร่ ณ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในชื่อ ‘บริษัท อิมพีเรียล เยนเนอรัลฟูดส์ อินดัสทรี จำกัด’ รองรับธุรกิจที่เติบโต ทั้งการผลิตบิสกิต คุกกี้ แครกเกอร์ ขนมอบ เวเฟอร์ และน้ำตาลก้อน ซึ่งคุกกี้อิมพีเรียลได้ถือกำเนิดขึ้นที่นี่ ที่มาของไอเดียผลิตคุกกี้เอง ตงเล่าว่า มาจากรัฐบาลไทยยุคนั้นได้ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และประกาศห้ามนำเข้าอาหารประเภทขนมปังกรอบ (รวมถึงคุกกี้ด้วย) เพราะต้องการให้เกิดการผลิตภายในประเทศเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ ประกอบกับคุกกี้สมัยก่อนมีราคาค่อนข้างสูง วางจำหน่ายเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตและร้าน Grocery ขนาดใหญ่เท่านั้น จึงมีภาพลักษณ์เป็นสินค้าไฮเอนด์มีคุณค่า เมื่อเห็นโอกาส บวกกับมีความพร้อม แล้วทำไมกิมจั๊ว พาณิชย์ถึงจะไม่ผลิตเอง โดยวางคอนเซ็ปต์เป็นบัตเตอร์ คุกกี้ สไตล์เดนมาร์ก ใช้ชื่อว่า ‘อิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค’ (Imperial Danish Style Butter Cookies) สำหรับที่มาของชื่อแบรนด์ ‘อิมพีเรียล’ มาจากตงไปต่างประเทศแล้วเห็นแบรนด์นี้ รู้สึกชอบ จึงนำมาจดทะเบียนการค้า ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นสไตล์เดนมาร์ก ก็เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีชื่อเสียงในเรื่องคุกกี้และคนไทยรู้จักคุ้นชินรสชาติอยู่แล้ว ขณะที่ทำไมต้องมาในแพ็กเกจสีแดง คำตอบ คือ เป็นสีมงคลสำหรับคนไทยและคนจีน นอกจากจะเป็นแบรนด์คุกกี้แล้ว ‘อิมพีเรียล’ ยังเป็นชื่อของผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เนย บิสกิต เวเฟอร์ เป็นต้น และในปี 2555 ทางกิมจั๊วยังขยายงานต่อเนื่อง ด้วยการตั้งโรงงานแห่งที่ 3 ในชื่อ บริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟู้ดส์ จำกัด (เทพารักษ์) ขยายกำลังการผลิตเนย มาการีน และชีส พัฒนาอย่าหยุดนิ่ง
“การทำอะไรก็ตาม ต้องเริ่มต้นด้วยคุณภาพและต้องพัฒนาอย่าหยุดนิ่ง ตามเทรนด์ให้ทันดูผู้บริโภคเป็นหลัก โดยความรู้ขึ้นอยู่ที่เราจะใฝ่หา ไม่ได้จำกัดว่า คุณจะเรียนจบมาระดับไหน อย่างผมเองแค่สนุกกับงาน ไม่เครียด เวลาแนะนำพนักงานจบปริญญามาทั้งนั้น ผมจะบอกว่า พ่อคุยกับลูก อย่าคิดมาก”นี่เป็นคติหรือหลักคิดในการทำงานที่ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร KCG ยึดถือมาโดยตลอด และได้ลงมือทำในหลายๆ ส่วนเพื่อสร้างการเติบโต ทั้งการพัฒนาตัวองค์กร บุคลากร และผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ได้มีการรีแบรนด์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊ว พาณิชย์ มาเป็น ‘บริษัท กิมจั๊ว กรุ๊ป’ และปี 2557 กลุ่มบริษัทในเครือมีการปรับโครงสร้างบริษัทและจดทะเบียนในชื่อ ‘บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด’ หรือ KCG มาถึงปี 2561 โอกาสครบรอบ 60 ปี KCG ก็ได้ปรับโครงสร้างบริหารดึงมืออาชีพ ‘คนนอกครอบครัว’ มาเสริมทัพรองรับการขยายตัวของธุรกิจให้ครอบคลุมทุกหน่วยของอาหาร ขณะที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทาง KCG จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีนวัตกรรม ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคผูกพันและจดจำ อย่างกรณีของคุกกี้อิมพีเรียลที่ได้พัฒนาสูตรใหม่ ๆ ให้ถูกปากคนไทย ด้วยการเพิ่มความหอมของเนย และมีเนื้อนุ่มมากขึ้น ไปจนถึงออกสินค้าที่หลากหลาย เช่น ปี 2561 ออกจำหน่าย Limited Edition เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่และครบรอบ 60 ปี ของ KCG ฯลฯ ทั้งหมดเป็นการพัฒนาองค์กรแบบไม่ยอมหยุดนิ่งให้ทันการแข่งขัน ทันคู่แข่ง และทันการเปลี่ยนแปลงของ KCG ภายใต้การบริหารของเขาตลอดเส้นทาง 64 ปีนับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจมา KCG Family ครอบครัวมืออาชีพ ปัจจุบัน KCG เดินอยู่บนเส้นทางสายธุรกิจมาครบ 64 ปี มีพนักงาน 1,900 คน นำเข้าสินค้ากว่า 40 แบรนด์ และผลิตสินค้าของตัวเองกว่า 2,000 ชนิด ครอบคลุมกลุ่มบิสกิต, สินค้าประเภทนม เนย และชีส, อาหารแช่แข็ง, เครื่องดื่ม, วัตถุดิบในการทำเบเกอรี่, อาหารสำเร็จรูป, เนื้อและอาหารทะเล ไปจนถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่วนรายได้รวมในปี 2562 อยู่ที่ 5,654 ล้านบาท กำไร 250 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้รวม 4,908 ล้านบาท กำไร 244 ล้านบาท และปี 2564 มีรายได้รวม 5,256 ล้านบาท กำไร 303 ล้านบาท ขณะที่ตอนนี้ตงอยู่ในวัย 80 ปี ยังคงสนุกกับงาน และเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรต่อไป โดยนอกจากพัฒนาให้ทันกับเทรนด์ต่าง ๆ ของโลกและผู้บริโภคแล้ว อีกสิ่งสำคัญคือต้องสร้างระบบให้องค์กร เพราะเขามองว่า ธุรกิจยิ่งใหญ่ ยิ่งต้องมีระบบ ไม่งั้นเจ๊ง
“ถึงวันนี้ KCG เป็นธุรกิจครอบครัวที่พัฒนามาถึงขั้น ‘ครอบครัวมืออาชีพ’ เพราะมีโครงสร้างบริหารชัดเจน มีมืออาชีพระดับบริหารเข้ามาร่วมงานนับร้อยคน เรียกว่า KCG Family ทำงานร่วมกับ Gen 2 และ Gen 3 ของเรา ในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตต่อไป ไม่ว่าจะขยายธุรกิจไม่จำกัดเฉพาะที่มีอยู่ตอนนี้ มองหาช่องทางใหม่ ๆ ที่มีโอกาส”และเมื่อเติบโตขนาดนี้ จึงเกิดคำถามว่า จากธุรกิจครอบครัว จะเปลี่ยนนามสกุลเป็น ‘มหาชน’ หรือไม่ ซึ่งเขาตอบสั้น ๆ ว่า เป็นเรื่องของอนาคต
“องค์กรที่ใหญ่ขึ้น จะพัฒนาเป็นมหาชนเมื่อไรก็ได้ สำหรับผมคิดถึงหลักที่ว่า What we do? what we are? what to future? ซึ่งเราต้องรู้ทิศทางของเรา”