‘แบร์รี กิบบ์’ สมาชิก Bee Gees คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิต กับวินาทีค้นพบเสียงหลบมหัศจรรย์

‘แบร์รี กิบบ์’ สมาชิก Bee Gees คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิต กับวินาทีค้นพบเสียงหลบมหัศจรรย์

‘แบร์รี กิบบ์’ (Barry Gibb) สมาชิกวง ‘Bee Gees’ คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิต ศิลปินที่ได้ดีเพราะเมีย เขาคือเจ้าของเสียงหลบซึ่งติดหูคนทั่วโลก แต่ก่อนที่จะมีเสียงหลบเป็นลายเซ็น เขาไม่ได้ร้องแบบนี้มาตั้งแต่ต้น กลับมีวินาทีที่ค้นพบเสียงเอกลักษณ์

  • สมาชิกวง Bee Gees คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่คือ แบร์รี กิบบ์ เขายังถือเป็นคนที่นำเสียงหลบมาเป็นลายเซ็นหนึ่งของวงด้วย
  • เดิมทีแล้ววง Bee Gees ไม่ได้ใช้เสียงหลบเป็นจุดเด่นมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้แบร์รี กิบบ์ ค้นพบเสียงนี้ และกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพวกเขาในเวลาต่อมา

แบร์รี กิบบ์ (Barry Gibb) สมาชิกวง Bee Gees คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิต ศิลปินที่ได้ดีเพราะเมีย เขาคือเจ้าของเสียงหลบซึ่งติดหูคนทั่วโลก แต่ก่อนที่จะมีเสียงหลบเป็นลายเซ็น เขาไม่ได้ร้องแบบนี้มาตั้งแต่ต้น กลับมีวินาทีที่ค้นพบเสียงเอกลักษณ์

กว่า 40 ปีแล้วที่ผู้คนจากอุตสาหกรรมดนตรีและแฟนเพลงทั่วโลกจดจำกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อมอบไมค์ให้สามพี่น้องตระกูลกิบบ์ส ทุกคนพูดแบบเดียวกันมาตลอดว่าเสียงที่จะได้ยินหลังจากนั้นคือ ‘สิ่งมหัศจรรย์’

วงประกอบไปด้วยสมาชิกพี่น้องตระกูลกิบบ์ส หลังจากพี่น้องย้ายมาอาศัยกับพ่อที่แมนเชสเตอร์ ในอังกฤษ ครอบครัวก็พากันย้ายมาตั้งรกรากในออสเตรเลีย แบร์รี (Barry), มอริส (Maurice) และโรบิน กิบบ์ (Robin Gibb) สามพี่น้องในนามศิลปิน ‘บีจีส์’ (Bee Gees) อัดงานเพลงของตัวเองครั้งแรกตั้งแต่ปลายยุค 50s หลังดีเจท้องถิ่นได้ยินชื่อเสียงการแสดงของพี่น้องที่ไปเล่นในสนามแข่งรถในออสเตรเลีย

วงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างตั้งแต่ยุค 60s เป็นต้นมา ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงท้องถิ่นเมื่อปี 1963

เส้นทางกว่า 40 ปีของพี่น้องร้องเพลงเปลี่ยนแปลงไปมาทั้งในแง่กราฟความนิยมซึ่งขึ้นลงตามกาลเวลา มีต่ำสุดและสูงสุด ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ พวกเขาเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกันบ่อยครั้ง ไล่เรียงมาตั้งแต่ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงตลอดเส้นทางอาชีพ สิ่งหนึ่งที่ฝังในความทรงจำของแฟนเพลงหลากหลายวัยคือความมหัศจรรย์ของการประสานเสียงร้องระหว่างสามพี่น้องโดยมีเสียงที่โดดเด่นเป็นเสียงหลบ (Falsetto) ด้วยเทคนิคนี้ทำให้เสียงร้องนำแบบแหลมเล็กในหลายเพลงอมตะของ Bee Gees มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไล่เรียงมาตั้งแต่ Stayin' Alive จนถึง Night Fever

อันที่จริงแล้ว เสียงหลบที่สมาชิก Bee Gees ร้องในเพลงดังเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม และพวกเขาก็ไม่ได้เป็นนักร้องรายแรก ๆ ที่ใช้ออกแบบเสียงร้องแบบนี้ในงานเพลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เสียงหลบในสไตล์ของ Bee Gees กลายเป็น ‘เครื่องหมายทางการค้า’ เป็นองค์ประกอบส่วนสำคัญในเพลงซึ่งส่งให้พวกเขาโดดเด่นมากในยุคดิสโก (Disco) ได้รับความนิยม

Bee Gees ทำงานเพลงลักษณะกลุ่มนักร้องประสานเสียงเพลงแบบแนวเพลงป็อปได้ไพเราะตามท้องเรื่อง กระทั่งเวลาผ่านไปสักระยะแล้ว พวกเขาเพิ่งค้นพบเสียงร้องที่โดดเด่นโดยเริ่มต้นจากการร้องของแบร์รี กิบบ์

 

วงจรต่ำสุดและสูงสุด

หากจะพูดถึงวินาทีที่วงค้นพบเสียงหลบอันมหัศจรรย์ ต้องเท้าความย้อนไปเล็กน้อย ในยุคแรกเริ่ม Bee Gees ทำงานเพลงกับค่ายในออสเตรเลีย ฮิวจ์ กิบบ์ (Hugh Gibb) พ่อของพวกเขาส่งเดโมและจดหมายแจกจ่ายไปให้ค่ายเพลงต่าง ๆ ส่วนหนึ่งก็ไปถึงไบรอัน เอปสไตน์ (Brian Epstein) ผู้จัดการวงเดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) ซึ่งไบรอัน ส่งต่อไปให้กับโรเบิร์ต สติกวูด (Robert Stigwood) ซึ่งเพิ่งเข้ามาร่วมงานค่ายเนมส์ (NEMS) จนได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง ผลิตผลงานเพลงในสหราชอาณาจักร เริ่มมีเพลงฮิตขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงฝั่งอังกฤษ ตามมาด้วยชื่อเสียงและเงินทองไหลมาเทมา

บีจีส์ ในช่วงแรกเป็นวงดนตรีป็อปแบบพี่น้องประสานเสียงลักษณะวงป็อปทั่วไป มีซิงเกิลฮิต ออกอัลบั้มถี่ยิบในเวลาเพียงปีเศษ ความสำเร็จที่ได้มาอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อศิลปินมาแล้วมากมาย กรณีของบีจีส์ก็ไม่ได้แตกต่างจากศิลปินหน้าใหม่รายอื่นที่ไม่รู้ว่าจะรับมือหรือวางตัวในความสำเร็จแบบไหนถึงจะอยู่ในระดับเหมาะสม ความสำเร็จส่งผลกระทบต่อสมาชิกแตกต่างกัน มอริส ผู้ล่วงลับเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขามีรถโรลส์-รอยซ์ 6 คัน ในช่วงแรกของอาชีพขณะอายุเพียง 21 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขากลับจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่ารถเหล่านี้ไปลงเอยที่ไหนแล้วบ้าง

สมาชิกในวงเริ่มขัดแย้งกัน เริ่มแข่งขันกัน แบร์รี กับโรบิน ที่ต่างมีเสียงอันไพเราะเริ่มแย่งเพลงมาร้องกัน พวกเขาขัดแย้งกัน ขณะที่มอริส เป็นคนกลางระหว่างสองฝั่งเสมือนเป็นกาวที่คอยไกล่เกลี่ยหรือหากเกิดความขัดแย้งขึ้น ปลายทางแล้วก็มักต้องมาถามความเห็นมอริส

ความขัดแย้งดำเนินไปถึงขั้นมีกระแสว่าวงจะแตก และแล้วโรบิน กิบบ์ เป็นคนแรกที่เอ่ยว่าจะออกจากวงเมื่อปี 1969 โรบิน เริ่มไปทำงานเดี่ยวของตัวเอง ความสัมพันธ์ของวงไม่ค่อยดีนัก สมาชิกต่างโต้ตอบกันผ่านสื่อ

หลังจากไบรอัน เอปสไตน์ เสียชีวิต โรเบิร์ต สติกวูด ขอตำแหน่งสูงขึ้นในค่าย เมื่อเจรจาไม่ลงตัว โรเบิร์ต จึงลาออกเพื่อมาเปิดบริษัทของตัวเองและพาเอริก แคลปตัน (Eric Clapton) และบีจีส์ ไปด้วย

ช่วงที่โรเบิร์ต เปิดบริษัทของตัวเอง สมาชิกวงบีจีส์ กลับมาติดต่อกันอีกครั้ง พวกเขาเขียนเพลงดังอย่าง Lonely Days และ How Can You Mend a Broken Heart ระยะเวลาที่พี่น้องทั้งสามห่างกันไปร่วม 2 ปี เมื่อกลับมาแล้ว พวกเขานำไอเดียต่าง ๆ เข้ามาพัฒนากลายเป็นงานเพลงอมตะหลายชิ้น ท่ามกลางความขัดแย้งที่ผ่านมา แม้แต่แบร์รี กิบบ์ ยังมองว่า ความเป็นพี่น้องทำให้พวกเขากลับมาคุยกันได้อีก หากไม่ใช่พี่น้องแล้ว พวกเขาคงทนกันได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงอย่างแน่นอน ข้อนี้แสดงให้เห็นความพิเศษของบีจีส์ ทริโอ (Trio) พี่น้องร้องเพลงที่ยื่นไมค์ไปให้พวกเขาแล้ว การันตีได้ว่าผู้ฟังเตรียมพบความมหัศจรรย์ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่พวกเขาหายหน้าไปเพียงไม่กี่ปี ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมดนตรีและแวดวงแสงสีเสียงแปรผันอย่างรวดเร็วแม้จะยังไม่ได้มีเทคโนโลยีทันสมัยเท่ายุคนี้ ความนิยมของวงไม่ได้โด่งดังเท่ายุคแรก ทัวร์ของวงก็ขายตั๋วเหลือหลายโชว์ ช่วงเวลานี้วงบีจีส์ กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก มอริส เริ่มหันไปพึ่งเหล้ามากขึ้น สภาพการเงินห่างไกลจากความมั่งคั่งก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก

 

จุดเริ่มต้นของเสียงหลบ

ในปี 1974 เป็นยุคตกต่ำช่วงหนึ่งของบีจีส์ก็ว่าได้ วงถึงกับต้องไปตระเวนเล่นในคลับหลายแห่งในเมืองรวมถึงคลับที่เป็นสถานที่โชว์ของศิลปินที่ว่ากันว่าอยู่ในสภาพ ‘ตกอับ’ มักมาเล่นกัน

อัลบั้มที่บีจีส์ อัดในเวลานั้นก็ห่างไกลจากความสำเร็จเช่นกัน ค่ายเพลงเริ่มเห็นสัญญาณไม่ดี อย่างไรก็ตาม สติกวูด ไม่ยอมปล่อยวงบีจีส์ ไปไหน อีริก แคลปตัน ถึงกับให้ความเห็นว่า บีจีส์ เป็นลูกรักของสติกวูด

ระยะเวลานั้น แคลปตัน กลับมาทำเพลงอีกครั้งหลังผ่านช่วงยากลำบากในชีวิตมา มือกีตาร์และนักแต่งเพลงคนดังไปฝังตัวที่ไมอามี ทำสตูดิโอเดี่ยวชุดที่ 2 คืออัลบั้ม 461 Ocean Boulevard หน้าปกเป็นบ้านพร้อมต้นปาล์ม วางจำหน่ายเมื่อปี 1974 มีเพลงดังอย่าง I Shot the Sheriff ที่แคลปตันคัฟเวอร์บ็อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) ได้เสียงตอบรับค่อนข้างดีทีเดียว และเป็นแคลปตัน ที่ชักชวนให้บีจีส์ มาทำเพลงที่สหรัฐอเมริกาแทนที่จะอยู่ในอังกฤษ

ส่วนหนึ่งที่แคลปตัน ให้เครดิตว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัลบั้มไปได้สวยคือบรรยากาศของสตูดิโอซึ่งใช้อัดเพลงในไมอามี (ชื่ออัลบั้ม 461 Ocean Boulevard คือที่อยู่ของสตูดิโอนั่นเอง) แบร์รี กิบบ์ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า บรรยากาศไมอามี และหาดที่นั่นทำให้เขานึกถึงออสเตรเลียที่เคยอาศัยในวัยเด็ก

ปี 1974 บีจีส์ เดินทางมาที่ไมอามี เพื่อทำเพลงตามคำแนะนำ คำแนะนำของแคลปตัน มีส่วนทำให้บีจีส์ เดินทางมาทำงานที่นี่ และสตูดิโอแห่งนี้ทำให้พี่น้องได้ใช้เวลาด้วยกัน มีอาหารและน้ำชาพร้อมสำหรับในทุกเช้า เมื่อถึงตอนกลางคืนก็มาดูทีวีด้วยกัน บรรยากาศชวนผ่อนคลายส่งเสริมการทำงานเพลงในช่วงที่วงแบกรับความกดดันจากหลายทาง ต้องสร้างงานใหม่เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงและความนิยมกลับมา ที่สำคัญคือต้องทำให้ค่ายเพลงเห็นว่าพวกเขายังเป็นตัวทำเงินอยู่

โปรดิวเซอร์ที่ทำงานกับบีจีส์ในครั้งนั้นชื่ออาริฟ มาร์ดิน (Arif Mardin) อาริฟ มีชื่อเสียงเรื่องงานเพลงแบบอาร์แอนด์บี (R&B) ที่นิยมในสหรัฐฯ พวกเขาเริ่มปั้นเพลงจากไอเดียต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่สมาชิกอาศัยในไมอามี เช่นเพลง Jive Talkin' ซึ่งได้โครงจังหวะจากเสียงล้อรถบนถนนในไมอามี และผสมกับเสียงสังเคราะห์เข้ากับดนตรีอาร์แอนด์บี Jive Talkin' พาบีจีส์กลับขึ้นชาร์ตเพลงฮิตอีกครั้งในรอบ 4 ปี

หลังจากวงได้แรงฮึดขึ้นมาจากความสำเร็จของ Jive Talkin' เพลงที่เป็นจุดเปลี่ยนคือ Nights on Broadway สมาชิกวงใช้วิธีแต่งและเขียนเพลงกันในสตูดิโอกันเหมือนเคย เรื่องมหัศจรรย์เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เพียงเล็กน้อยที่อาริฟ ต้องการให้สมาชิกวงเข้าไปอัดเสียงร้องท่อนสุดท้ายให้ดูแตกต่างจากท่อนหลักของเพลง เช่น กรีดร้องเป็นทำนองแบบใดแบบหนึ่งให้เพลงดูแตกต่างเพิ่มขึ้นมาหน่อย

แบร์รี กิบบ์ เล่าไว้ว่า เขาอาสาเข้าไปในห้องอัดเพื่อทดลองร้องตามที่ได้รับโจทย์มา สิ่งที่เขาทำคือร้องด้วยเสียงหลบโดยใช้คำร้องว่า

“Blamin' it all (I'm blamin' it all) On the nights on Broadway”

นักดนตรีในวงคนหนึ่งเล่าไว้ในสารคดี The Bee Gees: How Can You Mend A Broken Heart ว่า เสียงร้องท่อนนั้นของแบร์รี ทำให้ทุกคนในห้องอัดตื่นกันหมด นั่นคือช่วงเวลาที่วงค้นพบขุมพลังเสียงใหม่ที่จะกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของวงไปอีกหลายทศวรรษ

ด้วยบรรยากาศ การผลักดันของคนทำงานเพลง และความสามารถของสมาชิกบีจีส์ แบร์รี กิบบ์ สามารถทำสิ่งที่เขาไม่เคยคิดมาก่อนตลอดชีวิตของตัวเองว่าเขาทำได้

ดังที่กล่าวแล้วว่า การร้องด้วยเสียงหลบไปตลอดทั้งประโยคไม่ใช่บีจีส์ เป็นผู้เริ่มใช้เทคนิคนี้เป็นกลุ่มแรก นักร้องผิวดำหลายท่านร้องแบบนี้มาก่อนแล้ว สำหรับบีจีส์ เป็นแบร์รี กิบบ์ ที่ร้องออกมาในเวลาที่เหมาะสม ผสมผสานเข้ากับดนตรีแบบโซลและอาร์แอนด์บีออกมาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ

สิ่งที่วงค้นพบถูกนำมาต่อยอด โดยแบร์รี กิบบ์ บอกเองว่า วงแต่งเพลงด้วยพื้นฐานของเสียงร้องแบบนี้มากขึ้นจนกลายเป็น ‘ลายเซ็น’ ของบีจีส์ ไปโดยปริยาย

นั่นคือส่วนหนึ่งของความมหัศจรรย์จากเสียงร้องของวงบีจีส์ พอมาผนวกเข้ากับการประสานเสียงสุดเนียนของพี่น้องที่ล้วนเข้าใจเสียงของแต่ละฝ่าย สมาชิกแต่ละคนจะเติมเต็มพื้นที่ของเสียงให้กันและกัน นั่นยิ่งขับเน้นความโดดเด่นของบีจีส์เข้าไปอีก

ในสายตาของนักวิชาการด้านดนตรี บีจีส์เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับแง่การปรับตัวของศิลปิน และหากถามว่าเครดิตที่ทำให้วงสามพี่น้องค้นพบวิธีการร้องแบบนี้คือใคร ถ้าจะกล่าวโดยรวม คงไม่สามารถยกให้เป็นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งว่ามาจากคำแนะนำของอีริก แคลปตัน มาจากคำแนะนำของอาริฟ หรือจะเป็นบรรยากาศของสตูดิโอในไมอามี คงต้องกล่าวว่าเป็นเพราะส่วนผสมเหล่านี้เกิดขึ้นและมารวมกันถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน ด้วยคุณภาพของส่วนผสมที่ถูกผลักดันอย่างเหมาะสมจึงทำให้วงค้นพบเสียงที่เปลี่ยนแปลงพวกเขาเองรวมไปถึงวงการดนตรีอีกหลายด้าน

 

รุ่งเรืองสู่ปลายยุคบีจีส์

ขณะที่บีจีส์ ค้นพบเสียงใหม่ของตัวเอง เวลานั้นวัฒนธรรมดิสโก (Disco) เริ่มก่อตัวขึ้นมาจากระดับใต้ดินกันมาสักระยะแล้ว เมื่อคนในวงการบันเทิงมาหยิบจับวัฒนธรรมนี้ผลิตเป็นภาพยนตร์โดยผนวกเสียงดนตรีของบีจีส์ เข้าไปด้วย การสร้างสรรค์ผลงานของบีจีส์ ด้วยเสียงร้องแปลกใหม่ผสมกับอุปกรณ์เสียงสังเคราะห์ในจังหวะสำหรับเต้นรำในคลับ ผลงานที่ถูกปรับโฉมใหม่เข้ากับกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัยเวลานั้นดีดให้บีจีส์ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและรางวัล พอจะกล่าวได้ว่าเป็นช่วงรุ่งเรืองของวงก็ว่าได้

อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ Saturday Night Fever (1977) ได้รับรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมจากเวทีแกรมมี ปี 1979 ทำยอดขายถล่มทลายให้กับค่ายเพลงของโรเบิร์ต สติกวูด เป็นหนึ่งในอัลบั้มขายดีที่สุดตลอดกาลของวงการดนตรีมาจนถึงวันนี้ เป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ไม่กี่ชุดที่ทำสถิติยอดขายแตะหลัก 15 ล้านยูนิตทั่วโลก

เมื่อบวกกระแสเพลงและภาพยนตร์เรื่อง Saturday Night Fever ช่วงปลายยุค 70s เป็นยุคทองของวัฒนธรรมดิสโก จากที่เป็นวัฒนธรรมย่อยในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถูกหยิบยกมาเป็นกระแสสังคม เกิดการเคลื่อนไหวผลักดันสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์และบริการจำนวนมากใส่ธีมแบบดิสโกเข้าไป ซึ่งบางครั้งสิ่งที่ผลิตออกมาไม่ได้มี ‘คุณภาพ’ น่าพึงพอใจ ผู้ผลิตชิ้นงานบางรายอาจไม่คาดคิดว่าการโหมกระโจนเข้าสู่กระแสดิสโกแบบท่วมท้นจะส่งผลย้อนกลับเชิงลบในเวลาต่อมา

ขณะที่ความนิยมของดิสโก แตะระดับสูงสุด กลับมีวัฒนธรรมต่อต้านสวนทางขึ้นมาเมื่อคนรู้สึกเอียนกับความจำเจ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งไม่มีคุณภาพจริงนอกเหนือจากแค่ใส่กลิ่นอายความเป็นดิสโก เพื่อพ่วงไปกับกระแสนิยม คนบางกลุ่มต่อต้านดิสโก โดยเริ่มจากดีเจผู้มีอิทธิพลทางความคิดแถบชิคาโก แล้วขยายวงกว้างมาสู่คนทั่วไป ดนตรีของบีจีส์ ที่ได้รับความนิยมจากภาพยนตร์อันมีเนื้อหาเอ่ยถึงดิสโก พลอยถูกเหมารวมไปด้วย

แบร์รี กิบบ์ ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า เพลงของพวกเขาหลากหลายมากกว่าแค่เป็นเพลงดิสโก แต่ดูเหมือนว่า ในช่วงนั้น ผู้คนจะเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปหมดแล้ว กระแสนิยมดิสโก ตีกลับมาเป็นกระแสต่อต้าน สามพี่น้องถูกตีตราพ่วงไปโดยปริยาย

ในสารคดี The Bee Gees แบร์รี กิบบ์ กล่าวด้วยว่า กิจกรรมต่อต้านวัฒนธรรมดิสโก นำโดยดีเจชื่อดังในชิคาโก จัดในสนามกีฬาขนาดใหญ่ รณรงค์ให้คนนำแผ่นเสียงเพลงดิสโกมารวมกันแล้วระเบิดทิ้ง (แผ่นเสียงที่คนเอามาทำลาย หลายแผ่นไม่ใช่งานแนวดิสโก แต่เป็นงานเพลงโดยศิลปินผิวดำ ฯลฯ) ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อวง ทำให้วงเลือกถอยหลังมาจากงานหน้าเวที พลิกบทบาทมาเป็นนักแต่งเพลง ทำงานเพลงให้ศิลปินคนอื่นแทน

เพลงฮิตและกลายเป็นเพลงอมตะของศิลปินชื่อดังหลายคนในยุคนั้นมาจากการผลิตที่มีพี่น้องตระกูลกิบบ์ส อยู่เบื้องหลังด้วย ไม่ว่าจะเป็น Woman in Love ของ บาร์บารา สไตรแซนด์ (Barbra Streisand), Heartbreaker ของ ดิออน วอร์วิค (Dionne Warwick), Chain Reaction ของไดอานา รอสส์ (Diana Ross), Islands in the Stream ที่ดอลลี พาร์ตัน (Dolly Parton) ร้องคู่กับเคนนี โรเจอร์ส (Kenny Rogers) ไปจนถึง Immortality เพลงบัลลาดอันไพเราะขับร้องโดยเซลีน ดิออน (Celine Dion)

วงต้องอาศัยระยะเวลาหลายปีกว่าจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งหลังกระแสสังคมไม่ได้มองพวกเขาผูกโยงเข้ากับกลุ่มดิสโกที่เป็นเป้าหมายของการต่อต้านอีกต่อไป ในปี 1985 บีจีส์ กลับมารวมกันอีกครั้ง ซึ่งแบร์รี กิบบ์ ย้ำว่า วงไม่ได้ทำเพลงแค่แนวเดียว พวกเขามีเพลงหลากหลายรูปแบบอยู่ในแต่ละยุคสมัยดังที่กล่าวมา

ผู้เขียนให้ตัวอย่างที่ชัดมากได้คือเรื่องการร้องด้วยเสียงหลบ ซึ่งบีจีส์ ไม่ได้มีลายเซ็นนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม กลับมาค้นพบเอกลักษณ์ของตัวเองภายหลัง เมื่อผนวกไปกับเสียงดนตรีสังเคราะห์ และจังหวะเพลงสำหรับเต้นรำที่มาควบคู่กับการก่อตัวของวัฒนธรรมดิสโก บีจีส์ จึงโด่งดังสุดขีดท่ามกลางผลงานเพลงยุคดิสโก

 

ชีวิตของสมาชิกคนสุดท้าย

ปี 1997 พวกเขากลับมาขึ้นโชว์ในคอนเสิร์ตที่ยอดเยี่ยมที่ลาส เวกัส ใช้ชื่อว่า One Night Only น่าเสียดายที่ไม่กี่ปีต่อมา มอริส เสียชีวิตลงในปี 2003 ภายหลังมอริส จากไป แบร์รี ก็ห่างเหินกับโรบิน กระทั่งช่วงปี 2012 ก่อนหน้าโรบิน จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เขาต่อสู้มายาวนาน แบร์รี กลับมาดีกันกับโรบิน อีกครั้ง

ในวันนี้ (2022) สมาชิกบีจีส์ ยุคดั้งเดิมที่ยังมีลมหายใจคือแบร์รี กิบบ์ เขาให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษเมื่อปี 2020 เผยว่า เขาอาศัยในแมนชั่นริมหาดที่ไมอามี ซึ่งเป็นที่พำนักมาตั้งแต่ปี 1974 สืบเนื่องมาจากคำแนะนำของอีริก แคลปตัน ที่เสนอว่าบรรยากาศของไมอามี อาจส่งผลดีต่ออาชีพของวง ที่จริงแล้ว โรบิน เคยมีบ้านอยู่ไม่ไกลจากที่พักของแบร์รี ด้วย

ปัจจุบัน แบร์รี กิบบ์ อายุ 75 ปีแล้ว ยังคงใช้ชีวิตคู่กับลินดา (Linda) อดีตมิสเอดินเบอระ (Edinburgh) ซึ่งเขาพบครั้งแรกหลังโชว์ในรายการดนตรีดังของบริติชปลายยุค 60s เรียกได้ว่า ชีวิตสมรสยาวนานร่วม 50 ปี เป็นเรื่องหาได้ยากเช่นกันหากพิจารณาจากสถิติของบุคลากรในวงการดนตรี แม้แต่พี่น้องตระกูลกิบบ์ส รายอื่นล้วนมีปัญหากับชีวิตแบบซูเปอร์สตาร์ทั้งสิ้น รวมถึงแอนดี กิบบ์ (Andy Gibb) น้องชายคนสุดท้องที่แบร์รี กิบบ์ ผลักดันให้เป็นศิลปินด้วย และทางวงเคยชวนมาร่วมเป็นสมาชิกอีกคนด้วยซ้ำ แต่เขาเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควร สาเหตุการเสียชีวิตส่วนหนึ่งมาจากไลฟ์สไตล์ของเขาด้วย

แบร์รี กิบบ์ จัดว่าอยู่ในผู้ชายที่ได้ภรรยาคอยดึงชีวิตกลับมา เขาให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษยอมรับว่า พี่น้องของเขาต้องรับมือกับด้านลบภายในตัวของแต่ละคน แต่สำหรับเขา เขาแต่งงานกับผู้หญิงที่ไม่ยอมให้เขามีสิ่งเสพติด

“ผมสามารถนำยา(เสพติด)เข้าบ้านได้ แต่สุดท้ายมันก็ไปลงเอยในโถส้วม เธอ(ลินดา) ไม่ยอมให้ผมเดินไปในแนวทางนั้น ส่วนผมก็ต้องประคองรับมือกับพี่น้องของผม แต่ผมค่อนข้างโชคดี” แบร์รี ให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน (The Guardian) ก่อนหน้าการเผยแพร่สารคดี The Bee Gees

หากย้อนเส้นทางกลับไป แบร์รี กิบบ์ เผชิญหน้ากับความสำเร็จในอาชีพทางดนตรี แต่ในด้านครอบครัว เขายอมรับด้วยตัวเองว่า ต้องเผชิญกับความสูญเสีย ไม่ใช่แค่พี่น้องรอบตัว ยังรวมถึงพ่อ แม่

“สิ่งที่ผมเรียนรู้จากเรื่องทั้งหมดนี้คือทุกสิ่งเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงเสมอ คุณต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน”

แบร์รี กิบบ์ ไม่ปฏิเสธว่าชื่อเสียงและความสำเร็จอย่างรวดเร็วส่งผลต่อชีวิต แม้มีด้านดี แต่มันก็สามารถทำลายตัวตนได้ สมาชิกวงบีจีส์ ที่ยังมีลมหายใจมองว่า ก่อนหน้าโด่งดังทั่วโลก ชีวิตเวลานั้นคือช่วงที่ดีที่สุดของพวกเขา ไม่มีการแข่งขัน ไม่สำคัญเลยว่าใครจะร้องอะไรออกมา

ภายหลังจากโรบิน เสียชีวิต แบร์รี เคยคิดจะอำลาวงการ แต่แล้วมาฉุกคิดว่าในฐานะสมาชิกคนสุดท้ายของบีจีส์ การรักษาบทเพลงให้ยังคงอยู่ต่อไปมันขึ้นอยู่กับเขา ภารกิจของเขาคือทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ดนตรียังคงอยู่ต่อไป

ช่วงทศวรรษ 2020 แบร์รี กิบบ์ ออกทัวร์ในฐานะศิลปินเดี่ยวและกลับมาทำอัลบั้มอีกครั้ง เช่นเดียวกับสิ่งที่เขาเรียนรู้ เขาเริ่มเปลี่ยนใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ของบีจีส์ไปบ้างแล้ว

ทุกวันนี้ เพลงของบีจีส์ ก้าวข้ามกาลเวลาและกรอบแนวคิดทางวัฒนธรรมไปเรียบร้อยแล้ว ครั้งหนึ่ง ลูกสาวของแบร์รี ได้ยินสถานีวิทยุเปิดเพลง Stayin’ Alive ขณะอยู่บนรถเดินทางไปทานมื้อค่ำ ลูกสาวของเขาเปิดเสียงดังขึ้นและลดกระจกรถลงมา ผู้คนบนถนนที่ได้ยินเสียงเพลงดังแทร็กนี้เริ่มเต้นตามไปด้วย

“มันอธิบายไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับว่ามันเกินกรอบทางวัฒนธรรมมาจนถึงขั้นที่ผมไม่คิดว่าดนตรีเหล่านี้จะถูกลืมเลือนไปตามเวลาแล้ว” แบร์รี กิบบ์ กล่าวทิ้งท้ายในการให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน

 

ภาพ: (ซ้าย) แบร์รี กิบบ์ ในการแสดงเมื่อ 2014 (ขวา) วงบีจีส์ ภาพจาก Getty Images

อ้างอิง:

Alexis Petridis. "The Bee Gees’ Barry Gibb: ‘There’s fame and there’s ultra-fame – it can destroy you’ ". The Guardian. Published 7 DEC 2020. Access 24 JUL 2022. 

Juliet Bennett Rylah. “The Process”. Bee Gees. Website. 

The Bee Gees: How Can You Mend a Broken Heart. HBO. 2020.