มาร์กาเร็ต แม็คคอลลัม: หญิงที่นั่งฟังเสียงชายคนรักผู้เป็นเจ้าของเสียงประกาศ ‘Mind the Gap’ ในสถานีรถไฟ Embankment ของอังกฤษ ยาวนาน 5 ปี เพื่อรำลึกถึงความทรงจำที่เคยมีเขาในชีวิต
คงไม่มีการสูญเสียไหนจะเจ็บปวดใจไปมากกว่าการต้องสูญเสียคนที่เรารักไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เลือนหายนั่นคือ ‘ความทรงจำ’ ที่พวกเขาทิ้งเอาไว้ บางคนอาจจะเก็บพวกเขาไว้ในภาพถ่าย บางคนอาจจะเก็บพวกเขาเอาไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ขณะที่บางคนเก็บคนรักไว้ในรูปแบบของ ‘เสียง’
ซึ่งที่สถานี Embankment สถานีรถไฟสายเหนือของประเทศอังกฤษเอง ก็มีเสียงแห่งความทรงจำของหญิงคนหนึ่งอยู่ นั่นคือเสียงประกาศ ‘Mind the Gap’ (โปรดระวังช่องว่าง) ที่มักดังก้องไปทั่วชานชาลา เพื่อเตือนผู้ใช้บริการให้ระมัดระวังช่องว่างระหว่างประตู แม้หลายคนอาจจะได้ยินแล้วปล่อยผ่านไป แต่ไม่ใช่กับ ‘ดร.มาร์กาเร็ต แม็คคอลลัม’ (Dr.Margaret McCollum) ที่มักใช้เวลานั่งซึมซับเสียงประกาศที่สถานี Embankment แห่งนี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด
จนกระทั่งก่อนถึงวันคริสต์มาสปี 2012 เสียงที่เธอคุ้นเคยกลับ ‘หาย’ ไปอย่างไร้ร่องรอย...
“เสียงล่ะ เสียงหายไปไหนแล้ว” น้ำเสียงร้อนรนของเธอทำให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีถึงกับงงงวย เพราะไม่แน่ใจนักว่า ‘เสียง’ ที่เธอกล่าวถึงหมายถึงเสียงอะไร จนกระทั่งสามารถจับใจความได้ว่า เธอต้องการได้ยินเสียงคนรักที่ด่วนจากเธอไปเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน คนรักของเธอคือชายผู้ทำหน้าที่ประกาศข้อความเป็นเสียงเตือนว่า ‘Mind the Gap’ ให้เธอและผู้คนที่มาใช้บริการสถานีรถไฟ
เรื่องราวการเดินทางของเสียงแห่งความทรงจำ ถูกนำมาถ่ายทอดโดย ‘จอห์น บูล’ (John Bull) ผู้ทำงานในหน่วยงานวิเคราะห์การคมนาคมในกรุงลอนดอน ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา บูลเล่าว่าในเดือนพฤศจิกายน 2012 จู่ ๆ ก็มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาถามเจ้าหน้าที่ประจำสถานี Embankment ว่า ทำไมเสียงถึงหายไปแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้อธิบายไปว่า เป็นเพราะต้องเปลี่ยนระบบเสียงเก่าที่ถูกอัดมานานกว่า 40 ปีเป็นรูปแบบดิจิทัล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเป็นเสียงใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น
แต่พวกเขาได้มารู้ทีหลังว่าเสียงเดิมที่ใช้ประกาศกันมาคือเสียงของ ‘ออสวอลด์ ลอว์เรนซ์’ (Oswald Laurence) สามีของเธอที่เสียชีวิตไปเมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งแม็คคอลลัมเล่าว่าบางครั้งที่เธอมีเรื่องทุกข์ใจ เธอมักจะมานั่งที่ชานชาลาของสถานี เพื่อฟังเสียงประกาศนั้นไปเรื่อย ๆ รอให้รถไฟผ่านไปขบวนแล้วขบวนเล่า ซึ่งเธอทำแบบนี้มาเป็นเวลา 5 ปีแล้วเพื่อรำลึกถึงชายคนรัก
“เรื่องราวของเธอทำเอาเราน้ำตารื้น เจ้าหน้าที่ก็เลยวิ่งวุ่นกันใหญ่ พวกเขาไปหาไฟล์เสียงกันวุ่นวายไปหมด แล้วก็ไรท์ลงแผ่นซีดีเพื่อให้เธอเก็บเสียงของเขาเอาไว้ใกล้ตัว” พร้อมทั้งนำเสียงของ ออสวอลด์ ลอว์เรนซ์ กลับมาใช้ที่สถานีรถไฟ Embankment เช่นเดิม นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2013 เป็นต้นมา แม้ว่าสถานีรถไฟแห่งอื่นจะเปลี่ยนเสียงประกาศเป็นแบบอื่นแล้วก็ตาม
“Mind the Gap” อาจเป็นเพียงคำประกาศที่ไม่สลักสำคัญสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับแม็คคอลลัมแล้ว นี่คือความทรงจำอันล้ำค่าที่ไม่อาจหาสิ่งใดมาแทนที่ได้
ฟังเสียงประกาศ ‘Mind the Gap’ ของสถานีนี้ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=QExoX4ls9OM
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/uk-england-london-21719848
https://www.theguardian.com/cities/2019/dec/25/the-christmas-story-of-one-tube-stations-mind-the-gap-voice
https://metro.co.uk/2019/12/13/embankments-mind-gap-announcements-emotional-story-behind-11901251/