กามาธิปุระ: เรื่องจริงของย่านขายบริการเก่าแก่ในอินเดียจากหนัง Gangubai Kathiawadi ก่อตัวตั้งแต่ยุคอาณานิคม เป็นแหล่งบำเรออารมณ์ให้ทหารบริติช ยังมีปัญหาตกค้างมาถึงศตวรรษที่ 21

กามาธิปุระ: เรื่องจริงของย่านขายบริการเก่าแก่ในอินเดียจากหนัง Gangubai Kathiawadi ก่อตัวตั้งแต่ยุคอาณานิคม เป็นแหล่งบำเรออารมณ์ให้ทหารบริติช ยังมีปัญหาตกค้างมาถึงศตวรรษที่ 21
มหานครมุมไบ (Mumbai) ในอินเดียเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทิวทัศน์ที่มองจากระยะไกลจะเห็นได้ว่าปรากฏตึกสูงเสียดฟ้าเสมือนสัญลักษณ์ชวนให้เข้าใจถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย หากลงไปสัมผัสในบางจุดจะพบย่านชุมชนสภาพต่างจากภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ บางจุดกลับเป็นแหล่งชุมชนแออัด และในละแวกเมืองใหญ่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของย่านขายบริการเก่าแก่และ(เคย)ใหญ่ที่สุดในเมือง ปัจจุบันคนเรียกขานกันว่า กามาธิปุระ (Kamathipura) ย่านแห่งนี้ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกท่ามกลางกระแสภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายช่วงต้นปี 2022 ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงตัวละครกังกุไบ (Gangubai) ซึ่งมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แม้ภาพยนตร์จะอิงจากข้อมูลจริง แต่รายละเอียดหลายอย่างไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ภูมิหลังความเป็นมา สำหรับย่านกามาธิปุระ เป็นที่รับรู้กันในฐานะแหล่งขายบริการขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเมือง ข้อมูลหลายแห่งระบุว่า ย่านแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อกว่า 150 ปีก่อนในช่วงอาณานิคม (บ้างระบุปีเป็นช่วงทศวรรษ 1790s) ภายใต้การปกครองของบริติช (British) โดยเป็นพื้นที่หนึ่งในมุมไบที่มีบทบาทสำหรับการปลดเปลื้องทางอารมณ์ของทหารบริติช เดิมทีแล้วย่านแห่งนี้ถูกเรียกในชื่อ ‘ลัล บาซาร์’ (Lal Bazaar) แต่มาถูกเรียกว่า กามาธิปุระ (Kamathipura) เพราะการเข้ามาของแรงงานในกิจกรรมทางการค้า ในยุคนั้น แหล่งที่ขายบริการจริงกลับเป็นถนน Foras Road ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ถนนสายนี้มีชื่อเสียงเรื่องการเต้นรำที่แสดงโดย ‘หญิงงามเมือง’ (tawaif) ผู้ชมมักเป็นคนชั้นสูง ชาวอินเดียที่มีหน้ามีตาในสังคม ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ของฝั่งบริติช รายงานข่าวจากบีบีซี (BBC) ของอังกฤษยังบอกเองว่า ทศวรรษ 1800s กองทัพบริติชจัดตั้งและให้คงไว้ซึ่งสถานบริการสำหรับบุคลากรในกองทัพจะได้ใช้บริการได้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วอินเดีย ผู้จ่ายเงินให้หญิงสาวที่ถูกรับสมัครมาทำงานก็คือกองทัพโดยตรง ผู้หญิงที่มาทำงานจำนวนไม่น้อยเป็นหญิงสาววัยเยาว์ฐานะยากจนมาจากครอบครัวที่ตั้งรกรากย่านชานเมือง ราวค.ศ. 1864 มุมไบมีย่านที่เป็นแหล่งพักพิงของผู้หญิงขายบริการมากกว่า 500 คนอยู่ 8 แห่ง และอีก 60 ปีต่อมา จำนวนลดลงมาเหลือ 2 แห่ง โดยแหล่งใหญ่ที่สุดก็คือกามาธิปุระ ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสื่ออินเดียที่รายงานว่าปลายศตวรรษที่ 19 กามาธิปุระ เริ่มไม่ได้ผูกโยงกับการรับรู้ในแง่แหล่งแรงงานทางการค้าเมื่อมีผู้หญิงจากยุโรปและญี่ปุ่นในวังวนการค้ามนุษย์ถูกนำมาที่นี่เพื่อค้าบริการทางเพศและบำเรอความสุขให้ทหารบริติชมากขึ้น เวลาผ่านมาหลายร้อยปี แม้ย่านกามาธิปุระ จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา พื้นที่ซึ่งปรากฏการขายบริการในยุคหนึ่งถูกจำกัดอยู่แค่ในถนน 14 สาย ส่วนอื่นที่เหลือแปรสภาพเป็นย่านธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์บ้างแล้ว สิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมบางแห่งถูกแทนที่ด้วยตึกสูง ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่พักอาศัยในย่านกามาธิปุระ เป็นนักเต้นรำที่แสดงต่อหน้ากลุ่มผู้ชม ซึ่งพวกเธอก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศแต่อย่างใด ไม่ใช่ผู้หญิงทุกรายที่ทำกิจกรรมบันเทิงในย่านนี้จะขายบริการทั้งหมด แต่สภาพบางอย่างจากในอดีตหลายจุดยังปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่ สภาพอาคารหลายแห่งยังพบเห็นลูกกรงที่ถูกติดตั้งตรงหน้าต่างและประตู ลูกกรงเหล่านี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตั้งราวทศวรรษ 1890s เพื่อปกป้องผู้หญิงจากลูกค้าที่นิยมความรุนแรง เวลาผ่านมาถึงราวต้นทศวรรษ 2010s ผู้ไปเยือนบริเวณละแวกนี้ยังพบเห็นลูกกรงบนอาคารเก่าที่มีผู้หญิงบางรายยังทำงานและอาศัยในสิ่งปลูกสร้างที่สร้างโดยกองทัพบริติชเพื่อใช้ในกิจการซ่อง ประสบการณ์จริงจากสื่อที่ฝังตัวในพื้นที่ เฮเซล ธอมป์สัน (Hazel Thompson) สื่อมวลชนรายหนึ่งฝังตัวในย่านขายบริการขนาดใหญ่ของมุมไบระหว่างช่วงทศวรรษ 2000-2010s รวมเวลาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี เธอบอกเล่าสภาพอันน่าหดหู่เกี่ยวกับสภาพพื้นที่ควบคู่กับประสบการณ์ของหญิงสาวที่เธอได้พูดคุยด้วยผ่านหนังสือ (E-book) ชื่อ Taken บางรายถูกล่อลวงมาโดยเพื่อนบ้านในหมู่บ้านยากจนพื้นที่อื่น หญิงสาววัย 11 ปีรายหนึ่ง (อายุเมื่อปี 2013) ที่เฮเซล ธอมป์สัน พูดคุยด้วย สาวน้อยรายนี้ได้ฟังคำชักจูงที่เย้ายวนว่าเธอจะได้งานแม่บ้านค่าจ้างดีและจะได้ส่งเงินกลับไปช่วยเลี้ยงดูครอบครัว ในความเป็นจริงแล้ว หญิงสาวตกเป็นเหยื่อ ต้องมาทำงานขายบริการในย่านโสเภณีแห่งใหญ่อันดับต้น ๆ อีกแห่งในเอเชีย เธอถูกล่วงละเมิดโดยผู้มาซื้อบริการ และใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลอีก 3 เดือน ชะตากรรมของหญิงสาวผู้โชคร้ายรายนี้ไม่ต่างจากผู้หญิงร่วมชะตากรรมอีกนับหมื่นรายในย่านกามาธิปุระ ซึ่งมีความเป็นมายาวนานกว่า 150 ปี สภาพความเป็นอยู่ในยุคหลังก็แออัด ขณะที่ตัวอาคารเก่าก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ไม่เพียงใช้ชีวิตลำบาก ชีวิตยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยง ไม่รู้ว่าจะเกิดพังถล่มลงมาเมื่อไหร่อีกต่างหาก ตลอดระยะเวลา 11 ปี ธอมป์สัน พบเห็นผู้ชายนับพันมาเยือนย่านกามาธิปุระ เพื่อหาความสุข ในมุมมองของเธอ พื้นที่กามาธิปุระ ไม่ได้เป็นดินแดนแห่งความสุข แต่เป็นพื้นที่แห่งความเจ็บปวด อาคารหลายแห่งมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปีและเริ่มผุกร่อน ผู้อยู่อาศัยอยู่ในความเสี่ยง ไม่เพียงเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อม สภาพงานก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านโรคระบาด หากไม่ติดโรค คนในสังคมมักตีตราแรงงานทางเพศกระทบไปถึงผู้คนที่อาศัยในย่านนี้ว่าเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ปฏิเสธได้ว่าไม่เป็นความจริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับข้อมูลตามความเป็นจริงว่า ถึงภาครัฐและกลุ่ม NGO จะมาช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดมากเพียงใด แต่บางส่วนก็ยังมีพฤติกรรมไม่ใช้ถุงยางอนามัย ขณะที่การแก้ตัวปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ก็ล้มเหลวไม่ต่างจากความพยายามลดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในหมู่แรงงานทางเพศ ความพยายามปรับปรุงพื้นที่ ภาพจากภาพยนตร์และการบอกเล่าของผู้มาเยือนย่านกามาธิปุระ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องในอดีตที่ตกค้างมา ไม่นานมานี้ ทางการอินเดียมีท่าทีและความพยายามลงมือปฏิบัติเพื่อปรับเปลี่ยนย่านแห่งนี้ โปรเจกต์จากทางการอย่าง Kamathipura township project มุ่งเน้นเรื่องพัฒนาและปรับปรุงย่านนี้กำลังจะเริ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2022 จะมีการสร้างที่พักอาศัยกว่า 8,000 แห่ง โปรเจกต์ดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 39 เอเคอร์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ขายบริการ ขณะที่ในช่วงหลัง กิจกรรมค้าบริการทางเพศในย่านกามาธิปุระลดลงไปมาก จากปากคำของคนในพื้นที่ การค้าบริการเหลือเพียงระยะถนน 2-3 เส้นเท่านั้น (แต่สื่อมวลชนและผู้คนมักพูดแบบเหมารวมพื้นที่ทั้งหมดว่าเป็นย่านที่มีขายบริการ) พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นที่พักอาศัยของแรงงานทางเพศจำนวนมากอีกต่อไป ตัวเลขจากรายงานข่าวเมื่อปี 2018 เผยว่า มีอาคาร 25 แห่งที่เป็นแหล่งพักอาศัยของคนทำงานบริการทางเพศราว 500 คน ผู้หญิงและเด็กถูกบีบให้ย้ายออกจากพื้นที่เนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ มีตั้งแต่การเคลื่อนไหวของผู้ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพแรงงานทางเพศมาในรูปแบบมาตรการปราบปรามการค้ามนุษย์ไปจนถึงการขับเคลื่อนของผู้อยู่อาศัยกลุ่มที่ไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการขายบริการและต้องการลบล้างภาพจำของผู้คนที่ตีตราคนในย่านนี้ว่าเป็นคนที่เชื่อมโยงกับกิจการค้าทางเพศ Dr. Jitendra Awhad รัฐมนตรีว่าการด้านการเคหะแห่งรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) เชื่อว่าโครงการพัฒนาและปรับปรุงย่านนี้สามารถพลิกโฉมพื้นที่ให้กลายเป็นย่านธุรกิจได้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งของกามาธิปุระซึ่งเชื่อมต่อกับพื้นที่สำคัญใกล้เคียงทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ภายหลังจัดระเบียบ พัฒนา และปรับปรุงพื้นที่สำหรับผู้อยู่อาศัยแล้ว การพัฒนาทางโครงสร้างอาจทำให้กามาธิปุระ กลายเป็นย่านธุรกิจต่อจากมุมไบก็เป็นได้ แน่นอนว่า พื้นที่นี้ได้รับความสนใจมากขึ้นเนื่องมาจากภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi ดังที่กล่าวข้างต้นว่า เนื้อหาในสื่อบันเทิงชิ้นนี้ แม้จะอ้างอิงมาจากเรื่องจริง แต่มีรายละเอียดหลายจุดที่แต่งแต้มสีสันเข้าไป สำหรับคนที่สนใจบริบทเชิงพื้นที่ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์ ข้อมูลเกี่ยวกับย่านกามาธิปุระในปัจจุบันบางส่วนแตกต่างจากที่นำเสนอในสื่อบันเทิง(แม้จะเล่าเรื่องคนละยุคสมัย แต่มักทำให้เกิดการตีตรามาถึงยุคปัจจุบัน) พื้นที่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตในระดับหนึ่งแล้ว หากสามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติม น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อกังวลเรื่องการรับรู้แบบเหมารวม การตีตรา และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงซึ่งในมุมของผู้อยู่อาศัยทั่วไปยุคปัจจุบัน พวกเขารู้สึกว่ามุมมองเดิมกระทบต่อวิถีชีวิตหรือสภาพจิตใจไม่มากก็น้อย ภาพ: ผู้ขายบริการในกามธิปุระ ภาพจาก Getty Images อ้างอิง: https://www.bbc.com/news/world-asia-india-24530198 https://economictimes.indiatimes.com/.../90798767.cms... https://hazelthompson.com/india-sex-trafficking-mumbai https://www.hindustantimes.com/.../story... https://www.theguardian.com/.../trafficked-india-red... https://www.indiatoday.in/.../why-kamathipura-s-women-are... https://www.outlookindia.com/.../sex-workers-of-gangubai... https://www.outlookindia.com/.../a-prostitute-recounts... https://qz.com/.../when-prostitution-was-a-symbol-of.../ https://timesofindia.indiatimes.com/.../arti.../90063512.cms https://www.timesnownews.com/.../transforming-mumbais...