โธมัส มัลธัส: นักเศรษฐศาสตร์สายดาร์ก ต้นแบบแนวคิดทฤษฎีอาหารมีไม่พอต่อประชากรแบบ ‘ธานอส’
แรงจูงใจของวายร้ายในโลกนวนิยายหรือภาพยนตร์ล้วนมีหลากหลายมากมาย บ้างก็อยากจะครองโลก บ้างก็อยากจะแก้แค้นใครสักคน บ้างก็อยากจะเอาชนะ บ้างก็อยากจะเห็นโลกทั้งใบถูกแผดเผา แต่แรงขับเคลื่อนของตัวร้ายอย่าง ‘ธานอส’ (Thanos) จากจักรวาลภาพยนตร์ของมาร์เวล (Marvel Cinematic Universe) หรือ MCU ที่มุ่งแย่งชิงอินฟินิตี้สโตนส์ (Infinity Stones) ทั้ง 6 ดวงมาไว้ในถุงมือของตน เพื่อจะบรรลุเป้าหมายเดียว - ไม่ใช่เพื่อครอบครองจักรวาล แต่เป็นการปรับสมดุลของมัน ไม่มีอะไรอื่นนอกเหนือจากนั้น
“ไททันก็ไม่ต่างอะไรกับดาวดวงอื่น มีปากท้องที่ต้องเลี้ยงมากเกินไป จนเกิดวิกฤตเผ่าพันธุ์ ข้าจึงเสนอทางออกให้”
“สังหารหมู่?”
“แต่ไม่เลือกหน้า ไม่มีอภิสิทธิ์ ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ล้วนเท่ากัน ทั้งดาวหาว่าข้าบ้า แต่ผลก็เป็นดังที่ข้าคาด”
ธานอสมองว่าปริมาณประชากรที่มากเกินไปไม่ได้จะนำไปสู่ผลดีเท่าไรนัก เพราะมันจะปูทางชะตากรรมของชีวิตที่มีอยู่มากล้นสู่ความอดอยากและล้มตาย เพราะทรัพยากรที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับความต้องการของปากท้องที่มีอยู่ได้ทั้งหมด
ดังนั้น แม้จะสุดโต่ง แต่ทางออกเดียวของวิกฤตนี้ในมุมมองของธานอสคือการกำจัดส่วนเกินให้แหลกสลายหายไปเป็นผุยผง และเมื่อปากท้องที่หิวโหยได้มลายหายไปครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งย่อมสามารถใช้ชีวิตด้วยความสุขสบาย ไม่ต้องแก่งแย่ง ไม่ต้องอดอยาก ไม่ต้องล้มตาย ทุกคนจะใช้ชีวิตอยู่บนดาวเดิมของตนดั่งสรวงสวรรค์บนดิน จะมีทรัพยากรที่เหลือพอให้ทุกคนไปอีกนานแสนนาน
นับเป็นแรงขับที่มีเหตุผลและสามารถเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้ก็มีใครหลายคนแทนที่จะเกลียดยักษ์ม่วงใส่ถุงมือ แต่กลับชื่นชอบตัวละครอย่างธานอส เพราะด้วยแนวคิดที่ไม่ได้มองตัวเองเป็นหลัก แต่มุ่งเน้นไปที่การรักษาทรัพยากรและธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ธานอสก็ไม่ใช่บุคคลแรกที่ถือกำเนิดแนวคิดสุดโต่งเช่นนี้ เพราะก่อนหน้าภาพยนตร์มหากาพย์สะท้านโรงภาพยนตร์ทั่วโลกอย่าง Avengers: Infinity War (2018) ย้อนไปก่อนหน้า 2 ศตวรรษ ได้มีนักเศรษฐศาสตร์สายดาร์กผู้หนึ่งที่เสนอแนวคิดที่มีความคล้ายคลึงกับการดีดนิ้วของธานอสเป็นอย่างมาก
คริสต์ศักราช 1798 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษนามว่า ‘โธมัส โรเบิร์ต มัลธัส’ (Thomas Robert Malthus) นำเสนอแนวคิดของเขาผ่านบทความที่มีชื่อว่า ‘เรียงความเกี่ยวกับหลักการของประชากร’ (An Essay on the Principle of Population) โดยเป็นงานที่สร้างชื่อให้ตัวเขาและนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับประชากรที่คล้ายคลึงกับมุมมองของตัวร้ายอย่างธานอสที่เรากล่าวไปข้างต้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นสารตั้งต้นต่อมุมมองแนวคิดที่มีต่อประชากรของมัลธัส แม้ว่าการปฏิวัติครั้งนี้จะทำผลิตภาพการผลิตพุ่งทะยานสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและมุมมองต่อแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก แต่มันก็ตามมากับผลกระทบมากมายหลายแบบ นอกจากจะเป็นบ่อเกิดของการกดขี่ข่มเหงและเอาเปรียบชนชั้นแรงงานที่จะนำไปสู่บทวิจารณ์ทุนนิยมของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) แล้ว มันยังดึงดูดให้ผู้คนย้ายจากชนบทเข้าเมืองมาหางานทำในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองด้วย
แต่ในขณะเดียวกันกับที่ประชากรเริ่มย้ายชีวิตตนเองจากนอกเมืองเข้าสู่ในเมือง อัตราการว่างงานและปริมาณความยากจนก็สูงตาม ๆ กันมาด้วย ความแร้นแค้นที่เกิดขึ้นประจักษ์ชัดจากมุมมองของมัลธัส ไม่เพียงแต่ในประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่ความทุกข์ยากก่อเกิดขึ้นในชนชั้นกรรมาชีพของทุก ๆ ประเทศ
มัลธัสจึงได้นำเสนอ ‘ทฤษฎีประชากร' หรือเรียงลำดับเลขที่คงที่จาก 1, 2, 3, 4, 5, 6 และคงรูปแบบเดิมต่อไป เพราะที่ดินที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมนั้นมีอยู่จำกัดผสานกับผลผลิตที่จะค่อย ๆ เสื่อมถอยลงจากคุณภาพที่ดินและกฎการลดน้อยลงของผลผลิต (The Law of Diminishing Returns) -แม้จะลงแรงมากขึ้น แต่ผลผลิตที่จะได้กลับมาก็ไม่เพิ่มขึ้นเยอะตามในปริมาณเดิมอีกแล้ว- ด้วยเหตุนี้ แม้ในคราวแรกเริ่ม ทรัพยากรที่มีอยู่ที่ดูเหมือนมากมายหลายหลากจะสามารถรับรองอุปสงค์ที่ผุดขึ้นมาได้อย่างเหลือเฟือ แต่ ณ จุดหนึ่ง ด้วยการเพิ่มขึ้นแบบเรขาคณิตที่จะมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ของประชากร ปริมาณมันก็จะเลยจุดที่ทรัพยากร -ที่เพิ่มขึ้นในอันดับเลขคณิตที่มีอัตราคงที่- จะมีเพียงพอต่อคนทุกคน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ปริมาณประชากรจะทะลุปริมาณทรัพยากร เพราะไม่สามารถเพิ่มสู้จำนวนมนุษย์ที่กำเนิดขึ้นทุก ๆ วันได้นั่นเอง
ต่างจากสัตว์ที่อยู่ภายใต้ห่วงโซ่อาหารและวิถีชีวิตแบบธรรมชาติ ปริมาณของพวกมันจะถูกควบคุมอยู่เสมอ ๆ ไม่ว่าจะจากนักล่า ภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือความอดอยาก แต่มนุษย์สามารถผลิตเสื้อผ้าใส่เมื่อหนาวได้ ลั่นไกใส่นักล่าอย่างสิงโตหรือจระเข้ได้ แม้ว่าอาจจะจัดการกับโรคระบาดหรือความอดอยากได้ไม่สมบูรณ์นัก แต่อย่างน้อยมนุษย์ก็มีวิธีจัดการกับมันดีกว่าสัตว์ป่า
ด้วยเหตุนี้ จากมุมมองของมัลธัส ปริมาณของมนุษย์จึงถือว่าไม่ถูกควบคุม (Unchecked) แล้วท้ายที่สุดจะนำพาสังคมโดยรวมไปสู่หายนะแห่งความขาดแคลน ดังนั้นพวกเราต้องลงมือทำอะไรสักหน่อย ไม่ให้ความวิบัติเกิดขึ้น มัลธัสจึงเสนอแนวทางการควบคุมจำนวนประชากรผ่านสองวิธี (ที่ไม่ใช่การดีดนิ้วแบบธานอส) - การควบคุมโดยวิธีป้องกัน (Preventive Checks) และ การควบคุมโดยตรง (Positive Checks)
การควบคุมโดยวิธีป้องกันคือ ผู้คนต้องยับยั้งชั่งใจตนเองไม่ให้มีการสืบพันธุ์กันในปริมาณที่มากเกินควร โดยผู้คนควรจะแต่งงานกันให้ช้าลงกว่าเดิม หรืออาจจะไม่แต่งงานไปเลย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะอุ้มชูลูกหลานของตน นอกจากนั้นชีวิตก่อนสมรสก็ไม่ควรอยู่กินกันดั่งสามีภรรยาและประพฤติในหลักศีลธรรม การปฏิบัติตนเหล่านี้จะเป็นการยับยั้งอัตราการเกิดผ่านการชั่งใจตนเองในมุมมองของมัลธัส
“ผมขอประณามการควบคุมประชากรด้วยวิธีประดิษฐ์หรือวิธีที่ไม่ธรรมชาติทั้งปวง”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวเขาเองเป็นนักบวชของนิกายคาทอลิก มัลธัสไม่เห็นด้วยกับการควบคุมโดยวิธีป้องกันที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติโดยแท้ เช่นการควบคุมการกำเนิดหรือการซื้อบริการทางเพศ แม้ว่ามันจะเป็นการควบคุมประชากรเหมือนกันก็ตาม เพราะเขาเชื่อว่าการควบคุมตัวเอง (Self-Control) เป็นวิธีที่ถูกต้องและควรจะเป็น
การควบคุมโดยตรงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่มาจากทิศทางตรงกันข้ามกับวิธีก่อนหน้า เพราะมันจะไม่ได้เป็นความพยายามที่จะลดอัตราการเกิด แต่เป็นการเพิ่มอัตราการตาย และปัจจัยที่จะเป็นตัวแสดงสำคัญเป็นหลักของการควบคุมวิธีนี้ก็คือ จตุรอาชาแห่งวันสิ้นโลก (The Four Horsemen of the Apocalypse) ที่ประกอบไปด้วย ความอดอยาก (Famine) ความทุกข์ยาก/ความตาย (Misery/Death) โรคระบาด (Plague) และสงคราม (War) ดังที่ถูกระบุไว้ในคัมภีร์ศาสนาคริสต์
โดยการควบคุมประเภทนี้จะอุบัติขึ้นเพื่อมาลงโทษมนุษย์ มัลธัสเชื่อว่ามันเป็นปรากฏการณ์หรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ดูชั่วร้าย แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการจำกัดปริมาณประชากร เพราะเมื่อการควบคุมเชิงศีลธรรมแบบแรกถูกละเลยจนก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นจนประชากรมากเกินไป ผู้คนจะอดอยาก โรคภัยจะระบาด ความทุกข์ยากจะแพร่หลาย สงครามจะบังเกิด และความตายจะเป็นชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไป ทฤษฎีอันสุดโต่งของมัลธัสก็ถูกหักล้างโดยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และตัวอย่างของสถานการณ์ปัจจุบันมากมายหลายประการ เพราะโลกปัจจุบันไม่ได้เป็นดังที่มัลธัสได้คาดการณ์ไว้สักเท่าใดนัก เพราะในศตวรรษที่ 21 มนุษย์ได้คิดค้นวิวัฒนาการมากมายที่พัฒนาการผลิตอย่างก้าวกระโดด ผลิตภาพของการผลิตไม่ได้คงอยู่เป็นเส้นตรงอีกต่อไป เพราะการเข้ามาของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีทำให้หลาย ๆ ประเทศสามารถผลิตอาหารได้มากกว่าปริมาณปากท้องที่มีอยู่เสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่ว่าปริมาณอาหารสามารถโตทันการเกิดใหม่ของประชากร แต่เรียกได้ว่าการพุ่งทะลุเลยมากกว่า ถึงกระนั้นก็ยังมีหลายประเทศที่ยังขาดแคลนอาหารอยู่ แต่การที่โลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกทั้งใบสามารถเข้าถึงกันได้มากขึ้น ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลหรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศกันมากขึ้นและง่ายกว่าเดิม
ถึงโธมัส มัลธัส จะจากโลกนี้ไปกว่า 2 ศตวรรษแล้ว แต่แนวคิดที่น่าสนใจของเขาก็ยังสามารถเห็นได้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรณีของวายร้ายระดับจักรวาลอย่างธานอส แถมยังมีการถกเถียงหลังหนังจบเช่นกันว่า สิ่งที่ธานอสทำนั้นถูกหรือไม่ บ้างก็เห็นด้วยและเข้าใจ เพราะทรัพยากรที่มีอยู่มันจำกัดและไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งหมดอย่างแน่นอน บ้างก็มองว่าการทำให้สิ่งมีชีวิตครึ่งจักรวาลมันไม่เห็นจะใช่ทางออกตรงไหนเลย บางคนก็ว่าการมองโลกแบบมัลธูเซียน (Malthusianism) เป็นการมองโลกที่ดาร์กและมองแง่ร้ายมากเกินไป แถมวิธีแก้ไขก็สุดโต่งเกินไปอีกด้วย
แนวคิดของธานอสเองก็มีคนแสดงความคิดเห็นว่ามันเป็นทางแก้ที่ไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก อาจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า เหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ สามารถคงอยู่แถมยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมก็เพราะ ‘เทคโนโลยี’ แล้วเทคโนโลยีดี ๆ นวัตกรรมล้ำ ๆ จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะ ‘หัวสมอง’ ของสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ หัวรวมกัน สร้างโลกที่ดีกว่าเดิม ถ้าประชากรหายไปจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งหมด โอกาสที่เราจะได้หัวกะทิก็คงจะลดหลั่นตามกันไปด้วย ดังนั้นโอกาสที่เราจะพบไอน์สไตน์คนถัดไปก็ลดไปอีกตั้งครึ่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลทั้งปวง บ้างก็ตั้งคำถามว่าทำไมธานอสไม่เพิ่มทรัพยากรแทนที่จะกำจัดสิ่งมีชีวิตล่ะ?
อย่างไรก็ตาม งานของมัลธัสก็ทำนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มหันมามอง ‘อุปทาน’ (Supply) ที่พวกเรามีอยู่อย่างจำกัด แทนที่จะมุ่งสนใจเพียงแค่ ‘อุปสงค์’ (Demand) ที่ก่อเกิดขึ้นมาอย่างไร้ที่สิ้นสุด
นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ตัวละครวายร้ายอย่างธานอสถูกก่อร่างสร้างขึ้นโดยใส่หลักแนวคิดที่น่าฉุกคิดเช่นนี้เป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำอยู่เบื้องหลัง นอกจากมันจะทำให้ตัวละครมีมิติที่น่าสนใจและเป็นที่ชื่นชอบของแฟน ๆ หลายคนแล้ว มันยังทำให้ใครอีกหลายคนได้มีโอกาสลองขุดย้อนไปดูถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในอดีตและนำมันมาถกเถียงและทำให้การชมภาพยนตร์มีอรรถรสมากขึ้น
จากมุมมองของมัลธัส การดีดนิ้วของธานอสคงจะเป็นชะตาที่สิ่งมีชีวิตไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในโลกยุคปัจจุบันก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่าเรา - มนุษยชาติ - สามารถหลีกเลี่ยงการควบคุมประเภทนี้ได้ แต่ก็ใช่ว่าปัญหาของอาหารที่ขาดแคลนและความอดอยากจะหมดไป แต่ต้นตอของปัญหา แท้จริงแล้วอยู่ที่อะไร? ปริมาณอาหารไม่พอจริงหรือ? เพราะในขณะเดียวกัน หลาย ๆ ประเทศก็ยังมีอาหารที่เหลือพอเกินกว่าความต้องการของประชาชน แต่เหตุใดบางประเทศยังคงต้องประทังชีวิตด้วยปริมาณอาหารที่ขาดแคลนและมีไม่เพียงพอสำหรับคนทุกคน?
บางทีปัญหาที่มีอยู่อาจจะไม่ได้เกิดจากปริมาณของมัน…
ภาพ:
Thomas Robert Malthus. Mezzotint by John Linnell, 1834. Retrieved. https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Thomas_Robert_Malthus_Wellcome_L0069037_-crop.jpg
Thomas Robert Malthus, Public Domain. Published by John Murray, Albemarle Street. Retrieved. https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Malthus_-_Essay_on_the_principle_of_population,_1826_-_5884843.tif
Avengers: Infinity War (2018), Walt Disney Studios Motion Pictures.
อ้างอิง:
Brue, Stanley L., and Grant, Randy R., “The Evolution of Economic Thought, 7th Edition” (2007).
Economics online. “What Is the Malthusian Theory of Population?”. Retrieved. https://www.economicsonline.co.uk/managing_the_economy/what-is-the-malthusian-theory-of-population.html/
Kagan, Julia. (2021). “Thomas Malthus”. Investopedia. Accessed. https://www.investopedia.com/terms/t/thomas-malthus.asp
Condotiddoi. “4 จตุรอาชาแห่งวันสิ้นโลก เมื่อโรคระบาดเผยตัวเป็นสัญญาณว่าโลกกำลังคัดสรรเรา!?!”. Accessed. https://www.condotiddoi.com/readarticle.php?articleid=3618
Beattie, Andrew. (2021).“A Brief History of Economics”. Investopedia. Accessed. https://www.investopedia.com/articles/economics/08/economic-thought.asp
Potenza, Alessandra. (2018). “Thanos’ plan in Avengers: Infinity War has historical precedent, but he applies it wrong”. Accessed. https://www.theverge.com/2018/5/4/17319992/thanos-plan-avengers-infinity-war-historical-precedent-science-malthus