ยาสุฮิโระ ยามาซากิ ผู้ปั้นแบรนด์ Royce’ จนเป็นภาพจำช็อกโกแลตจากญี่ปุ่น

ยาสุฮิโระ ยามาซากิ ผู้ปั้นแบรนด์ Royce’ จนเป็นภาพจำช็อกโกแลตจากญี่ปุ่น
ถ้าเรานึกถึง ‘ช็อกโกแลตจากญี่ปุ่น’ เรามักนึกถึงช็อกโกแลต Royce’ ที่ซื้อเป็นของฝากเวลากลับจากเที่ยวญี่ปุ่น ก่อนจะแวะไปซื้ออีกรอบเวลาคิดถึงตามชอปในห้างสรรพสินค้าชั้นนำเมืองไทย ซึ่งผู้ก่อตั้งแบรนด์ช็อกโกแลตขวัญใจคนไทยนี้ คือ ยาสุฮิโระ ยามาซากิ (Yasuhiro Yamazaki) นี่เอง เริ่มต้นจากเซลส์ เส้นทางอาชีพของยาสุฮิโระไม่ต่างจากนักธุรกิจญี่ปุ่นคนอื่น ๆ นัก คือเริ่มจากการเป็น ‘เซลส์’ ขายอุปกรณ์ให้กับโรงงานผลิตช็อกโกแลตต่าง ๆ มาก่อน เขาต้องเรียนรู้งานทุกอย่างตั้งแต่พื้นฐานถึงแอดวานซ์ประสบการณ์นับทศวรรษที่สั่งสมมา ทำให้เขาพอจะเข้าใจ ‘ระบบนิเวศ’ ของวงการช็อกโกแลตในญี่ปุ่น  รู้ขั้นตอนการผลิตช็อกโกแลต รู้ว่าต้องไปพาร์ตเนอร์กับใคร รู้ว่าอะไรคือช่องว่างในตลาด…ซึ่งล้วนเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการทำธุรกิจให้อยู่รอดในระยะยาว สมัยก่อนเวลาพูดถึงช็อกโกแลตคุณภาพเยี่ยม ผู้คนมักนึกถึงประเทศ ‘เบลเยียม’ แต่ยาสุฮิโระตั้งข้อสงสัยว่า แล้วทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงไม่ขึ้นชื่อเรื่องนี้บ้าง? เพราะอุปกรณ์เทคโนโลยีการผลิตในโรงงานก็มีแล้ว มีนมฮอกไกโดเป็นวัตถุดิบชั้นดี แถมตลาดคนญี่ปุ่นตอนนั้นก็มีกำลังซื้อสูงแล้ว คำถามในใจเหล่านี้นำทางเขาไปสู่การลาออกและก่อตั้งบริษัท ROYCE’ Confect Co., Ltd. ขึ้นในปี 1983 ที่เกาะฮอกไกโด ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบธรรมชาติชั้นดี เช่น นม อีกหนึ่งส่วนผสมสำคัญในการทำช็อกโกแลตชั้นเลิศ เริ่มแรกเป็นโรงงานผลิตช็อกโกแลตขนาดเล็ก มีผลิตภัณฑ์แรกคือแท่ง ‘ช็อกโกแลตบาร์’ อันเรียบง่าย เน้นย้ำถึงการใช้ ‘วัตถุดิบที่ดีที่สุด’ ไม่ใส่สารกันเสียแต่อย่างใด ดูได้ง่ายๆ จากระยะเวลาหมดอายุของช็อกโกแลต Royce’ ที่อยู่ได้นานแค่ 1 - 3 เดือนเท่านั้น แถมหวานน้อยกว่า และให้ผิวสัมผัสที่กินแล้วนุ่มปากกว่าช็อกโกแลตจากฝั่งยุโรป ชื่อแบรนด์ประดิดประดอยจากชื่อผู้ก่อตั้ง ด้านที่มาของชื่อแบรนด์ เดิมทียาสุฮิโระไม่ได้ตั้งใจคิดให้เป็นภาษาอังกฤษ แต่มาจากการลองนำนามสกุลของเขามาเรียงกลับด้านกันต่างหาก Yasuhiro ?  Rohisuya จากนั้นยาสุฮิโระมองว่า ‘ya’ ตัวสุดท้ายมีความหมายในภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้วว่าคือ ‘ร้านค้า’ จึงตัดออกเหลือแค่ ‘Rohisu’ พอ ก่อนจะพลิกแพลงเสียงปิดท้ายเป็น ‘Rohizu’ เพื่อความไพเราะ แต่ ‘Rohizu’ (โร-ฮิ-ซุ) เป็นชื่อที่ฟังดูญี่ปุ่นไปหน่อย อ่านยาก - เขียนยาก ดังนั้น เพื่อทำให้ชื่อแบรนด์ฟังดูเป็นสากลมากขึ้นและออกเสียงสั้นลง เขาจึงเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และ Rohisu = Royce’s นั่นเอง ก่อนสุดท้ายจะตัด s ทิ้ง และเหลือกิมมิคอย่างอักษร ’ ตวัดด้านบนปิดท้าย กลายเป็น Royce’ ซึ่งให้ความรู้สึกดูเก๋ขึ้น มีสไตล์ ดูโมเดิร์น และให้กลิ่นอายชื่อแบรนด์ฝรั่งเศส (คนญี่ปุ่นมีทัศนคติที่ดีเยี่ยมต่อฝรั่งเศส โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมอาหารการกิน) จุดเปลี่ยนตลอดกาล แต่ทุกการเริ่มต้นยากเสมอ Royce’ ในช่วง 2 - 3 ปีแรก ไม่มีการเติบโตที่หวือหวานัก ยอดขายไม่สูง การเติบโตเป็นไปอย่างเนิบช้า บริษัทต้องเพิ่มช่องทางสั่งซื้อทางไปรษณีย์ เพื่อขยายการจัดส่งไปทั่วญี่ปุ่น และต้องรอจนถึงปี 1993 กว่าที่บริษัทจะมีหน้าร้านสาขาแรกเป็นของตัวเอง ปี 1995 Royce’ ได้คิดค้นสินค้าใหม่ตัวหนึ่งที่จะพลิกโฉมอนาคตทั้งบริษัทและเป็นของฝากยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยในอีกไม่กี่ทศวรรษต่อมา สินค้าใหม่ตัวนั้นคือ ‘ช็อกโกแลตนามะ’ (Nama Chocolate) เราอาจเรียกได้ว่ามันเป็น ‘นวัตกรรมช็อกโกแลต’ ที่แปลกใหม่ มีเอกลักษณ์แตกต่างจากเจ้าอื่นในตลาด  เอร็ดอร่อยเป็นคำๆ ไม่ต่างจาก ‘ซูชิ’ ที่ให้รสชาติยอดเยี่ยมที่สุดเมื่อกินเป็น ‘คำ ๆ’ ขนาดพอดีปาก ตัว Nama Chocolate (ที่มีหลายรสชาติให้เลือก) ของ Royce’ ก็มี ‘ประสบการณ์’ การกินที่น่าสนใจ มีการแบ่งช็อกโกแลตออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ รวม 20 ชิ้น พร้อมไม้จิ้มให้กินเป็นคำ ๆ ลองนึกภาพว่า ถ้าช็อกโกแลตมีขนาดปริมาณเท่าเดิม แต่ขีดแบ่งชิ้นใหญ่ขึ้น คุณค่าและประสบการณ์ที่ผู้กินได้รับคงจะเปลี่ยนไปแน่นอน นอกจากนี้ เวลาเปิดกล่องขึ้นมา (หรือขณะตั้งดิสเพลย์อยู่หน้าร้าน) ก็ให้ภาพที่ดูพรีเมียม เป็นช็อกโกแลตที่ถูกแบ่งจัดเรียงสวยงามเป็นระเบียบ แถม ‘แพ็กเกจจิ้ง’ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ Royce’ ยังออกแบบมาแต่แรกเพื่อถูกซื้อเป็น ‘โอมิยาเกะ’ หรือของฝากที่ระลึกให้แก่ผู้อื่นได้อีกด้วย เพราะยิ่งแพ็กเกจจิ้งสวยงาม ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ สินค้าใหม่ตัวนี้ของ Royce’ ติดจรวดให้แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็ว ในเวลาต่อมามียอดขายถึง 25 ล้านกล่อง/ปี และคิดเป็น 50% ของยอดขายสินค้าทั้งบริษัท จนบริษัทมีเงินทุนที่จะสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้มาก โดยปี 1996 เปิดศูนย์กระจายสินค้าใหม่ เพื่อส่งมอบสินค้าไปทั่วญี่ปุ่น, ปี 1997 เปิดสาขาในห้างหรู Mitsukoshi ใจกลางซัปโปโร, ปี 2000 เริ่มโฆษณาในนิตยสารบนสายการบิน ANA, ปี 2001 บุกตลาดต่างประเทศแห่งแรกที่สิงคโปร์ (ปี 2007 Royce’ เปิดสาขาแรกในเมืองไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์) ต่อยอดความสำเร็จไม่สิ้นสุด แต่ยาสุฮิโระไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ยังคงมีการเดินหน้าขยายธุรกิจและไลน์ผลิตภัณฑ์ออกไปอีก แม้สินค้าพระเอกของ Royce’ คือ ช็อกโกแลตนามะอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่ถึงปัจจุบัน Royce’ ได้ออกสินค้าอื่น ๆ มาอีกเยอะมาก ซึ่งล้วนมีพื้นฐานวัตถุดิบนมฮอกไกโดและช็อกโกแลตที่ตัวเองเชี่ยวชาญ ตัวอย่างไทม์ไลน์ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม อาทิ Chocolate Bar (1985), Pure Chocolate (1990), Chocolate (1995), Baton Cookies (1999), Potatochip Chocolate (2002), Chocolate Wafers (2004) และ Prafeuille Chocolat (2008) การเดินหน้าขยายธุรกิจก็น่าสนใจไม่น้อย ปี 2000 มีการเปิดตัวเว็บไซต์ Royce’ (www.e-royce.com) ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้, ปี 2005 ของปีแรกที่ Royce’ กระโดดเข้าสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ช็อกโกแลต เช่น ธุรกิจประกัน / การบริหารร้านอาหาร / กาแฟ / น้ำดื่ม และอื่น ๆ, ปี 2011 มีการเปิดตัว Royce’ Chocolate World ที่สนามบิน New Chitose เป็นพิพิธภัณฑ์และโรงงาน (ขนาดย่อม) แห่งแรกของญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในสนามบิน นี่คืออีกหนึ่งพื้นที่สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้มาเยือน, ปี 2012 Royce’ ลงทุนเปิดร้านสาขาใหญ่ที่ Madison Avenue ใจกลางมหานครนิวยอร์ก เป็นสัญลักษณ์ร้านเรือธงสู่การบุกตลาดโลกของแบรนด์ ปัจจุบัน Royce’ มีพนักงานทั่วโลกกว่า 700 คน ดำเนินธุรกิจในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก มีร้านค้าปลีกกว่า 100 สาขา และทุกวันนี้เวลาผู้คนทั่วโลกนึกถึง ‘ช็อกโกแลตญี่ปุ่น’ จะมี ‘ภาพจำ’ เป็นแบรนด์ Royce’ เด้งขึ้นมาในหัวเป็นอันดับแรก ๆ และเมื่อนักท่องเที่ยวไทยกำลังจะจากลาญี่ปุ่นในสนามบิน ก็มักหยิบกล่องช็อกโกแลต Royce’ ติดไม้ติดมือกลับบ้านเสมอ… . อ้างอิง .