โรเบิร์ต บาคเกอร์ : นักบรรพชีวินนอกรีตผู้ปลุกชีพไดโนเสาร์ให้ Jurassic Park
“อย่าไปมองทีเร็กซ์เป็นกิ้งก่ายักษ์เลือดเย็นเลย ให้คิดซะว่ามันคือไก่ยักษ์ 10 ตันจากนรก” โรเบิร์ต บาคเกอร์ (Robert Bakker) พูดอย่างภาคภูมิปนตลก เขาคือนักบรรพชีวิตเคราฟูมาดคาวบอยที่คืนชีพให้วงการไดโนเสาร์กลับมามีชีวิตชีวาจนถึงทุกวันนี้ และอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในนักบรรพชีวินที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20
ตั้งแต่ยุคที่ไดโนเสาร์ถูกค้นพบครั้งแรก ๆ ในศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงยุค 1970s ภาพลักษณ์ของสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้ยังเป็นเพียงสัตว์เลื้อยคลานอืดอาดหางลากพื้น เชื่องช้า ไม่ฉลาด ผู้ไม่อาจปรับตัวได้จนต้องสูญพันธุ์ไป คำว่า ‘ไดโนเสาร์’ ได้กลายมาเป็นคำปรามาสถึงความ ‘ล้าหลัง’ ไปโดยปริยาย ส่วน ‘เต่าล้านปี’ ที่มักมาคู่กันก็เป็นมรดกจากทัศนคติต่อไดโนเสาร์ในยุคนี้เช่นกัน นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากปรามาสว่าไดโนเสาร์ก็คือเส้นทางตันของวิวัฒนาการและไม่อาจให้คำตอบอะไรที่สลักสำคัญเกี่ยวกับชีวิตบนโลกได้
หารู้ไม่ว่าแนวคิดของพวกเขาจะถูกหักล้างอย่างสิ้นเชิงโดยหลักฐานและทฤษฎีใหม่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 โดยนักบรรพชีวิน (ผู้ศึกษาสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์) ชาวอเมริกันสองคน คือ โรเบิร์ต บาคเกอร์ กับ จอห์น ออสตรอม (John Ostrom)
ในปี 1969 จอห์น ออสตรอม ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้จัก เจ้าตัวนี้มีชื่อว่า ‘ไดโนนีคัส’ (Deinonychus) ออสตรอมอธิบายว่าไดโนนีคัสเป็นไดโนเสาร์ที่มีรูปร่างปราดเปรียว กระฉับกระเฉง และน่าจะเป็นสัตว์เลือดอุ่น เขายังสังเกตว่ากระดูกแขนและมือของเจ้าไดโนนีคัสนั้นช่างเหมือนกับแขนของ ‘นกตัวแรก’ ชื่อว่า ‘อาร์คีออปเทอริกซ์’ (Archaeopteryx) แทบไม่ผิดเพี้ยน นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่านกน่าจะสืบเชื้อสายมาจากไดโนเสาร์ที่มีลักษณะแบบไดโนนีคัส ในรายงานชิ้นนี้ยังมีภาพประกอบของไดโนนีคัสที่กำลังวิ่งสองขาอย่างคล่องแคล่ว พร้อมกับหางที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งภาพนี้วาดโดย โรเบิร์ต บาคเกอร์ ผู้เป็นลูกศิษย์คนโปรดของออสตรอมในมหาวิทยาลัยเยล
เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยเยล โรเบิร์ต บาคเกอร์ ก็ไปศึกษาต่อที่ฮาร์วาร์ด ช่วงยุค 1970-1980 บาคเกอร์ได้สานต่องานวิจัยของออสตรอมด้วยไฟแรงกล้าก็ว่าได้ แต่สิ่งที่ทำให้บาคเกอร์ต่างจากออสตรอมคือการนำเสนอแบบค่อยเป็นค่อยไป ในการนำเสนอทฤษฎีแต่ละครั้ง เขามักโพล่งชื่อหรือคำที่กระตุกหนวดนักบรรพชีวินร่วมสมัยจนต้องร้องว่า “อะไรกันเนี่ย?!?!” และนี่ทำให้บาคเกอร์ได้รับฉายาว่าเป็น ‘นักบรรพชีวินนอกรีต’ หนึ่งในข้อเสนอของเขาคือให้นักวิทยาศาสตร์จัด ‘นก’ ไว้ในผังตระกูลสัตว์เลื้อยคลานด้วย และนกคือไดโนเสาร์กลุ่มสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่
“ตามขนบเดิมแล้วไดโนเสาร์เป็นยักษ์ใหญ่ที่เลือดเย็น โง่ และเชื่องช้า แต่พวกมันกลับครองโลกเสียอย่างนั้น ส่วนไดโนเสาร์ของเรานั้นฉลาดแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เลือดอุ่น และว่องไว” บาคเกอร์กล่าว
ยุคแห่งการปฏิวัติภาพลักษณ์ไดโนเสาร์ถูกขนานนามโดยบาคเกอร์ว่าเป็น ‘การเกิดใหม่ของไดโนเสาร์’ (Dinosaur Renaissance) เขามองว่ามันเป็นการคืนชีพและเคารพต่อสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้ ด้วยหลักฐานใหม่ ๆ และการตีความแบบใหม่ ทำให้ทั้งท่าทาง พฤติกรรม การเลี้ยงดูลูก วิถีชีวิต และกายวิภาคของไดโนเสาร์ถูกพลิกหน้ากระดานใหม่หมด จากเดิมที่ภาพลักษณ์เหมือนสัตว์เลื้อยคลานอุ้ยอ้าย พวกมันได้กลับมามีชีวิตชีวาและกระฉับกระเฉงไม่ต่างกับนกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
เมื่อถึงปี 1988 บาคเกอร์ได้ออกหนังสือในชื่อ The Dinosaur Heresies เพื่อรวบรวมทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับไดโนเสาร์ทั้งหมด ก่อนหน้านี้เส้นทางวิวัฒนาการของนกยังเป็นปริศนาที่ไม่มีใครปะติดปะต่อได้ แต่เมื่อทฤษฎีของบาคเกอร์ได้ตีความไดโนเสาร์ใหม่ ปริศนานี้จึงค่อย ๆ คลี่ปมออกทีละเล็กทีละน้อย
ในช่วงเวลาเดียวกัน นักเขียนนวนิยายแนวไซไฟชาวอเมริกัน ไมเคิล ไครชตัน (Michael Crichton) ได้อ่านงานเขียนของบาคเกอร์และจุดประกายความสนใจเกี่ยวกับไดโนเสาร์ขึ้นมาทันที ไครชตันถึงขั้นต่อสายไปหาบาคเกอร์โดยตรงเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและกายวิภาคของไดโนเสาร์เพื่อเอามาใส่ในนวนิยายเล่มใหม่ของเขา และนวนิยายเล่มนี้จะได้ชื่อว่า ‘จูราสสิค ปาร์ค’
แม้จะได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ใหม่หลายคนที่สนับสนุนทฤษฎีใหม่ของไดโนเสาร์ แต่ความเห็นในรายละเอียดต่าง ๆ ก็มีแตกต่างกันเป็นธรรมดา ระหว่างนี้เองที่บาคเกอร์ได้พบกับคู่ปรับนามว่า แจ็ค ฮอร์เนอร์ (Jack Horner) นักบรรพชีวินชื่อดังอีกคนผู้เสนอสมมติฐานว่า เจ้าทีเร็กซ์น่าจะเป็นสัตว์กินซากมากกว่านักล่า ในขณะที่บาคเกอร์มองว่าทีเร็กซ์เป็นยอดนักล่าในระบบนิเวศ
เรื่องตลกร้ายคือแม้ทั้งคู่จะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมายาวนาน พวกเขากลับได้มีส่วนร่วมในฐานะผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับไดโนเสาร์ในภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ของสตีเวน สปีลเบิร์ก แต่ชื่อของบาคเกอร์กลับไม่ปรากฎในเครดิตของหนัง เราจะเห็นเขาให้คำปรึกษาทีมงานได้จากเบื้องหลังการถ่ายทำเท่านั้น แต่นักบรรพชีวินนอกรีตผู้นี้ก็พึงพอใจกับผลลัพธ์ของไดโนเสาร์ที่ออกมามาก
“สัตว์ที่ออกมาไม่เพียงแต่เพลินสายตา มันต้องมีความสง่างาม ถ้าคุณทำมันออกมาแม่นยำ นอกจากน่าประทับใจแล้ว มันยังดูสง่างามอีกด้วย” บาคเกอร์เล่าถึงจูราสสิคปาร์คภาคแรก
ในภาพยนตร์ภาคต่อเรื่อง The Lost World: Jurassic Park สตีเวน สปีลเบิร์ก ก็สุมหัวกับ แจ็ค ฮอร์เนอร์ เพื่อเล่นมุกตลกโดยใส่คาแรกเตอร์ที่มีลักษณะท่าทาง และการแต่งกายเหมือนบาคเกอร์ลงไปในหนัง และให้ชื่อตัวละครนั้นว่า โรเบิร์ต เบิร์ค (Robert Burke) เป็นการเลียนชื่อบาคเกอร์อีกที และทั้งคู่ได้จัดแจงให้เบิร์คโดนเจ้าทีเร็กซ์ลากแขนไปกินในฉากที่ทีมสำรวจหนีเจ้าไดโนเสาร์เข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่ง
แม้ชะตากรรมของตัวละครนี้เหมือนเป็นการประกาศชัยชนะของฮอร์เนอร์ แต่เมื่อบาคเกอร์ได้เห็นตัวละครที่มีลักษณะกับท่าทางล้อเลียนเขาทุกอย่าง แถมได้เป็นอาหารของสัตว์ตัวโปรด ก็อดไม่ได้ที่จะกระหยิ่มยิ้มย่องแล้วส่งข้อความไปหา แจ็ค ฮอร์เนอร์ เป็นการส่วนตัว
“เห็นไหมล่ะ ผมบอกคุณแล้วว่าเจ้าทีเร็กซ์เป็นสัตว์นักล่า”
นอกจากความเป็นนักวิทยาศาสตร์เต็มตัว อีกแง่มุมส่วนตัวที่น่าสนใจของบาคเกอร์คือเขานับถือศาสนาคริสต์นิกายเพนเทคอสต์ แถมยังเป็นผู้นำประกอบพิธีในโบสถ์อีกด้วย แต่วิทยาศาสตร์กับศาสนาอาจไม่ใช่เรื่องตรงข้ามกันเสมอไป เขามองว่าวิวัฒนาการ ธรณีวิทยา หรือวิทยาศาสตร์ไม่ได้ขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาแต่อย่างใด และการศึกษาวิทยาศาสตร์ยังช่วยอธิบายการสร้างจักรวาลที่ซับซ้อนของพระเจ้าได้ด้วย เขากล่าวว่าไบเบิลไม่ควรถูกตีความแบบตรงตามตัวอักษร
ปัจจุบันบาคเกอร์ยังรับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งเมืองฮุสตัน และมีนักศึกษาจากทั่วทุกสารทิศสนใจมาฟังเขาบรรยายและออกไปไซต์ขุดฟอสซิลกับเขาเป็นประจำ ซึ่งบาคเกอร์ก็อธิบายให้พวกเขาฟังอย่างเป็นกันเองและชวนสนุก
เพียงไม่กี่ปีต่อมาทฤษฎีนอกรีตนี้ก็ถูกพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริง ในช่วงปลายยุค 1990 เริ่มมีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากที่มีขนและกายวิภาคแบบนก โดยไดโนเสาร์มีขนส่วนใหญ่ถูกพบในประเทศจีนซึ่งเคยเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในยุคไดโนเสาร์ นี่ช่วยยืนยันทฤษฎีของบาคเกอร์และออสตรอมว่า นกและไดโนเสาร์มีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด และนักวิทยาศาสตร์ก็ต่อจิ๊กซอว์ที่หายไปของวิวัฒนาการของนกได้อย่างสมบูรณ์ในที่สุด ปัจจุบันนี้นกถูกยอมรับว่าเป็นไดโนเสาร์กลุ่มสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่
ใครจะไปเชื่อว่า จากผลงานวิจัยตีพิมพ์ฉบับเดียวจะส่งผลให้เกิดการดีเบตครั้งใหญ่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ จนเนื้อหาของมันถูกนำไปดัดแปลงเป็นนวนิยายและภาพยนตร์ชุด Jurassic Park ที่สร้างภาพอันตระการตาของไดโนเสาร์ที่ถูกตีความใหม่ให้ผู้คนนับล้านตั้งแต่ยุค 1990 เป็นต้นมา ทำให้ความสนใจเกี่ยวกับไดโนเสาร์และแวดวงบรรพชีวินที่เคยห่างเหินกลับมาเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยสาธารณชนจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าจะหายไปไหน
คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าเขาทำให้ไดโนเสาร์โด่งดังยิ่งกว่าฟลินต์สโตนเสียอีก แล้วยังทำให้เราได้รู้ว่าไดโนเสาร์นั้นยังอยู่กับเราจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง:
https://www.paleonerds.com/podcast/bobbakker
https://www.thoughtco.com/robert-bakker-biography-1092536
https://www.hmns.org/exhibits/curators/robert-t-bakker-ph-d/
https://www.hcn.org/issues/45.14/dinosaur-wars
https://news.yale.edu/.../yale-scientists-research...
https://yalealumnimagazine.com/.../3921-the-man-who-saved...
ที่มาภาพ: courtesy of Dr. Robert T. Bakker
https://upload.wikimedia.org/.../f/f0/Dr._Bob_Bakker.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/5/50/Heres.JPG