เพราะไม่เชื่อ ‘อาหารเหลือ’ ไร้ค่า จุดเริ่มต้น Yindii แอปฯ เปลี่ยน Food Waste ให้มีคุณค่า เพื่อโลกที่ยั่งยืน

เพราะไม่เชื่อ ‘อาหารเหลือ’ ไร้ค่า จุดเริ่มต้น Yindii แอปฯ เปลี่ยน Food Waste ให้มีคุณค่า เพื่อโลกที่ยั่งยืน

เพราะไม่เชื่อ ‘อาหารเหลือ’ ไร้ค่า จุดเริ่มต้น Yindii แอปฯ เปลี่ยน Food Waste ให้มีคุณค่า เพื่อโลกที่ยั่งยืน

กว่า 30% ของอาหารที่โลกผลิตได้ต่อปี ลงเอยกลายเป็นขยะอาหารเหลือทิ้ง โดยในแต่ละปีมีอาหารเหลือทิ้งทั่วโลกกว่า 1,300 ล้านตัน ขณะที่โลกมีผู้คนที่ยังหิวโหยอดอยากอยู่กว่า 690 ล้านคน ซึ่ง UN เผยว่า ถ้าเรานำอาหารเหลือทิ้งไปให้ผู้คนหิวโหยได้ โลกเราจะหมดปัญหานี้โดยทันที หลุยส์ อัลบาน บาทาด ดูเปร (Louis-Alban Batard-Dupre) คือชายที่เห็นข้อเท็จจริงนี้แล้วฉุกคิดว่า มันต้องเป็นแบบนี้เสมอไปหรือ? มันต้องเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน? ดูยังไงนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เมคเซนส์เลย ด้วยจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ เขาจึงเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงด้วยพลังเล็ก ๆ ของตัวเอง แต่เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่สู่โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลลัพธ์คือแอปฯ ‘Yindii’ ชาวฝรั่งเศสโดยสายเลือด หลุยส์เกิดและเติบโตที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรม ‘อาหารการกิน’ อันสูงส่งที่น้อยคนจะกล้าปฏิเสธ ซึ่งหลายคนพูดได้เต็มปากว่า วัฒนธรรมอาหารการกินของชาวฝรั่งเศสมีความ ‘ศิวิไลซ์’ แต่เบื้องหลังความศิวิไลซ์นั้น มาพร้อม ‘ขยะอาหารเหลือ’ (food waste) ควบคู่กันไปอย่างเลี่ยงไม่ได้จากการผลิตที่เกินพอดี แต่ใครจะไปรู้ว่า ในอนาคตตัวเขาเองที่จะเป็นผู้ริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ปราศจากขยะอาหารเหลือ โดยแรงบันดาลใจเริ่มมาจากการที่หลุยส์เดินทางมาเมืองไทย และเป็นอาสาสมัครให้กับ SOS Thailand มูลนิธิที่บริหารจัดการขยะอาหารเหลือทิ้งเพื่อมอบให้แก่ผู้ยากไร้ (รวมถึงนำไปทำเป็นปุ๋ย) โดยส่งมอบอาหารกว่า 2.5 ล้านมื้อต่อปีเลยทีเดียว จากการคลุกคลีทำงานเขาพบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตขยะอาหารเหลือทิ้งปริมาณมาก แต่การกำจัดอาหารมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน จึงนำไปบริจาคมอบให้กับมูลนิธิด้านอาหารต่าง ๆ เช่น SOS บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหาร แถมได้ภาพลักษณ์องค์กรที่ดีกลับมา แต่ก็ไม่ใช่ขยะอาหารเหลือทั้งหมด 100% ที่จะถูกนำไปให้มูลนิธิหรือใช้ประโยชน์ต่อหรือได้ทันเวลา จำนวนไม่น้อยลงเอยกลายเป็นขยะอาหารเหลือทิ้งจริง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์ หลุยส์ตั้งใจเปลี่ยนชุดความคิดเดิม ๆ ของผู้คน และทำให้พวกเขาตระหนักว่า ถ้าเรามีกลไกที่ดีพอ คำว่า ‘ขยะอาหารเหลือทิ้ง’ ที่ฟังดูไร้ค่าสูญเปล่านั้น…ไม่มีอยู่จริง เขาจึงสร้างแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘Yindii’ (ยินดี) ขึ้นมาในปี 2020 และเริ่มต้นที่แรกในกรุงเทพมหานคร สถานที่ที่เขาย้ายถิ่นฐานมาอยู่เมื่อ 2 - 3 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ หลุยส์พบว่าขยะอาหารเหลือทิ้งในเขตเมืองกรุงเทพมหานคร มีอัตราการรีไซเคิลนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ได้เพียงแค่ 2% เท่านั้น แถมยังไม่มีองค์กรไหนมาสนใจเปลี่ยนแปลงนักในเชิงธุรกิจ การเริ่มต้นทดลองตลาดแรกในกรุงเทพฯ จึงมีคู่แข่งน้อย และมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก อิทธิพลจากการนั่งสมาธิ ก่อนมาเยือนเมืองไทย เขากำลังเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก และมีโอกาสได้ฝึกการนั่งสมาธิอย่างจริงจังระหว่างเยือนพม่า…บางทีนี่อาจเป็นเคล็ดลับไปสู่คำตอบก็ได้ การนั่งสมาธิทำให้จิตเราอยู่กับปัจจุบัน สมองไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หลงระเริงในทางโลก และได้หวนกลับสู่ธรรมชาติในตัวมันเอง เช่น เรากินอาหารเหลือเราก็โยนทิ้งลงถังขยะ บริษัทผลิตอาหารเหลือก็นำไปกำจัด…โดยผู้คนไม่เคยสงสัยหรือตั้งคำถามเลย เหนือสิ่งอื่นใด เกิดความขัดแย้งขึ้นในใจเขาให้รู้สึกว่า ไม่อยากกลับไปเดินในเส้นทางองค์กรธุรกิจใหญ่เหมือนเดิม (หลุยส์มีพรสวรรค์ในการทำงาน ก่อนหน้านี้เขาทำงานในองค์กรใหญ่ มีโอกาสเดินทางไปเจรจาธุรกิจตามเมืองใหญ่ทั่วโลก และคลุกคลีกับวงการสตาร์ทอัพมาไม่น้อย) ที่ต้องหมกมุ่นอยู่กับการเพิ่มยอดขาย สร้างผลิตภัณฑ์ที่คนไม่ได้ต้องการจริง ๆ (แต่ซื้อเพราะเวทมนตร์การตลาด) ขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น หรือสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองไม่สิ้นสุด นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากสร้างสิ่งที่เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เคารพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ยกระดับคุณภาพชีวิตคนได้จริง ๆ ทำไมเราต้องซีเรียสกับขยะอาหารเหลือทิ้ง หลุยส์บอกว่ามี 3 ข้อที่กระทบโดยตรง เพราะ  1. มนุษย์ - โลกของเรามีผู้คนหิวโหยอดอยากขาดโภชนาการที่ดีอยู่อีกหลายร้อยล้านคน โดย UN เผยว่า ถ้าเราสามารถโยกย้ายกระจายอาหารเหลือเหล่านี้ (ที่ยังบริโภคได้อยู่) ไปให้แก่คนเหล่านี้ได้ โลกของเราจะหมดปัญหาคนอดอยากทันที 2.ธุรกิจ - อาหารเหลือทิ้งหมายถึงโอกาสการขายที่หายไปของธุรกิจ ยิ่งมีอาหารเหลือทิ้งมาก ธุรกิจยิ่งขาดโอกาสสร้างรายได้จากอาหารนั้น ๆ เช่น ถ้าคุณมีเค้ก 100 ชิ้นต่อวันที่เหลือทิ้ง แต่ละชิ้นราคา 150 บาท นั่นหมายถึงโอกาสสร้างรายได้ 15,000 บาทต่อวันที่หายไป 3.สิ่งแวดล้อม - อาหารทุกชนิดล้วนมาจากแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติทางใดทางหนึ่งของโลกเรา การเกิดอาหารเหลือทิ้ง นั่นหมายถึง เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลงมือปลูกมันเพื่อนำไปทิ้ง ยินดีต้อนรับอาหารเหลือทิ้ง โมเดลธุรกิจของแอปฯ Yindii คือการไปเป็นพันธมิตรกับร้านค้าปลีกต่าง ๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต / ร้านเบเกอรี่ / ห้องอาหารโรงแรม / จนไปถึงร้านค้าทั่วไป โดยนำอาหารเหลือที่ใกล้จะหมดอายุในแต่ละวัน มาเสนอขายลดราคาให้กับผู้บริโภค โดยเฉลี่ยราคาจะถูกกว่าปกติ 50 - 70% เลยทีเดียว (ใช่, เราสามารถเอนจอยกับอาหารหรูพรีเมียมจากโรงแรม 5 ดาวในราคาถูกพิเศษ) ที่น่าสนใจคือ แอปฯ มอบประสบการณ์ที่แตกต่าง เพราะมีกิมมิค ‘Yindii Box’ หรือกล่องสุ่มดวงที่ภายในจะมีอาหารที่คุณไม่รู้มาก่อน เป็นการใช้กลยุทธ์ ‘Surprise Marketing’ การตลาดที่สร้างความเซอร์ไพรส์ ลุ้นระทึก ตื่นเต้น เล่นกับความไม่รู้ของลูกค้า (และเป็นปัจจัยชั้นดีของการบอกต่อปากต่อปาก) ฟีดแบคเสียงจากผู้บริโภคบางคนถึงกับพูดติดตลกว่า หลังจากมีประสบการณ์เคยสั่งซื้ออาหารจาก Yindii มาได้สักพัก เดี๋ยวนี้เวลาจะยกมือถือกดสั่งอาหาร เขากดเข้าแอปฯ Yindii ‘ก่อน’ เข้าแอปฯ เดลิเวอรี่ใหญ่ ๆ อย่าง foodpanda / Grab / LINEMAN ซะอีก ศักยภาพที่ไปต่อได้อีกไกล จากอานิสงส์ของโควิด-19 ที่คนอยู่บ้านมากขึ้นมีพฤติกรรมเกิดใหม่อย่างการสั่งเดลิเวอรี่จนเคยชิน รวมถึงนิสัยที่ประหยัดอดออมมากขึ้น ทำให้ Yindii เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานกว่า 7,000 ราย มีแบรนด์ค้าปลีกชั้นนำหน้าใหม่ ๆ มาเข้าร่วมกว่า 3 - 4 แบรนด์ต่อสัปดาห์ อนาคต…หวังเติบโตขยายธุรกิจไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่บริษัทร้านค้ารายย่อยที่เราพบได้ในแอปฯ Yindii แต่รวมถึงบริษัทชั้นนำระดับประเทศด้วย อาทิ โรงแรม เช่น The Mandarin Oriental Shop • Dusit Gourmet• Erawan Bakery • BBCO - JW Marriott, ซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Central Food Hall • Gourmet Market • Sunshine Market • Happy Grocers, ร้านอาหาร คาเฟ่ และอื่น ๆ Le Macaron • Texas Chicken • MX Cakes & Bakery • Folies • Take a Bowl หลุยส์มองว่ามัน วิน-วิน กันทุกฝ่าย บริษัทสร้างยอดขายได้เพิ่มเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้บริโภคได้ของคุณภาพดีที่ถูกลง แพลตฟอร์มอย่าง Yindii ก็ได้ค่าคอมมิชชั่น ไม่เกิดความสูญเปล่าขึ้นในระบบนิเวศ ที่สำคัญ มันทำให้ผู้คน ‘ตระหนัก’ ถึงผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม หลุยส์กล่าวว่า เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างการรับรู้เรื่องนี้ให้แก่สาธารณชนเท่านั้น เส้นทางยังอีกยาวไกลสู่การบรรลุไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืนแก่โลกและมนุษย์เรา . ภาพ: - bk.asia-city, yindii . อ้างอิง:  - https://bk.asia-city.com/city-living/news/meet-entrepreneur-tackling- food-waste-head - https://socialinnovationpodcast.com/2021/03/06/social-innovation- podcast-episode-30-louis-alban-batard-dupre-food-waste-fighter-at- yindii-it-was-the-tip-of-the-iceberg-when-it-comes-to-food-waste/ - https://www.yindii.co - https://www.thaipbsworld.com/zero-to-food-hero-yindii-creating- change-from-the-bottom-up/ - https://en.reset.org/global-food-waste-and-its-environmental-impact- 09122018/