15 มิ.ย. 2565 | 14:30 น.
Internet Explorer is not responding
นับเป็นเวลากว่า 27 ปีที่เบราว์เซอร์ท่องโลกอินเทอร์เน็ตรุ่นบุกเบิกอย่าง ‘อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์’ (Internet Explorer) เปิดให้บริการและตั้งอยู่บนเดสก์ท็อปของผู้ใช้ระบบปฏิบัติการแบบวินโดวส์ แม้พักหลังอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่เบราว์เซอร์มากนัก (เพราะเป็นมีมเสียมากกว่า) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากไขลานกาลเวลาให้ย้อนกลับไปในยุคทศวรรษ 1990 หรือช่วงต้นทศวรรษ 2000 คงไม่มีใครไม่รู้สึกคุ้นตากับโลโก้ที่เป็นอักษรตัว ‘e’ สีฟ้าล้อมวงแหวนสีเหลือง ผู้เป็นประตูสู่โลกอินเทอร์เน็ตอันน่าค้นหา ณ ขณะนั้น
ปัจจุบันแม้จะถูกขนานนามว่า ‘โคตร’ จะเชื่องช้า หากได้เผลอกดเข้าไปก็เหมือนดั่งติดกับดักอันไร้ทางออก (เพราะยังโหลดไม่สำเร็จ) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ถือเป็นหนึ่งในความทรงจำที่พอหวนนึกถึงทีไร เหตุการณ์ความทรงจำในวันวานก็ติดมาด้วยทุกครั้ง
แม้อาจจะไม่ได้เป็นเบราว์เซอร์ที่รวดเร็วทันใจเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อน ๆ คู่แข่งเบราว์เซอร์อื่น ๆ แต่คุณลุงผู้เชื่องช้าคนนี้ก็เปรียบดั่งหมุดหมายสำคัญในชีวิตหลาย ๆ คน โดยเฉพาะในช่วงยุคแรกเริ่มของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
หลายคนคงรู้สึกใจหายไม่น้อยเมื่อได้ทราบข่าวจากไมโครซอฟท์ว่าในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2022 นี้ อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์จะปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ประกาศยุติการพัฒนาไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีก่อนหน้า
คงถึงเวลาที่ต้องโบกไม้โบกมือเพื่อบอกลาเบราว์เซอร์รุ่นเดอะ และมีมอมตะนี้แล้วจารึกมันไว้ในตำนาน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะย้อนอดีตไปส่องดูเส้นทางชีวิตของอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ ผู้เชื่องช้าที่พัฒนาจากเบราว์เซอร์ยุคบุกเบิกสู่มีมฮาสุดฮิต
โดยอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ หรือเรียกโดยย่อว่า ‘IE’ เป็นเบราว์เซอร์ที่ดัดแปลงมาจากเบราว์เซอร์ต้นตำรับอย่าง ‘โมเสก’ (Mosaic) ที่ถูกพัฒนาและครอบครองสิทธิ์โดยบริษัทสปายกลาส (Spyglass) ณ ขณะนั้น
หลังจากถูกพัฒนาและทำสัญญากับบริษัทไมโครซอฟท์ IE ก็มีการเปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมปี 1995 ในยุคของวินโดวส์ 95 แต่มาในรูปแบบของแพ็กเกจพิเศษเพิ่มเติม Microsoft Plus! แต่หนึ่งปีถัดมา ในเวอร์ชันที่ 3.0 IE ก็เปิดเป็นเบราว์เซอร์ฟรีที่แพ็กคู่มากับ Windows 95 พร้อมกับฟังก์ชันเพิ่มเติมที่ทำให้ผู้ใช้สามารถอ่านข่าวสารหรืออีเมลทางอินเทอร์เน็ตได้
แต่ในยุคที่ IE กำลังพัฒนาตัวเองให้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้มากขึ้น ก็มีเบราว์เซอร์หนึ่งนามว่า ‘เน็ตสเคป นาวิเกเตอร์’ (Netscape Navigator) กำลังครองตลาดผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ ดังนั้นการก้าวเดินขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้นของ IE ก็เปรียบเสมือนเดินขึ้นไปเทียบเคียงกับความนิยมของเน็ตสเคป ณ ขณะนั้น
แล้วอย่างที่ใครหลาย ๆ คนอาจจะทราบกันว่า เสือสองตัวคงไม่อาจอาศัยอยู่ในถ้ำเดียวกันได้อย่างสงบสุข การแข่งขันระหว่างสองเบราว์เซอร์จึงอุบัติขึ้น
แต่ด้วยความได้เปรียบหลายอย่างของ IE ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทอย่างไมโครซอฟท์ ทุนมากเหลือ ก็ทำให้ IE สามารถอยู่บนจอเดสก์ท็อปของผู้ใช้หลายคนได้โดยไม่ต้องจ่ายตังค์ซื้อ (แล้วบริษัทก็ยังอยู่ได้) นอกจากนั้น ด้วยความที่ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์เป็นที่แพร่หลายและถูกใช้เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้เองเมื่อใครก็ตามที่ซื้อคอมพิวเตอร์ไปใช้ อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ก็มักจะอยู่ตรงนั้นด้วย
ในฝั่งของเน็ตสเคปที่ไม่ได้มีทุนเหลือขนาดที่จะเอามาผลาญได้อย่างคู่แข่ง ก็ต้องพยายามทำกำไรจากการเบราว์เซอร์ของตน และแม้ว่าจะแข่งกันเพิ่มฟังก์ชันความสามารถของตัวเองอย่างดุเดือด แต่ท้ายที่สุด IE ก็เป็นฝ่ายที่ครอบครองชัยชนะในศึกครั้งนี้ไป
แต่ตำแหน่งผู้ชนะที่ได้มาในปลายทศวรรษ 1990 นั้นจะคงอยู่นานถึงเมื่อไหร่?
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็มีเบราว์เซอร์ลูกใหม่ไฟแรงถือกำเนิดขึ้นอย่าง ‘กูเกิล โครม’ (Google Chrome) และ ‘มอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์’ (Mozilla Firefox) มาเริ่มต้นท้าชกกับ IE อีกครั้ง แต่ต่างจากยกก่อนหน้า เพราะคราวนี้ผู้ชนะไม่ใช่ไมโครซอฟท์อีกต่อไป
มีเหตุผลหลากประการที่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไม อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ - ไม่เพียงแต่ถูกมองข้าม - ถึงกลายเป็นเบราว์เซอร์ที่ผู้ใช้ไม่อยากจะเผลอกดเข้าไปเสียด้วยซ้ำ แต่หากจะกล่าวโดยสรุปให้เห็นภาพ ก็เป็นเพราะ IE ทำตัวเหมือนกระต่ายในนิทานอีสปตอนกระต่ายกับเต่า
แต่ปัญหาคือคู่แข่งที่เพิ่งลงสังเวียนมาใหม่นี้ไม่ใช่เต่า…
ในขณะที่โครมมีการอัปเดตกว่า 70 ครั้งในระยะเวลา 1 ทศวรรษ หากมองย้อนกลับมาเทียบกับ IE เพียงแค่ 4 ครั้งเท่านั้น นอกจากนั้นในแง่ของการตลาดหรือการพัฒนาของ IE ก็เทียบไม่ติดเมื่อมองคู่กับโครมหรือไฟร์ฟอกซ์ เพราะเบราว์เซอร์รุ่นใหม่เหล่านี้ก็ลุยเต็มที่ที่จะเจาะตลาดเพื่อกุมใจกลุ่มลูกค้ามาเป็นของตน โครมก็เพิ่มฟังก์ชันมากมายไม่ว่าจะเป็นโหมดค้นหาแบบไม่ระบุตัวตน (Incognito) หรือฟังก์ชันอำนวยความสะดวกมากมาย ส่วนไฟร์ฟอกซ์ก็เป็นเลิศในด้านระบบและความปลอดภัย
แต่อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์กลับอยู่เฉย ๆ ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อจะแข่งเท่าใดนัก จากความเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป จึงทำให้เบราว์เซอร์ดังกล่าวไม่สามารถก้าวตามได้ทันคู่แข่งคนอื่น ๆ และเสื่อมความนิยมจนแปลงกลายเป็นมุกตลกที่นิยมในโลกออนไลน์ไป
นับว่าเป็นหนึ่งในมีมอมตะเมื่อกล่าวถึง ความเชื่องช้าของอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ มีผู้คนมากมายหลายคนนำวัตถุดิบชิ้นนี้ไปก่อร่างสร้างมีมจนเป็นที่รู้จักและกลายเป็นภาพจำกันโดยทั่วไปว่าอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ ‘โคตรช้า’
ช้าถึงขั้นที่โลกกำลังไฮป์กับบอลโลกปี 2018 แต่ IE กำลังร้องเพลง Waka Waka (This Time for Africa) ของชากีร่า ซึ่งเป็นเพลงบอลโลกปี 2010 อย่างครื้นเครง หรืออย่างในมีมล่าสุดที่เกิดขึ้นมาเมื่อมีข่าวว่า IE กำลังจะปิดให้บริการว่าเป็นเบราว์เซอร์ที่ช้าถึงขั้นยมทูตมาเคาะประตูเรียก แต่ก็ไร้เสียงตอบรับ มีเพียงข้อความแจ้งเตือนขึ้นมาว่า
“Internet Explorer is not responding”
.
ภาพ: Future Publishing / Contributor
.
อ้างอิง
.