Stagflation: ปรากฎการณ์ที่เศรษฐกิจที่ซบเซามาพร้อมกับเงินเฟ้อ

Stagflation: ปรากฎการณ์ที่เศรษฐกิจที่ซบเซามาพร้อมกับเงินเฟ้อ

รู้จัก 'Stagflation' หรือปรากฎการณ์ที่เศรษฐกิจชะงักงันจับมือเดินคู่มากับเงินเฟ้อจนกลายเป็นปัญหาที่หลายประเทศต้องกุมขมับ (เพราะแก้ไขยาก) สำรวจที่มาและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ที่บทความนี้

โดยกลไกตามธรรมชาติของหลักดีมานด์และซัพพลายที่ใครหลายคนอาจจะได้เรียนตั้งแต่ระดับมัธยม เมื่อคนต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ราคามันก็จะยิ่งแพงตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น (ยกตัวอย่างเช่นการประมูลสินค้าบางอย่าง) หรือว่าในกรณีที่สินค้าเหล่านั้นมีปริมาณน้อยลง ๆ แต่ปริมาณความต้องการของคนยังเท่าเดิมอยู่หรือมากขึ้น ราคามันก็จะสูงขึ้น (ยกตัวอย่างเช่น สินค้าลิมิเต็ดหรือเสื้อวินเทจปีเก่า)  หากยึดตามหลักเบื้องต้นดังกล่าว เมื่อเศรษฐกิจรุ่งโรจน์ ผู้ผลิตก็ขายของดีเป็นเทน้ำเทท่า ผู้ซื้อก็มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคักเพราะบริษัทให้เงินเดือนเพิ่มจากกำไรที่มากขึ้น (ก็คนมาซื้อของเยอะยังไงล่ะ) หรือไม่ก็จ้างงานพนักงานในจำนวนที่มากกว่าเดิมมาทำงานรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีความต้องการ (Demand) เกิดขึ้นและปลิวว่อนไปทั่ววงจรเศรษฐกิจ ผู้ขายจึงปรับราคาขึ้นตามระดับความต้องการของผู้ซื้อ ข้าวของก็กลายเป็นแพงขึ้นกว่าเดิม  เราเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า ‘เงินเฟ้อ’ หรือ ‘Inflation ตรงกันข้าม หากช่วงไหนเศรษฐกิจเอนเอียงไปในทางซบเซา ผู้คนไม่ค่อยอยากจะจับจ่ายใช้สอย เพราะอยากออมไว้ใช้ยามจำเป็น ผู้ผลิตก็ผลิตน้อยลงเพราะขายไม่ค่อยออก บริษัทก็อาจจะต้องเลย์ออฟพนักงานออกเพื่อลดต้นทุนลง เหตุเพราะความต้องการในตลาดไม่ได้มีเหลือล้นเหมือนในสถานการณ์ก่อนหน้า ในกรณีแบบนี้เงินมักจะ ‘ไม่เฟ้อ’ เพราะจะเอาที่ไหนไปเฟ้อ ถ้าไม่ได้มีคนอยากจะซื้อของอยู่แล้ว ถ้าปรับราคาขึ้นอีกก็คงต้องทำใจไว้เลยว่าร้านคงจะเงียบเหงา ภาวะดังกล่าวเราจะนิยามมันว่าเป็น ‘ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน’ หรือ ‘Stagnation ดังนั้น 'เมื่อเศรษฐกิจเงียบเหงาเงินก็จะไม่เฟ้อ' อาจจะจริงถ้าเรามองโลกในเลนส์ของเศรษฐศาสตร์จากแนวคิดสำนักเคนส์ (The Keynesian School) ที่ยึดเอาแนวคิดเส้นโค้งฟิลลิปส์ (โดยเราจะไปทำความรู้จักในส่วนถัดไป) เป็นหลัก แถมยังกำหนดนโยบายต่าง ๆ โดยยึดหลักการดังกล่าวมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอีกด้วย แต่นั่นมันก็เป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้ว  แต่ทฤษฎีดังกล่าวก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าเศรษฐกิจก็ไม่ได้ประพฤติตามครรลองนั้นเสมอไป โดยเฉพาะในยุคภายหลังการเกิดภาวะโรคระบาด COVID-19 ที่กระหน่ำซ้ำด้วยสงครามยูเครน - รัสเซีย ที่หลาย ๆ ประเทศต้องประสบกับภาวะที่เป็นการฟิวชันระหว่าง Inflation และ Stagnation จนเกิดเป็น ‘Stagflation’ หรือเศรษฐกิจชะงักงันที่แพ็กคู่มากับเงินเฟ้อนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจก็ซบเซา ประชากรที่ว่างงานก็มาก แถมเงินก็ยังเฟ้อเอาจนทำให้สิ่งของรอบกายแพงไปหมด ทั้ง ๆ ที่เงินเราเท่าเดิม (แต่หากมองที่ค่าความเป็นจริงคือเราจนลงนะ เพราะเงินเดือนเท่าเดิมอาจจะซื้อจำนวนจานผัดกะเพราพิเศษใส่ไข่ดาวได้ไม่เท่าเดิมอีกแล้ว) ดังนั้นก็คงถึงเวลาที่เราจะไปทำความรู้จักภาวะ Stagflation ให้มากกว่าเดิม ในฉบับที่เล่ากันแบบเข้าใจง่าย ๆ    เส้นโค้งฟิลลิปส์ ทำไมต้องกล่าวถึง ‘เส้นโค้งฟิลลิปส์’ (The Phillips Curve) เหตุเพราะหากเรายึดหลักการดังกล่าวเป็นหลัก ‘Stagflation’ จะเป็นภาวะที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามทฤษฎีดังกล่าว (แถมมันยังเป็นทฤษฎีที่นิยมเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 เมื่อหากกล่าวถึงที่มาของเงินเฟ้อ) ทฤษฎีเส้นโค้งดังกล่าวถูกนำเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์นามว่า วิลเลียม ฟิลลิปส์ (A. W. Phillips) โดยเขาได้นำข้อมูลของระดับเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานของประชากรในประเทศในขอบเขตระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ (1861 - 1957) มาใส่ในกราฟเพื่อลองหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสอง  ผลปรากฏว่าเมื่อนำชุดข้อมูลดังกล่าวมาใส่ในกราฟแล้ว มันสามารถเรียงกันเป็นเส้นโค้ง (Curve) ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างระดับเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานได้ กล่าวคือ เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานจะลดลง ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นศูนย์ อัตราการว่างงานอาจจะอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ อัตราการว่างงานอาจจะตกลงมาเหลือแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เราจะเห็นได้ว่าจากทฤษฎีดังกล่าว อัตราการว่างงานและเงินเฟ้อมีความสัมพันธ์ที่แปรผกผันต่อกัน  หากยึดตามหลักการของฟิลลิปส์ พอเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการของคนในเศรษฐกิจที่มากขึ้น ข้าวของต่าง ๆ ก็จะแพงขึ้นตาม ๆ กันไป นั่นหมายความว่าบริษัทจะสามารถขายของได้ในราคาที่สูงขึ้น จึงทำให้มีรายได้เหลือเข้าบริษัทมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีตังค์เหลือเพื่อจ้างพนักงานในจำนวนที่มากกว่าเดิม  ในช่วงเวลาที่เส้นโค้งนี้ถือกำเนิดขึ้นมา นักเศรษฐศาสตร์และผู้คิดสร้างสรรค์นโยบายก็ยึดหลักการดังกล่าวมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะในตอนนั้นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่นับว่าเป็นกระแสหลักก็ต้องยกให้สำนักเคนส์ที่ยึดโยงอยู่กับปัจจัยด้านอุปสงค์ (ความต้องการของตัวแสดงในระบบเศรษฐกิจ) และความสัมพันธ์ของเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานที่เราเห็นกันในเส้นโค้งฟิลลิปส์ จนกระทั่งสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1970 เมื่อข้าวของก็แพงเอา ๆ ควบคู่กับจำนวนประชากรที่ว่างงานที่ไม่ได้ลดหลั่นลงไปตามเส้นโค้งฟิลลิปส์เลย นอกจากจะเป็นจุดที่ทำให้แนวคิดจากสำนักเคนส์ถูกตั้งคำถามแล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของเส้นโค้งฟิลลิปส์ที่ยังอธิบายความเป็นไปของเศรษฐกิจได้ ‘ไม่ลึกพอ’   วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกายุค 1970s ในทศวรรษ 1970 ถือเป็นยุคที่เป็นประตูเข้าสู่ความแปลกใหม่และมหัศจรรย์ของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมฮิปปี้ ดนตรีคลาสสิกร็อคในตำนาน หรือภาพยนตร์ขึ้นหิ้งมากเรื่องที่นับเป็นหมุดหมายสำคัญในแทบจะทุกแขนง ในขณะเดียวกัน ในมุมของเศรษฐกิจ ช่วงทศวรรษดังกล่าวก็ทำให้ใครหลายคนเห็นช่องโหว่ของแนวคิดสำนักเคนส์ที่เชื่อว่าปริมาณเงินในระบบที่มากขึ้นซึ่งทำให้เงินเฟ้อยกระดับสูงกว่าเดิมจะแก้ปัญหาการว่างงานได้ เมื่อสหรัฐอเมริกาประสบกับภาวะที่เศรษฐกิจที่ร่วงโรยและประชาชนก็ว่างงาน ในขณะที่เงินเฟ้อก็ขยับขึ้น ราคาสินค้าก็แพงตาม ๆ กันไป หรือภาวะ Stagflation  ณ ขณะนั้น ราคาน้ำมันขยับตัวขึ้นสูงจึงเป็นที่มาของเงินที่เฟ้อขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวก็ไม่สามารถนำมาประยุตก์ใช้หรือหาทางแก้ไขตามเส้นโค้งฟิลลิปส์ได้ เพราะมันเป็นประเภทของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น (Cost-push Inflation) ไม่ใช่เงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ดังที่ถูกระบุไว้ในทฤษฎี นอกจากนั้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้น นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์มักจะสนใจเพียงในด้านความต้องการของผู้คน ดังนั้นภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจึงถูกตีความว่าเศรษฐกิจกำลังจะโต คนซื้อมาก ราคาก็เลยขึ้น  ซึ่งมันไม่ใช่… เพราะปัญหาด้านอุปทานจะไปแก้ไขแบบปัญหาด้านอุปสงค์ก็จะได้ผลไม่เหมือนกัน ด้วยกรอบแนวคิด ณ ขณะนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED (The Federal Reserve) จึงพยายามจะแก้ปัญหาโดยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และพยายามลดอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจ เพื่อให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นตามหลักของเส้นโค้งฟิลลิปส์และจูงใจให้คนลงทุนมากขึ้นจากดอกเบี้ยที่ต่ำลง แต่กลับกลายเป็นว่าเศรษฐกิจก็ยังไม่ดี ซ้ำร้ายยังจะยกระดับให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีกด้วย จึงเป็นที่มาของ Stagnation ในช่วงเวลานั้น   สแตกเฟลชัน? ต้นตอแรกของปัญหาคือการที่แนวคิดกระแสหลัก ณ ขณะนั้นทำให้ผู้คนมองแต่ฝั่งของอุปสงค์ จึงทำให้แก้ปัญหาเงินเฟ้อแบบ Cost-Push Inflation ไม่ได้ผล เพราะปัญหาจริง ๆ มันอยู่ที่ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น ไม่ใช่เพราะคนซื้อกันเยอะ แต่เป็นเพราะผลิตได้น้อย เพราะฉะนั้นจะไปแก้ปัญหาแต่ด้านอุปสงค์ก็คงไม่ช่วยอะไรมาก (คล้ายกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน) อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นข้อบกพร่องของเส้นโค้งฟิลลิปส์ที่เราเอ่ยไว้ข้างต้นว่าหลักการดังกล่าวอธิบายความเป็นไปของความสัมพันธ์เงินเฟ้อ - การว่างงานได้ ‘ไม่ลึกพอ’ ก็เพราะว่าการมองความสัมพันธ์แบบนั้นเป็นการมองภาพแค่ ‘ระยะสั้น’ (Short-run) เพียงเท่านั้น เหตุเพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ผลของการที่เงินเฟ้อขึ้นไม่ได้หยุดแค่การที่บริษัทจ้างงานมากขึ้น ในทศวรรษเดียวกันก็มีแนวคิดใหม่ที่ต่อยอดจากแนวคิดเดิมที่ถูกพัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันจากสำนักชิคาโก (The Chicago School) นามว่า ‘มิลตัน ฟรีดแมน’ (Milton Friedman) โดยเขาชี้ว่าเส้นโค้งฟิลลิปส์ที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ใช้เป็นเพียงการมองแบบระยะสั้น แต่ในระยะยาว (Long-run) หลังจากที่มีการจ้างงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวสูงขึ้นแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ นานาในชีวิตประจำวันของผู้คนจะแพงขึ้น ดังนั้นค่าครองชีพของแรงงานทุกคนก็จะต้องสูงขึ้น (ไม่งั้นก็ถือว่าแรงงานเหล่านั้นจนลง เพราะซื้อผัดกะเพราได้น้อยลง)  ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองสัญญาขึ้นเงินเดือนกับบริษัทหรือสหภาพแรงงานก่อกลุ่มประท้วงขอขึ้นค่าแรง ผู้ผลิตจะต้องจ่ายค่าจ้างในราคาที่แพงขึ้น นั่นหมายความว่าราคาของค่าแรงก็จะแพงขึ้นไปพร้อม ๆ กับเงินเฟ้อด้วย หลังจากที่ต้องแบกรับค่าจ้างในระดับที่แพงขึ้นแล้ว ผู้จ้างก็จะต้องเลย์ออฟพนักงานออกเพราะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มมาไม่ไหว ท้ายที่สุดอัตราการว่างงานก็จะขยับกลับไประดับเดิม ‘แต่’ เงินเฟ้อไม่ได้ปรับลงไปด้วย ข้าวของจะแพงอยู่ในระดับเดิม จุดนี้ชี้ให้เราเห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาการว่างงานโดยเงินเฟ้ออาจจะไม่ได้ผลนัก เพราะท้ายที่สุดแล้วเงินเดือนก็จะขยับตามไปกลบช่องว่างในการที่จะรับพนักงานใหม่เข้ามาอยู่ดี กลายเป็นว่านโยบายที่จะทำให้ระดับของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจะแก้ไขปัญหาการว่างงานเพียงชั่วคราวเท่านั้น ท้ายที่สุดจะเหลือเพียงเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอยู่อย่างเดียว ในส่วนของทางออกของปัญหาก็คงจะหาคำตอบที่ตายตัวไม่ได้ เพราะในมุมมองของฟรีดแมน การจะควบคุมเศรษฐกิจนับเป็นเรื่องยาก ไม่เพียงแค่การพยากรณ์ที่อาจจะไม่ตรงตามคาดเท่านั้น แต่นโยบายต่าง ๆ อาจจะไม่ได้ส่งผลในทันทีหรือที่เราอาจจะรู้จักกันว่า ‘แลค’ (Lag) ด้วยเหตุนี้บางทีการที่มีการออกนโยบายต่าง ๆ มาแก้ไข อาจทำให้อะไรแย่กว่าเดิม เพราะผลของมันดันไปเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสมนัก (เช่นจะคุมเงินเฟ้อโดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่มันกลับออกฤทธิ์ตอนภาวะเศรษฐกิจเริ่มอยู่ตัวแล้ว ก็กลายเป็นจะทำให้เศรษฐกิจแกว่งและก่อปัญหาแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา) ฟรีดแมนจึงคิดว่าการที่รัฐหรือผู้มีอำนาจในการออกนโยบายมายุ่มย่ามมากเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจไม่มั่นคง ฟรีดแมนจึงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในหลักการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalism) ย้อนกลับไปที่วิกฤตเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกาประสบในทศวรรษ 1970 เส้นทางที่ธนาคารกลางตัดสินใจเลือกเดิน ณ ขณะนั้นคือการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงลิ่ว และลดปริมาณเงินในระบบให้เหลือน้อยลง โดยผลที่ตามมาคืออัตราการว่างงานก็สูงเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว ผลผลิตก็ต่ำ โดยเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น (ไม่มีใครอยากลงทุน เพราะเมื่อดอกเบี้ยสูง เอาไปฝากธนาคารไว้ดีกว่า) อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวก็ทำให้สหรัฐฯ สามารถควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ ท้ายที่สุด ทุกอย่างก็ต้องมีสมดุล จะปล่อยให้คลื่นของเศรษฐกิจไหลล่องไปเลยตามเลยก็คงไม่ได้ จะเอาตัวเข้าไปบงการชี้สั่งก็คงไม่ดี คงจะต้องเป็นหน้าที่ของวิสัยทัศน์ของผู้ออกนโยบายแล้วว่าจะต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร และแน่นอน ทุกอย่างมีต้นทุน คงไม่มีทางแก้แบบไหนที่ได้มาฟรี ๆ หากจะเลือกอย่างหนึ่งก็คงต้องตามมาด้วยผลกระทบอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะภาวะ Stagflation ที่เปรียบเสมือนเป็นทางสองแพร่ง (หรือมากกว่า) สำหรับผู้มีอำนาจในการออกนโยบายที่จะต้องเลือกว่าจะจัดสรรทรัพยากรแบบไหนให้บรรลุผลมากที่สุดโดยที่ให้ประเทศ ‘เจ็บ’ น้อยที่สุด

ภาพ Smith Collection / Gado / Contributor Scott McPartland / Contributor Bettmann / Contributor

อ้างอิง Case, Karl E., Fair, C., & Oster, Sharon E. “Principles of Macroeconomics Twelfth Edition.” Pearson. (2017).  Brue, Stanley L., and Grant, Randy R., “The Evolution of Economic Thought, 7th Edition” (2007). Kishtainy, Niall. “A Little History of Economics (เศรษฐศาสตร์: ประวัติศาสตร์มีชีวิตของพัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์)”. ฐณฐ จินดานนท์ แปล. Bookscape. (2019) The Investopedia Team. “Phillips Curve”. Investopedia. (2022). Accessed: https://www.investopedia.com/terms/p/phillipscurve.asp Nielsen, Barry. “Stagflation in the 1970s”. Investopedia. (2021). Accessed: https://www.investopedia.com/articles/economics/08/1970-stagflation.asp Fernando, Jason. “Inflation”. Investopedia. (2022). Accessed: https://www.investopedia.com/terms/i/inflation.asp The Investopedia Team. “Stagnation”. Investopedia. (2021). Accessed: https://www.investopedia.com/terms/s/stagnation.asp CrashCourse. “Recession, Hyperinflation, and Stagflation: Crash Course Econ #13”. (2015). Accessed: https://www.youtube.com/watch?v=BHw4NStQsT8