svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม Thepeople

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

ดราม่าร้อน Voucher ทิพย์ กรณีศึกษาจาก ‘แหลมเกต’ ถึง ‘ดารุมะซูชิ’

ดราม่าร้อน Voucher ทิพย์ กรณีศึกษาจาก ‘แหลมเกต’ ถึง ‘ดารุมะซูชิ’
ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยสำหรับคนไทยก็มักจะพูดว่า “แซลมอนจะเยียวยาทุกสิ่ง” ซึ่งเป็นคำติดปากของใครหลายคนมานาน แต่จากกระแสดราม่าข้ามคืนของร้านอาหาร ‘ดารุมะซูชิ’ (Daruma Sushi) ร้านอาหารญี่ปุ่นที่โด่งดังเรื่องบุฟเฟต์แซลมอน ซึ่งมีสาขาในประเทศไทยมากถึง 27 สาขาด้วยกัน ได้ประกาศปิดปรับปรุงร้านแบบไม่มีกำหนด จนกลายเป็นฝันร้ายของสาวกแซลมอนไปตาม ๆ กัน ซึ่งก็กลายเป็นประเด็นชวนถกในกลุ่มโซเชียลมีเดียไม่น้อย เพราะทำให้นึกถึงกรณีจาก ‘แหลมเกต’ ร้านอาหารซีฟู้ดชื่อดังจากชลบุรีที่เคยสร้างบาดแผลให้กับสาวกซีฟู้ดมาแล้ว   บาดแผลซีฟู้ดจากแหลมเกต ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อนกรณีของร้านแหลมเกตซึ่งมีความคล้ายกับกรณีของร้านอาหารดารุมะซูชิอย่างมาก โดยแหลมเกตได้เปิดขาย Voucher ราคาเริ่มต้น 100 บาท จากราคาเต็ม 888 บาท แต่เมื่อลูกค้านำ Voucher ไปใช้จริงกลับต้องจ่ายเพิ่มอีกหลายเมนู (เพราะไม่รวมในเงื่อนไข) บ้างก็รีวิวว่าต้องจองคิวล่วงหน้าเป็นเวลานาน จนทำให้หลายคนที่ซื้อ Voucher ใช้ไม่ทัน จากนั้นไม่นานก็เกิดปรากฏการณ์ลูกค้าแห่มาขอเงินคืนที่ร้าน หลังจากที่ร้านได้ประกาศยกเลิกและงดให้บริการทุกโปรโมชั่น โดยให้เหตผุลว่าผลตอบรับจากการขาย Voucher มากเกินความคาดหมาย จึงทำให้วัตถุดิบของทางร้านไม่เพียงพอ ก่อนที่จะประกาศ ‘ปิดกิจการชั่วคราว’ จนนำมาสู่การปิดร้านสาขาอย่างถาวร และเป็นเหตุให้ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกทางผู้บริหารเป็นเวลา 1,446 ปี มีการปรับรวมทั้งหมด 3.6 ล้านบาท และบริษัทต้องชดใช้ด้วยการคืนเงินให้ผู้เสียหายกว่า 2.5 ล้านบาท   ฝันร้ายคนรักแซลมอนจากดารุมะซูชิ เมื่อวันที่แซลมอนไม่ได้เยียวยาคนรักปลาส้มอีกต่อไป จากกรณี Voucher ทิพย์จากร้านดารุมะซูชิ ร้านบุฟเฟต์แซลมอนที่ประกาศปิดให้บริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หลังจากที่เปิดขาย Voucher ในราคา 199 หั่นจากราคาเต็ม 499 บาท โดยมีเงื่อนไขกำกับว่าลูกค้าจะต้องซื้อ E-Voucher จำนวน 5 ใบ ซึ่งมีอายุการใช้งานเพียง 6 เดือน จากกระแสตอบรับที่เกินคาดของกลุ่มคนรักแซลมอน ทำให้ล่าสุดทั้งเพจเฟซบุ๊กของร้านดารุมะซูชิ และเว็บไซต์หลักได้ปิดตัวลงหายเข้ากลีบเมฆ ทั้งยังไม่มีคำอธิบายใด ๆ จากคุณเมธา ชลิงสุข กรรมการบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งร้านดารุมะซูชิแห่งแรกก็ว่าได้ โดยได้ลงทุนด้วยงบ 2 ล้านบาทเปิดร้านแรกที่ย่านถนนสุขุมวิทในปี 2559 ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีแรกที่ร้านดารุมะซูชิ เปิดให้บริการมีผลประกอบการประมาณ 11 ล้านบาท และขาดทุนไปกว่า 4 ล้านบาท จากนั้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ร้านดารุมะซูชิได้ผลกำไรทุกปี โดยปีล่าสุด 2564 ผลประกอบการอยู่ที่ 45 ล้านบาท และมีกำไรกว่า 1 ล้านบาท ยิ่งทำให้การหายตัวของทั้งผู้บริหารและปรากฏการณ์ปิดร้านสาขาน่าสงสัยมากขึ้น ในจำนวน 27 สาขาร้านดารุมะซูชิ มีทั้งผู้ก่อตั้งลงทุนเองและการขายแฟรนไชส์ หนึ่งในนักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ก็คือ คุณเพชร (กฤชฐารวี พิจิตรพงศ์ชัย) นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในวงการเครื่องครัว ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเปิดเผยถึงการบริหารจัดการ และการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ของร้านดารุมะซูชิว่าทำโดยผู้บริหารของบริษัทดารุมะซูชิแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมด รวมทั้งการทำเรื่องบัญชีรายรับรายจ่ายของร้านสาขาทั้งหมดด้วย โดยจะเป็นรูปแบบธุรกิจที่จะปันผลให้กับนักลงทุนคนอื่น ๆ เป็นรายเดือนแทน ไม่ว่ากระแสข่าวลือในแง่ลบที่มีทั้งบอกว่าผู้บริหารร้านดารุมะซูชิไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว กับกระแสที่บอกว่าบริษัทดารุมะซูชิยังมีหนี้ค้างค่าปลาแซลมอนและซัพพลายเออร์อยู่เป็นตัวเลขสูงกว่า 30 ล้านบาท ถึงตอนนี้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ แต่สำหรับผู้บริโภคและนักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ก็คงใจเสียกับเหตุการณ์นี้อยู่ไม่น้อย สำหรับกลยุทธ์การดึงลูกค้าด้วยการเปิดขาย Voucher แม้ว่าจะเป็นวิธีเก่าที่ยังคลาสสิกและธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมเลือกใช้ แต่เชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้ทั้งจากแหลมเกตจนถึงกรณีของดารุมะซูชิ คงทำให้ผู้บริโภคไม่ไว้ใจอะไรง่าย ๆ และคงต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนซื้อ เพราะบางทีการมองแค่เปลือกนอกว่าเป็นร้านที่ขายดีหรือเปิดมานานมันอาจจะไม่พอให้ตัดสินใจแล้ว     ภาพ: Getty Images ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/business/1010883 https://www.bbc.com/thai/thailand-61857046 https://www.nationtv.tv/news/378876951 https://www.nationtv.tv/news/378877057 https://www.prachachat.net/marketing/news-958816