23 มิ.ย. 2565 | 15:00 น.
การออกแบบสไตล์ Fit-in คืออะไร?ข้อความข้างต้นคงเป็นคำถามที่ผุดมาในความคิดของผู้อ่านหลายท่าน หากเราก้าวเดินเข้าไปในห้องของคอนโดฯ หรือแม้กระทั่งบ้านที่ออกแบบสไตล์ Hi-end เราก็จะเห็นเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นที่สร้างติดเชื่อมกับตัวห้องอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่เราจะเห็นได้บ่อยก็คงเป็นเคาน์เตอร์ในห้องครัวหรือตู้เสื้อผ้าในห้องนอน โดยการออกแบบประเภทนี้เราจะเรียกมันว่า ‘บิวต์อิน’ (Built-in) “ไม่เห็นจะตอบคำถามที่ตั้งขึ้นมาในตอนแรกเลย…” ในขณะที่การออกแบบภายในส่วนใหญ่ดังตัวอย่างที่เรายกไปเป็นแบบบิวต์อินเพื่อความ ‘พอดี’ ของการใช้งาน แต่ก็มีผู้ใช้มากมายหลายท่านที่ประสบบางปัญหาและคิดว่าการออกแบบสไตล์ดังกล่าวไม่ตอบโจทย์นัก นี่จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้ใช้บางคนหันหน้ามาหาการออกแบบอีกสไตล์หนึ่งที่เรียกว่า ‘ฟิตอิน’ (Fit-in) แทน จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่ได้ตอบคำถามที่ตั้งไว้ตอนแรก ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ตอบ แต่เราอยากจะให้ผู้ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์การออกแบบสไตล์ฟิตอินอย่าง นุ้ย - ปรีชญา ชวลิตธำรง ผู้ก่อตั้ง 10DK บริษัทที่รับออกแบบและตกแต่งบ้านที่ยังยึดหลักความสวยงาม ความพอดี ความเป็นตัวตน แถมยังเป็นยาแก้ปวดมาแก้เพนพอยต์ (Pain Point) หลากที่ผู้ตกแต่งห้องแบบบิวต์อินประสบ “คำว่า ‘ฟิต’ จริง ๆ มันแปลว่าพอดี ในเชิงงานดีไซน์ มันคือการที่เราใส่ความพอดีเข้าไป” ปรีชญาอธิบายกับเราว่าการออกแบบสไตล์ฟิตอินคือการออกแบบภายในโดยการนำเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ต้องยึดติดสนิทกับตัวห้องแต่สามารถนำมาวางตกแต่งได้อย่างพอดี ไม่เพียงแต่ไม่ทำให้ห้องเสียหายเมื่อต้องมีการเคลื่อนย้ายเท่านั้น แต่ยังมอบความสะดวกสบายในการเลือกสรรเฟอร์นิเจอร์ในแบบที่ต้องการเพื่อให้เข้ากับสไตล์การใช้ชีวิตหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะบางประการได้อีกด้วย ไม่ต่างกับผู้ใช้บางคนที่ประสบปัญหาการออกแบบห้องแบบบิวต์อิน เพราะปรีชญาเองก็มีเพนพอยต์กับสไตล์ดังกล่าว “วันหนึ่งก็เลยมาตั้งคำถามว่า ‘ทำไมต้องบิวต์อิน?’” หลังจากที่ใช้วิธีการออกแบบภายในแบบบิวต์อินมากว่าสิบปี ณ จุดหนึ่งก็ทำให้ปรีชญาตระหนักถึงปัญหาหนึ่งที่มักกวนใจด้วยการออกแบบวิธีนี้เสมอมา ไม่ว่าจะเป็นความยากในการควบคุมคุณภาพของช่าง ระยะเวลาในการทำงาน และความเสียหายของห้องเมื่อต้องเกิดการถอดหรือการย้าย อีกลักษณะหนึ่งของการทำงานแบบบิวต์อินที่มักจะโผล่มากวนใจในแทบจะทุก ๆ โปรเจกต์คือการที่งานแทบจะทุกอย่างรวมศูนย์ไว้ที่ผู้รับเหมาคนเดียว นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นงานประเภทไหนก็ต้องตกไปเป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมาคนนั้น แต่ปรีชญามองว่าวิธีการดังกล่าวจะไม่ดึงคุณภาพสูงสุดของงานให้กับผู้มาใช้บริการ ด้วยเหตุนี้จึงนำพาเธอไปสู่การออกแบบสไตล์ Fit-in และการออกแบบ “ถามจริง ๆ คนเรามันจะเก่งทุกอย่างได้ยังไง มันไม่มีใครเก่งทุกอย่างหรอก เพราะฉะนั้นพี่เลยคิดว่ามันไม่เมกเซนส์ที่จะเอาคนคนเดียวมาทำงานทุกอย่าง” ไม่เพียงแต่ความรับผิดชอบของงานจะถูกวางไว้บนบ่าของผู้รับเหมา - หากเขาป่วยหรือไม่สามารถมาทำงานได้ งานก็จะล่าช้าออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ - แต่ปรีชญาคิดว่าการกระจายงานแล้วรวบรวมคนที่เก่งในด้านของตัวเองแบบสุดทางมาทำหน้าที่ของตนจะเป็นการยกระดับคุณภาพของงานมากกว่าการรวมไว้ที่คนคนเดียว เพราะช่างบางคนก็ถนัดงานไม้ บางคนก็ถนัดงานหนัง บางคนถนัดงานสี จะให้คนหนึ่งมาทำทุกอย่างแล้วคาดหวังคุณภาพที่สมบูรณ์ก็คงเป็นไปได้ยาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ปรีชญาเปิดประตูเข้าสู่การออกแบบสไตล์ฟิตอินแบบบริษัท 10DK ที่จะเป็นการดึงผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาผลิตงานในด้านที่ตัวเองถนัด แล้วส่งมอบคุณภาพที่ดีที่สุดให้ผู้มาใช้บริการโดยไม่ต้องพบเจอกับปัญหาแบบเดิม ๆ “ฟิตอินในความหมายของ 10DK นอกเหนือจากที่จะพอดีกับที่ว่างในห้องแล้ว มันก็ต้องพอดีกับการใช้ชีวิตของคนนั้น ๆ ครอบครัวนั้น ๆ ด้วย” ไม่เพียงแค่ในแง่ของดีไซน์เท่านั้นที่ 10DK คำนึงถึงเมื่อพูดถึงการออกแบบที่อยู่อาศัย เพราะสุดท้ายแล้ว สไตล์เพียงอย่างเดียวคงเป็นคำตอบที่ไม่สมบูรณ์นัก ปรีชญายกตัวอย่างว่าบางทีบ้านที่ดีไซน์สวยงาม หันกล้องไปมุมไหนแล้วถ่ายก็ดูเข้าที่เข้าทางน่าอยู่ไปหมด แต่พอถึงเวลาที่ต้องอาศัยอยู่จริง ๆ กลับไม่ได้สวยเหมือนดังรูป เหตุเพราะบางความสวยงามอาจจะไม่ได้เข้ากับสไตล์การใช้ชีวิตของเรา พร็อพหรือเฟอร์นิเจอร์บางอย่างที่วางแล้วดูหรูหราสวยงาม แต่ผู้ใช้อาจจะไม่ได้ใช้จริงก็ได้ เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาที่ปรีชญาคุยกับลูกค้าว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร คีย์เวิร์ดอย่าง ‘มินิมอลลอฟต์’ (Minimal Loft) หรือ ‘โมเดิร์นลักชัวรี’ (Modern Luxury) อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะนอกจากการตกแต่งจะฟิตกับบ้านแล้ว มันต้องเข้ากับชีวิตผู้อยู่อาศัยด้วย “บางครั้งเวลาทำงานกับลูกค้า เราก็รู้สึกเหมือนแต่งงาน เหมือนแบบมันรู้เยอะเกินไป แล้วก็คิดและมองต่อไปลึกมาก ๆ เช่นเขาตื่นมาเขาจะทำอะไร เขาชอบอะไร เขาไม่ชอบอะไร แล้วเราก็ไม่สามารถไปตัดสินใครได้หรอกว่ารสนิยมเขาดีหรือไม่ดี เรามีหน้าที่ทำสิ่งที่ลูกค้าชอบให้ออกมากลมกลืนและสวยที่สุด” เพราะคำอธิบายลักษณะที่ต้องการของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน หรูหราของอีกคนหนึ่งอาจมีโคมไฟแชนเดอเลียร์อันมโหฬาร แต่หรูหราของอีกคนหนึ่งอาจจะซ่อนอยู่ในความนิ่งเรียบ ดังนั้นหน้าที่ของนักออกแบบนอกจากจะมอบชิ้นงานที่มีคุณภาพให้กับผู้มาใช้บริการแล้ว การพยายามเข้าใจและรู้จักตัวตนและความต้องการของลูกค้าก็เป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง เพื่อที่ท้ายที่สุดแล้วบ้านหรือห้องที่ออกมาจะ ‘ฟิตอิน’ กับชีวิตผู้อยู่อาศัยจริง ๆ “เวลาที่เราเดินเข้าไปในบ้านมันจะต้องเหลือที่ให้เขาทำบ้านให้มันเป็นบ้านของเขา เช่น เรารู้อยู่แล้วว่าคนนี้สะสมช้อนเวลาไปเที่ยวหรือว่าสะสมแม็กเน็ต เราก็จะไม่ไปติดของตกแต่งเยอะ ๆ ให้มันไปบดบังพื้นที่สะสมของเขา เราก็จะทำบอร์ดเปล่า ๆ ไปให้เขาแล้วก็ไกด์ให้เขาติดตรงไหนอะไรยังไง เพราะฉะนั้นในวันแรกที่เดินเข้าไปบ้านมันอาจจะยังไม่สมบูรณ์หรอก แต่เมื่ออยู่ไปแล้วมันต้องพอดีมันต้องสมบูรณ์สำหรับเขา ในแบบของเขา เพราะมันคือบ้านของเขา” ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกว่าทำไมปรีชญาบอกกับเราว่า แม้จะผ่านมากว่า 400 โปรเจกต์ เธอยังจำชื่อของผู้ที่มาใช้บริการกับ 10DK ได้แทบทุกคน ถึงแม้จะจำไม่ได้เธอก็จะจำได้แม่นว่าห้องของลูกค้าคนนั้นเป็นอย่างไร “นี่ใช่ตัวเราจริง ๆ เหรอ ชีวิตมันแค่นี้เองหรอ เป้าหมายมีเพียงแค่ทำเงินอย่างเดียวจริง ๆ เหรอ?” ปรีชญาย้อนถามตัวเองเมื่อบริษัทที่ก่อร่างสร้างมาด้วยตัวเองเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ก่อตั้งมา ทำให้เห็นช่องทางความเป็นไปได้ในการที่จะตั้งเป้าหมายเพื่อนำ 10DK เข้าตลาดหลักทรัพย์ หากวัดในแง่ของเงินตรา นับว่าเป็นเส้นทางแห่งการสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าเดิม แต่เมื่อย้อนถกถามหาคำตอบกับตัวเองว่าความสำเร็จดังกล่าวคือคำตอบที่แท้จริงของชีวิตหรือไม่ ปรากฏว่าเงินตราและความรุ่งเรืองอาจไม่ใช่คำตอบนั้น ในคราวแรกปรีชญาก็นึกถึงการเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไร แต่ด้วยความเป็นตัวตนที่สนใจอยากทำอะไรที่มีการแข่งขันแถมยังสามารถจุนเจือชีวิตได้อยู่ ดังนั้นตัวเลือกดังกล่าวจึงอาจจะไม่เหมาะสมเสียทีเดียว อย่างไรก็ตามเธอก็ได้พบกับแนวคิดขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) แนวคิดที่ผสมผสานความยั่งยืนเข้ากับการทำธุรกิจจึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและตอบโจทย์ที่สุดจากมุมมองของปรีชญา เธอจึงตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในด้านดังกล่าว แล้วนำความรู้ที่หามาได้มาประยุกต์ใช้กับแนวทางการดำเนินกิจการของเธอ นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ 10DK ไม่เพียงแต่มอบบ้านในแบบที่เป็นตัวตนลูกค้ามากที่สุด แต่เป็นการให้อะไรตอบแทนกับสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกด้วย “Leave no one behind” “เราจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยหลักแนวคิดที่ 10DK ยึดถือก็คือ ‘Triple Bottom Line’ โดยเป็นหลักการที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นแต่การเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเพิ่มสองปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเวลาดำเนินธุรกิจด้วย นั่นก็คือสิ่งแวดล้อมและสังคม “การที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ทั้งหมดไม่ได้แปลว่าเราไม่จำเป็นต้องทำ” ในด้านของสิ่งแวดล้อม หากมองตามหลักความเป็นจริงก็คงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธการใช้วัตถุดิบที่จะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างพลาสติกหรือสารเคมีต่าง ๆ โดยสมบูรณ์ เพราะในหลาย ๆ ขั้นตอนการผลิตก็ยังจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบเหล่านั้ัน อย่างไรก็ตามปรีชญาเชื่อว่าการที่เราทำไม่ได้100 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะละทิ้งมันไปเลย เพราะอย่างน้อยเราก็ต้องพยายามที่จะทำมันด้วย ยกตัวอย่างเช่นสารเคมีต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตหรือสร้าง หากเป็นไปได้ที่จะลดปริมาณลง 10DK ก็จะเลือกที่จะทำเช่นนั้นเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลือกใช้วัตถุดิบอย่าง ‘ไม้’ ที่ 10DK จะเลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่ใช้ประเภทไม้ปลูกไม่ใช่ไม้ป่า เพื่อสร้างระบบหมุนเวียนทรัพยากรธรรมชาติและสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย “อันไหนเธอรู้เธอสอนเรา อันไหนเรารู้เราแบ่งเธอ แล้วเราจะเติบโตไปด้วยกัน” ดังที่กล่าวเอาไว้ว่า 10DK ก็เปรียบเสมือนวาทยกรที่เป็นตัวกลางในการนำคนมีฝีมือในแขนงต่าง ๆ มาร่วมกันเพื่อสร้างชิ้นงานที่มีคุณภาพในทุก ๆ รายละเอียด นอกจากจะเป็นโครงสร้างการทำงานที่มุ่งหวังจะมอบประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มาใช้บริการแล้ว ก็ยังแบ่งปันประโยชน์ให้ตกถึงมือซัพพลายเออร์ - ช่างไม้ ช่างสี หรือช่างเหล็ก - ทุก ๆ คนอีกด้วย “เราอยู่แทบจะในทุก ๆ ช่วงชีวิตของเขาเลย เริ่มตั้งแต่พี่สิน - พี่เมย์กำลังจะแต่งงานกัน เริ่มตั้งแต่เขาก็ไม่ได้ชำนาญมาก ทำมาเรื่อย ๆ เติบโตมาด้วยกัน จนตอนนี้เปรียบเสมือนครอบครัวกันไปแล้ว” ยกตัวอย่างกรณีอย่างพี่สินและพี่เมย์ ช่างไม้ผู้เป็นซัพพลายเออร์ประจำของ 10DK ที่ดำเนินธุรกิจควบคู่มากับเส้นทางอาชีพของทั้งคู่ แม้ในคราวแรกปรีชญากล่าวว่าความสามารถของทั้งคู่อาจไม่เด่นชัดมากนัก แต่เมื่อมองลึกเข้าไปถึงความตั้งใจ มันก็เป็นคำตอบที่มากพอที่จะจูงมือและเติบโตไปพร้อม ๆ กับคู่สามีภรรยาตระกูลช่างไม้นี้ ในด้านของพี่สิน - พี่เมย์ก็จะคอยให้คำแนะนำและชี้แนะ 10DK ในด้านของงานไม้รวมถึงมอบฝีมือในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกมา ในด้านของ 10DK ก็จะเติมเต็มทั้งคู่ในด้านของระบบการทำงานที่ได้มาตรฐานและเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ปรีชญามองว่านี่เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกที่ต่างฝ่ายต่างจะจับมือและเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาเอาเปรียบซึ่งกันและกัน “ไม่ว่าจะพนักงานหรือซัพพลายเออร์ ถ้าเขาไม่มีเรา เขาอยู่ได้ แต่ถ้าเราไม่มีเขา เราตาย” เรื่องราวของ นุ้ย - ปรีชญา ชวลิตธำรง และบริษัท 10DK แสดงให้เราเห็นถึงความละเอียดอ่อนในแง่ของการทำธุรกิจที่ไม่ได้เพียงมองแค่ว่าจะทำอย่างไรให้บริษัททำกำไรมากที่สุด แต่เป็นแนวคิดที่มองลึกไปถึงหัวอกของลูกค้าหลังจากที่บริษัทได้ส่งเขาเหล่านั้นขึ้นฝั่งแล้ว เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าเขาจะก้าวเดินต่อไปกับสิ่งที่ 10DK มอบให้อย่างมีความสุขและ ‘ฟิตอิน’ กับชีวิตของเขาตามสิ่งที่ ‘บ้าน’ ควรจะเป็น นอกจากนั้น ยังทำให้เราเห็นอีกว่ากำไรของการทำธุรกิจอาจไม่ใช่เงินตราเสมอไป แต่อาจเป็นมิตรภาพ อาจเป็นความรู้สึกดี ๆ จากการให้ อาจเป็นความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งที่จับมือกับชุมชนเพื่อเดินไปข้างหน้าและเติบโตไปพร้อม ๆ กัน และทำให้ธุรกิจ ชุมชน และชีวิตของทุกคน ‘ฟิตอิน’ เข้าด้วยกันอย่างยั่งยืน