‘หิมาลายา’ จากความบังเอิญและความสงสัยของผู้ก่อตั้ง สู่การขึ้นเป็นเบอร์ 1 สกินแคร์ออร์แกนิกในอินเดีย

‘หิมาลายา’ จากความบังเอิญและความสงสัยของผู้ก่อตั้ง สู่การขึ้นเป็นเบอร์ 1 สกินแคร์ออร์แกนิกในอินเดีย
สำหรับแบรนด์ ‘หิมาลายา’ (Himalaya) กลับมาเป็นที่น่าจับตาอีกครั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะตามแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสทั้งหลายที่ช่วงหลัง ๆ มานี้เหล่าพ่อค้าแม่ค้ากลับมาเปิดรับหิ้วสินค้าอีกครั้ง (ทั้งที่ในไทยก็มีสินค้าบางตัวขายอยู่แล้ว) เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะเพราะว่าในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา อินเดียกลายมาเป็นซูเปอร์สตาร์กลุ่มนักท่องเที่ยวไทยอันดับหนึ่งแทนชาวจีนแล้ว ผสมกับความนิยมจากภาพยนตร์หลายเรื่องของอินเดีย เช่นเรื่องล่าสุด คังคุไบ - หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ที่ทำให้ไฟลท์บินระหว่างไทย - อินเดียในหลายเมืองที่ผ่านมาค่อนข้างคึกคักพอสมควร ตลอดเส้นทางธุรกิจของแบรนด์หิมาลายากว่า 90 ปี มีจุดเริ่มต้นที่ไม่ธรรมดา จะพูดว่ามาจากความบังเอิญล้วน ๆ ก็ไม่ผิด แต่สิ่งที่ทำให้แบรนด์นี้ประสบความสำเร็จจนกลายมาเป็นท็อปเบอร์หนึ่งในอินเดียเพราะความสงสัยของผู้ก่อตั้งที่ชื่อว่า ‘โมฮัมเหม็ด มานัล’ (Mohammed Manal) หรือบางคนเรียกว่า เอ็ม มานัล ในระหว่างที่เขาเดินทางไปประเทศเมียนมา   ความบังเอิญเป็นเหตุ ในปี 1930 มีชายหนุ่มที่ชื่อว่า โมฮัมเหม็ด มานัล คนพื้นเพเดิมจากเมืองเดห์ราดุนของประเทศอินเดีย ที่ได้เดินทางไปเมียนมาเพื่อศึกษาดูงานสมุนไพรที่นี่ แต่เกิดเหตุบังเอิญขึ้นในระหว่างที่อยู่ในป่า เขาไปเจอเหตุการณ์ที่ชาวบ้านพยายามสงบสติอารมณ์ช้างตกมันตัวหนึ่งด้วยสมุนไพรที่ชื่อว่า ระย่อมน้อย (Rauwolfia Serpentina) และนั่นคือจุดเริ่มต้นความคิดทั้งหมดของแบรนด์หิมาลายา หลายคนที่เคยได้รู้จักกับ เอ็ม มานัล ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นคนที่รักธรรมชาติ หลงใหลในความเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน” จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจุดเริ่มต้นของแบรนด์หิมาลายา ในชื่อบริษัท Himalaya Drug Company (ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบันว่า Himalaya Wellness Company) ได้วางกลยุทธ์ให้เป็นแบรนด์ที่มีวัตถุดิบหลักมาจากธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์อายุรเวทและสมุนไพรที่ใช้ศาสตร์การแพทย์เก่าแก่ของอินเดีย ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีการนิยามคำว่า ‘ออร์แกนิก’ ขึ้นมาเหมือนตอนนี้ กว่า 9 ทศวรรษที่ เอ็ม มานัล ทุ่มเทให้กับการวิจัยค้นคว้า และทดลองพืชชนิดนี้จนในที่สุดเขาได้เปิดตัว ‘ยาลดความดันโลหิตจากธรรมชาติ 100%’ หรือยา Serpina เป็นตัวแรกของโลกในปี 1934 คำให้สัมภาษณ์ของ เอ็ม มานัล เกี่ยวกับหิมาลายา เขาพูดว่า “การค้นพบความลึกลับของธรรมชาติเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่คำสัญญาจากหิมาลายาก็คือ การใช้พลังธรรมชาตินี้เพื่อบำบัดผู้คนผ่านการวิจัยและพัฒนาโดยหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์” ในปี 1955 หิมาลายาได้พัฒนายาตัวที่ 2 คือ Liv.52 (ยาบำรุงตับหรือล้างสารพิษในตับ) จนประสบความสำเร็จกลายเป็นแบรนด์ที่พัฒนายาเกี่ยวกับตับที่มีชื่อเสียงและมียอดขายสูงสุดในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และประเทศในเอเชียในยุคนั้น   รีแบรนด์ต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่น ด้วยความสำเร็จที่เริ่มจะเห็นเป็นเนื้อเป็นหนังของแบรนด์หิมาลายา เอ็ม มานัล จึงวางเป้าหมายใหม่เพื่อต่อยอดไลน์ผลิตภัณฑ์อื่นให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม และเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่าสินค้าทั้งหมดต่อจากนี้จะอยู่ใน Himalaya Since 1930 ซึ่งก็เป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Himalaya Wellness Company สำหรับ Himalaya Herbals เป็นการเปิดตัวสินค้าใหม่ให้ตลาดชิมลาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และกลุ่มอาหารและยาของสัตว์ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ฉีกกฎการทำธุรกิจจากผู้ผลิตยามาเป็นธุรกิจอื่นในยุคนั้นก็ว่าได้ ปัจจุบันสินค้าในแบรนด์ของหิมาลายามีมากเกือบ 500 ประเภท และสามารถเผยแพร่พลังธรรมชาติของสินค้าหิมาลายาไปได้กว่า 100 ประเทศทั่วโลก ความไม่ธรรมดานี้ต้องพูดว่ามาจากการยืนหยัดในคำพูดของ เอ็ม มานัล ที่ย้ำเสมอว่า สินค้าของหิมาลายาต้องมาจากธรรมชาติ 100% เท่านั้น ที่สำคัญต้องได้มาตรฐานเดียวกับการผลิตยารักษาโรค ซึ่งเป็นฐานการสร้างความเชื่อใจต่อผู้บริโภคเป็นอย่างดี   ฟีเวอร์หิมาลายาบุกไทยตั้งแต่ 2010 กว่า 12 ปีกับความนิยมที่พูดแบบปากต่อปากเกี่ยวกับสินค้าหิมาลายา โดยเฉพาะ ‘ครีมทาใต้ตากับลิปาล์ม’ ที่ติดตลาดไทยตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามา ทั้งคุณภาพที่สั่งสมมาเป็นเวลา 92 ปี บวกกับราคาที่ยืนหยัดว่าทุกคนต้องเข้าถึงง่ายของผู้ก่อตั้ง ทำให้อิทธิพลของหิมาลายาติดตลาดไทยมานับจากนั้น ปัจจุบันสินค้าจากหิมาลายาค่อนข้างหาซื้อได้ง่ายขึ้นในไทย โดยเราจะเห็นในหลาย ๆ ที่วางขาย เช่น Tops, EVEANDBOY, Boots, Watsons หรือตามร้านขายยาทั่วไปก็มีแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ จากวันนั้นที่หิมาลายาเข้ามาในไทยและสร้างการรับรู้ด้วยสินค้า 2 ประเภท แต่ทุกวันนี้มีสาวกของหิมาลายาในไทยอยู่ไม่น้อยที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากหิมาลายาแบบหัวจรดเท้า ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาต้องพึ่งบริการรับหิ้วจากร้านค้าออนไลน์ การเดินทางของหิมาลายายังเคลื่อนไหวอยู่ตลอด จากหลายๆ แคมเปญการตลาดที่มีการพูดโดยเป็นการย้ำความต้องการของแบรนด์อยู่เสมอว่า “ธรรมชาติคือสิ่งมหัศจรรย์ และมนุษย์จะแข็งแรงสุขภาพดีได้ต้องพึ่งพาธรรมชาติ” วัฒนธรรมความเชื่อทั้งหมดนี้มันคือที่มาของคำว่า ‘ออร์แกนิก’ ในปัจจุบัน ดังนั้น หากจะมีใครสักคนยกกรณีศึกษาเกี่ยวกับแบรนด์ที่เป็นออร์แกนิกแบรนด์และมีความน่าสนใจ หิมาลายาคือหนึ่งในบทสนทนานั้น ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัยและเปลี่ยนมือผู้บริหารไปกี่คน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกับความคิดของ เอ็ม มานัล ก็คือธรรมชาติ 100% กับทุกผลิตภัณฑ์ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน     ภาพ: Himalaya Wellness, iPrice อ้างอิง: https://www.prnewswire.com/in/news-releases/himalaya-wellness-company-launches-a-new-equity-campaign-inspiring-consumers-to-prioritize-wellness-818137164.html https://himalayawellness.in/pages/our-story https://en.wikipedia.org/wiki/Himalaya_Wellness_Company https://dsim.in/blog/2016/11/23/case-study-how-himalaya-gripped-digital-marketing-to-grow-its-brand-performance/ https://economictimes.indiatimes.com/brand-equity/marketing/himalaya-undertakes-rebranding-exercise/articleshow/353879.cms?from=mdr https://www.business-standard.com/article/companies/q-a-with-philipe-haydon-ceo-the-himalaya-drug-company-114101400742_1.html