แอนดรูว์ รีส: ผู้เปลี่ยนภาพ Crocs รองเท้าพลาสติกแบบเดิม สู่เป้าหมาย Bio-based วัสดุพลาสติกจากพืช
21 ปีสำหรับรองเท้าทรงอ้วนกลมที่มีโลโก้เป็นรูปจระเข้ ภาพสัญลักษณ์คุ้นตาใครหลายคน ‘รองเท้าคร็อคส์’ (Crocs) กลายเป็นรองเท้าประจำบ้านที่หลายคนมี วัฒนธรรมความเป็นคร็อคส์เผยแพร่ไปทั่วโลก แต่ในปี 2022 ถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของรองเท้าคร็อคส์ ผ่านแนวคิดของ CEO ที่ชื่อว่า แอนดรูว์ รีส (Andrew Rees) ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2017 เขามีความคิดที่จะทำให้รองเท้าคร็อคส์ก้าวข้ามการเป็นรองเท้าที่ทำจากพลาสติกแบบเดิมๆ ให้เป็นรองเท้า Net Zero ให้ได้
จุดเริ่มต้นคร็อคส์ ‘รองเท้าพายเรือ’
รองเท้าจระเข้ในตำนานต้องบอกว่ามีจุดเริ่มต้นที่ไม่ธรรมดา เพราะจุดประสงค์หลัก ๆ ของผู้ก่อตั้งจริง ๆ แล้วเพื่อต้องการผลิตรองเท้าสำหรับ ‘พายเรือ’ โดย 3 คนที่คิดค้นไอเดียนี้ก็คือ สก็อตต์ ซีแมนส์, ลินดอน ‘ดุ๊ก’ แฮนสัน และ จอร์จ โบเดคเกอร์ จูเนียร์ โดยพวกเขาได้ให้บริษัท Foam Creations ของแคนาดาเป็นคนออกแบบให้
หลังจากนั้นไม่นานพวกเขาได้เข้าซื้อกิจการบริษัทดังกล่าว และเปิดตัว Crocs, the Beach เป็นรองเท้ารุ่นแรกที่ออกสู่ตลาดในชื่อคร็อคส์ ในปี 2001 เรียกได้ว่าเป็นรองเท้าที่มีกระแสตอบรับค่อนข้างเร็ว จากที่ผลิตรองเท้าออกมาเพียง 200 คู่และขายหมดในพริบตา มาเป็นแบรนด์ที่ขายรองเท้าไปทั้งหมด 300 ล้านคู่ในปี 2017
จากรองเท้าที่ปิ๊งไอเดียสำหรับผู้ใช้ในน้ำหรือทะเลเท่านั้น ด้วยคุณสมบัติหลักคือ ไม่เปียก, ไม่เหม็นอับ, มีน้ำหนักเบา, ยึดเกาะดี กลายมาเป็นกระแสนิยม เป็นรองเท้าที่ได้รับความนิยมใช้บนบกด้วยและเน้นคุณสมบัติเดียวกัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสัญลักษณ์ของคร็อคส์คือ จระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
สิ่งประดิษฐ์ที่เลวร้ายที่สุด
ไม่ว่ายอดขายของรองเท้าคร็อคส์จะเติบโตดีต่อเนื่องมากแค่ไหน แต่ในมุมมองของนิตยสารชื่อดังอย่าง TIME กลับเห็นต่าง เรียกรองเท้าคร็อคส์อย่างเต็มปากว่าเป็น ‘สิ่งประดิษฐ์ที่เลวร้ายที่สุด’ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่าเป็นรองเท้าในไม่กี่แบรนด์ที่มีการผลิตมาจากพลาสติกโฟม ซึ่งในยุคนั้นต้องยอมรับว่ายังไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ดีพอ หรือเป็นมิตรต่อโลกหลังจากที่สิ้นสุดกระบวนการผลิตลง
เป้า Net Zero ด้วยพลาสติกจากพืช
ผ่านยุคที่เต็มไปด้วยคำเสียดสีต่าง ๆ ทั้งจากสื่อ นิตยสาร หรือแม้แต่จากนักวิชาการในสมัยนั้น เช่น Greenpeace ในสหราชอาณาจักร ที่พูดวิจารณ์เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตของแบรนด์คร็อคส์โดยเฉพาะการกลั่นน้ำมันออกมาเป็นเม็ดพลาสติกว่า ทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อนได้
ดังนั้น เดิมทีที่รองเท้าคร็อคส์ใช้พลาสติกโฟมจากเทคโนโลยี Croslite ที่ให้น้ำหนักเบากว่าเดิม โดยเป็นสิทธิบัตรของคร็อคส์เพียงรายเดียวเท่านั้น ก็ประกาศเปลี่ยนแนวคิดใหม่ตัดสินใจล้างภาพคร็อคส์ และหันหลังให้กับพลาสติกแบบเดิมที่ไม่เป็นมิตรมาเป็นโดยธรรมชาติทั้งหมด
แอนดรูว์ รีส เรียกได้ว่าเป็นคนแรก ๆ ที่มีแนวคิดให้วัสดุที่ทำรองเท้าของคร็อคส์มีการปล่อยคาร์บอนที่น้อยที่สุด หรือเท่ากับ ‘ศูนย์’ ตามเทรนด์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยวางภารกิจไว้คือ 2030 Net Zero Company หรือบริษัทที่ไร้การปล่อยคาร์บอนแบบ 100% และใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่า Bio-based พลาสติกจากพืช หนึ่งในนวัตกรรมจากคร็อคส์ที่น่าสนใจมาก
จุดเริ่มต้นของวิสัยทัศน์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2022 ตามแพลน โดยจะให้เป็นปีแห่งผลผลิตใหม่ ก็คือ รองเท้าคร็อคส์ต้องทำมาจากวัสดุ Bio-based หรือพลาสติกที่ทำมาจากพืช เช่น อ้อย ข้าวโพด แทนพลาสติกเดิมที่ทำมาจากการกลั่นน้ำมันดิบเพื่อให้ได้เม็ดพลาสติก
ซึ่งตั้งแต่ 2022 รองเท้าคร็อคส์จะเริ่มปล่อยผลผลิตจากวัสดุใหม่ โดยในทุกดีไซน์ของคร็อคส์จะอ้างอิงตาม carbon footprint ลดลงคู่ละ 50% จากนั้นจะเพิ่มการลดคาร์บอนลงอีกเรื่อย ๆ จนกว่าจะเป็น 100%
มีสิ่งหนึ่งจากแนวคิดของ แอนดรูว์ รีส ไม่ใช่แค่การผลิตรองเท้าต้องไม่ปล่อยคาร์บอนให้เป็นพิษต่อโลก แต่เขายังมองภาพให้ไกลกว่านั้นว่า รองเท้าคร็อคส์ต้องคิดไปถึง ‘ชีวิตหลังความตาย’ ซึ่งเขาหมายถึงรองเท้าทุกคู่ของคร็อคส์ต้องบริจาคได้ รีไซเคิลได้ 100% หลังจากที่เจ้าของไม่ต้องการใช้แล้ว (หรือไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว)
ไม่ใช่แค่คร็อคส์ที่เริ่มมีจุดยืนเกี่ยวกับความยั่งยืนในด้านการผลิต แต่แบรนด์รองเท้าอื่น ๆ ก็เริ่มประกาศใช้เช่นเดียวกัน แต่ความเก๋าของคร็อคส์ในฐานะที่อยู่ในตลาดนี้มานาน มันคือการขยับตัวเร็วและความคิดที่มุ่งไปข้างหน้า ซึ่งผู้แข่งขันในยุคนี้ต้องกล้าที่จะต่างเพื่อสร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง
ภาพ: Getty Images, DOUG LEVY
อ้างอิง:
https://investors.crocs.com/news-and-events/press-releases/press-release-details/2021/Crocs-Announces-Commitment-to-Become-a-Net-Zero-Company-by-2030/default.aspx
https://sgbonline.com/crocs-announces-commitment-to-become-a-net-zero-company-by-2030/
https://thewellnessfeed.com/crocs-and-other-shoes-going-bio-based-in-2022/
https://www.theguardian.com/fashion/2021/sep/15/crocs-to-change-clogs-ingredients-to-be-bio-based-by-2022
https://footwearnews.com/2019/business/retail/crocs-ceo-andrew-rees-interview-2019-classic-clog-1202738360/
https://en.wikipedia.org/wiki/Crocs