อีกอร์ กูเชนโก: นักถอดรหัสผู้เปิดโปงความชั่วร้ายของสหภาพโซเวียต ก่อนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของสงครามครั้งใหญ่

อีกอร์ กูเชนโก: นักถอดรหัสผู้เปิดโปงความชั่วร้ายของสหภาพโซเวียต ก่อนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของสงครามครั้งใหญ่

“It's War. It's Russia!”

คือคำเตือนจากชายผู้สวมถุงคลุมศีรษะสีขาวชวนขนลุกนามว่า ‘อีกอร์ เซอร์เกเยวิช กูเชนโก’ (Igor Sergeievich Gouzenko) ผู้แปรพักตร์ชาวรัสเซียที่ยอมทิ้งตัวตน เพื่อนำความลับอันดำมืดของโซเวียต ภายใต้การนำของ ‘โจเซฟ สตาลิน’ (Joseph Stalin) ผู้นำจอมเผด็จการออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

กูเชนโกมักจะออกไปให้สัมภาษณ์กับสื่อผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ด้วย ‘ใบหน้า’ แบบนี้เสมอ ไม่มีใครรู้ว่าภายใต้ถุงคลุมศีรษะมีใบหน้าใดซ่อนอยู่ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 1982

นี่คือเรื่องราวของเขา มนุษย์ล่องหนผู้ยอมเสี่ยงชีวิต เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์อีกครึ่งค่อนโลกให้รอดพ้นจากการรุกคืบของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

The calm before the storm

ก่อนที่สงครามเย็นจะแบ่งซีกโลกตะวันออกและตกเป็นสองส่วน สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตเคยเป็นพันธมิตรอันดีต่อกัน อีกทั้งยังร่วมมือกันต่อต้านการแผ่ขยายเข้ามาของระบอบนาซี แต่ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกลับไม่ยืนยาว หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ความคิดที่จะจัดระเบียบโลกใหม่ทำให้สองชาติเริ่มไม่ไว้วางใจต่อกัน แต่ก็เป็นเพียงสัญญาณเล็ก ๆ ที่ส่งออกมาเท่านั้น เพราะมิตรยังไงก็คือมิตร การไว้วางใจในชาติพันธมิตรถือเป็นความไว้ใจสูงสุด

แน่นอนว่าชาวอเมริกันจำนวนมากไม่เห็นเค้าลางใดว่า สองประเทศนี้จะแตกหักจนไม่อาจประสานรอยร้าวได้ และยิ่งเป็นไปไม่ได้เข้าไปอีก หากจะจินตนาการว่าอีกไม่นานสหภาพโซเวียตจะกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจ ที่จะห้ำหั่นกันด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติ สหภาพโซเวียตจึงเร่งหาโอกาสสร้างสันติภาพในแบบของตัวเองหลังจากนายมาโมรุ ชิเกมิตสึ (Shigemitsu Mamoru) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ได้ลงนามในตราสารแห่งการยอมจำนน (Japanese Instrument of Surrender) บนเรือประจัญบานยูเอสเอส มิสซูรี ของสหรัฐฯ กลางอ่าวโตเกียวในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 1945 ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ดูเหมือนว่าสันติภาพจะมาเยือนโลกอย่างเป็นทางการ แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะความโกลาหลกำลังจะเปิดฉากขึ้น หลังจากผู้แทนญี่ปุ่นจรดปลายปากกาเซ็นสัญญายอมจำนนในอีก 3 วันให้หลัง เมื่ออีกอร์ กูเชนโก นักถอดรหัสชาวรัสเซีย ตัดสินใจหอบหิ้ว ‘ความลับ’ ของโซเวียตออกมาส่งต่อให้กับรัฐบาลแคนาดา ชาติพันธมิตรอันใกล้ชิดของสหัฐฯ เพื่อเป็นการประกาศกร้าวว่าโซเวียตไม่เคยมองพวกเขาเป็นมิตร!

ดินแดนแห่งเสรีภาพ

อีกอร์ กูเชนโก เกิดวันที่ 13 มกราคม 1922 ณ เมืองโรกาโชวา (Rogachovo) ประเทศรัสเซีย ในปี 1943 เขาได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทหารโซเวียต (the Soviet Military Intelligence - GRU) ในฐานะนักถอดรหัสที่ต้องรับ-ส่งรหัสจากสถานทูตโซเวียตในออตตาวา ประเทศแคนาดา ไปยังมอสโก

ชีวิตท่ามกลางสงครามและข้อความเข้ารหัสที่ไหลบ่าเข้ามาตลอดทั้งวัน ทำให้เขาวิตกกังวล ทั้งกังวลต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งกังวลต่อ ‘สเวตลานา กูเชนโก’ (Svetlana Gouzenko) ภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะเธอต้องติดสอยห้อยตามเขามาทำงานที่แคนาดา ประเทศที่ต่างกันสุดขั้วกับบ้านเกิดที่เธอจากมา

แม้ว่ากูเชนโกจะได้รับการยกย่องว่าเป็นชายผู้มีความทรงจำเป็นเลิศ สามารถถอดรหัสได้อย่างแม่นยำ แต่ความเก่งกาจของเขากลับสร้างความไม่พอใจให้แก่เบื้องบน...

“เขา(กูเชนโก) มีความทรงจำเป็นเลิศ เพื่อนของผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าตอนเรียนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหน่วยสืบราชการลับ เธอเรียนอยู่ชั้นเดียวกับกูเชนโก เธอจดจำเขาได้ในฐานะ ‘ชายผู้ไม่เคยลืม’ ทั้งชื่อ หรืออะไรก็ตามที่เขาอ่านผ่านตา เขาจำได้หมดทุกอย่าง” โจนาธาน ฮาสลาม (Jonathan Haslam) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของสหภาพโซเวียตและศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

เวลาปีกว่าที่เขาและครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในแคนาดา ดินแดนที่มอบเสรีภาพให้กับเขาและภรรยาอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้จิตใจที่เคยห่อเหี่ยวกลับมีชีวิตชีวาขึ้นเรื่อย ๆ แต่แล้วฝันร้ายก็มาเยือน หลังจากถอดรหัสและได้ใจความว่า เขาและครอบครัวจะต้องถูกส่งตัวกลับไปยังโซเวียต เพราะเบื้องบนไม่ไว้วางใจการทำงานของเขาอีกต่อไป

เหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจ เขาไม่อยากกลับไปโซเวียต ประเทศที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณ เขาไม่อยากกลับไปอยู่ใต้การปกครองของผู้นำที่ฆ่าคนเป็นผักเป็นปลา เขาไม่อยากใช้ชีวิตที่ต้องเห็นภาพผู้คนล้มตายเพราะความอดอยากหิวโหย ภาพการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge) ยังติดอยู่ในความทรงจำ เขาไม่อยากเจอเรื่องที่โหดร้ายแบบนั้นอีกแล้ว

ความกลัวเข้าเกาะกุมจิตใจกูเชนโก เขาอายุยังน้อย น้อยเกินกว่าต้องกลับไปเจอกับภาพความโหดร้ายครั้งนั้น โชคดีที่ ‘พันเอกนิโคไล ซาโบติน’ (Nikolai Zabotin) มองต่างออกไป เขาเห็นศักยภาพของกูเชนโก หากขาดนักถอดรหัสหนุ่มคนนี้หน่วยงานที่เขาดูแลคงทำงานยากขึ้นไปอีก ซาโบตินจึงสามารถชะลอการส่งตัวกูเชนโกกลับประเทศไปได้ระยะหนึ่ง

ผู้แปรพักตร์

กูเชนโกรู้ดีว่าท้ายที่สุดเขาจะต้องถูกส่งตัวกลับ ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เขาจึงเริ่มปฏิบัติการ ‘ขโมย’ ความลับราชการออกมาทีละเล็กทีละน้อย หลังจากได้รับคำแนะนำจากภรรยาว่าให้นำความลับออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะนำไปให้กับรัฐบาลแคนาดา เพราะทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันว่าชีวิตแบบตะวันตกเหนือว่าโซเวียต

“ที่นี่มีอาหารอย่างเหลือเฟือ ทั้งร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ร้านค้าที่ไม่ต้องจับบัตรคิว นี่คือเสรีภาพที่แท้จริง” ข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือ This Was My Choice เขียนโดยอีกอร์ กูเชนโก

เย็นวันพุธที่ 5 กันยายน 1945 เขาตัดสินใจแล้วว่าวันนี้จะเป็นการเดิมพันครั้งสุดท้าย เขาขนเอกสารกว่าร้อยหน้า เดินผ่านล็อบบี้สำนักงาน จ้องมองไปยังรูปปั้นเลนินอย่างไม่วางตา สวนทางกับเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองโซเวียตอีกนับร้อยชีวิต กูเชนโกรู้ดีว่าการกระทำครั้งนี้คงไม่รอดพ้นจากสายตาของสายลับ แต่เขาไม่สนใจ เขารังเกียจลัทธิสตาลินเข้ากระดูกดำ และไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่กดขี่ขูดรีดประชาชน

เวลา 21:00 น. กูเชนโกเดินทางไปยังสำนักข่าว Ottawa Journal แบกความลับระดับชาติ หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าโซเวียตไม่เคยไว้วางใจชาติพันธมิตร พวกเขาใช้แคนาดาเป็นที่ตั้งของเครือข่ายสายลับที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก พร้อมทั้งสอดแนมสหรัฐฯ และแคนาดา รวมถึงประเทศอื่นมาโดยตลอดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้น

“It’s war. It’s Russia!”

(มันคือสงคราม มันคือรัสเซีย!)

ถ้อยคำแรกที่กูเชนโกพูดกับ ‘เชสเตอร์ ฟาวด์’ (Chester Fowde) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ออตตาวา แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ เพราะเขาเชื่อว่าโซเวียตเป็นพันธมิตร อีกทั้งความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็ดีมาโดยตลอด ไม่มีเหตุจูงใจใดที่ทำให้มิตรที่ร่วมกันต่อสู้ในสงครามโลกแปรเปลี่ยนเป็นศัตรู

ฟาวด์จึงแนะนำให้กูเชนโกนำข้อมูลนี้ไปบอกกับตำรวจแคนาดา (RCMP) แต่เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้เขากลับมาใหม่ เพราะคนที่เขาต้องการพบอย่าง ‘หลุยส์ เซนต์ ลอว์เรนซ์’ (Louis St. Laurent) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอนาคตนายกรัฐมนตรีแคนาดาไม่อยู่

กูเชนโกกลับบ้านด้วยใจห่อเหี่ยว ทั้งวิตกกังวลและหวาดกลัว เขาเชื่ออย่างสุดใจว่าในไม่ช้าเจ้าหน้าที่ของสหภาพโซเวียตจะต้องพบว่าเขาคือคนทรยศ และยิ่งทรมานใจมากขึ้นไปอีก เพราะห้องพักที่เขาอยู่ดันอยู่ติดกับห้องของพันเอกซาโบติน ผู้บังคับบัญชาการของเขา

“โดยปกติแล้วชาวรัสเซียมักจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน พวกเขาสร้าง ‘อาณานิคม’ ของตัวเองขึ้นมา มีอาคารใหญ่ที่แยกออกจากอาคารอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้อาณานิคมแห่งนี้ มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับอนุญาตให้ออกนอกอาณาเขตที่จัดตั้งกันขึ้นมา แต่โชคดีที่กูเชนโกได้รับสิทธิพิเศษตรงนี้ เพราะภรรยาของพันเอกซาโบติน หมดความอดทนกับเสียงร้องไห้ของลูกชายวัย 2 ขวบของกูเชนโกที่ส่งเสียงร้องตลอดคืน”

หลังจากถูกโยกย้ายออกจากห้องพัก กูเชนโกได้เข้าพบกับหลุยส์ เซนต์ ลอว์เรนซ์อีกครั้ง และครั้งนี้สถานะของเขาเปลี่ยนจากนักถอดรหัสรัสเซียเป็นผู้แปรพักตร์อย่างสมบูรณ์

วันที่ 7 กันยายน 1945 ครอบครัวกูเชนโกได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง และต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใน Camp X ค่ายฝึกสายลับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นับแต่นั้นเป็นต้นมา

การออกมาเปิดเผยความลับของโซเวียตครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลแคนาดาและสหรัฐฯ สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าแอบสอดแนมประเทศเสรีได้ทั้งหมด 39 คน โดยผู้ต้องสงสัย 13 คนแรก ที่ถูกจับกุมในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1946 มีเพียง 7 คนเท่านั้นที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด

และในอีกหนึ่งเดือนให้หลัง ก็สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวแคนาดาเพิ่มอีก 26 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมอยู่ด้วย แต่มีผู้ถูกตัดสินว่าความมีความเพียง 11 คน พ้นผิด 10 คน และถูกปล่อยตัวอีก 5 คน โดยไม่ถูกตั้งข้อหา

ขณะที่อีกด้านหนึ่งของประเทศหลังม่านเหล็ก พันเอกซาโบติน กลายเป็นแพะรับบาปที่ทำให้ข้อมูลการสอดแนมของโซเวียตรั่วไหล ซาโบตินและครอบครัวถูกส่งตัวไปยังกูลัก พวกเขาต้องทนแบกรับความผิดที่ไม่ได้ก่อ ก้มหน้าก้มตาทำงานใช้แรงงานจนได้รับการปล่อยตัวออกมาในปี 1953 หลังการตายของสตาลิน

และแล้วชีวิตที่ต้องหลบซ่อนของกูเชนโกก็ถึงคราวต้องยุติลง หัวใจที่เคยทำงานมาตลอด 60 ปีหยุดเต้นไปอย่างกะทันหัน เขาจากโลกนี้ไปในปี 1982 ส่วนภรรยาเสียชีวิตในปี 2001 ทั้งคู่เสียชีวิตลงในฐานะพลเมืองแคนาดา ผู้ช่วยให้ชาวแคนาดาและประเทศโลกเสรีเห็นความจริงว่าโซเวียตไม่เคยมองพวกเขาเป็นมิตร มีเพียงผลประโยชน์สูงสุดของชาติเท่านั้นที่ประเทศหลังม่านเหล็กเล็งเห็น

ภาพ: Igor Gouzenko on television, 1966. Library and Archives Canada/PA-129625 และ Getty Images / Bettmann