บัณฑูร จิระวัฒนากูล เจ้าของ "สวนส้มธนาธร" ที่ไม่ใช่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
หลายคนแซว ๆ หรือคิดว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หันมาเอาดีด้านการปลูกส้มในชื่อ “ส้มธนาธร” แต่ช้าก่อน! ธนาธรไม่ได้เกี่ยวอะไรกับส้มนี้เลยสักนิด (ถ้าจะเกี่ยวก็อาจเคยกิน) เพราะเจ้าของส้มธนาธรตัวจริงเสียงจริงคือ บัณฑูร จิระวัฒนากูล ต่างหาก
บัณฑูร ผู้ก่อตั้งบริษัท เชียงใหม่ธนาธร จำกัด เจ้าของแบรนด์ “ส้มธนาธร” สวนส้มที่ใหญ่ที่สุดในไทย และแบรนด์ส้มชื่อดังที่คนติดใจในรสชาติกันแทบจะทั่วประเทศ เกิดเมื่อปี 2485 เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ชุ่นเส็ง-ม่วยนี้ แซ่เล้า ผู้เป็นบิดามารดามีอาชีพทำสวนผัก ความที่บัณฑูรเป็นพี่ชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 12 คน เขาจึงต้องออกจากโรงเรียนทั้งที่ยังไม่จบ ป.3 เพื่อช่วยครอบครัวทำงาน
ปี 2504 บัณฑูรย้ายตามชุ่นเส็งขึ้นภาคเหนือ ไปทำสวนผักที่ฟ้าฮ่าม จังหวัดเชียงใหม่ ความขยันและหนักเอาเบาสู้ทำให้เมื่อว่างจากการส่งผักที่ตลาด เขาก็หัดทำข้าวเกรียบกุ้งขายตามหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังติดต่อซื้อลำไยจากเจ้าของสวนเอามาบรรจุเข่งส่งขายกรุงเทพฯ และรับผลไม้จากกรุงเทพฯ มาขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้า แต่ท้ายสุดก็ต้องหยุดกิจการเพราะขาดทุน เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟใช้เวลานานทำให้ผลไม้เน่าเสีย
บัณฑูรเริ่มแตะเรื่องส้ม ๆ หลังจากนั้นไม่นานนัก โดยรับซื้อส้มจากสวนวังน้ำค้าง สวนสุวิมล (สวนดอยทอง) และสวนใกล้เคียง แล้วเอาไปขายส่งทั้งในเชียงใหม่และลำปาง ต่อมาในปี 2506 บัณฑูรต้องหยุดค้าขายไปพักใหญ่เพราะไปเป็นทหารเกณฑ์ แต่สิ่งที่เขาได้กลับออกมาคือระเบียบวินัย และขั้นตอนการทำงานอย่างเป็นระบบ
ปี 2511 บัณฑูรในวัย 26 ปี แต่งงานกับ สายจิต วัฒนการ มีลูกสาวคือ “ธนาธร” (เป็นที่มาของชื่อ “ส้มธนาธร” นั่นเอง) และลูกชายคือ “บรรจง” สองสามีภรรยาช่วยกันทำมาค้าขายผัก แต่คราวนี้วิ่งไปขายไกลถึงภาคอีสาน บัณฑูรต้องขับรถเองโดยมีลูกน้องช่วยเหลือเพียง 1 คนเท่านั้น
โอกาสทางธุรกิจเริ่มสดใสในปี 2512 เมื่อภาคอีสานเป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน บัณฑูรจึงเอาผักไปขายให้ทหารเหล่านี้ กระทั่งได้รู้จักกับ ประยูร พลพัฒน์พงศ์ เจ้าของบริษัท เอ เอ เบเกอรี่ ประยูรได้กลายมาเป็นคู่ค้าและช่วยเหลือบัณฑูรมาเรื่อย ๆ
บัณฑูรเคยหันไปขายปลาทะเลแช่แข็งในเชียงใหม่อยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงแรกกิจการไปได้ดี แต่ต่อมาเริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น เขาจึงต้องเลิกกิจการนี้ไปโดยปริยายพร้อมหนี้จำนวนหนึ่งและคดีความที่ถูกฟ้องร้อง
เขากลับมาโฟกัสที่การขายส้มอีกครั้ง และคิดว่าสักวันหนึ่งต้องมีสวนส้มเป็นของตัวเองให้ได้
ปี 2519 เขาเดินทางไปอำเภอฝาง และชักชวนเถ้าแก่สวนส้มสุวิมลให้ร่วมทุนซื้อที่ดินที่บ้านห้วยไคร้ ตำบลแม่สูน ต่อมาเถ้าแก่ขอถอนตัวในการเข้าหุ้น แต่ยังให้ความช่วยเหลือบัณฑูรด้านการเงิน โชคเข้าข้างบัณฑูรอีกครั้ง เมื่อเขาต้องการใช้ปุ๋ยชนิดดี จึงไปซื้อปุ๋ยตราเรือใบไวกิ้งที่บริษัทโรจน์กสิกิจในกรุงเทพฯ เมื่อบริษัทรู้ว่าจะเอาไปใช้ที่เชียงใหม่ จึงติดต่อให้บัณฑูรเป็นตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยที่เชียงใหม่ด้วยเสียเลย
หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มจาก “สวนส้มธนาธร” ในปีแรก บัณฑูรก็ขยายความฝันของเขาให้กว้างขวางออกไปอีก เขาซื้อที่ดินใกล้เคียงเพื่อปลูกส้มเขียวหวาน จากนั้นปี 2527 ก็เช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มแม่น้ำฝาง ในอำเภอฝาง เป็นพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานเพิ่มเติม
นิตยสารผู้จัดการ ฉบับตุลาคม ปี 2542 ระบุว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตชาวสวนส้มของบัณฑูร เกิดขึ้นในปี 2524-2525 เมื่อเขาได้รับออร์เดอร์ส้มเขียวหวานล็อตเล็ก ๆ เพื่อขายในมาเลเซียและสิงคโปร์ ครั้งนั้นมีผู้แนะนำบัณฑูรให้ปรับรูปแบบแพ็คเกจจิ้งเสียใหม่ ไม่ให้ดูเชยและล้าสมัย ส่วนรสชาติก็ต้องเน้นหวานนำเปรี้ยว เพื่อให้ถูกปากคนเอเชีย
บัณฑูรรับฟัง เขาขยายสวนส้มเพิ่มเป็นหลายร้อยไร่เพื่อรองรับออร์เดอร์ต่างประเทศ พร้อมกับพัฒนาสายพันธุ์ส้มมาเรื่อย ๆ จนค้นพบส้มสายพันธุ์ที่สร้างชื่อให้เขาดังเปรี้ยงปร้าง นั่นก็คือ “ส้มสายน้ำผึ้ง” ซึ่งขนาดลูกและผิวคล้ายส้มเขียวหวาน แต่มีความหวานและหอมมากกว่า
"เราได้เม็ดมาจากสิงคโปร์ ลองเอามาเพาะดู แรก ๆ ปลูกเพียง 8 ต้น ได้ผลเก็บเกี่ยวเมื่อปี 2532-33 ผลผลิตต่อไร่ก็ไม่ดีนัก แต่รสชาติแปลกออกไป มีพรรคพวกมาเที่ยวเยี่ยมชมที่สวนหลายคน ลองชิมแล้วชอบใจ แรก ๆ ตั้งชื่อกันว่า ส้มน้ำอ้อย แต่มีเพื่อนจากระยองมาชิม แล้วตั้งให้เป็นส้มสายน้ำผึ้ง ก็ชอบใจชื่อนี้"
จากส้มเขียวหวาน บัณฑูรเสมือนค้นพบขุมทรัพย์ใหม่ และ “ส้มสายน้ำผึ้ง” ก็กลายเป็นสินค้าเด่นของสวนส้มธนาธรนับตั้งแต่นั้น
นิตยสารผู้จัดการ ยังบอกด้วยว่า ปี 2537 ส้มสายน้ำผึ้งได้รับการยอมรับจากตลาดสิงคโปร์และฮ่องกงในนาม Sweet Honey และ Special Honey และเพิ่มแบรนด์สินค้า “เชียงใหม่ธนาธร” หรือ “ธนาธร” เป็นสติ๊กเกอร์ติดที่ผลส้มในช่วงปี 2539 เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เป็นการรับประกันคุณภาพสินค้าให้ลูกค้า และสร้าง brand loyalty ในระยะยาว
บัณฑูรไม่หยุดความฝันสร้างอาณาจักรสวนส้มของเขาไว้แค่เมืองไทย เพราะเมื่อได้รับการชักชวนจาก พล.อ.คำไต สีพันดอน ขณะยังดำรงตำแหน่งประธานประเทศลาว บัณฑูรก็ศึกษาลู่ทางการลงทุนทำสวนส้มที่นั่น ทุกวันนี้บัณฑูรมีสวนส้มในเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว บนพื้นที่เกือบ 2,000 ไร่ ปลูกทั้งส้มสายพันธุ์สายน้ำผึ้ง ฟรีมองต์ และมีลาภ ให้ผลผลิตต่อปีไม่ต่ำกว่า 500,000 กิโลกรัม
ส่วนในไทย บัณฑูรเป็นเจ้าของสวนส้มซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 10,000 ไร่* ให้ผลผลิตส้มสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมแล้วปีละกว่า 5,000,000 กิโลกรัม หนุนให้ บริษัท เชียงใหม่ธนาธร จำกัด ของบัณฑูร มีรายได้รวมในปี 2559-2560 ที่ราว 309.07 ล้านบาท และ 333.37 ล้านบาท
จากสวนส้มเล็ก ๆ ทุกวันนี้ บัณฑูรคือเจ้าของสวนส้มระดับตำนานของเมืองไทย ในชื่อ "สวนส้มธนาธร"
*ราวปี 2559 มีข่าวว่าสวนส้มธนาธรมีที่ดิน ส.ป.ก. ต่อมาปี 2560 ส.ป.ก. ได้ประชุมหารือและทำความเข้าใจกับสวนส้มธนาธรเป็นระยะ โดยมีการรื้อถอนสวนส้มบางส่วน
ที่มา
http://www.tntorchard.com/do.php?mid=2
http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=1182
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645294
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645183
https://news.thaipbs.or.th/content/253838
http://news1live.com/detail.aspx?NewsID=9600000094500
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า