อุดร ตันติสุนทร ใช้เวลา 8 รัฐบาล สร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งแรก
วันที่ 19 มีนาคม ปี 2562 “นายกฯ ตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปร่วมพิธีฉลองความสำเร็จในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งฝั่งพม่ามี นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าร่วม
การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า นั้นไม่ง่าย เพราะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะ “สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1” ข้ามแม่น้ำเมย เชื่อมระหว่างตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับ เมืองเมียวดี ของเมียนมา
เพราะกว่าโครงการสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 จะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง เชื่อมสัมพันธ์และเศรษฐกิจระหว่างกันได้ในปี 2540 อุดร ตันติสุนทร นักการเมืองจังหวัดตากที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ก็ต้องใช้เวลายาวนานถึง 8 รัฐบาลเลยทีเดียว
ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน อุดรในวัย 36 ปี เป็น ส.ส. ตากครั้งแรกในปี 2512 ได้ไม่กี่เดือน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็เชิญไปศึกษาดูงานการปกครองที่นั่น และยังได้ไปศึกษาดูงานที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่นิวยอร์ก ต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นตัวแทนสมาชิกรัฐสภาไทยไปประชุมองค์การสหภาพสมาชิกรัฐสภาแห่งโลกหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่ประชุมก็จะมีมติร่วมกันว่า ถ้ามีการขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ขอให้ใช้วิธีเจรจาเท่านั้น ห้ามใช้อาวุธเด็ดขาด เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดสงครามได้ง่าย
หลังการประชุมหลายครั้งเข้า อุดรจึงเริ่มคิดถึงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพให้โลกใบนี้
“ผมมีความเชื่อมั่นว่า การสร้างสันติภาพให้มั่นคงนั้นจะต้องสร้างมิตรภาพขึ้นก่อน และการจะให้เกิดมิตรภาพได้นั้น จะต้องสร้างถนนหรือทางเชื่อมโยงกันทุกประเทศ เพื่อการเดินทางไปมาหาสู่กันจะได้สะดวกสบาย...”
เมื่อได้แนวคิดดังกล่าว ส.ส.หนุ่มก็เข้าพบเลขาธิการบริหารของ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) ในกรุงเทพฯ ซึ่งเลขาธิการ ESCAP ก็มอบ “Asian Highway Route Map” แผนที่ถนนสายเอเชียให้เขา
อุดรค่อย ๆ ศึกษาแผนที่นั้นอย่างละเอียด พบว่าถนนสายเอเชีย A-1 นี้ เริ่มตั้งแต่ประเทศอิหร่าน อัฟกานิสถาน อินเดีย บังคลาเทศ เมียนมา ไทย กัมพูชา และสิ้นสุดที่เวียดนาม ความยาวทั้งสิ้น 12,185 กิโลเมตร ซึ่งจุดที่จะเชื่อมโยงเมียนมามาไทยคือ “เมืองเมียวดี” ของเมียนมา มาถึง “แม่สอด” ของไทย จึงคิดว่ารัฐบาลไทยน่าจะสร้างสะพานถึงกัน
วันที่ 27 กันยายน ปี 2529 อุดร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ใน รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ทำหนังสือเสนอขอให้รัฐบาลไทยก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย ที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตอนนั้นรัฐมนตรีฯ เห็นชอบในหลักการ และจะได้ดำเนินการต่อไป
จากนั้นในปี 2532 เมื่ออุดรเป็น ส.ส. ตาก ครั้งที่ 4 เป็นรองหัวหน้าพรรคกิจสังคม และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่านี้ต่อคณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกฯ โดยอุดรได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมการดำเนินการ และเป็นประธานอนุกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายกฎหมาย/ฝ่ายออกแบบ/ฝ่ายจัดหาทุน
อุดรไปพบเลขาธิการฯ ESCAP ขอร้องให้มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยออกแบบสะพาน ซึ่งท้ายสุดก็ได้มา 3 แบบ มีมูลค่าการก่อสร้างต่างกันไป ไล่ตั้งแต่ 465 ล้านบาท 565 ล้านบาท และ 580 ล้านบาท
แต่แล้วเมืองไทยก็เกิดรัฐประหารขึ้น นับนิ้วแล้วเป็นครั้งที่ 11 เมื่อ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย จากนั้น อานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกฯ มี อาสา สารสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อุดรไปขอร้องให้อาสาช่วยสานต่อ ทว่าอาสากล่าวว่า มาอยู่ชั่วคราว ขอให้รัฐบาลใหม่สานต่อ (จากนั้น พลเอกสุจินดา คราประยูร ก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ โครงการสร้างสะพานจึงยังไม่มีความคืบหน้า)
อุดรได้เป็น ส.ส. ตาก ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนกันยายน ปี 2535 และเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังธรรม ซึ่งขณะนั้นเป็น รัฐบาลอานันท์ สมัยที่สอง เขาสานต่อโครงการด้วยการไปเสนอรัฐบาลเมียนมาให้ออกค่าใช้จ่ายฝ่ายละครึ่ง แต่ฝ่ายเมียนมาบอกว่ายังไม่มีงบส่วนนี้
เพื่อแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณการก่อสร้างหลักหลายร้อยล้านบาท อุดรได้ขอร้องให้ เสถียร วงษ์วิเชียร อธิบดีกรมทางหลวงสมัยนั้น ช่วยออกแบบสะพานให้ใหม่ เสถียรให้ผู้เชี่ยวชาญออกแบบให้โดยมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 420 เมตร ใช้งบก่อสร้าง 79.2 ล้านบาท อุดรแจ้งไปทางเมียนมาอีกครั้งเพื่อช่วยกันออกค่าใช้จ่ายฝ่ายละครึ่ง แต่คำตอบที่ได้ยังคงเหมือนเดิม
เมื่อเป็นอย่างนั้น อุดรจึงไปขอร้อง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ รองหัวหน้าพรรคพลังธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้เสนอ รัฐบาลชวน หลีกภัย ให้รัฐบาลไทยออกค่าก่อสร้างแต่เพียงผู้เดียว เป็นการช่วยเหลือเมียนมาด้วย ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในเดือนมีนาคม ปี 2537
แล้ววันที่อุดรรอคอยก็มาถึง มีการทำพิธีวางศิลาฤกษ์การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2537 ต่อมาเขาได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มาคุมงานใกล้ชิด ใช้เวลา 8 เดือน งานก็เสร็จไปถึง 90% แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นเมื่อฝ่ายเมียนมาประท้วงว่าไทยถมดินลงแม่น้ำ ทำให้ร่องน้ำผิดจากเดิม ขอให้หยุดการก่อสร้างไว้ก่อน จนกว่าฝ่ายไทยจะขุดลอกดินที่ถมออกให้หมดก่อน จึงจะให้สร้างต่อได้
อุปสรรคเริ่มมีมากขึ้น เมื่อรัฐบาลชวนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่อง สปก. 4-01 นำสู่การยุบสภาและยุบรัฐบาล อุดรจึงต้องออกจากการเป็นรัฐมนตรี
เมื่อเริ่มแล้วก็ต้องไปให้สุด เพราะขณะที่ บรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ อุดรก็หยิบเรื่องนี้มาเป็นวาระอีกครั้ง นายกฯ บรรหารจึงสั่งการให้ สุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากทำการขุดลอก
ช่วงที่ขุดลอกอยู่นั้น ก็มีการเปลี่ยนรัฐบาล (อีกแล้ว) เป็นรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งอุดรก็ไปพบพลเอกชวลิตเพื่อขอร้องให้ช่วยแก้ไขปัญหางานขุดลอกดินที่หยุดชะงักไป เมื่อฝ่ายไทยขุดลอกร่องน้ำเสร็จ ก็มีการก่อสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ กระทั่งเปิดใช้ “สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1” ได้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี 2540
ทุกวันนี้ แม่สอดคือหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดตาก มีการค้าชายแดนที่สุดจะคึกคัก ถ้าดูจากสถิติการค้าชายแดนด่านศุลกากรแม่สอด-เมียวดี จะพบว่า ปี 2558 มีมูลค่า 84,008 ล้านบาท ปี 2559 มีมูลค่า 102,437 ล้านบาท ปี 2560 มีมูลค่า 113,462 ล้านบาท และ 3 ไตรมาสแรกของปี 2561 (ตุลาคม 2560-มิถุนายน 2561) มีมูลค่าอยู่ที่ 63,904 ล้านบาท
เรียกว่าถึงจะใช้ระยะเวลายาวนานถึง 8 รัฐบาลในการดำเนินการ แต่ผลที่ตามมาถือว่าคุ้มมากทีเดียว
ที่มา
อุดร ตันติสุนทร. (2560). 20 ปี สะพานมิตรภาพไทย-พม่า สะพานแห่งประวัติศาสตร์ 15 สิงหาคม 2560. กรุงเทพมหานคร: บพิธการพิมพ์.
https://www.prachachat.net/facebook-instant-article/news-113527
https://www.innnews.co.th/regional-news/news_131983/