ณัทธร สายทอง มือกฎหมายหญิงในโลกแอลกอฮอล์
จะด้วยกระบวนการทางสังคมหรือมาตรการทางกฎหมาย แต่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การกำหนดวันเวลาในการจำหน่าย การจำกัดวัย การกำหนดพื้นที่ขาย หรือแม้กระทั่งข้อห้ามด้านการส่งเสริมการตลาดและการโฆษณา
ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องมีบุคลากรมืออาชีพมาทำหน้าที่กำกับดูแล และวางแนวทางให้เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ เช่นเดียวกันกับ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากชนิดหลายแบรนด์ ที่นี่มีผู้บริหารหญิงคนเก่ง ชื่อ ณัทธร สายทอง ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้ดูแลขอบเขตงานดังกล่าว
จ๋า-ณัทธร เคยมีประสบการณ์ในสำนักงานกฎหมาย (law firm) ก่อนจะขยับออกมาเป็นนิติกรประจำองค์กร (in-house lawyer) เธอทดลองค้นหางานในประเภทธุรกิจต่าง ๆ ที่สนใจ จนพบว่าธุรกิจในกลุ่ม FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) ทำให้เธอได้สัมผัสกับความฉับไวในการทำงาน และรู้สึกร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ในธุรกิจนั้นจริง ๆ
เมื่อ 3 ปีก่อน จ๋า จึงตัดสินใจร่วมงานกับ ดิอาจิโอ ซึ่งเป็นธุรกิจ FMCG ที่เธอรู้สึกว่า นี่แหละคือพื้นที่ของเธอ
“จริง ๆ ทำ law firm ก็ชอบนะ แต่ด้วยความอยากรู้ อยากลอง อยากเข้าใจตัวเอง ก็มาทำ in-house แล้วรู้สึกว่าชอบ พอมาทำ FMCG ยิ่งชอบเข้าไปอีก เพราะเราอินกับ business ตรงนี้ คือมันเร็ว ฉับไว แล้วเราได้รู้สึกว่าเป็น business partner เราสนุกกับตรงนี้ แล้วด้วยความที่อยากรู้จักตัวเองจริง ๆ ก็มีแว้บออกไปทำ business อื่นแป๊บนึง ก็รู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารัก คือนี่แหละ FMCG จึงกลับมาอยู่ตรงนี้”
The People: ว่ากันว่านักกฎหมายมักมองหาช่องว่างของตัวอักษรแล้วทำการซิกแซ็ก สำหรับคุณถือเป็นความท้าทายหรือไม่
ณัทธร: จริงๆ ตอนเด็ก ๆ มองอย่างนั้นเหมือนกัน แต่พอได้เข้ามาทำงาน พบว่างานนักกฎหมายไม่ใช่การ tricky แต่เป็นเรื่องเราจะปฏิบัติตามกฎหมายให้ได้อย่างไรมากกว่า เหมือนกับการ balance กับสังคม กับอะไรก็ตามที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มองว่า มันคือการ tricky หรือไปในช่องทางที่ไม่ควรจะไป เพียงแต่ว่าเราตั้ง goal ไว้กับทางที่จะไป เราจะหาทางไปให้มันดีที่สุดที่มันถูกต้อง ประมาณนี้
The People: คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นเสมือนหัวใจของ ดิอาจิโอ
ณัทธร: สิ่งที่ประทับใจมากคือเราส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบ เพราะเราเป็นบริษัทแอลกอฮอล์ เรารู้จักแอลกอฮอล์ดี เราส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ส่งผ่านออกไปให้กับคนข้างนอก ให้กับสังคมได้รับรู้ เรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายกฎระเบียบ อันนี้คือความประทับใจ ดีใจ และ ภูมิใจที่ได้ทำ
เราเชื่อในเรื่องการทำในสิ่งที่ถูกต้อง แอลกอฮอล์อยู่คู่กับสังคมมานาน สิ่งสำคัญคือเราจะดื่มอย่างไร เพราะหลายครั้งแอลกอฮอล์จะถูกมองเป็นสิ่งไม่ดี ก็ต้องถามกลับว่า เอ๊ะ! เหตุที่ถูกมองอย่างนั้นเพราะการดื่มอย่างไม่ถูกต้องหรือเปล่า
The People: พูดถึงการดื่มอย่างรับผิดชอบ ฟังดูเป็นนามธรรม พอจะมีรูปธรรมไหม
ณัทธร: ที่นี่เรามีโครงการที่จะสื่อสารเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘ดื่มไม่ขับ กลับปลอดภัย’ เป็นเรื่องรณรงค์บนท้องถนน แล้วก็มีเรื่องเว็บไซต์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ บอกว่าแอลกอฮอล์ทำอะไรกับร่างกายของเรา อีกเรื่องหนึ่งคือการให้ความรู้ตั้งแต่วัยเรียนวัยรุ่น ก่อนที่เขาจะคิดอยากลอง
The People: กฎหมายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ในบ้านเราที่เข้มข้น เป็นโจทย์ยากแค่ไหนในการขับเคลื่อนธุรกิจ
ณัทธร: ต้องบอกว่าเราส่งเสริมการทำให้ถูกต้อง คือทั่วโลกเราปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศอย่างเคร่งครัด เราจะมี code of conduct ที่อาจจะเข้มข้นกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ เพราะเราอยากจะให้คนดื่มอย่างถูกต้องจริง ๆ
สำหรับกฎหมายไทย เป็นความท้าทายที่เราจะต้องขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางที่ถูกต้อง เราต้องเป็น business partner ต้องอธิบายให้คนในองค์กรเข้าใจว่า ตรงนี้มีกฎหมายควบคุมไว้อย่างไร สิ่งที่เราทำได้คือการส่งผ่าน message ว่าเราต้องรับผิดชอบ เราอยู่ในสังคมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องให้ทุกคนทำความเข้าใจร่วมกัน ว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป ทำไมเรื่องนี้ถึงถูกห้าม ทำไมตรงนี้ถึงกลายเป็นกฎขึ้นมา เราสื่อสารให้คนเข้าใจว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วแนวทางที่เราจะปฏิบัติควรจะเป็นอย่างไร
The People: มีการศึกษาเปรียบเทียบไหมว่า กฎหมายของเราอ่อนหรือเข้มข้นกว่าประเทศอื่นอย่างไร
ณัทธร: เราอยู่ในค่อนไปทางเข้มมาก ด้วยสังคมไทย ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็เข้าใจได้ว่าเราอยู่ในโซนกลุ่มนี้คือพื้นฐานต่างกัน จะให้เราไปเปรียบเทียบกับยุโรป สหรัฐอเมริกา ก็คงจะต่าง แต่ถ้าเอามาจัดเป็น range แล้วล่ะก็ เราอยู่ในหมวดที่เข้มนี่แหละ
The People: ในสหรัฐอเมริกา เคยมีช่วง prohibition ค.ศ. 1920-1933 มีกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ ช่วงนั้นเกิดธุรกิจเถื่อน ธุรกิจนอกกฎหมาย เกิดเจ้าพ่อมาเฟีย แล้วในที่สุดความตึงมาก ๆ ตรงนั้น กฎหมายก็อยู่ไม่ได้ ต้องยกเลิกไปในที่สุด คุณมองบทเรียนเรื่องนี้อย่างไร
ณัทธร: ต้องบอกว่าตอนที่ออกกฎหมายนั้น คงมองแหละว่ามันเป็นประเด็นในสังคมที่เขาอยากจัดกรอบ
The People: ทำนอง ‘จน เครียด กินเหล้า’ ?
ณัทธร: (หัวเราะ) ใช่ ! คือเขาอยากจะจัดกรอบแนวทางตรงนั้นขึ้นมา มองว่าใช้กฎหมายได้ไหม ส่วนตัวมองว่าสังคมมีหลายมิติ กฎหมายไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ทุกปัญหา อย่างเช่นดื่มเหล้าแล้วเกิดความรุนแรง ถามว่าเกิดจากการดื่มเหล้าหรือดื่มไม่ถูกวิธี ดื่มมากเกินไปหรือว่าเกิดจากตัวคุณนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น การมุ่งจะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาสังคมซึ่งมีหลายมิติ อาจจะเป็นเรื่องยาก เราจึงอยากส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบมากกว่า เพราะทำให้คนได้รู้จักสิ่งที่เขาสัมผัส การที่จะใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่ง บางทีมันอาจจะไม่ใช่ยาวิเศษเสมอไป ส่วนตัวคิดว่าเมืองไทยคงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเห็นบทเรียนกันอยู่
The People: นอกเหนือจากการรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว การอธิบายถึงคุณค่าของเครื่องดื่มแต่ละตัว บอกเล่าที่มาที่ไป เป็นเรื่องในเชิงวัฒนธรรมที่น่าเรียนรู้อยู่เหมือนกัน ?
ณัทธร: ใช่ค่ะ เพราะว่าเครื่องดื่มที่นี่แต่ละตัวจะมีเรื่องราวของเขา อย่างเรื่อง Johnny Walker ทำไมถึงได้เป็นเครื่องดื่ม Johnny Walker ทุกวันนี้ หรือว่าเรื่องของ Smirnoff ทำไมต้องเป็น Smirnoff No.21 คือเขาก็มีเรื่องราว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สนุกและน่าภูมิใจ ทำให้เรา connect กับ brand ของเราด้วย
The People: ด้วยตำแหน่ง Legal Manager งานหนักแค่ไหน ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลบ้างไหม
ณัทธร: มีบ้าง เป็น in-house lawyer เราต้องดูให้รอบ ทั้งองค์กร เป็น business partner ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสินค้าเข้ามา จะขายออกไป เป็นเรื่องที่เราจะต้องจัดการหลังบ้าน ก่อนที่จะนำสินค้าออกสู่หน้าบ้าน มองตัวเองว่าเป็น business partner เดินไปกับเขาทุกทาง เขาอาจจะต้องการสัญญา อาจจะต้องการคำแนะนำด้านกฎหมาย วันหนึ่งมีปัญหาอาจจะต้องการให้เราช่วย support
ส่วนในเคสยาก ๆ เราจะมีทีมที่ปรึกษาภายนอกด้วยสำหรับเรื่องเฉพาะทาง เฉพาะอย่าง เราอาจจะต้องการปรึกษาเรื่องนี้เป็นพิเศษ
The People: ต้องติดตามไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศไหม
ณัทธร: ถ้าจะทำงานให้ดี เราต้องรู้จักงานที่เราทำ ก็มีไป market visit ในเขตต่างจังหวัด หรือในส่วนร้านค้าแบบต่าง ๆ อยากที่จะรู้จัก มันจะช่วยให้เราเข้าใจคนที่เราทำงานด้วยว่าเขาต้องไปเจออะไรหน้างาน และเราจะรู้ว่าเขาต้องการ support อะไรจากเรา
The People: ฟังดูน่าสนุกนะ น้ำเสียงตรงที่บอกว่าไป market visit ?
ณัทธร: สนุกดีนะ เราได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น หรือให้ไปที่ที่เราเคยไปตอนวัยรุ่น ตอนนี้ก็ อ้าว ! เป็นแบบนี้แล้วเหรอ จะเปลี่ยนตลอดเวลา เราติดที่นี่ เพราะเรา enjoy กับงานตรงนี้ การไป market visit คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เหมือนการได้รู้จัก การได้ celebrate ร่วมกัน
ที่นี่จะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ชอบมาก คือบาร์ที่สำนักงานทุกวันศุกร์ เราจะได้มานั่งพูดคุย ได้มา catch up ได้ celebrate ว่า โอ๊ย ! อาทิตย์นี้ แฮปปี้นะ ฉันได้ทำสิ่งนี้ผ่านไป
นี่คือปรัชญาของบริษัท เราเข้ามาแล้วรู้สึกว่า มัน fit กับสิ่งที่เราเชื่อ คือเป็นคนที่มีความเชื่อในเรื่อง balance คือชอบทำงานไหม ชอบ แต่เราจะไม่ทำงานแบบ extreme จนเกินไป เราจะแบ่งเวลาให้กับผู้คนรอบข้าง ครอบครัว เพื่อนฝูง ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาที่นี่ว่า เราสามารถ celebrate life ได้แบบ everywhere everytime ด้วยวัยทำงาน เราไม่มีเวลาไปเที่ยวไหน หรือเฉลิมฉลองอะไรแบบหนัก ๆ แต่ในทุกโมเมนต์ ในทุกความรู้สึกดีๆ เราก็ celebrate ได้ อาจจะแค่มื้อเย็นกับคนที่บ้าน อะไรทำนองนี้
The People: คำแนะนำสำหรับนักกฎหมายรุ่นน้อง ?
ณัทธร: ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไหน สายงานไหน อยากให้ทุกคนหาตัวเองให้เจอ ให้รู้ตัวก่อนว่านั่นใช่สิ่งที่เราชอบหรือเปล่า เพราะว่าอย่างเราเอง เลือกจะอยู่ตรงนี้ เพราะได้ลอง ได้ลองสัมผัส แล้วคิดว่านี่แหละตัวเรา ถึงเลือกที่จะมาอยู่ แล้วทำให้เรามีความสุขในทุก ๆ วันที่เราทำงาน ให้เราดูว่าใช่ที่ของเราหรือเปล่า เรามี passion หรือเปล่า อันนี้เป็นคำแนะนำว่าขอให้รู้จักตัวเองก่อน
งานกฎหมายเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เราต้องศึกษาองค์กรด้วย ศึกษาใจเราเองด้วยว่าเราเหมาะกับสิ่งนี้หรือเปล่า แล้วถ้าจะทำอย่างที่นี่ สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือ เราอยากเข้ามาทำตรงนี้ให้ถูกต้อง ให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี