06 ก.ค. 2565 | 11:30 น.
ตลอดการทำงานกว่า 30 ปีที่เอไอเอส สมชัยเป็นหนึ่งกำลังหลักในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวข้ามความท้าทายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพาองค์กรผ่านพ้นวิกฤตในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสัญญาสัมปทานมาเป็นการขอใบอนุญาตได้ และได้คลื่นความถี่เพิ่ม โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ประมูลคลื่น 5G มาได้ โดยถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันหลังจากก่อนหน้านี้ความถี่คลื่นถือเป็นข้อจำกัดของเอไอเอส
นอกจากนี้ยังสร้าง movement ต่าง ๆ ทางการตลาดที่ฉีกและแตกต่าง รวมถึงเป็นผู้ให้กำเนิด ‘น้องอุ่นใจ’ มาสคอตตัวแทนแบรนด์เอไอเอส, การพาองค์กรทรานส์ฟอร์ม จาก Mobile Operator สู่ Digital Life Service Provider และล่าสุดการเข้าไปเทคโอเวอร์ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่าง 3BB และลงทุน 19% ในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต JASIF ซึ่งเป็นดีลที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการโทรคมนาคมดีลหนึ่งก็ว่าได้
สมชัยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี Computer Science ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านการตลาด โดยเขาเริ่มต้นการทำงานตามสายวิชาที่เรียนจบมา นั่นคือ เจ้าหน้าที่พัฒนาโปรแกรมและวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
แต่จากการค้นพบตัวเองว่าชอบการขายและการตลาด จึงตัดสินใจลาออกจาก SCB ในปี 2533 และเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จากนั้นได้เข้ามาทำงานที่เอไอเอส
และด้วยบุคลิกส่วนตัวที่คิดไว ทำไว ชอบพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ โดยสมชัยบอกว่า ‘ทุกการเปลี่ยนแปลงคือการสร้างประสบการณ์และเพิ่มทักษะใหม่ ๆ’ ทำให้เขาได้ดูแลหลากหลายสายงาน ไม่ว่าจะเป็น การดูแลธุรกิจสัมพันธ์ ติดต่อกับหน่วยงานราชการ ดูแลงานด้าน value add service เกี่ยวกับบริการเสริมต่าง ๆ และสายงานด้าน sales and marketing ในตำแหน่ง Chief Marketing officer จนกระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กร นั่นคือ CEO ที่ได้รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557
ในวันที่ได้รับตำแหน่ง CEO เอไอเอส ตัวเขาไม่ได้อยู่เมืองไทย เพราะกำลังคุยงานกับ Huawei ที่ประเทศจีน เพื่อเตรียมนำเทคโนโลยี 4G มาใช้ในเมืองไทย และได้เดินทางกลับมาในวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเขาได้ทำ townhall ประกาศกับพนักงานทุกคนว่า นับจากนี้เอไอเอสจะเปลี่ยนตัวเองจาก Mobile Operator สู่ Digital Life Service Provider ให้ได้
ณ ตอนนั้นถือเป็นภารกิจที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ซึ่งเขาให้เหตุผลกับพนักงานถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นไปว่า “เราต้องเปลี่ยนแปลงในวันที่เราแข็งแรง ดีกว่าที่ต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนในวันที่เราจะปรับตัวไม่ทัน”
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นวันครบ 8 ปีที่สมชัยได้รับตำแหน่ง CEO ของเอไอเอส เขาได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ความฝันของเขา คือ เอไอเอสจะสร้าง digital platform ของคนไทย เพื่อให้คนไทยได้ใช้งานแบบไม่ต้องพึ่งของต่างชาติ แต่ก็ยอมรับว่ายังทำไม่ได้ดั่งที่หวัง และยังคงต้องทุ่มเทเพิ่มเติมเพื่อบรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้ให้ได้
สำหรับเส้นทางการทำงาน สมชัยวางแผนจะรีไทร์ในวัย 60 ปี (ซึ่งก็คือภายในปีนี้) เพราะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดยหลังรีไทร์มีแผนจะทำ 2 เรื่อง นั่นคือ 1. จะรีไทร์จากตำแหน่งซีอีโอมานั่งเป็นที่ปรึกษา เพื่อหลีกทางให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมานำทัพต่อ เพราะตัวเขาเองเชื่อว่า ‘คลื่นลูกใหม่ ย่อมเก่งกว่าคลื่นลูกเก่าอย่างแน่นอน’
และ 2. จะใช้เวลาทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตส่วนตัว เช่น ไปเล่นกอล์ฟกับเพื่อน, ใช้เวลาอ่านหนังสือที่สนใจ ฯลฯ เนื่องจากตัวเขาเองก็ทำงานหนักและทุ่มเทมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี
อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้สมชัยยังคงรับบทบาท CEO เอไอเอส โดยเขาต้องการส่งผ่านไปยังรุ่นหลังให้แข็งแรงที่สุด ทั้งการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เคยมี และการเดินต่อไปในอนาคตตามที่วางไว้ นั่นคือการเป็น Cognitive Telco หรือ ‘องค์กรอัจฉริยะ’ ที่จะรู้จักลูกค้าและสามารถตอบสนองความต้องการได้เร็วขึ้น รวมถึงการเป็น infrastructure ให้กับคู่ค้าในทุกอุตสาหกรรม เพื่อส่งต่อสินค้าและบริการไปยังผู้บริโภคแบบ real time, interactive และ personalization
นอกจากนี้ยังต้องการพัฒนาให้ Gen เดิมที่มีอยู่เข้มแข็งขึ้นได้ทัน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับ Gen ใหม่ที่รับเข้ามาให้สามารถทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข
เพราะจากปรากฏการณ์ Great Resignation ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ทุกบริษัทต้องเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้ไม่เว้นกระทั่งบริษัทสตาร์ทอัพ หรือ Tech company ที่ sexy และจ่ายเงินเดือนแพง ซึ่งทั้งหมดเป็นความท้าทายที่เขาต้องการพาองค์กรอย่างเอไอเอสผ่านไปให้ได้