นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช: ปฏิวัติการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช: ปฏิวัติการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น

โรงพยาบาลเป็นที่พึ่งของหลายคนเวลาที่เจ็บป่วยแล้วไม่สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ ซึ่งบ่อยครั้งความเจ็บป่วยมีสาเหตุจากโรคยากและมีความซับซ้อน ที่แม้แต่โรงพยาบาลบางแห่งก็มีความพร้อมไม่เพียงพอในการรักษา

ทำให้ต้องส่งเคสต่อไปที่โรงพยาบาลอื่นซึ่งมีเครื่องมือครบและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์เฉพาะทาง 

นี่เป็นสิ่งที่ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ได้สัมผัสมาตลอดมากกว่า 30 ปี ของการทำงานในสายอาชีพแพทย์ เป็นที่มาของแนวคิดในการปฏิวัติทางด้านสาธารณสุข ด้วยการก่อตั้งโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark Hospital) ร่วมกับ ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ 

โดยตั้งใจให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ ที่ไม่เพียงแค่ผู้มาใช้บริการเท่านั้นที่ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด แต่รวมไปถึงการดูแลทุกชีวิตในสังคม เพื่อช่วยยกระดับให้ทุกคนได้มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกัน

ความโดดเด่นของเมดพาร์คคืออะไร ทำไมโรงพยาบาลที่มีอายุไม่กี่ปีนี้ ถึงมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับมาตรฐานการรักษาพยาบาล จนได้รับการจัดอันดับจาก Newsweek ให้เป็น 1 ใน 10 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทย ประจำปี 2022 ทั้งที่เมดพาร์ดเพิ่งเปิดตัวในช่วงที่ประสบกับวิกฤตทางด้านสาธารณสุขที่สุดอย่างโควิด-19 ที่ผ่านมา 

The People มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) ถึงแนวคิดที่จะปฏิวัติการดูแลสุขภาพผู้คนด้วยวิธีคิดแบบใหม่ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร ติดตามไปพร้อมกัน
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช: ปฏิวัติการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น

The People: แนวคิดเริ่มแรกของโรงพยาบาลเมดพาร์ค
นพ.พงษ์พัฒน์:
ก่อนหน้านี้เรามีเครือโรงพยาบาลมหาชัย ที่ตั้งอยู่ทางปริมณฑลฝั่งตะวันตกและฝั่งใต้ รวมถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยา ในกรุงเทพฯ รวมแล้ว 6 แห่ง ซึ่งเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยหลายครั้งเราต้องส่งเคสต่อเข้าไปที่กรุงเทพฯ เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง เพราะโรงพยาบาลภูมิภาคมีความพร้อมไม่มากเท่ากับในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโรงพยาบาลภูมิภาคยังไม่พร้อมที่จะลงทุนซื้อเครื่้องมือทางการแพทย์ เนื่องจากคนเชื่อถือโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มากกว่า 

เราก็เลยคิดว่าจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลที่เป็น Flagship Hospital ที่มีศักยภาพ และความพร้อมทางด้านเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงบุคลากรที่เก่ง ๆ จำนวนมาก พอดีได้อาจารย์สิน (ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์) ที่ผลักดันให้โรงพยาบาลหลายแห่งเติบโตกลายเป็นโรงพยาบาลนานาชาติระดับมาตรฐานต่างประเทศ และ medical tourism ในประเทศไทย มาเป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งอาจารย์สินได้ช่วยเราคิดโครงสร้างขึ้นมา รวมทั้งเราก็ไปดูงานโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเตรียมเพื่อนำมาสร้างโรงพยาบาลนี้

เราตั้งใจไปดูตัวอย่างโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์ในการรับ refer เคสจำนวนมากจากโรงพยาบาลอื่น ว่าเขามีแนวคิดในการออกแบบอย่างไร เลยไปดูที่เมโยคลินิก (The Mayo Clinic) อยู่ที่โรเชสเตอร์ มินนิโซตาในอเมริกา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีการส่งเคส refer ยาก ๆ มาจากหลายสิบรัฐทั่วสหรัฐอเมริกา ในขณะโรงพยาบาลที่เราเคยได้ยินชื่อเสียงบ่อย ๆ อย่าง The Johns Hopkins Hospital ก็ดี Harvard Medical School ก็ดี MD Anderson ก็ดี ก็จะรักษาคนที่อยู่ในรัฐตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ตัวเมโยคลินิกเขามีประวัติมาเป็นร้อยกว่าปี ตั้งแต่การเป็นโรงพยาบาลกึ่งสอนศาสนา มีพยาบาลเป็นแม่ชี ต่อมาเขาพัฒนาแล้วขยายสาขาจากมินนิโซตา ไปที่ฟลอริด้าแห่งหนึ่ง และแอริโซนาคอนเซ็ปต์เขาคือโรงพยาบาลที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการรักษาคนไข้โรคยากและมีความซับซ้อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่เดินทางมาจากที่อื่น 

วิธีคิดของเขาก็คือ หนึ่งการรักษาต้องให้เวลากับคนไข้เยอะ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดแล้วต้องรักษาให้เร็ว โดยทำการวินิจฉัยให้เร็วที่สุด เพราะอย่างนั้นเครื่องมือของเขาเลยต้องพร้อมตลอดเวลา ไม่ใช่ว่ามารักษาที่โรงพยาบาลแต่ทำได้ไม่ครบทุกอย่าง 

สองมีการทำ lab เช่น การตัดชิ้นเนื้อต้องทำให้ได้ผลเร็วที่สุด ภายใน 24-48 ชั่วโมงต้องรู้ผลแล้ว เพราะคนไข้เวลาเดินทางครั้งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายแฝงเยอะ ทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร สมัยก่อนเมืองไทยเวลาตัดชิ้นเนื้อครั้งหนึ่งต้องรอฟังผล 1-2 อาทิตย์ ที่จริงใช้เวลาทำแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่บางอย่างต้องรอเวลาเพราะต้องรอหลาย ๆ ตัวอย่างแล้วทำพร้อมกันเพื่อให้ใช้น้ำยาทดสอบให้คุ้มค่าที่สุด

พอเราให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาที่ประเมินออกมาเป็นมูลค่าไม่ได้ ค่าใช้จ่าย lab ที่ทำครั้งละน้อย ๆ ต้นทุนอาจจะแพงขึ้นสัก 50% หรือ 100% จากเป็นอาทิตย์ก็สามารถทำให้เสร็จภายในวันเดียวหรือสองวันได้ ต้นทุนของคนมารักษาก็จะถูกลง รวมถึงต้นทุนเวลา ไหนจะความรู้สึกในจิตใจคนไข้ที่รอคอยผลตรวจ ซึ่งยิ่งนานยิ่งทำให้กังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งหรือไม่ 

พอเราตีโจทย์ว่าเราจะสร้างโรงพยาบาลเมดพาร์คเพื่อรับ refer เคสเราเลยต้องวางแผนให้เมดพาร์คมีทั้งความเร็ว มีความแม่นยำในการรักษา โรงพยาบาลแห่งนี้เลยออกแบบให้สามารถทำฟังก์ชันต่าง ๆ ได้ ซึ่งเหมาะกับคนไทยที่เป็นโรคยาก การไปโรงพยาบาลแล้วก็ไม่รู้เป็นโรคอะไร หรือวินิจฉัยแล้วรักษาไม่หายสักที กระบวนการอย่างนี้ เราต้องทำให้กระชับที่สุดให้ได้
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช: ปฏิวัติการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
The People: เมดพาร์คมีความพร้อมแค่ไหน เมื่อเทียบกับเมโยคลินิกที่ไปดูมา
นพ.พงษ์พัฒน์
: ถ้าเทียบกับเขา เราอาจจะยังไม่พร้อมมากเท่าเขาหรอก เพราะเขาก่อตั้งมาร้อยกว่าปี เมดพาร์คเราตั้งมาได้ปีกว่า แล้วถ้าจำไม่ผิดที่เมโยคลินิก โรลเชสเตอร์ เขามีทีมงานกว่า 60,000 คน ของเรามี 800 คนเท่านั้น ทีมแพทย์ของเมโยคลินิกน่าจะหลายพันคน ส่วนเราเพิ่งเริ่มต้นมีหมอฟูลไทม์ 100 คน หมอพาร์ทไทม์อีก 400-500 คน ตามคอนเซ็ปต์เราต้องการสร้างโมเดลแบบเมโยคลินิกให้เกิดขึ้นในเมืองไทยให้ได้ ตอนนี้เรามีความพร้อมทางด้านเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง PET-CT, MRI 3 Tesla, SPECT-CT, Nuclear Medicine และ Radiation Therapy แต่อาจจะมีจำนวนน้อยชิ้นกว่า เพราะว่าผู้ป่วยที่มาในระยะเริ่มแรกอาจจะยังไม่ได้เยอะ 

ที่เมโยคลินิกอาจมีเครื่องมืออย่างเครื่องเอ็มอาร์ไออยู่ 5-10 เครื่อง เพราะคนไข้ที่มารับการรักษาเขาเยอะกว่า เราอาจจะมี MRI แค่เครื่องเดียวแต่เรามีห้องพร้อมที่จะมีอีก 3 เครื่องในอนาคต ชนิดของเครื่องมือที่จำเป็นต้องมีในเมโยคลินิกเราก็มีเกือบหมด ทำให้ต้นทุนช่วงแรกอาจจะสูงสักหน่อย

ตอนนี้เราเปิดมาได้ปีกว่า ๆ ก็มีทั้งโชคไม่ดีและโชคดี โชคไม่ดีคือช่วงนั้นเรามีโควิดเกิดขึ้นพอดีทำให้คนไข้กลัวการมาโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลเองก็กลัวคนไข้ว่าติดเชื้อมา ก็เลยเหมือนต่างคนใส่หน้ากากแล้วอยู่ห่าง ๆ โรงพยาบาลไม่กล้าเข้ามาใกล้เลย แต่โชคดีคือช่วงโควิดทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ชะลอตัวลงไปด้วย ก็เลยไม่ต่างจากโรงพยาบาลของเราที่ชะลอตัวเพราะเพิ่งเปิดใหม่

ระหว่างที่อื่นชะลอตัวเราได้ไปช่วยรัฐบาลฉีดวัคซีนช่วงปีที่ผ่านมา เราฉีดวัคซีนให้คนไปแล้วประมาณสามแสนกว่าคน ถ้าพูดถึงโรงพยาบาลเปิดใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะที่จะให้คนสามแสนคนมาเดินในโรงพยาบาลที่เขายังไม่รู้จักเลย แต่เราทำได้เพราะเขารู้ว่าที่นี่มีวัคซีนให้ฉีดฟรีทุกชนิด ซึ่งเราให้เจ้าหน้าที่พยาบาล มาช่วยกันทำงานซึ่งทุกคนก็ยินดีเพราะปรัชญาของเมดพาร์คคือทำงานสาธารณสุขและการเป็นผู้ให้ ช่วยดูแลเอาใจใส่ เมดพาร์คเลยมีบุคลิกในเรื่องการดูแลคนอื่น จะเห็นว่าคนไข้และบริษัทที่มาฉีดวัคซีน ตอบแทนด้วยการเอาของมาให้เรา มีคนเอาข้าวกล่องมาให้ 100-200 กล่อง เอาขนม นม น้ำผลไม้มาให้ ทำให้เรามีข้าวฟรีกินทุกวัน (หัวเราะ) 

ปีที่ผ่านมาเราเลยได้สร้างความผูกพันระหว่างประชาชนกับโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากที่เราลงพื้นที่ชุมชนฉีดวัคซีนให้บริษัทยาและบริษัทเครื่องมือแพทย์ ยังมีคนต่างชาติอีกราว 80,000 คน เป็นคนต่างชาติตามสถานทูตต่าง ๆ ทำให้สถานทูตรู้จักเรา ปกติโรงพยาบาลเปิดใหม่ ๆ ที่คนไทยยังรู้จักไม่เยอะ คนต่างชาติยิ่งไม่รู้จักเลย จะตั้งเป้าคนไข้ต่างชาติไม่เกินร้อยละ 5-10 ปรากฎว่าเมดพาร์คมีคนต่างชาติที่มาใช้บริการคิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้ป่วยทั้งหมด ทำให้เห็นว่าเรามีบทบาทในทาง  value-based care แล้ว 

เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว Newsweek ได้จัดอันดับโรงพยาบาลเมดพาร์คอยู่อันดับ 10 ของโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งน่าแปลกใจมากว่าเขารู้จักเมดพาร์คได้อย่างไร อาจจะเป็นเพราะคนต่างชาติจากสถานทูตต่าง ๆ ที่พอใจการให้บริการของเรามีการบอกต่อ ซึ่งตอนที่ฉีดวัคซีนมีทูตสหรัฐอเมริกาที่ประจำสหประชาชาติมาเป็นตัวแทนประธานาธิบดีอเมริกา มาเยี่ยมชมโรงพยาบาลเมดพาร์คเพื่อมาดูการฉีดวัคซีนให้คนอเมริกันในประเทศไทยโดยเฉพาะ
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช: ปฏิวัติการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
The People: แสดงว่าเมดพาร์คมีความพร้อมสำหรับโรคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
นพ.พงษ์พัฒน์:
เรามีคลินิก ARI (คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ) มาก่อน ตอนหลังพอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลกำลังจะประกาศเปิดประเทศให้ต่างชาติเดินทางเข้ามา ทำให้คนต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลจำนวนมาก เพราะอั้นมาถึงสองปี แต่เราเองมองว่าเป็นการเปิดประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ซ่อนอยู่ จริงอยู่ที่ตอนนี้เราบอกว่าเคสผู้ติดเชื้อน้อยลง ไม่ต้องตรวจ RT-PCR แล้วให้ไปตรวจ ATK แทน แต่เรายังให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เพราะคนที่จะมาใช้บริการต้องมั่นใจโรงพยาบาลว่าสะอาดไม่มีผู้ติดเชื้อ เราเลยสร้างหลักประกันด้วยการออกแบบประกอบตัวอาคารขึ้นมาพื้นที่หนึ่งเป็นคลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (Emerging Infectious Diseases & Acute Respiratory Infection Clinic - EIDARIC) คือดูแลโรคอุบัติใหม่ทั้งหมดที่จะมีต่อไปข้างหน้า เพราะความน่ากลัวของโรคอุบัติใหม่คือโรคที่ติดเชื้อจากการแพร่กระจาย เมื่อหลายปีที่แล้วมีทั้งไวรัสเมอร์ส, ซาร์ส, ไข้หวัดนก ตอนนั้นประเทศไทยมีชื่อเสียงมากเพราะเราดูแลได้ดี แต่ตอนนั้นเราไม่ได้เตรียมพร้อมมาก่อน พอเจอเคสต้องปิดกันหมดทั้งชั้น เพื่อกันไม่ให้สัมผัสคนในพื้นที่อีกหลายสิบคน 

วันนี้เราเลยออกแบบพื้นที่เป็นห้องความดันลบ ทำให้คนที่อยู่ในนั้นปลอดภัยด้วย และไม่ต้องถูกปิดทั้งโรงพยาบาลเหมือนสมัยก่อน เราออกแบบแบ่งพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ทั้งหมอและพยาบาล เป็นพื้นที่ positive เพื่อให้อากาศมันไหลเวียนจากด้านนี้ออกไป สร้างความมั่นใจว่าเจอเคสเสี่ยงไม่ต้องปิดทั้งโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็ให้ความมั่นใจคนไข้ปกติว่าไม่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ตอนที่เปิดคลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มาร่วมในพิธีเปิด ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนต่างชาติว่าที่นี่มีความปลอดภัยสูงสำหรับทุกคน
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช: ปฏิวัติการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
The People: คลินิก EIDARIC ของ MedPark มีการออกแบบอย่างไร
นพ.พงษ์พัฒน์:
คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ ที่อื่นก็เป็นห้องความดันลบเหมือนกันครับ แต่พื้นที่อาจจะไม่ใหญ่เท่า ส่วนที่เราทำพื้นที่ขึ้นมาสำหรับโรคอุบัติใหม่โดยเฉพาะมีสองชั้น พื้นที่รวมประมาณ 600 ตารางเมตร ที่ไม่ได้มีแค่ที่ตรวจ แต่มีฟังก์ชันครบที่จำเป็น ไม่ว่าห้อง lab มีทั้งเครื่องเอ็กซ์เรย์อยู่ในนั้น ไม่ต้องออกไปข้างนอกเลย เมื่อตรวจแล้วว่าผลเป็นบวกก็เข้ารับการรักษาได้ทันที เรายังมีรถเข็นที่มีกระโจมหุ้มเป็น negative pressure ออกแบบพิเศษสำหรับ สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ภายนอก เป็นคลินิกที่อยู่ในโรงพยาบาลอีกที


The People: เป็นวิสัยทัศน์ที่เรามองไว้ในวันแรกที่ก่อตั้งเมดพาร์ครึเปล่า 
นพ.พงษ์พัฒน์:
การที่เมดพาร์คเน้นรักษาโรคยากและมีความซับซ้อน สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีคือการวินิจฉัยที่เร็ว รักษาหาย มีความเสี่ยงต่ำ มีความปลอดภัยสูง นี่เป็นกระบวนการหนึ่งทางด้านความปลอดภัยทั้งสำหรับผู้ป่วยปกติ ผู้ป่วยโรคยากและมีความซับซ้อน หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากข้างนอก ซึ่งอาจจะนำมาแพร่ให้ใครก็ได้ ถ้าเรามีกระบวนการเหล่านี้ แสดงว่าเรามีมาตรฐานในการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ในระดับสูงได้ ผมเข้าใจว่าต่อไปการออกแบบโรงพยาบาลจะต้องมีมาตรฐานแบบนี้ ตอนที่เราเริ่มออกแบบยังไม่มีตัวกฎเกณฑ์เหล่านี้ว่าห้องความดันลบต้องมีจำนวนเท่าไหร่ หลังจากเจอโควิดเรารู้เลยว่าห้องเดียวมันไม่พอต้องมีเยอะกว่านั้น เพราะอย่างนั้นที่คลินิกโรคอุบัติใหม่ก็จะมีห้องตรวจที่เป็นห้องความดันลบอยู่ 6-7 ห้อง ฝั่งคนไข้เป็น negative ฝั่งหมอเป็น positive แล้วก็จะมีห้อง lab ภายในตัวทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี 

ผมคิดว่ากระทรวงสาธารณสุขที่มาดู เขาก็คิดว่าเมดพาร์คจะเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลที่จะเปิดใหม่อาจจะต้องเตรียมพื้นที่มากกว่าห้องความดันลบแค่ห้องเดียว หรือการเตรียมห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้น เพราะว่าโลกมันไร้พรมแดนมากขึ้นผู้คนเดินทางไปมามากขึ้นเรื่อย ๆ 
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช: ปฏิวัติการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
The People: ต่างชาติเห็นอะไรในโรงพยาบาลที่เพิ่งใหม่ทำไมถึงเชื่อใจเรา
นพ.พงษ์พัฒน์:
ตอนนี้คนไข้ต่างชาติจะเป็นผสมกันทั้ง Expat และต่างชาติที่เข้ามาเองเพื่อการรักษาโดยเฉพาะ ส่วนหนึ่งเพราะความสามารถของหมอไทยที่สูงขึ้นมาก หมอส่วนมากก็จบจากต่างประเทศ มีแพทย์อเมริกันบอร์ดที่เป็นมาตรฐานซึ่งคนต่างชาติให้การยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ 

หลังจากที่เราออกแบบโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคยากและมีความซับซ้อน จะเห็นว่ากลไกของ stakeholder พันธมิตรทั้งหมดเลย มีความสำคัญกับเรามาก การสร้างตึก การออกแบบ ระบบหมุนเวียนอากาศที่ในนี้ ถ้าโรงพยาบาลไม่ได้ออกแบบล่วงหน้าไว้ ไม่ได้ให้ผู้รับเหมาและผู้ออกแบบเข้าใจแนวคิดเรา เราอาจจะได้โรงพยาบาลแบบเดิมที่มีหลายจุดมีเชื้อรามีรอยดำด่างเต็มไปหมด การที่เราจะรักษาโรคยากซับซ้อนให้กับผู้ป่วยซึ่งเขามีความไม่แน่นอนสูงอยู่แล้ว เราต้องไม่สร้างปัจจัยที่ซ้ำเติมเพิ่มซับซ้อนของโรคขึ้นไปอีก 

เพราะอย่างนั้นเราเลยคุยกับพาร์ตเนอร์เราแต่แรกว่า ตึกนี้ต้องเป็น positive pressure ทั้งตึก ต้องไม่มีความชื้น และไม่มีเชื้อราเลย เพราะถ้ามีเชื้อราเข้าไปในผนังแล้ว แก้ไขอย่างไรก็แก้ไม่หาย เพราะมันซึมเข้าไปในเนื้อปูน ยกเว้นทุบทิ้งทั้งตึกแล้วสร้างใหม่ เพราะงั้นเราทำตั้งแต่แรกให้อากาศหมุนเวียนเหมือนกับห้องสะอาด แบบที่เราเรียกห้อง Clean Room-Class 1000, Class 10000 เราเป็นอย่างนั้น งั้นถ้าเราวัด PM 2.5 ในตึกกับภายนอกตึก จะต่างกันประมาณ 10 เท่า อากาศในนี้จะสะอาดกว่าข้างนอก แล้วที่นี่ยังได้ LEED Green Building Certification เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานระดับ Gold 
นอกจากนี้พาร์ตเนอร์เรายังรวมไปถึงทีมแพทย์หลากหลายสาขา บริษัทยา และบริษัทเครื่องมือแพทย์ ที่เราให้เกียรติพวกเขาว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาเหมือนกัน อย่างบริษัทน้ำยา lab ที่จะทำให้เทสต์เราสามารถรู้ผลเรื่องโควิดภายใน 20 นาทีบริษัทก็มาร่วมมือกับเรา มาสนับสนุนมาตั้งเครื่องมือให้เราอย่างเพียงพอ เพราะเราใช้น้ำยาประเภทได้ผลเร็วที่สุดภายใน 20 นาที จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย จะเห็นว่าทุกคนตอนแรกจะรู้จักเมดพาร์คว่าตรวจเร็วแล้วได้ผลเร็วมาก ขับรถผ่านจุดตรวจอีกไม่เกินชั่วโมงก็จะมีผลไปขึ้นในมือถือของเขาว่า positive หรือ negative อันนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าเดินตามปรัชญาของเราคือรักษาโรคยากและมีความซับซ้อนแล้วก็ต้องให้ผลออกเร็วที่สุด 
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช: ปฏิวัติการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
The People: นอกจากด้านธุรกิจแล้ว สิ่งที่เมดพาร์คทำได้ให้อะไรกับผู้คนบ้าง
นพ.พงษ์พัฒน์
: ผมคิดว่าโมเดลของเมดพาร์คสามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลในประเทศไทยได้ เพราะการออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้รัฐสวัสดิการในประเทศนี้เกิดขึ้นได้นั้นจริงจะทำไม่ได้เพราะว่า GDP เราน้อย เราติดกับดักรายได้ปานกลางอยู่นานมาก ในขณะที่ประเทศอื่นซึ่งเป็นเสือมาก่อนเราเขาไปไหนหมดแล้ว เรายังอยู่รายได้ middle income แล้วก็ติดอยู่อย่างนี้ไปไหนไม่ได้ เพราะ GDP ในประเทศมันไม่โต เมื่อเราไม่มีรายได้แล้วเราบอกว่าไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเลยคุณภาพการรักษาพยาบาลก็จะถูกจำกัดลงด้วย 

การที่เมดพาร์คทำโครงการที่ดูแลโรคยากและมีความซับซ้อน เลยเป็นการช่วยทำให้ระบบสาธารณสุขในประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแพทย์ที่มีจำนวนน้อยจะสามารถดูแลโรคยากได้ ส่วนโรคง่ายทั่วไปประชาชนสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ ซื้อยากินเองหรือไปรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แต่ตอนนี้เราเอาทุกคนที่เป็นโรคง่าย ๆ มารักษารวมกันในโรงพยาบาลหมด ซึ่งเป็นการไปเพิ่ม workload ให้กับหมอ ยิ่งในช่วงโควิดจะรู้เลยว่าหมอไม่เพียงพอ เราถึงมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นไปกว่าวันละ 300 คน ซึ่งถ้าปล่อยสถานการณ์ให้เป็นแบบนั้นเรื่อย ๆ เราจะลำบากมากขึ้น 
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช: ปฏิวัติการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
The People: การเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลความรับผิดชอบมากกว่าการเป็นหมอรักษาคนไข้อย่างไร
นพ.พงษ์พัฒน์:
ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์จริง ๆ จะเห็นว่าหมอเป็นนักปฎิวัติเยอะนะ เช เกวารา, ซุน ยัตเซ็น ก็เรียนหมอมาก่อน อาจเป็นเพราะหมอมีโอกาสเห็นความลำบากของคนไข้จำนวนมาก ซึ่งนอกจากดูแลแก้ปัญหาคนไข้เป็นรายบุคคลแล้ว การออกแบบระบบสามารถช่วยทำให้ประสิทธิภาพของการดูแลเพิ่มขึ้นได้ เพราะงั้นการทำงานเชิงบริหารช่วยสร้างสิ่งที่มีคุณค่ามีประโยชน์ให้คนไข้ได้ 

หมอบางคนอาจชอบการรักษาคนป่วย ส่วนผมอาจจะชอบเรื่องการจัดการสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งคิดว่ามูลค่าที่เกิดจากการทำจะสร้างความแตกต่างมากกว่าเมื่อเทียบการรักษาทีละคน แต่จริง ๆ ตอนนี้ยังมีอะไรที่เป็นที่ปรึกษาได้ก็พยายามหาหรือวิธีการที่ดี โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องรักษาทุกอย่างในโรงพยาบาลตัวเองหมด อันไหนที่มีข้อจำกัดเราต้องให้คนไข้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ผมคิดว่าบุคลิกของเมดพาร์คออกแบบมาให้เราเป็นคนที่รู้จักให้คนอื่นก่อน ให้ความช่วยเหลือคนอื่นก่อน ไม่ได้คิดถึงว่าต้องได้ก่อนเสมอ เพราะเรื่องการรักษาพยาบาลไม่เหมือนบริการหรือสินค้าอื่นที่ไปดูสินค้าแล้วจ่ายเงินซื้อ บางครั้งเวลามาโรงพยาบาลหมอเองก็ยังไม่รู้เลยว่าคุณเป็นโรคอะไร ทั้งหมดต้องใช้การสื่อสาร และอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผมว่าถ้าโรงพยาบาลมีบุคลิกเป็นผู้ให้ก่อน เหมือนเมื่อสามสี่สิบปีที่แล้วที่หมอกับคนไข้ใกล้ชิดกันมากกว่านี้ คนที่มีเงินเขาก็จ่ายค่ารักษา ส่วนคนไม่มีเงินโรงพยาบาลก็ช่วยเหลือ หมอก็ช่วยรักษา พอคนไข้กลับไปบ้านก็รู้สึกดีและมีความไว้วางใจ หิ้วผลไม้ใส่ชะลอมเอามาให้หมอ สมัยก่อนหมอกับคนไข้ผูกพันกันแบบนี้ แต่ตอนหลังเศรษฐกิจเราเติบโตขึ้น เราไปปรับระบบ  healthcare ขึ้นมากลายเป็นเอาเงินมาเป็นที่ตั้ง เอามาปรับระบบการทำงาน

ตอนนี้เราเลยอยากทำให้คนรู้สึกว่าโรงพยาบาลไม่ได้เป็นแค่โรงพยาบาลที่คิดเรื่องเงินเป็นลำดับแรก แต่คิดเรื่องการดูแลผู้ป่วยหรือให้กับผู้ป่วยได้ประโยชน์มากที่สุด 

อ้างอิง:
https://www.newsweek.com/worlds-best-hospitals-2022/thailand
https://www.medparkhospital.com/about