ขุนวิจิตรมาตรา: ผู้ประพันธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำนองมอญดูดาว

ขุนวิจิตรมาตรา: ผู้ประพันธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำนองมอญดูดาว

เรื่องราวชีวิตและผลงานของ สง่า กาญจนาคพันธุ์ หรือ ขุนวิจิตรมาตรา ทำให้เราเห็นถึงความมหัศจรรย์ของความสามารถของคนคนหนึ่งที่เป็นทั้งนักเขียน นักประพันธ์ นักคิด ผู้กำกับ ผู้เขียนบท และบทบาทอีกมากมายที่ถือกำเนิดมาจากความที่รักในการแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา

จากสง่าสู่ขุนวิจิตรมาตรา

ก่อนจะกลายมาเป็น ‘ขุนวิจิตรมาตรา’ ที่ใครหลายคนรู้จัก หรือหากไม่รู้จัก อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีผลงานที่เคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง ไม่ว่าจะจากงานเขียนหนังสือมากมายหลายเล่ม จากภาพยนตร์ยุคบุกเบิกมากมายของประเทศไทย รวมถึงเรื่อง ‘หลงทาง’ ที่เป็นภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของบริษัทสร้างภาพยนตร์ศรีกรุง หรือไม่ว่าจะจากงานประพันธ์บทเพลงที่ต้องถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์อย่างเพลงชาติไทย ฉบับที่ 5 ที่ถูกใช้ช่วงระหว่างปี 2475 - 2477 ในช่วงที่ประเทศไทยยังใช้ชื่อว่า ‘สยาม’ อยู่ หรือเพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในฉบับมอญดูดาว ที่ชาวลูกแม่โดมหลายคนน่าจะคุ้นหูกัน ผู้ประพันธ์มากความสามารถบุคคลนี้มีนามว่า ‘สง่า กาญจนาคพันธุ์’

เรียกได้ว่าสง่าลืมตาดูโลกในวันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2440 ในขณะที่อาณาจักรสยามยังอยู่ในยุครัตนโกสินทร์อยู่ พรสวรรค์ของเขาได้เฉิดฉายออกมานับตั้งแต่ศึกษาในระดับมัธยมฯ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ด้วยความเป็นเลิศในวิชาภาษาไทยด้วยการสอบได้ที่ 1 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาได้รับทุนหลวงให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ แต่ในเวลาเดียวกันนั้น สงครามโลกครั้งที่หนึ่งกำลังปะทุอยู่ที่ภูมิภาคยุโรป และด้วยความห่วงใยในความปลอดภัยจากมารดา สง่าจึงตัดสินใจที่จะไม่ศึกษาต่อในเส้นทางดังกล่าว

 

ต่อมาไม่นาน หลังจากที่ใช้ความสามารถด้านภาษาไทยในการเป็นนักเรียนผู้สอนภาษาไทย ณ โรงเรียนที่เขาสำเร็จการศึกษามา แต่เมื่อสอนไปได้ 6 เดือน ตัวเขาจึงตัดสินใจลาออกจากหน้าที่ดังกล่าว และได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเข้ารับราชการในกรมแผนที่ในตำแหน่งพนักงานล่ามในปีพุทธศักราช 2463 แถมยังเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้โรงเรียนแผนที่อีกด้วย และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพราชการของสง่า

ต่อมาก็เริ่มสอบและไต่เต้าในเส้นทางราชการเรื่อยมาจนได้มาทำงานอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ จนได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนวิจิตรมาตรา ในปี 2472 ดังที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ 

 

เส้นทางการประพันธ์

ความสามารถและผลงานที่หลากแขนงของขุนวิจิตรมาตราไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะความชอบ ความสนใจของตัวเขาเองที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเยาว์ เด็กชายสง่าเป็นคนที่ชอบอ่าน ชอบศึกษาเรื่องราวหลายอย่าง แถมยังเป็นเลิศในด้านการจำ ที่บ้านของตัวเขาเต็มไปด้วยหนังสือเก่าล้ำค่ามากมายที่นับเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการที่เขาใช้ในงานเขียน เพราะจิตวิญญาณความเป็นนักอ่าน นักค้นคว้า หรือแม้กระทั่งนักสะสมมันถูกบรรจุอยู่ในสายเลือดของเขาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ด้วยคุณลักษณะนิสัยดังกล่าวที่ก่อร่างสร้างให้สง่าเป็นคนที่รอบรู้ในหลายเรื่อง จึงไม่แปลกที่สง่าสามารถเขียนเรื่องราวได้หลากหลาย มีความสามารถสร้างผลงานได้หลายแขนง 

สง่าก้าวขาเข้าสู่เส้นทางการประพันธ์ตั้งแต่เขามีอายุ 20 ปี โดยริเริ่มจากการเขียนบทละครร้อง จากความเข้าใจและความสามารถในการแต่งกลอน คณะละครบรรเทิงสยาม จึงขอให้เขาเขียนบทละครดังกล่าวให้ เป็นเวลากว่าหนึ่งปีที่เขาได้สรรสร้างบทละครกว่า 30 เรื่องให้บรรเทิงสยาม โดยต่อมาก็มีคนเชิญชวนเขาให้ไปช่วยเขียนเรื่องสไตล์พงศาวดารจีน เช่น ‘โหงวโฮ้วเพ็งปัก’, ‘บูเช็คเทียน’ และ ‘เปากง ชุดสี่’ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ซึ่งทำให้มีผู้ติดตามอ่านผลงานของเขาอย่างท่วมท้น 

หลังจากที่มีประสบการณ์การประพันธ์มาระดับหนึ่ง ประสบความสำเร็จกับงานหลายชิ้น ในปี 2469 สง่าก็ได้เขียนนวนิยายเรื่องยาวเป็นชิ้นแรกซึ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือไทยเขษมนามว่า ‘วารุณี’ แม้จะไม่ได้มีการประพันธ์เรื่องราวประเภทนี้อีกเลยด้วยเหตุผลเรื่องความชอบส่วนตัว แต่กระแสตอบรับจากผู้อ่านนับว่าดีเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นในงานนี้เองที่เขาใช้นามปากกาว่า ‘กาญจนาคพันธุ์’ เป็นครั้งแรก 

 

บุกเบิกภาพยนตร์

นอกจากจะเป็นเลิศด้านงานประพันธ์แล้ว ขุนวิจิตรมาตราก็นับเป็นบุคคลสำคัญแห่งวงการภาพยนตร์ในฐานะผู้บุกเบิกภาพยนตร์ที่ไม่ใช่เป็น ‘หนังเงียบ’ โดยการก้าวขาสู่เส้นทางสายภาพยนตร์ของสง่าเริ่มต้นขึ้น ณ วันที่ ‘หม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์’ ผู้ที่สร้างหนังอย่าง อีนากพระโขนง เดินมาเคาะประตูที่บ้านของเขาเพื่อชักชวนให้สง่าไปทำหนังด้วยกัน

ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าเขียนหนังสืออ่านเล่นไม่เป็น เคยแต่งบทละครร้องแล้วทิ้ง แต่งพงศาวดารจีนแล้วทิ้ง เวลานี้ไม่ได้แต่งอะไรเลย

นับว่าประเภทงานประพันธ์ที่ถนัดและเข้ามือของสง่าที่สุดจะจัดอยู่ในประเภทงานเขียนสารคดีที่กลั่นมาจากความรอบรู้ของเขาอีกที แม้จะเคยแต่งนวนิยายอย่างวารุณีมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ชื่นชอบอะไรเป็นพิเศษมากนัก ยิ่งการต้องมาประพันธ์เนื้อหาของภาพยนตร์ก็นับว่ายิ่งเป็นเรื่องที่ใหม่กว่าเดิมเข้าไปเสียอีก อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ทำ แต่สง่าก็เป็นผู้ดู โดยเฉพาะหนังฝรั่ง

กล้องถ่ายและอุปกรณ์ก็พอมี ผู้แสดงก็พอหาได้ เว้นแต่เรื่องนั้นหายาก

ท้ายที่สุดสง่าก็ตกลงที่จะเป็นผู้เขียนให้โปรเจกต์ของหม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์ นั่นจึงเป็นประตูแห่งเส้นทางสายภาพยนตร์ของขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งก็ดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งก็ได้มีโอกาสบุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทยในสมัยนั้นกับหนังเรื่อง ‘หลงทาง’ ในพุทธศักราชที่นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของประเทศสยามอย่าง 2475 เพราะถือเป็นภาพยนตร์ที่มีเสียงเรื่องแรก ๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ณ ขณะนั้น 

 

เพลงชาติและธรรมศาสตร์

อีกหนึ่งผลงานบทประพันธ์สำคัญที่เป็นภาพจำของใครหลายคนเมื่อนึกถึงขุนวิจิตรมาตราก็คงเป็นงานชิ้นไหนไม่ได้นอกเสียจาก เนื้อร้องเพลงชาติสยามในเวอร์ชันปีพุทธศักราช 2475 ที่สร้างสรรค์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ ดังที่เราคุ้นหูอยู่ทุกวันนี้ 

ขุนวิจิตรมาตราได้เล่าไว้ในงานเขียนของตนเองว่า บ่ายวันหนึ่ง หลวงนิเทศกลกิจพร้อมทหารเรืออีก 2 - 3 คน ที่มากับ ‘คุณยล’ โดยเขาระบุว่าจำชื่อที่แน่ชัดไม่ได้ แต่จำได้ว่าเป็นผู้ก่อการสำคัญฝ่ายพลเรือน ได้เดินทางมาพบกับตนเพื่อชักชวนเขาประพันธ์คำร้องให้เพลงเพลงหนึ่งที่เขาเรียกมันว่า ‘เพลงชาติ’ เพราะในเวลานั้นทำนองถูกแต่งมาโดยพระเจนดุริยางค์ไว้เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือเพียงคำร้องที่เหมาะสมเท่านั้น ขุนวิจิตรมาตราจึงตกลงรับทำนองดังกล่าวมาเพื่อนำไปสร้างสรรค์คำร้องที่เหมาะสมต่อไป ต่อมาจึงกลายเป็นเพลงชาติไทยเวอร์ชันที่ใช้ในช่วงปี 2475 - 2477 ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเนื้อร้องพร้อม ๆ กับชื่อประเทศ

นอกจากนั้นอีกบทบาทสำคัญของขุนวิจิตรมาตราก็คือการประพันธ์คำร้องของเพลงที่ชาวธรรมศาสตร์น่าจะคุ้นหูกันดีอย่าง ‘เพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ โดยใช้ทำนองมอญดูดาว ในปีพุทธศักราช 2477

เรื่องราวชีวิตและผลงานของ สง่า กาญจนาคพันธุ์ หรือ ขุนวิจิตรมาตรา ทำให้เราเห็นถึงความมหัศจรรย์ของความสามารถของคนคนหนึ่งที่เป็นทั้งนักเขียน นักประพันธ์ นักคิด ผู้กำกับ ผู้เขียนบท และบทบาทอีกมากมายที่ถือกำเนิดมาจากความที่รักในการแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา จนก่อให้เกิดความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์และความทรงจำของใครหลาย ๆ คนสืบไป

 

ภาพ: ภาพสาธารณะ

อ้างอิง

80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า โดย วิจิตรมาตรา (สง่า), ขุน, 2440 - 2523

https://www.youtube.com/watch?v=EeBNNqXVM-