02 ส.ค. 2565 | 10:03 น.
ต้นทุนชีวิตจบแค่ป.4
ย้อนไป 83 ปี ชีวิตของ ดร.ไชยวัฒน์ต้องเรียกว่า ‘สู้ชีวิตสุด ๆ’ เริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้านมีฐานะยากจนเป็นทุนเดิม พ่อเป็นคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในไทย ส่วนแม่เป็นคนจีนที่เกิดในไทย มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน
ด้วยความยากจนและมีพี่น้องมากเลยทำให้ ดร.ไชยวัฒน์มีโอกาสร่ำเรียนได้แค่ ป.4 ก่อนที่จะเริ่มหางานเพื่อช่วยพ่อแม่หาเลี้ยงครอบครัว
หลังจากที่ตัดสินใจเรียนถึง ป.4 ดร.ไชยวัฒน์ออกมาช่วยพ่อแม่หาเงินเต็มตัว เริ่มตั้งแต่ช่วยพ่อแม่ขายของชำ ขายขนมถ้วยฟู ขนมเข่ง และขนมอื่น ๆ ที่ทำขึ้นตามเทศกาล แต่เงินก็ไม่พอเลี้ยงคนในครอบครัวทั้งหมด
‘กระเป๋ารถเมล์’ จึงเป็นอาชีพแรกที่เลือกทำ ในใจตอนนั้นเหตุผลลึก ๆ ที่อยากทำอาชีพนี้เพราะเขาอยากขับรถเมล์ ในสมัยนั้นคนขับรถหายากมาก ดร.ไชยวัฒน์คิดว่าถ้าเป็นกระเป๋ารถเมล์ก็น่าจะมีโอกาสขอลองขับรถเมล์ได้ในเวลาว่าง ซึ่งในที่สุดเขาก็ได้ฝึกขับรถเมล์จริง ๆ
ชีวิตหลังจากที่ขับรถเป็น
พอขับรถเป็นแล้ว หลังจากฝึกวิชามาจากการเป็นกระเป๋ารถเมล์ ดร.ไชยวัฒน์ตัดสินใจลาออกและเลือกจะเป็นคนขับรถรับจ้างแทน โดยเขาได้ยืมเงินจากพ่อของพี่เขยจำนวน 5,000 บาทเพื่อซื้อรถกระบะ จากนั้นก็ขับรถรับจ้างไม่หยุดหย่อนแบบ 24 ชั่วโมง จุดประสงค์แรกคือใช้หนี้ก้อนนี้ให้หมดก่อน
ซึ่งไอเดียการผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าพันธุ์ปลา (อาชีพที่ 3) ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เขารับจ้างขนของ ก็คือรับพันธุ์ปลาจากชาวนาไปส่งที่ตลาดหัวลำโพง ซึ่งเขาคิดว่ามันก็ทำเงินได้เหมือนกัน ขณะที่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แนะนำให้ ดร.ไชยวัฒน์ลองขายพันธุ์ปลาเพื่อเป็นช่องทางทำเงินใหม่
ดร.ไชยวัฒน์ไม่รอช้า ซึ่งครั้งนั้นก็เป็นครั้งแรกที่เขาได้เป็นเถ้าแก่ขายพันธุ์ปลาเต็มตัว ทำอยู่หลายปีจนฐานะที่บ้านเริ่มมีกินมีใช้มากขึ้น จนวันหนึ่ง ‘บุญชู เธียรสวน’ เศรษฐีที่ดินที่อยู่ตลาดเดียวกันได้พูดกับ ดร.ไชยวัฒน์ประโยคหนึ่งว่า “เป็นพ่อค้าขายพันธุ์ปลาไม่รวยหรอก บางทีเหลือไม่มีใครซื้อ ปลามันก็โตเอง หรือกินกันเอง”
บุญชูแนะนำว่าให้ทำอาชีพที่ไม่มีวันตาย (ปลายังมีวันตาย) นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ดร.ไชยวัฒน์ที่ผันตัวเองอีกครั้งเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ สร้างและขายหมู่บ้านจัดสรรตามคำแนะนำ
โดยตั้งชื่อว่า หมู่บ้านเธียรสวน (ให้เกียรติคนที่แนะนำช่องทางรวย) ทำแบบนี้มาเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นหมู่บ้านหลายสาขา จนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ยกระดับบ้านให้มีฐานะที่ดีขึ้นได้
สวนสนุกแต่จุดเริ่มต้นไม่สนุก
วันหนึ่ง ‘ชาตรี โสภณพนิช’ ชวน ดร.ไชยวัฒน์มาทำ ‘สวนสนุก’ เลยตกลงกันที่จะไปดูงานที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แต่ต้นทุนที่ต้องลงทุนมีมากเกินไป บวกกับวิเคราะห์แล้วการสร้างสวนสนุกในประเทศไทยอาจไม่คุ้มค่า เพราะคนไทยยังเล่นไม่เป็น ส่วนค่าแรงในสมัยนั้นก็ยังต่ำแค่ 60 บาท
ดร.ไชยวัฒน์กับชาตรีหารือกันอยู่นาน สุดท้ายเสียงก็แตกคอกัน เพราะชาตรีไม่สนับสนุนให้สร้างสวนสนุกเพราะมันไม่คุ้ม ค่าเข้ายังไม่คุ้มกับค่าบำรุงรักษาเลย แต่สำหรับ ดร.ไชยวัฒน์ เขากลับมองว่า เมื่อให้สัมภาษณ์แล้วต้องทำให้ได้ ต้องทำให้สำเร็จ สุดท้ายเลยแยกทางกัน ดร.ไชยวัฒน์ตัดสินใจลงทุนเปิดสวนสนุกคนเดียว
“ผมตัดสินใจทำคนเดียว อวดเก่งโดยไม่มีความรู้ ผมต้องลงทุนคนเดียว สุดท้ายผมต้องขายบริษัทในเครือทั้งหมดเพื่อสร้างสวนสนุก”
ถึงแม้ว่า ดร.ไชยวัฒน์จะขายบริษัทไปหมดเพื่อนำเงินมาสร้างสวนสนุก แต่เพราะคนไทยบางกลุ่มก็ยังไม่มีเงินที่จะซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปข้างใน บางทีเขาก็ต้องจัดโปรโมชั่นแจกฟรีบ้าง ลดราคาตั๋วบ้าง จนทำให้อุดหนี้ไม่ทัน
“สวนสยามขาดทุนมาตลอด ใช้หนี้ไป 10 ปีก็ยังไม่หมด จนต้องเอาบ้าน เอาที่ดินส่วนตัวของภรรยามาจำนำ คนก็สมน้ำหน้าว่าคิดอะไรแปลก ๆ ทำอะไรเกินตัว”
ช่วง 5 ปีหลังจากนั้น ดร.ไชยวัฒน์ถูกฟ้องล้มละลายเพราะไม่มีเงินจ่ายหนี้ โดนฟ้องให้ชำระหนี้ แต่ตอนนั้นเขาบอกว่า ไม่มีอะไรจะขายแล้ว ไม่มีอะไรจะเอามาใช้หนี้ได้แล้ว เหลือแต่ตัว จนสุดท้ายก็ขายบ้านหลังสุดท้าย Land & House ที่ลาดพร้าวได้แล้วนำเงินมาใช้หนี้ธนาคารทั้งหมด
“หลังจากที่ชำระหนี้ได้หมด ผมก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง บางคนก็สงสาร บางคนก็อยากมาช่วยเหลือ ช่วยอุดหนุน ทำให้สวนสยามมีกำไรขึ้นมา เมื่อมีกำไรเราก็ไปซื้อเครื่องเล่นเพิ่ม กู้ธนาคารใหม่ ผ่อนเขาจนหมดก็ 7 ปีแล้ว”
ดร.ไชยวัฒน์ถือว่าเป็นบุคคลต้นแบบ เป็นนักธุรกิจที่สู้ชีวิตมาก เพราะกว่าจะรู้จักคำว่ากำไรก็ต้องเหนื่อยจนสายตัวแทบขาด ซึ่งตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของ ดร.ไชยวัฒน์เต็มไปด้วยความฝัน ความหวัง และความมานะ
จนล่าสุด ดร.ไชยวัฒน์เปิดใจถึงความฝันสุดท้ายก่อนตายว่ายังมีอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่อยากทำมานาน เก็บไว้ในใจมานานเกิน 20 ปีแล้ว ซึ่งก็คือ ‘บางกอกเวิลด์’ (Bangkok World) แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบใหม่ที่จำลองเมืองและวิถีชีวิตของชาวบางกอก ที่ตอนนี้สร้างไปแล้วกว่า 80% และประกาศจะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 22 พฤศจิกายนปีนี้
สานฝัน20ปีกับเมืองบางกอก
“อายุ 83 ปีแล้ว ความเหนื่อย ความอ่อนล้ามันก็ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน แต่ผมยังมีงานที่ค้างไว้อยู่ครับ งานเมืองบางกอก หรือพระนครที่ผมอยากจะสร้างตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน”
ดร.ไชยวัฒน์นับเป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจไทยที่หลายประเทศพูดถึง หนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่ยกย่องให้ ‘ตระกูลเหลืองอมรเลิศ’ เป็นธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นที่ประสบความสำเร็จและน่าเอาเป็นแบบอย่าง
โปรเจกต์บางกอกเวิลด์ เป็นส่วนขยายต่อบนพื้นที่ 70 ไร่ ซึ่งจะสร้างอยู่ตรงหน้าบริเวณทางเข้าของสยามอะเมซิ่งพาร์ค
ไอเดียมาจากUniversalสหรัฐอเมริกา
“ไอเดียนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ที่ผมได้ไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา ผมเห็นว่าสวนสนุก Universal เขาได้สร้าง city walk จากปัญหาที่ทำให้กองถ่ายภาพยนตร์ไม่สะดวกสบายเพราะการเดินทางนั้นมันไกล จอดรถก็ต้องเดินข้ามภูเขากว่าจะเดินถึงจุดที่ซื้อตั๋วน่ะไกลมาก
“ทาง Universal เลยประชุมกันว่าเราควรมีการสร้างอะไรที่ทำให้ลูกค้าสบายใจ สะดวกสบาย เขาเลยสร้างพื้นที่ตรงทางเดินสองข้างทางให้เป็นพื้นที่บันเทิง มีทั้งโรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และก็ร้านกิ๊ฟชอป”
สำหรับ ดร.ไชยวัฒน์ เขามองว่าจุดแลนด์มาร์กตรงนี้ที่ Universal สร้างขึ้นมา สามารถดึงดูดคนอเมริกันหรือนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ สำหรับคนที่ไม่อยากจะเดินเข้าไปข้างในสวนสนุก หรือเข้าไปดูเขาถ่ายทำภาพยนตร์ข้างใน พวกเขาสามารถนั่งคอยอยู่ข้างนอกได้ ดูหนัง กินอาหาร ดื่มกาแฟ
สวนสยามเมืองร้อนเหตุสร้างเมืองบางกอก
ดร.ไชยวัฒน์พูดถึงปัญหาที่มีคนเคยบอกว่า ‘สวนสยาม’ มันเดินไกลเหลือเกินและร้อนด้วย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเมืองร้อน บางคนก็แนะนำว่าควรจะหารถเพื่อพาคนเข้าไปในสวนสยาม
“ผมเลยมีความคิดว่าจะสร้าง city walk ตามแบบของ Universal น่าจะดีกว่า”
แต่ความคิดจากวันนั้นก็ต้องถูกพับลงเพราะติดเรื่องสิทธิ์ที่ทาง Universal ได้จดทะเบียนไว้ รับรองสิทธิ์ห้ามผู้อื่นสร้างตามแบบอย่าง ดร.ไชยวัฒน์เลยต้องเก็บโครงการนี้เอาไว้นานกว่า 20 ปี
ความฝันก็ยังเป็นความฝัน เพราะสุดท้ายแล้ว ดร.ไชยวัฒน์ได้ปัดฝุ่นไอเดียนี้อีกครั้ง หลังจากที่พยายามคิด ปรับปรุง ออกแบบโครงการนี้อยู่หลายตลบ ตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรที่จะสร้างโปรเจกต์เพื่อคนที่มาเที่ยวและคนที่มาพักผ่อนได้เต็มที่
“สุดท้ายผมก็มีโอกาสได้นำสิ่งที่ได้ออกแบบเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่อยู่ที่สหรัฐฯ เอามาปัดฝุ่นใหม่แล้วนำมาสร้างเมืองบางกอก”
ส่งไม้ต่อสู่ทายาท3คน
สำหรับ ดร.ไชยวัฒน์ แม้ว่าจะเตรียมตัวเกษียณตัวเองจากงานบริหารสวนสยาม แต่ที่ผ่านมาลูก ๆ ทั้ง 3 คนก็มาช่วยงานอยู่ก่อนแล้วโดยรับหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งตัวโปรเจกต์เมืองบางกอกที่จะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนนี้ก็เป็นการตกผลึกทางความคิดระหว่าง ดร.ไชยวัฒน์ ในฐานะผู้บริหารเจเนอเรชั่นเก่า และคนรุ่นใหม่อีก 3 คนในตระกูลในฐานะคนรุ่นใหม่
“การเตรียมตัวตายของผมหมายรวมไปถึงเรื่องการส่งไม้ต่อให้กับลูก ๆ ทั้ง 3 คนในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมตัวตายที่สมบูรณ์แบบที่สุด”
ดร.ไชยวัฒน์ยังได้พูดถึง ‘หนังสือมรดกแห่งชีวิต’ ที่มีทั้งเรื่องราวจากชีวิตจริงและการวิเคราะห์จาก 2 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์) เกี่ยวกับชีวิตและเส้นทางการประสบความสำเร็จของธุรกิจกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้
ซึ่งในหนังสือเล่มนี้สำหรับ ดร.ไชยวัฒน์ เขาพูดไว้ว่า “จะเป็นเล่มสุดท้ายก่อนตาย ซึ่งตั้งใจจะนำไปให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และนำไปแจกในงานศพของตัวเองด้วย”
ในหนังสือมรดกแห่งชีวิต ผู้อ่านจะรับรู้ถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาของ ดร.ไชยวัฒน์ ผ่านการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ที่ได้ยกย่องความสำเร็จของตระกูลนี้ โดยเทียบจากจุดเริ่มต้นของผู้เป็นพ่อที่มาจากมือเปล่า คนที่ไม่มีอะไรมาก่อน จบแค่ ป.4 จนวันหนึ่งได้ปริญญาเอก และมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่สามารถผ่านเรื่องราวอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้นและยังคงอยู่ไม่ได้สูญหายเหมือนกับบางธุรกิจ
โดย ดร.ไชยวัฒน์ได้พูดย้ำในหนังสือเล่มนี้ว่า “การที่ขยันหมั่นเพียรและประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลอด 83 ปีที่ทำงานตรงนี้ ผมคลุกคลีอยู่กับงานตลอด ไม่เคยมีวันไหนที่หยุดเพื่อเวลาส่วนตัว” (เพราะเวลาส่วนตัวก็ยังเกี่ยวกับเรื่องงานอยู่ดี)
“บางคนก็มองว่าหนังสือเล่มนี้มันดูเวอร์เกินไปนิด ซึ่งมันก็อาจจะเวอร์ไปจริง ๆ เพราะว่าเนื้อหามันเกี่ยวกับการยกย่องตระกูลเหลืองอมรเลิศ พูดถึงเรื่องส่วนตัวของผม จนอ่านแล้วเหมือนโกหก อ่านแล้วเหมือนนวนิยายแต่งขึ้น แต่ว่าสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้มันเกิดขึ้นจริง 99.99% อีก 1% อาจจะเป็นความหลงลืมและการเล่าข้ามไปข้ามมา
“สำหรับผมมองว่าถ้าอายุเกิน 60 ปีแล้ว เราควรจะเริ่มคิดเกี่ยวกับการตายได้แล้ว ตายอย่างไร ตายแบบไหน อายุมากขนาดนี้แล้ว ความตายไม่ใช่ของน่ากลัว แต่ก่อนตายเราควรทำคุณประโยชน์อะไรบ้าง”
ดร.ไชยวัฒน์ยังพูดทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ที่คิดว่า “ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะ จบแค่ ป.4 ก็รวยได้เหมือนกับผม แต่ไม่ใช่ครับ มันเปลี่ยนแปลงไปแล้วครับ เวลา โอกาส และจังหวะเปลี่ยนไป ตอนนั้นเราใช้จังหวะ เวลา และโอกาส และเดี๋ยวนี้มันไม่ได้แล้วครับ มันใช้ได้แค่ในอดีตเท่านั้น”
มองว่าการทิ้งทวนตัวเองในวงการผู้สร้างสิ่งบันเทิงของ ดร.ไชยวัฒน์ ปิดท้ายโปรเจกต์ด้วย ‘บางกอกเวิลด์’ เป็นการสร้างผลงานที่งอกเงยทางธุรกิจได้อย่างสมเกียรติ ก่อนจะปล่อยมือให้กับทายาทอีก 3 คนอย่างเต็มตัว
ภาพ: siam amazing park
อ้างอิง:
https://www.siamamazingpark.com/bangkok-world.php
https://www.youtube.com/watch?v=EmFtXRYahzQ
https://www.thebangkokinsight.com/news/business/branding/206856/
https://www.posttoday.com/politic/report/381826