03 ส.ค. 2565 | 18:08 น.
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา MEA ครบรอบ 64 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 นี้ MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ มีภารกิจที่สำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ Energy for city life, Energize smart living ในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านเพื่อจะก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหม่ตามแนวทาง "64 th MEA CHALLENGING THE FUTURE" ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าสูงสุดในทุกมิติ
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งยาวนาน ได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2501 ถือเป็นการไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 64 ปี MEA มีหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศในการสร้างความมั่นคงเพียงพอด้านระบบไฟฟ้าด้วยการนำนวัตกรรมทันสมัยมาใช้และมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับสังคมเมืองมหานครที่เติบโตพร้อมตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจเทคโนโลยี และพลังงาน รวมถึงผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
ทั้งนี้ ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สามารถให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยในปี 2565 สถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดประจำปี (Maximum Demand) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน จำนวน 9,442.22 เมกะวัตต์ มีจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIFI) เท่ากับ 0.363 ครั้ง/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย / 6 เดือน และระยะเวลาที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIDI) เท่ากับ 10.336 นาที/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน (ข้อมูลสะสมถึงเดือน
มิถุนายน 2565) ในด้านสถิติการจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ในปี 2565 รวมทุกกลุ่มประกอบด้วย กลุ่มบ้านอยู่อาศัย กลุ่มธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มราชการ-องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร รวมจำนวน 4,165,131 ราย พบว่า MEA มีหน่วยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสม จำนวน 50,280 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 (จำนวน
49,050 ล้านหน่วย) จะคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51 โดยจากสถิตินี้ พบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจ มีอัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือ จำนวน 19,174 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 (จำนวน 18,347 ล้านหน่วย) จะคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.51
ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นของผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา
จากปัญหาวิกฤตด้านพลังงานที่ประเทศไทยต้องเผชิญทั้งในอดีต และปัจจุบัน MEA
ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยในปี 2564 - 2565 MEA ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ดำเนินโครงการ MEA Energy Awards ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร มีการให้คำปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้ และมอบเงินทุนสนับสนุนให้อาคารได้ปรับปรุงการใช้พลังงาน
ก้าวสู่การเป็นต้นแบบอาคารประหยัดพลังงาน และมีคุณภาพอากาศภายในอาคารได้ตามมาตรฐาน Indoor Air Quality หรือ IAQ โดยการมอบรางวัลครั้งล่าสุด มีอาคารให้ความสนใจเข้าร่วมรวม 145 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และได้รับตราสัญลักษณ์ MEA ENERGY AWARDS ประจำปี 2021 จำนวน 110 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์การค้า และ สำนักงาน ส่งผลให้ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลง 6.87 ล้านหน่วยต่อปี ลดค่าไฟฟ้ากว่า 26 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 2,954 ตันต่อปี
เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon นั้น ล่าสุด MEA ยังได้มีความร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการดำเนินโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และ Carbon Credit จัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit โดยเชื่อมต่อกับ Platform ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนขยายผลการศึกษาและการพัฒนาไปสู่โครงการอื่น
เพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ MEA มากยิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการ ด้านพลังงานเพื่อให้ประชาชนและกลุ่มอุตสาหกรรมได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศอย่างยั่งยืนในส่วนการพัฒนาสังคม และการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนนั้น MEA มีความภาคภูมิใจจากการรับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) รอบล่าสุด ประเภทผลงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากการดำเนินโครงการ MEA e-Fix ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง ดูแลเรื่องไฟฟ้าในบ้าน ด้วยช่างผู้ชำนาญการจากชุมชน ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นการสร้างอาชีพให้กับประชาชน โดยสามารถเข้าร่วมโครงการช่างไฟฟ้ามืออาชีพเพื่อเข้ารับอบรมเสริมทักษะช่างไฟฟ้าอย่างเข้มข้น ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19