โจเซฟ เมอร์ริค: ผู้ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เปลี่ยนเขาเป็น ‘มนุษย์ช้าง’

โจเซฟ เมอร์ริค: ผู้ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เปลี่ยนเขาเป็น ‘มนุษย์ช้าง’

บ้างก็อาจจะเคยได้ยิน บ้างก็อาจจะเคยเห็น แต่บ้างก็อาจจะไม่เคยเห็นหรือได้ยินมาก่อน แต่ในบทความนี้ เรากำลังจะพูดถึงบุคคลที่ต้องทุกข์ทรมานกับโรคที่เปลี่ยนเขาจากคนให้เป็น ‘มนุษย์ช้าง’

“I am not an elephant! I am not an animal! I am a human being! I am a man!”

ย้อนกลับไปในยุคศตวรรษที่ 19 มีชายคนหนึ่งที่ต้องพบกับความโชคร้ายที่เขาเองไม่ได้เลือก และความโชคร้ายนั้นก็สร้างขวากหนามมากมายในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจากภายนอกหรือภายใน เป็นความโชคร้ายที่เปลี่ยนคนธรรมดาให้ถูกมองเป็นสัตว์ประหลาด นับเป็นเรื่องราวของคนคนหนึ่งที่น่าหดหู่เป็นอย่างมาก เป็นเรื่องราวอันโศกเศร้าที่ต้องเห็นคนคนหนึ่งก้าวผ่านกับชีวิตแบบนั้น 
 

เมอร์ริคผู้โชคร้าย

โจเซฟ เมอร์ริค(Joseph Merrick) เกิดในวันที่ 5 สิงหาคม ปี 1862 ในตอนแรกเกิดนั้น เขาก็เป็นเด็กทารกที่น่ารักที่มีชีวิตดั่งชาวอังกฤษทั่วไป แต่เมื่อเวลาผ่านไป เด็กชายคนนั้นเริ่มเติบโตขึ้น ตอนอายุ 5 ขวบ ความผิดปกติบางอย่างเริ่มเกิดขึ้นบนร่างกายของเขา กระดูกและผิวหนังของเมอร์ริคเริ่มขยายขึ้นมากแบบผิดปกติ ผิวหนังเริ่มจับตัวเป็นก้อน และสีบางบริเวณของตัวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเทา

อาการของเมอร์ริคเริ่มมีมากขึ้นในทุก ๆ วัน จนทำให้ฟังก์ชันพื้นฐานในชีวิตประจำวันเริ่มมีปัญหา เขาไม่สามารถแสดงสีหน้าได้เพราะใบหน้าที่เปรียบดั่งมีเนื้องอกก้อนใหญ่โตออกมา แถมยังทำให้เขาไม่สามารถพูดได้แบบคนปกติ และด้วยความผิดปกติที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ นี้เองทำให้รูปร่างเขาเริ่มมีความคล้ายคลึงกับ ‘มนุษย์ช้าง’

ณ ตอนนั้น แม่ของเมอร์ริคสันนิษฐานว่าความผิดปกตินี้เกิดขึ้นเพราะมีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์เมอร์ริค เธอได้ไปชมละครสัตว์ และได้เจอกับช้างที่โมโหและวิ่งมาใกล้ ๆ ทำให้เธอตกใจกลัวเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุนี้จึงเป็นบ่อเกิดของความผิดปกติที่เมอร์ริคกำลังเผชิญ ซึ่งเหตุที่ทำให้พ่อแม่ของเมอร์ริคคิดเช่นนี้ก็คงเป็นเพราะรูปร่างของเมอร์ริคเองด้ว

โจเซฟ เมอร์ริค: ผู้ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เปลี่ยนเขาเป็น ‘มนุษย์ช้าง’

มีเพียงแม่ของเมอร์ริคเท่านั้นที่รักและเข้าใจลูกชายของเธอ ไม่ว่าเขาจะมีรูปร่างแบบไหน แต่เหตุการณ์หนึ่งก็พรากคนคนเดียวในชีวิตของเมอร์ริคที่พร้อมจะโอบกอดเขาอยู่เสมอให้จากเขาไป แม่ของเมอร์ริคจากไปด้วยโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) ในตอนที่เมอร์ริคมีอายุเพียง 11 ปีเท่านั้น ซึ่งเขาได้นิยามการจากไปของแม่เขาว่า 

ความโชคร้ายที่หนักหนาที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา

ไม่ใช่ว่าเขาเกิดมากับโรคอะไร รูปร่างอย่างไร แต่เป็นการจากไปของคนที่รักและพร้อมจะเข้าใจเขามากที่สุดต่างหาก ที่ถือเป็นเรื่องที่โชคร้ายที่สุดในมุมมองของเมอร์ริค

 

กำเนิดชื่อมนุษย์ช้าง

หลังจากที่ต้องเติบโตมากับโรคที่หมอที่เก่งที่สุดก็วินิจฉัยไม่ได้ แถมยังต้องสูญเสียแม่ซึ่งเป็นคนที่ห่วงใยเพียงหนึ่งเดียวของเขาไป เส้นทางของเมอร์ริคหลังจากนี้หนักหนาสาหัสกว่าเดิมมาก พ่อของเขาที่มีครอบครัวใหม่ก็ปฏิบัติกับเมอร์ริคด้วยความโหดร้าย จนเมอร์ริคต้องหนีออกจากบ้านไปหางานด้วยวัยเพียง 11 - 12 ปีเท่านั้น 

เมอร์ริคมีโอกาสได้ทำงาน ณ ร้านขายซิการ์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปประมาณ 2 ปี มือของเขาเริ่มขยายใหญ่ขึ้นจนไม่สามารถทำงานได้ จนทำให้เขาต้องไปหางานอื่นทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ และงานถัดไปที่เขาได้ก็คือการเป็นเซลส์แมนขายของตามท้องถนน ถึงแม้ว่าเขาจะพยายามมากเพียงไหนที่จะหาเงินเลี้ยงชีพผ่านอาชีพสุจริต แต่ด้วยสภาพร่างกายที่ผิดแปลกไปมาก แถมยังไม่สามารถพูดได้แบบคนปกติ ทำให้ลูกค้ามากมายหลายคนหนีกระเจิงไปหมด จนวันหนึ่งทำให้เขาเสียใบอนุญาตในการเป็นเซลส์แมนไป

ท้ายที่สุดสังคมก็บีบให้ชีวิตของเมอร์ริคไร้ทางเลือก ถ้าผู้คนจะจ้องมองเขาอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไม่ว่าเขาจะเดินไปทางไหน เขาก็เลยตัดสินใจที่จะไปเข้าร่วมกับโชว์ประหลาด (Freak Show) เสียเลย ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าไปเขาก็ถูกพาดหัวโฆษณาว่า

“ครึ่งคน…ครึ่งช้าง…”

ซึ่งด้วยสโลแกนดังกล่าวผสานกับความสามารถในการชักจูงผู้ชมให้มาเชยชมกับความแปลกที่เขาอยากจะนำเสนอ ก็เรียกได้ว่าโชว์มนุษย์ช้างประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง กำไรที่ได้มาส่วนหนึ่งก็ถูกแบ่งให้เมอร์ริคด้วย ซึ่งเขาเองมีความหวังที่จะเก็บเงินซื้อบ้านเป็นของตัวเองให้ได้สักวันหนึ่ง 

แต่แล้ววันหนึ่งชะตาชีวิตของเขาก็ได้พลิกอีกครั้ง เมื่อเขาถูกโอนย้ายไปอีกสังกัดหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่เอาไว้โชว์ความผิดปกติของมนุษย์ตรงบริเวณลอนดอนตะวันออก เมอร์ริคต้องนอนอยู่หลังร้านบนเตียงเหล็กโดยมีผ้าม่านกั้นเล็กน้อย แต่ถึงกระนั้นการนอนหลับของเมอร์ริคก็ไม่ได้เหมือนคนปกติ เพราะตัวเขาต้องนอนแบบชันเข่าและนำหัวอันมหึมาวางไว้บนเข่าทั้งสองข้าง เหตุเพราะหัวเขาใหญ่เกินไป ถ้านอนราบไปแบบคนปกติมีสิทธิ์ที่คอจะหักได้ 

 

ความช่วยเหลือจากหมอทรีฟส์

แม้ว่าจะต้องประสบพบเจอกับชะตาชีวิตที่ยากลำบากกับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เลือก แต่ความช่วยเหลือหนึ่งก็กำลังจะเข้ามาในชีวิตของเมอร์ริค คือการเข้ามาของคนที่ชื่อว่า ‘เฟเดอริก ทรีฟส์’ (Frederick Treves) หมอจากโรงพยาบาลลอนดอน ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับร้านที่เมอร์ริคอาศัยอยู่

โจเซฟ เมอร์ริค: ผู้ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เปลี่ยนเขาเป็น ‘มนุษย์ช้าง’

มีอยู่วันหนึ่งทรีฟส์เดินผ่านป้ายโฆษณาเกี่ยวกับมนุษย์ช้าง เขาจึงแวะไปที่ร้านก่อนที่ร้านจะเปิดเพื่อที่จะไปดูว่ามนุษย์ช้างนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งพอเขาได้เห็นกับตาตัวเองแล้วก็ต้องสะพรึงกับความแปลกประหลาดเป็นอย่างมาก ด้วยความที่มีอาชีพเป็นหมอ เขาจึงอยากพาเมอร์ริคไปตรวจว่าโรคที่เมอร์ริคกำลังทนทุกข์ทรมานนั้นมันคืออะไรกันแน่

“ความน่าสนใจอยู่ที่หัวของเขาเลย คือมันมีขนาดที่ใหญ่มาก ๆ เหมือนกับกระเป๋าที่มีหนังสือหลายเล่มเก็บอยู่ในนั้น”

และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อุตสาหกรรมโชว์ประหลาดก็กำลังร่วงโรย ผู้คนตระหนักถึงศีลธรรมมากขึ้นว่าโชว์แบบนี้มันไม่ถูกต้องสักเท่าไรนัก แถมยังเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ไปอย่างมาก ทางการจึงได้ดำเนินการสั่งปิดไปหลายที่ ด้วยเหตุนี้ เมอร์ริคจึงได้ไปอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลลอนดอนและหมอทรีฟส์อย่างถาวร แม้ทางโรงพยาบาลก็ไม่รู้ว่าจะรักษาโรคนี้ได้อย่างไร

 

เมอร์ริคป่วยเป็นอะไร?

เนื่องจากโครงกระดูกของเมอร์ริคถูกทำความสะอาดอย่างเข้มข้น จึงทำให้การจะดึงดีเอ็นเอจากโครงกระดูกของเขามาวินิจฉัยหาสาเหตุเป็นไปได้ยากมาก อย่างไรก็ตาม เหล่าบรรดาแพทย์ที่ศึกษากรณีของเมอร์ริคก็ลงความเห็นว่าสิ่งที่เมอร์ริคเป็นนั้นเกิดมาจาก ‘โรคท้าวแสนปม’ (Neurofibromatosis) และสาเหตุที่อาการของเขาค่อนข้างหนัก จากการที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ใหญ่ผิดรูปไปมาก ก็น่าจะเกิดมาจาก ‘โพรทูสซินโดรม’ (Proteus Syndrome) ซึ่งถือเป็นโรคที่หาได้ยากเป็นอย่างมาก 

โจเซฟ เมอร์ริค: ผู้ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เปลี่ยนเขาเป็น ‘มนุษย์ช้าง’

 

ภาพยนตร์ The Elephant Man

หลังจากที่สร้างภาพยนตร์สุดแปลกที่คัลต์มาถึงปัจจุบันกับ ‘Erasehead’ ในปี 1977 ผู้กำกับสุดเซอร์เรียลอย่าง เดวิด ลินช์ (David Lynch) ก็ถูกทาบทามให้ไปเล่าเรื่องผ่านวิสัยทัศน์สุดแปลกกับเรื่องราวของเมอร์ริคจนกลายมาเป็นภาพยนตร์ขาว-ดำเรื่อง ‘The Elephant Man’ ที่ออกฉายในปี 1980 โดยผู้ที่รับบทเป็นมนุษย์ช้างก็คือ จอห์น เฮิร์ต (John Hurt) ที่มาพร้อมกับ Special Effect ที่แปลงโฉมเขาให้เหมือนเมอร์ริคจริง ๆ นอกจากนั้นก็ยังประกบคู่ไปกับ แอนโทนี ฮอปกินส์ (Anthony Hopkins) ที่มารับบทเป็นหมอทรีฟส์ที่ช่วยรักษาอาการของเมอร์ริค 

โจเซฟ เมอร์ริค: ผู้ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เปลี่ยนเขาเป็น ‘มนุษย์ช้าง’

ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะถูกเล่าผ่านวิสัยทัศน์แบบอาร์ต ๆ ดาร์ก ๆ ของลินช์ แต่ก็เล่าเรื่องชีวิตอันน่าสงสารของชายผู้โชคร้ายได้อย่างสมจริง โดยเรื่องราวถูกเล่าตั้งแต่วันที่หมอทรีฟส์เดินไปประสบพบเจอกับโชว์ตัวประหลาดนามว่า ‘มนุษย์ช้าง’ และได้เห็นมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกลดทอนความเป็นคนจนสภาพการเป็นอยู่ไม่ต่างอะไรจากสัตว์

ด้วยเหตุนี้จึงขับเคลื่อนให้ทรีฟส์อยากจะเปลี่ยนชะตากรรมของชายผู้นี้ และมอบคืนชีวิต ‘ปกติ’ ให้เขาอีกครั้ง แม้ว่าการแพทย์สมัยนั้นไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าโรคที่เขากำลังเผชิญอยู่คืออะไร แต่แม้ว่าการรักษานั้นไร้ความหวัง แต่ทรีฟส์ก็ยังยืนยันที่จะดูแลเขา และนำเสนออะไรต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเติมเต็มจิตใจที่บอบช้ำของชายผู้นี้

ซึ่งฉากหนึ่งที่นับเป็นจังหวะตำนานของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ก็คือตอนที่เมอร์ริคไปที่สถานีรถไฟโดยใส่ถุงคลุมหัวเพื่อปิดหน้าปิดตาไว้อยู่ แต่ก็มีคนเริ่มมารังแกเขา ตามรังควานเขา และในขณะที่เมอร์ริคพยายามเดินหนีด้วยความยากลำบาก ฝูงชนที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความอยากรู้สงสัยก็มุ่งตรงไปที่เขา ล้อมรอบเขา และจ้องเขาเยี่ยงตัวประหลาด

และด้วยความอึดอัดที่สั่งสมมาตั้งแต่วันที่เขาต้องเผชิญกับโรคร้ายนี้ เขาจึงตะโกนสุดเสียงออกมาว่า

ผมไม่ใช่ช้างนะ! ผมไม่ใช่สัตว์! ผมก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง! ผมก็เป็นคนธรรมดาเหมือนพวกคุณ!
.

 

โครงกระดูกที่ราชาเพลงป็อปอยากได้

ในบรรดาผู้ที่สนใจ (ในโครงกระดูกของเมอร์ริค) อย่างไมเคิล แจ็กสัน เขาก็จะนั่งอยู่คนเดียวตรงหน้าโครงกระดูก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเหมือนเขากำลังคิดอะไรสักอย่างอยู่

ริชาร์ด เทรมบาธ (Richard Trembath) ผู้ศึกษาพันธุศาสตร์กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงความสนใจของราชาเพลงป็อปที่มีให้ต่อโครงกระดูกของโจเซฟ เมอร์ริค ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่หมอบางคน ไม่ได้มีสิทธิ์เข้าไปดูโครงกระดูกของมนุษย์ช้างด้วยตาตัวเองเสียด้วยซ้ำ ซึ่งไมเคิลก็ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้รับโอกาสนั้น

โจเซฟ เมอร์ริค: ผู้ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เปลี่ยนเขาเป็น ‘มนุษย์ช้าง’

ไม่เพียงแต่การครุ่นคิดจ้องมองเท่านั้นที่เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่าไมเคิลสนใจในโครงกระดูกของเมอร์ริค เพราะในปี 1987 เขาเองยังเคยเสนอซื้อมันในราคา 5 แสนเหรียญสหรัฐด้วย แต่ทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งกรุงลอนดอน (The London Hospital Medical College) ซึ่งเป็นผู้ดูแลกระดูกของเมอร์ริคนั้นปฏิเสธในทุกกรณี แม้ว่าราชาเพลงป็อปจะเสนอราคาเพิ่มขึ้นมาเท่าตัวก็ตาม

ซึ่งทางผู้ดูแลได้ตอบกลับไปว่า ไม่ว่าจะเสนอมาราคาเท่าไร เขาก็จะไม่ขายสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของเมอร์ริคให้ โดยได้ให้เหตุผลว่ามันผิดกับหลักจรรยาบรรณที่จะนำโครงกระดูกของใครบางคนไปค้าขายเชิงพาณิชย์เช่นนั้น แม้ว่าเงินเหล่านั้นมันจะเป็นทุนอันมหาศาลในการวิจัยก็ตาม

ผมไปที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ลอนดอนประมาณสองครั้ง แล้วผมก็ได้ไปชมโครงกระดูกของเขา ซึ่งผมรู้สึกว่าตัวเองมีอะไรสักอย่างที่เชื่อมต่อกับเขา เหมือนเรามีอะไรเชื่อมกันบางอย่าง ผมรักเรื่องราวของ ‘The Elephant Man’ เป็นอย่างมาก มันเป็นเรื่องราวที่น่าเศร้ามากจริง ๆ

ไมเคิลเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าในตอนที่เขาดูภาพยนตร์เรื่อง The Elephant Man และได้ยินถ้อยคำที่เมอร์ริคตะโกนขอร้องให้คนที่รุมมุงดูเขาเยี่ยงอสุรกายว่า “ผมไม่ใช่สัตว์นะ ผมก็เป็นคนเหมือนกัน” ทำให้เขารู้สึกเชื่อมโยงกับเมอร์ริคอย่างมาก เพราะตัวเขาเองก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน

ต่อมาเขายังได้แอบใส่ Easter Egg เล็ก ๆ ไว้ในมิวสิกวิดีโอเพลง ‘Leave Me Alone’ ที่ปล่อยออกมาในปี 1989 ซึ่งสิ่งที่อยู่ในเอ็มวีก็คือโครงกระดูกที่มีหัวเป็นช้างกำลังเต้นระบำอยู่ ซึ่งก็ตีความได้ไม่ยากว่าเขากำลังหมายถึง ‘มนุษย์ช้าง’ นั่นเอง นอกจากนั้นตัวเพลงก็มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับความรู้สึกของเมอร์ริคในบางแง่มุม เหตุเพราะ Leave Me Alone เป็นเพลงที่ไมเคิลอยากจะระบายความอึดอัดจากสื่อที่กัดเขาไม่ปล่อย จนอยากจะตะโกนบอกไปว่า

“Leave me alone!”

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ไมเคิลอยากจะได้โครงกระดูกของเมอร์ริคมาครอบครองก็เป็นเพราะเขาอยากจะนำไปเก็บสะสมไว้ใน ‘ห้องโถงแห่งความสยองขวัญ’ (Chamber of Horrors) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวที่บ้านของเขาในแอลเอ ซึ่งเต็มไปด้วยโครงกระดูกแปลก ๆ หรือตำราแพทย์เกี่ยวกับโรคประหลาด 

 

โน้มตัวลงนอนแล้วพักผ่อนตลอดไป...

มีโรงพยาบาลหลายแห่งพยายามช่วยรักษาเมอร์ริค แพทย์หลายคนพยายามศึกษาหาเหตุผลว่าโรคนี้มีต้นตอมาจากอะไร รวมถึงมีการสร้างเครื่องช่วยพยุงให้เมอร์ริคสามารถเคลื่อนไหวได้กับร่างกายอันใหญ่โตและหนักอึ้ง 

โจเซฟ เมอร์ริค: ผู้ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เปลี่ยนเขาเป็น ‘มนุษย์ช้าง’

ในวันที่ 11 เมษายน ปี 1890 โจเซฟ เมอร์ริค ในวัย 27 ปี จากไปอย่างสงบในท่าการนอนหงาย จากที่ต้องนอนหลับแบบชันเข่ามาทั้งชีวิต นี่เป็นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวหลังจากที่ร่างกายเขาแปรเปลี่ยนมาเป็นแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่าสาเหตุการตายเกิดจากการนอนหงายและหัวที่มีน้ำหนักมากของเขา ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงที่ไขสันหลัง (Spinal Cord) และปลิดชีวิตของเขา

นับเป็นการพักผ่อนครั้งสุดท้ายของเขา กับท่านอนอันแสนธรรมดา เพื่อพักผ่อนกับชีวิตที่โหดร้ายและไม่ธรรมดาของชีวิต ‘มนุษย์ช้าง’

แม้หลายคนจะมองว่าเขานั้นเหมือนกับสัตว์ประหลาด แต่หัวใจของเขากลับแข็งแกร่งดั่งเหล็กกล้ากับการที่ต้องผ่านขวากหนามของชีวิตที่ทิ่มแทงเขาในทุก ๆ วัน 

 

ภาพ:

Public Domain

IMDb

อ้างอิง:

https://www.thesun.co.uk/uncategorized/6106302/michael-jackson-was-obsessed-with-the-elephant-man-and-spent-hours-sitting-alone-with-his-skeleton/

https://apnews.com/article/9de819de75426320002fa7ad0a0a2f92

https://www.britannica.com/biography/Elephant-Man

https://www.biography.com/performer/elephant-man-joseph-merrick

https://allthatsinteresting.com/joseph-merrick

ภาพยนตร์เรื่อง The Elephant Man (1980)