‘สแตน ลี’ ผู้ถูกหัวหน้าด่าไอเดีย ‘ห่วยแตก’ แต่ทำให้จักรวาล Marvel ยิ่งใหญ่

‘สแตน ลี’ ผู้ถูกหัวหน้าด่าไอเดีย ‘ห่วยแตก’ แต่ทำให้จักรวาล Marvel ยิ่งใหญ่

มาร์เวล (Marvel) เป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ สิ่งที่น่าเหลือเชื่อก่อนหน้านี้มาร์เวลถูกมองเป็นความน่าอับอายของอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ

มาร์เวล (Marvel) เป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ สร้างรายได้ไปแล้วกว่า 26,600 ล้านเหรียญ​ (นำโดย Avengers: Endgame ที่ทำได้ 2,800 ล้านเหรียญ) ทิ้งห่างแฟรนไชส์อื่นทั้ง Star Wars ที่ทำได้ 10,300 ล้านเหรียญ, Harry Potter 9,600 ล้านเหรียญ และ James Bond 7,000 ล้านเหรียญอยู่ไกลโข

เมื่อมองจากความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในเวลานี้ สิ่งที่น่าเหลือเชื่อคือ มาร์เวลไม่ได้ถูกมองเป็นบริษัทที่น่าดึงดูด บางคนถึงขั้นเรียกว่า มันเป็นความน่าอับอายของอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ

กระทั่งวันหนึ่ง ‘สแตน ลี’ (Stan Lee) หรือชื่อจริง ‘สแตนลีย์ มาร์ติน ลีเบอร์’ (Stanley Martin Lieber) เด็กชงกาแฟอายุ 16 ปีที่ทำงานจิปาถะทั่วไปของสตูดิโอ มีไอเดียเกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่ที่ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ เป็นฮีโร่ที่มีความเป็นมนุษย์เหมือนทุกคน ไม่ได้หน้าตาดีหรือร่างกายเข้มแข็ง แถมยังมีข้อเสีย มีอารมณ์ความรู้สึก แตกต่างจากซูเปอร์ฮีโร่ในท้องตลาดตอนนั้นอย่างสิ้นเชิง

ลีได้นำเสนอไอเดียนี้ให้กับหัวหน้า แต่กลับถูกบอกว่ามันเป็นไอเดียที่ ‘ห่วยแตกที่สุด’ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ และนำไอเดียกลับมาสร้างเป็นซูเปอร์ฮีโร่คนแรกชื่อ ‘Spider-Man’ โดยไม่บอกหัวหน้า กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมาร์เวล อุตสาหกรรมหนังสือซูเปอร์ฮีโร่ และแน่นอนอุตสาหกรรมภาพยนตร์

ยุคมืดของคอมมิกส์

สแตน ลี เกิดเมื่อปี 1922 ในครอบครัวชาวยิวที่อพยพมาจากประเทศโรมาเนีย เขาเติบโตในอะพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ในนิวยอร์ก ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย และสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัวยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงปี 1929 พ่อกับแม่ทะเลาะกันบ่อยมากขึ้นและไม่ใกล้ชิดกันเหมือนเดิม พ่อได้งานเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่พอประทังชีวิตและครอบครัวให้อยู่รอดเท่านั้น

การเติบโตมาพร้อมกับความลำบาก ทำให้ลีมีนิสัยไม่ยอมแพ้ ไม่เกี่ยงงานเลย ตั้งแต่ขายหนังสือพิมพ์ไปจนถึงเป็นเด็กส่งแซนด์วิชตามที่ต่าง ๆ และเขาเป็นเด็กรักการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นวนิยาย หรืออะไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิง แต่มันเป็นหลุมหลบภัยเดียวที่เขาสามารถหลบหนีชีวิตอันยุ่งเหยิงและครอบครัวที่ระส่ำระสายได้

หลังจากเรียนจบมัธยมปลายในวัย 16 ปี ลีตัดสินใจไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยเพื่อออกมาทำงานหาเงินไปดูแลครอบครัวแทน โชคดีที่ตอนนั้น ‘มาร์ติน กู๊ดแมน’ (Martin Goodman) ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ Timely Comics อยู่ ลีจึงได้งานเป็นผู้ช่วย ทำหน้าที่ทุกอย่างในบริษัท ตั้งแต่กวาดพื้น ชงกาแฟ ไปซื้อแซนด์วิช จนถึงพิสูจน์อักษรและวาดภาพ ด้วยค่าจ้างอาทิตย์ละ 8 เหรียญ​ (เทียบเป็นเงินปัจจุบันก็ราว ๆ 168 เหรียญ หรือราว 6,000 บาท) แม้ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ดีอะไรนัก

ช่วงประมาณปี 1940 ลีเริ่มได้รับความไว้ใจมากขึ้น และมีโอกาสเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับคอมมิกส์ที่ Timely Comics กำลังทำอยู่ว่า อยากเพิ่ม เสริม หรือเปลี่ยนตรงไหนไหม นอกจากนั้นยังมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในซีรีส์ดังอย่าง Captain America และออกแบบท่าไม้ตายของตัวเอกที่ขว้างโล่ (Shield-Toss) ใส่คู่ต่อสู้ด้วย

ลีเริ่มเขียนงานหลากหลายแนวให้กับ Timely Comics ตั้งแต่โรแมนซ์ สืบสวนสอบสวน สยองขวัญ และขึ้นมาเป็นบรรณาธิการด้วยวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น

ขณะเดียวกันเขายังคงพยายามเดินตามความฝันที่อยากเป็นนักเขียนนวนิยาย จึงเปลี่ยนมาใช้นามปากกาว่า ‘สแตน ลี’ (Stan Lee) เพราะเกรงว่าสำนักพิมพ์อื่น ๆ จะตัดสินเขาในทางที่ไม่ดี เพราะยุคนั้นคอมมิกส์ถือเป็นสื่อที่ถูกต่อต้านจากสังคมพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อแม่ที่บอกว่ามันสนับสนุนความรุนแรงและเต็มไปด้วยเลือด หลายคนจึงมองว่า คนทำงานในสำนักพิมพ์เป็นเรื่องน่าอับอาย

ช่วงปี 1947 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ลีได้เลื่อนตำแหน่งเป็นบรรณาธิการของฝั่งคอมมิกส์ ส่วน Timely ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Atlas พิมพ์หนังสือในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่กำลังเป็นกระแสในตลาดแทน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ฝั่งของคอมมิกส์เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง และถูกประท้วงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขั้นเอาคอมมิกส์มาเผาด้วย

กระทั่งในช่วงปี 1954 เหตุการณ์ดังกล่าวบานปลายใหญ่โต มีนักจิตวิทยาเกี่ยวกับเด็กเขียนหนังสือบอกว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในเด็กนั้นสูงขึ้น เพราะเด็ก ๆ อ่านคอมมิกส์ และมีนักการเมืองออกมาชูประเด็นนี้ ร่างกฎหมายห้ามขายคอมมิกส์กันอย่างจริงจัง ร้านหนังสือเริ่มหยุดขาย ยอดขายเริ่มตกลงอย่างเห็นได้ชัด สำนักพิมพ์หลายแห่งปิดตัวลงไป ส่วนที่เหลือก็พยายามเอาตัวรอดโดยการรวมตัวออกระเบียบชื่อ Comics Code Authority เป็นสัญลักษณ์ติดบนหน้าปกว่า คอมมิกส์เล่มนี้ได้ถูกตรวจสอบแล้วว่า ‘เนื้อหาปลอดภัยกับเด็ก’

ให้กำเนิดFantastic_Four

สำนักพิมพ์ Atlas สามารถประคองตัวมาได้เรื่อย ๆ จนในปี 1960 และลีทำงานกับบริษัทแห่งนี้มาแล้ว 2 ทศวรรษ ขณะที่เพื่อนเก่าที่ทำงานมาด้วยกันทยอยออกกันไปค่อนข้างเยอะ เขาจึงรู้สึกว่ามันน่าจะถึงเวลาเปลี่ยนงานออกไปหาความท้าทายใหม่ของตัวเองได้แล้ว

ตอนนั้นโทรทัศน์เริ่มเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผู้คนมากขึ้น ลีจึงตั้งใจว่าจะหางานใหม่ที่สามารถใช้ความสามารถในการเขียนของเขาให้ดีกว่านี้

วันที่เขาตัดสินใจจะลาออก กู๊ดแมนเรียกลีเข้าไปคุยด้วยพอดี และมอบโปรเจกต์ใหม่ครั้งใหญ่ให้กับเขา (โดยไม่รู้ว่าลีอยากลาออก) นั่นคือการสร้างคอมมิกส์เรื่องใหม่เพื่อไปงัดข้อกับ DC Justice League (ของ DC Comics) เป็นการรวมตัวกันของซูเปอร์แมน แบทแมน แดช วันเดอร์วูแมน และซูเปอร์ฮีโร่คน  เพื่อปราบวายร้าย

ลีรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากกับโปรเจกต์นี้ แต่ขณะเดียวกันยังคิดว่าเขาควรลาออกไปทำอย่างอื่น ภรรยาของลีเลยแนะนำว่าให้ทำอีกเรื่องหนึ่ง ‘อย่างที่ลีต้องการ’ เพราะถ้ามันไม่ดีแล้วถูกไล่ออก ก็ไม่ได้กระทบอะไร

แล้วไอเดียของกลุ่มซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่สมบูรณ์แบบก็ถือกำเนิดขึ้น เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความเป็นมนุษย์ ตัดสินใจพลาดได้เหมือนคนปกติ ชื่อว่า Fantastic Four นักบินอวกาศที่ถูกรังสีคอสมิกจากนอกอวกาศจนทำให้มีพลังงานพิเศษเหนือมนุษย์ หลังจากเขียนเนื้อเรื่องเสร็จ ลีจึงให้ ‘แจ็ก เคอร์บี’ (Jack Kirby) ผู้วาด Captain America มาช่วยวาดเรื่องนี้อีกครั้ง หลังจากซุ่มทำกันอยู่ประมาณหนึ่งปี คอมมิกส์เล่มแรกของ Fantastic Four ได้เปิดตัวในปี 1961 และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจนน่าตกใจ มันสร้างยอดขายให้กับ Atlas อย่างถล่มทลาย

จุดสำคัญอีกอย่างคือกลุ่มที่อ่านคอมมิกส์ไม่ใช่แค่เด็ก ๆ อีกต่อไป เพราะหลังจากเปิดตัว Fantastic Four มันเป็นครั้งแรกเลยที่บริษัทได้รับจดหมายจากแฟน ๆ ที่เป็นผู้ใหญ่บอกว่าเนื้อเรื่องมันสนุกมาก รู้สึกว่าเข้าถึงได้จริง ตัวละครต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหมือนอย่างคนปกติทั่วไป อย่างปัญหาครอบครัว อกหัก เลิกกับแฟน ฯลฯ และในปีต่อมาลีให้กำเนิด The Incredible Hulk ที่ได้รับความนิยมมากไม่แพ้กัน

ถึงตอนนี้มุมมองเกี่ยวกับคอมมิกส์ในสังคมเริ่มเปลี่ยนไป ได้รับการยอมรับมากขึ้น และกลุ่มแฟนเริ่มขยายไปสู่วัยผู้ใหญ่ด้วย ช่วงเวลานั้นลีจึงเสนอให้กู๊ดแมนเปลี่ยนชื่อบริษัทให้รับกับการเปลี่ยนแปลง โดยตกลงกันที่ชื่อ ‘Marvel’ จากชื่อคอมมิกส์ของบริษัทที่ออกมาช่วงแรกที่ก่อตั้ง

แม้ลีจะดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารแล้วในตอนนั้น บ่อยครั้งไอเดียของเขามักถูกปฏิเสธโดยกู๊ดแมนอยู่เสมอ ยกตัวอย่างฮีโร่ที่เป็นเด็กวัยรุ่นที่ถูกแมงมุมถูกอาบกัมมันตภาพรังสีกัดจนได้พลังของแมงมุมมาช่วยปราบคนร้าย กู๊ดแมนบอกว่ามันเป็น “ไอเดียที่ห่วยแตกที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา”

และให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า วัยรุ่นเป็นได้แค่ ‘ผู้ช่วย’ (Sidekick) เท่านั้น เป็นตัวหลักไม่ได้หรอก แถมคนยังเกลียดแมงมุมอีกด้วย

ยิ่งถูกห้ามยิ่งจุดไฟในตัว

ไอเดียของ ‘Spider-Man’ ถูกปัดทิ้ง กู๊ดแมนบอกให้ลีหยุดคิดถึงเรื่องนี้ แม้ลีจะตกปากรับคำ แต่เขามีแผนสำรองรออยู่ และการยิ่งถูกห้ามเหมือนยิ่งเป็นการจุดไฟในตัวลีให้คิดถึงไอเดียนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เขาแอบบอกให้นักวาดการ์ตูนชื่อ สตีฟ ดิตโก (Steve Ditko) ออกแบบตัวละครวาดใส่ไปในคอมมิกส์เล่มสุดท้ายที่กำลังจะเลิกตีพิมพ์ชื่อ ‘Amazing Fantasy’ โดยลีบอกว่า

“เรากำลังจะทำฉบับสุดท้าย [ของ Amazing Fantasy] ซึ่งก็ไม่มีใครสนใจหรอกว่าจะใส่อะไรลงไปในหนังสือที่กำลังจะเลิกผลิตแล้ว”

เรื่องราวของ ‘ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์’ (Peter Parker) เด็กวัยรุ่นที่มีความเนิร์ด มีความสับสน มาจากครอบครัวคนชั้นกลาง ถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ด้วยภาพลักษณ์ตัวละครที่มีความเป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วไป จึงสามารถดึงดูดความสนใจกลุ่มผู้อ่านอายุน้อยได้ กลายเป็นว่าคอมมิกส์เล่มนั้นขายดีหมดเกลี้ยงแผงจนคนตามหากันให้ทั่ว กลายเป็นคอมมิกส์ติดอันดับ Best-Seller เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของบริษัท

และ ​Spider-Man เป็นซูเปอร์ฮีโร่คนใหม่ของ Marvel ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเป็นจุดกำเนิดของซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่สมบูรณ์แบบคนอื่น ๆ ตามมา ทั้ง Thor, Ant Man, Iron Man, Doctor Strange, X-Men, Black Widow, Black Panther และอื่น ๆ อีกมากมาย

Iron Manจุดเริ่มต้นจักรวาลที่ยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของ Marvel มาเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกจริง ๆ ก็ตอนสร้างภาพยนตร์ของตัวเองอย่าง Iron Man ในปี 2008 (ซึ่งก่อนหน้านั้นพวกเขาได้แค่ค่าลิขสิทธิ์ตัวคาแรคเตอร์จากสตูดิโอต่าง ๆ เท่านั้น) ที่ทำรายได้มหาศาลจน Disney ต้องเข้ามาซื้อบริษัทด้วยเงินกว่า 4 พันล้านเหรียญ หลังสร้าง Iron Man 2 และ Iron Man 3 ต่อมาในภายหลัง ซึ่ง Iron Man 3 กลายเป็นหนังที่ทำเงินสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในปี 2013 มากถึง 1,200 ล้านเหรียญ และภายหลังเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ที่ทำรายได้สูงมาโดยตลอด จนกลายเป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำรายได้ไปแล้วกว่า 26,000 ล้านเหรียญ

แม้สแตน ลี จะไม่ได้มีส่วนร่วมกับการสร้างภาพยนตร์ของ Marvel มากนัก แต่เขายังคงเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับตัวละครต่าง ๆ ของ Marvel มาโดยตลอด จนได้รับการขนานนามว่า ‘บิดาแห่งซูเปอร์ฮีโร่’ (Father of Superheroes) ผู้สร้างสรรค์ผลงานเอาไว้มากมายก่อนจะเสียชีวิตในปี 2018 ด้วยวัย 95 ปี

ในการขึ้นกล่าวปาฐกถาจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัย UCLA ในปี 2017 ลีได้กล่าวถึงพื้นฐานของความสำเร็จที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ว่า

“ถ้าคุณมีไอเดียที่คิดว่ามันดีจริง ๆ อย่าให้คนโง่บางคนมาหยุดคุณได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่คุณคิดบ้า ๆ จะกลายเป็นไอเดียที่บรรเจิด แต่ถ้ามันมีบางอย่างที่คุณรู้สึกว่ามันดี บางอย่างที่อยากทำ สิ่งนั้นมีความหมายกับคุณ พยายามทำมันออกมาดู เพราะผมคิดว่าคุณจะทำงานที่ดีที่สุดของคุณได้ก็ต่อเมื่อคุณได้ทำในสิ่งที่คุณอยากจะทำ และถ้าคุณได้ทำมันในทางที่คุณคิดว่ามันควรจะเป็นด้วย”

ซูเปอร์ฮีโร่ทุกคนที่ลีสร้างขึ้นมาล้วนเผชิญปัญหาในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น แต่ทุกคนก็เอาชนะ ฟันฝ่า และแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ

เหมือนกันกับชีวิตที่มักมีความท้าทายเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องทางบ้าน การเงิน ทำงาน ความรัก หรือแม้แต่การนำเสนอไอเดียที่คนอื่นคิดว่ามันไม่ได้เรื่อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงความท้าทาย อุปสรรคที่ทุกคนต้องเผชิญหน้า เรื่องราวของลีทำให้เห็นว่าถ้ามุมานะและพยายามทำให้ดีที่สุด เราทุกคนก็จะผ่านพ้นมันไปได้อย่างแข็งแกร่ง เป็นซูเปอร์ฮีโร่ในแบบของตัวเองเช่นเดียวกัน

.

อ้างอิง:

https://www.youtube.com/watch?v=PXTVWDaGasg

https://www.koimoi.com/hollywood-news/when-stan-lee-publisher-rejected-the-idea-of-spider-man-said-that-is-the-worst-idea-i-have-ever-heard/

https://www.britannica.com/topic/Marvel-Comics

https://comicyears.com/comics/marvel/who-founded-marvel-comics-the-history-of-an-empire/

https://www.newyorker.com/magazine/2021/02/15/who-really-created-the-marvel-universe

https://www.youtube.com/watch?v=eMo9Guj5gCc