‘ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว’ ร้านข้างทางที่ดังไกลและเตรียมติดนามสกุล ‘มหาชน’

‘ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว’ ร้านข้างทางที่ดังไกลและเตรียมติดนามสกุล ‘มหาชน’

7-Eleven อาจขึ้นชื่อว่าเป็นร้านแฟรนไชส์สมัยใหม่ที่มีสาขามากที่สุดในบ้านเรา แต่หากพูดถึงแฟรนไชส์แบบไทย ๆ ตำแหน่งนี้ต้องยกให้ ‘ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว’ ซึ่งตอนนี้มีสาขาอยู่กว่า 4,500 แห่ง แทรกซึมกระจายไปพื้นที่ต่างๆ กระทั่งตามตรอกซอกซอย

ไม่เพียงเท่านั้น ร้านบะหมี่รถเข็นข้างทางแห่งนี้กำลังจะไปไกลกว่าเดิม โดยในอีก 3 ปีข้างหน้า เตรียมจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ติดนามสกุล ‘มหาชน’ เพื่อปูทางสู่การครองตำแหน่งแชมเปี้ยนบะหมี่รถเข็นแห่งเอเชีย  

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ ก็คือ ‘พันธ์รบ กำลา’ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของชายสี่ฯ ชายผู้จบแค่ ป.4 และเริ่มต้นทำธุรกิจจากศูนย์

นิสัยส่วนตัวผมเป็นคนขยันอดทน มีการตั้งเป้าหมายชัดเจนแล้วไปให้ถึง อย่างช่วงวัยรุ่นได้เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ผมอยากได้กางเกงยีนส์ จึงยอมกินข้าวไม่อิ่มเพื่อเก็บเงินซื้อ พอโตขึ้นตั้งเป้าอยากสร้างฐานะ จึงเก็บหอมรอมริบ และในอนาคตผมอยากให้ชายสี่ฯ เป็แชมเปี้ยนบะหมี่รถเข็นในเอเชีย”

กำเนิดชายสี่บะหมี่เกี๊ยว

เดิมพันธ์รบเป็นคนอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด เกิดในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน ตั้งแต่จำความได้เขาต้องมาช่วยพ่อแม่ทำนา และเรียนจบแค่ ป.4 ทำให้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า จะสร้างฐานะของตัวเอง เมื่อโตขึ้นเขาจึงทำงานรับจ้างสารพัด ไม่ว่าจะรับจ้างขุดดิน เก็บพริก พนักงานรักษาความปลอดภัย และเป็นพ่อค้าขายไอติม ที่ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการค้าขาย

จุดหักเหของชีวิตพันธ์รบเกิดขึ้นในปี 2535 เมื่อมีญาติชวนให้ลองขายบะหมี่เกี๊ยว ย่านลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งช่วงเริ่มต้นด้วยความไม่เคยทำมาก่อน ทำให้เจอปัญหา แต่ด้วยความเป็นนักสู้ บวกกับเป็นคนละเอียดและใส่ใจคน ได้สังเกตและพูดคุยกับลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาร้านของตัวเอง ตั้งแต่รสชาติ การบริการ ไปจนถึงสภาพภายในร้าน จนลูกค้าติดใจและขายดี

ด้วยการเก็บหอมรอบริบเพียง 2 ปี พันธ์รบมีเงินเก็บจากการขายบะหมี่เกี๊ยวถึง 700,000 บาท และนำเงินจำนวนนั้นมาต่อยอดเพื่อลงทุนผลิตเส้นบะหมี่เอง เพราะต้องการควบคุมคุณภาพ เนื่องจากเห็นว่า เส้นบะหมี่ที่เจ้าอื่นส่งมาในแต่ละวันมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และ ‘ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2537

สำหรับที่มาของชื่อชายสี่ฯ มาหลักคิดง่ายๆ ของพันธ์รบ นั่นคือ ตั้งชื่อให้มีพยัญชนะไม่เกิน 4 ตัว เป็นคำ 2 พยางค์ และต้องมีสัมผัส เพื่อง่ายต่อการจดจำ และง่ายต่อการทำป้ายขนาด 2 x 2 เมตร ตอนนั้นเขามีชื่อในใจ 3 ชื่อ ได้แก่ ราชินีบะหมี่เกี๊ยว, ป๊ะป๋าบะหมี่เกี๊ยว และ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว

ชื่อราชินีบะหมี่เกี๊ยว เป็นชื่อที่พันธ์รบชอบมาก แต่กลัวจะมีปัญหา จึงใช้ชื่อชายสี่บะหมี่เกี๊ยว เพื่อความเหมาะสม และมีเรื่องบังเอิญว่า เขามีพี่น้องเป็นผู้ชายสี่คน จากพี่น้องทั้งหมดห้าคน

เริ่มแฟรนไชส์ในแนวคิดรวยแล้วบอกต่อ

หลังจากสาขาแรกได้รับการตอบรับดี การขยายสาขาต่อไปจึงตามมา กระทั่งเขาตัดสินใจทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตเร็วและไปให้ไกลกว่าเดิม โดยทำภายใต้แนวคิด ‘รวยแล้วบอกต่อ’ ซึ่งที่มาของแนวคิดเพราะพันธ์รบต้องการให้ลูกค้าเห็นว่า ชายสี่ฯ เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และเป็นอาชีพให้ตั้งตัวได้ด้วยแนวคิดนี้ ปี 2541 ชายสี่ฯ สามารถมีสาขาเพิ่มได้เป็น 400 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และเมื่อเริ่มมีสาขามากขึ้นแถมอยู่ในต่างจังหวัด บวกกับเขามองว่าบะหมี่เป็นสินค้าอาหารสด หากต้องส่งจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดไกล ๆ อาจเกิดความเสียหายก่อนได้ขาย จึงตัดสินใจขยายโรงงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศในช่วงปี 2542

และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชายสี่ฯ เติบโตอย่างในปัจจุบัน โดยมีสาขามากกว่า 4,500 แห่ง และไม่ได้อยู่เฉพาะในไทย ยังขยายไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชา และลาว (การไปต่างประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบแฟรนไชส์)

แชมเปี้ยนบะหมี่รถเข็นในเอเชีย

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยการเป็นคนใส่ใจในรายละเอียด และพยายามมองหาโอกาสใหม่อยู่เสมอ ตัวเขาเองมองว่า ‘บะหมี่เกี๊ยวยังมีข้อจำกัด’ จำเป็นต้องขยายสู่อาหารประเภทอื่น ๆ เพื่อต่อยอด ดังนั้น นอกจากร้านบะหมี่เกี๊ยวแล้ว แบรนด์ชายสี่ฯ ยังมีอาหารประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชายสี่เตี๋ยวไก่ ชายสี่โจ๊กต้มเลือดหมู ควบคู่ไปกับขยายแบรนด์ที่ล้อไปกับชายสี่ฯ อาทิ ชายใหญ่ข้าวมันไก่ ชายเจ็ดเป็ดย่าง ฯลฯรวมถึงแตกแบรนด์ ‘มิสเตอร์ชายสี่’ ร้านในรูปแบบสแตนด์อะโลนที่จะเน้นเปิดในต่างประเทศ โดยตอนนี้ได้ลงทุนร่วมกับนักธุรกิจในดูไบ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน เป็นต้น ขณะเดียวกันได้ขยายเข้าสู่กลุ่มอาหารแช่แข็ง เช่น บะหมี่แห่งไก่เทอริยากิ, บะหมี่แห่งกะเพราไก่ ฯลฯ เพราะเห็นว่าคนยุคปัจจุบันต้องการความสะดวกสบาย ไม่ต้องการเสียเวลา

“เป้าหมายของผมคือการพาชายสี่ฯ ขึ้นเป็นแชมเปี้ยนบะหมี่รถเข็นในเอเชีย”  

การไปถึงเป้าหมายดังกล่าว พันธ์รบวางแผนจะอัปเกรดชายสี่ฯ จากร้านบะหมี่ข้างทางเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประมาณปี 2568 - 2569 และตั้งเป้าว่า หลังติดนามสกุล ‘มหาชน’ ชายสี่ฯจะมีรายได้เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันรายได้อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท 

เขาให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ไว้ว่า แม้จะรักการทำงานอยู่ แต่ตอนนี้เขาเริ่มวางมือและส่งต่อธุรกิจให้กับรุ่นลูก รวมถึงหามืออาชีพเข้ามาบริหาร เพื่อให้พาองค์กรแห่งนี้สามารถเดินหน้าไปได้ไกล

“บุคลิกอย่างผม คงไม่ถนัดจะสื่อสารกับสถาบันการเงิน หรือคนในตลาดหลักทรัพย์ คือฟังเขาพูดรู้เรื่องนะ แต่ใช้คำแบบเขาคงไม่ได้”

.

อ้างอิง:

https://www.chaixi.co.th/about-us.html

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1016583

https://positioningmag.com/1237918